7thMay

7thMay

7thMay

 

July 02,2018

รถไฟไทย-จีนกระดืบ ‘กลางดง-ปางอโศก’ ล่าช้ากว่าแผน ๔๒%

        ความคืบหน้าโครงการรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงที่ ๑ กลางดง-ปางอโศก ระยะเวลาก่อสร้าง มีนาคม-สิงหาคม ๒๕๖๑ ก้าวหน้า ๙.๙% ตามแผน ๕๑.๙๒% ล่าช้า ๔๒.๐๒% อ้างฝนตกหนักต่อเนื่อง รมว.อาคมเผย ก.คมนาคมอยู่ระหว่างสรุปแนวทางจัดหาแหล่งเงินทุนที่ไทยจะลงทุนเอง ล่าสุดเจรจากับ China EXIM Bank ถึงตัวเลขเงินกู้และความเสี่ยง

        ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ ๒๓ ระหว่างวันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีการประชุมร่วมอย่างเป็นทางการระหว่าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเจรจากระทั่งบรรลุผลความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และการเชื่อมโยงโครงข่ายการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงไทย-สปป.ลาว และจีนตอนใต้

คืบหน้าระบบราง,ไฟฟ้า,เครื่องกล

        ล่าสุดความคืบหน้าโครงการฯ โดยข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) การรถไฟฯ แจ้งเริ่มงานสัญญา ๒.๒ ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ และกำลังควบคุมงานก่อสร้าง ช่วงกลางดง-ปางอโศก โดยกรมทางหลวงเบิกจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า ๕๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งร่างสัญญา ๒.๓ งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งมีทั้งหมด ๕ กลุ่ม ได้แก่ 

        ๑.กลุ่มระบบราง คืบหน้าร้อยละ ๖๐ ๒.กลุ่มงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล คืบหน้าร้อยละ ๗๐ ๓.กลุ่มงานจัดหาขบวนรถไฟ คืบหน้าร้อยละ ๗๐ โดย ๓ กลุ่มงานดังกล่าว มีงานที่จะต้องหารือกับฝ่ายจีนต่อไป ได้แก่ งานด้านซ่อมบำรุง งานที่เชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ บัญชีแสดงปริมาณงาน และการจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอทางการเงิน ๔.กลุ่มงานฝึกอบรมบุคลากร คืบหน้าร้อยละ ๔๐ โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ ๒๓ ฝ่ายจีนได้ส่งหลักสูตรการฝึกอบรมวิศวกรไทยด้านเทคโนโลยีและหลักสูตรการฝึกอบรมด้านการเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับฝ่ายไทยแล้ว ซึ่งคณะทำงานฝ่ายไทยได้ให้ความเห็นและปรับหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของไทยและจะหารือร่วมกับฝ่ายจีนต่อไป ๕.กลุ่มงานร่างสัญญา คืบหน้าร้อยละ ๓๐ โดยมีการเจรจาเนื้อหาเงื่อนไขสัญญา ครั้งที่ ๑ แล้ว ซึ่งเนื้อหาของเงื่อนไขสัญญาส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับงานด้านเทคนิคของ ๔ กลุ่มข้างต้น เช่นขอบเขตงาน ระยะเวลาการส่งมอบ การฝึกอบรม การรับประกันคุณภาพ เป็นต้น จึงจะต้องรอให้งานด้านเทคนิคได้ข้อสรุปก่อนจึงจะร่างสัญญาต่อไปได้

        จากการประเมินสถานการณ์และความคืบหน้าในการดำเนินงานสัญญา ๒.๓ การรถไฟฯ จึงมีหนังสือด่วนที่สุดที่ รฟ๑/๕๙๗/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑ เรื่อง ขอขยายระยะเวลาในการดำเนินการจัดทำร่างสัญญาจ้าง และเงื่อนไขอื่นในการทำสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากรฯ ถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อขอขยายระยะเวลาการจัดทำร่างสัญญา ๒.๓ เป็นครั้งที่ ๒ โดยขอขยายระยะเวลาออกไปอีก ๑๘๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๑ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม

นครราชสีมา-หนองคาย เสนองบ ๑๐ ล้าน

        สำหรับการดำเนินงานโครงการระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ฝ่ายจีนได้จัดส่งรายงานผลการศึกษาความเหมาะสม ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๑ หลังจากการรถไฟฯ ได้ตรวจสอบรายงานการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมดังกล่าวแล้ว พบว่ารายงานของฝ่ายจีนมีเนื้อหาไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการได้ การรถไฟฯ จึงมีหนังสือที่ รฟ๑/ ๓๓๘/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ รายงานหัวหน้าสำนักงานบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติให้การรถไฟฯ ดำเนินการทบทวนรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ในงบประมาณ ๑๐ ล้านบาท

