18thApril

18thApril

18thApril

 

June 23,2018

เร่งพัฒนาขนส่งสาธารณะ แก้ปัญหารถติดอุดรฯ

         สนข.เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี จากทุกภาคส่วน ให้สอดคล้องต่อความต้องการ ได้รับการยอมรับจากประชาชน เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวอุดรฯ

         นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ ๑ (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี เพื่อแนะนำรายละเอียดโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่โรงแรมเซ็นทาราอุดรธานี

         นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “จังหวัดอุดรธานีถือว่าเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการคมนาคมและการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน ทางรถไฟ และทางเครื่องบิน สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศลาวได้สะดวก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจังหวัดอุดรธานีประสบปัญหาด้านการขนส่งและการจราจร โดยเฉพาะในเขตเมืองมีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ การขาดการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ ที่สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางในพื้นที่เขตเมือง ในขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุดรธานีได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความเชื่อมโยงของชุมชนและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการบริหารจัดการจราจรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี และพื้นที่ต่อเนื่อง ที่มีปริมาณการเดินทางสูงและมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ แต่ปัญหาการขนส่งและการจราจรของจังหวัดอุดรธานีมีแนวโน้มยากต่อการแก้ไข และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและบูรณาการร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสม รวมถึงต้องมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการเดินทางภายในเขตเมืองเชื่อมโยงพื้นที่โดยรอบ

         ดังนั้น จังหวัดอุดรธานี จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอันที่จะนำความเจริญมาสู่จังหวัดและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวอุดรฯ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี และการก่อสร้างโครงข่ายถนนเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานีกับจังหวัดใกล้เคียง ล้วนส่งผลต่อสถานะความเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่จะมีโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงให้การเดินทางและการขนส่งสินค้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์มีความคล่องตัว ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดมลภาวะ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วและความปลอดภัยในการเดินทาง อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้จังหวัดอุดรธานี และดึงดูดการลงทุนจากนอกพื้นที่เข้ามาลงทุนในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น”

         นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางราง เช่น การพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำหนดเป็นกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ ๘ ปี (๒๕๕๘-๒๕๖๕) มีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัยในระบบคมนาคมขนส่ง และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งในกรอบยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว จะดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรของเมืองหลักในภูมิภาค ด้วยระบบรถขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย”

         “กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข.ศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี โดยการศึกษาจะมีการออกแบบเบื้องต้นโครงการนำร่อง รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีและจุดจอดแล้วจร หรือ TOD (Transit Oriented Development) และจัดทำแผนการจัดการจราจร ซึ่งจะทำให้เมืองเกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาพื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ ปัญหาการจราจรได้รับการแก้ไข ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีการเชื่อมต่อ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวไปยังย่านการค้า สถาบันการศึกษา ศูนย์ราชการ แหล่งอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาของเมืองให้พร้อมรับการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคตได้อย่างดี ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสอดคล้องและเป็นไปตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่จะกระจายความเจริญสู่เมืองในภูมิภาคด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ” นายชัยวัฒน์ กล่าวในท้ายสุด

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


720 1344