        นอกจากนี้การรถไฟฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ ระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รวมทั้งฝ่ายจีนได้นำส่งรายงานด้านเทคนิคและการออกแบบเบื้องต้น ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ฉบับเดือนเมษายน ๒๐๑๘ ถึงกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ และได้มีการหารือสามฝ่ายระหว่างไทย-ลาว-จีน เมื่อวันที่ ๗-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โดยฝ่ายจีนได้นำเสนอแนวทางต่างๆ ด้านเทคนิคสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (๑.๔๓๕ เมตร) ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เช่น การประมาณการผู้โดยสารและสินค้า ตำแหน่งที่ตั้งจุดตรวจสินค้าผ่านแดนและด่านตรวจคนเข้าเมือง ตำแหน่งสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เป็นต้น ซึ่งฝ่ายไทยและลาวจะต้องหารือร่วมกันในขั้นนโยบายก่อนหารือร่วมกับฝ่ายจีนต่อไป

        ทั้งนี้ ช่วงที่ ๑ กลางดง-ปางอโศก มีระยะดำเนินการก่อสร้าง เดือนมีนาคม-สิงหาคม ๒๕๖๑ ช่วงที่ ๒ สีคิ้ว-กุดจิก เริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ช่วงที่ ๓ มวกเหล็ก-ลำตะคอง เริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒, แก่งคอย-กุดจิก, บันไดม้า-โคกกรวด, ลำตะคอง-โคกกรวด, โคกกรวด-นครราชสีมา เริ่มก่อสร้างเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ และช่วงที่ ๔ บางซื่อ-ดอนเมือง, ดอนเมือง-นวนคร, นวนคร-บางโพธิ์, เชียงรากน้อย, บ้านโพธิ์-พระแก้ว, พระแก้ว-สระบุรี, สระบุรี -แก่งคอย เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน ๒๕๖๒

        โดยบริษัทร่วมค้า CRIC และ CRDC ได้ส่งมอบแบบรายละเอียดช่วงที่ ๒ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ปรึกษา Design Checker ตรวจสอบแบบและให้ฝ่ายจีนแก้ไข และส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ จากนั้นการรถไฟฯ จะจัดทำราคากลางและร่างขอบเขตงาน (TOR) ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ และคาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาได้ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ และคาดว่าจะเริ่มสร้างทางรถไฟช่วงที่ ๒ ได้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ต่อไป

ช่วงที่ ๑ กลางดง-ปางอโศก 

ล่าช้า ๔๒.๐๒%

        ปัจจุบันอยู่ในระยะดำเนินการก่อสร้างช่วงที่ ๑ กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง ๓.๕ กม. โดยเป็นการก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินโดยกรมทางหลวง มอบพื้นที่เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑ กรมทางหลวงได้รับเงินงวดที่ ๑ จำนวน ๑๑๘,๖๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งมีความก้าวหน้า ๙.๙% ตามแผน ๕๑.๙๒% ล่าช้า ๔๒.๐๒%

        ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ว่า “ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปแนวทางด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการตามเป้าหมายที่รัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการเองทั้งหมดล่าสุดได้เจรจากับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน (China EXIM Bank) เพื่อสอบถามถึงตัวเลขเงินกู้ และการรับความเสี่ยงที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะพิจารณาแหล่งเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด 

        “สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างเฟส ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมานั้น ขณะนี้ตอนที่ ๑ สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง ๓.๕ กม. เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วมีความก้าวหน้าร้อยละ ๑๑ ล่าช้ากว่าแผนงานเล็กน้อย เนื่องจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่วนตอนที่ ๒ ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง ๑๑ กม. คาดว่าจะประกวดราคาภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนอีก ๑๒ สัญญา จะทยอยประกวดราคาภายในปี ๒๕๖๑ ขณะที่เฟส ๒ ช่วงนครราชสีมาหนองคาย ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าไทยจะเป็นผู้ศึกษาและออกแบบรายละเอียด โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะประกวดราคาต้นปี ๒๕๖๒ และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๕ ขณะที่เฟส ๓ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์นั้น จีนจะเป็นเจ้าภาพในการศึกษาและออกแบบรายละเอียด โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อเป็นสะพานสำหรับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่” 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๑๒ วันอาทิตย์ที่ ๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๕  เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


708 1,354