19thApril

19thApril

19thApril

 

July 27,2018

เทศบาลนครฯจับมือ‘กฟภ.’ จัดระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ปชช.ปลอดภัยเมืองสวยงาม

พร้อมนำระบบไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว รวม ๔ ระยะ ๖.๒๓ กม. ตั้งเป้าระยะแรกแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๒ ด้วยงบประมาณ ๕๖ ล้านบาท

 

         นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินเขตเทศบาลนครอุดรธานี ระหว่าง นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี และนายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีนายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กสทช. การประปาส่วนภูมิภาค บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมจากทุกค่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ ๑๗ กรกฎาคมที่ผ่านมา  ที่ห้องประชุมเวสสุวัณ (ชั้น ๓) อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา เทศบาลนครอุดรธานี

         นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า เนื่องจากความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของสายไฟและสายสื่อสารโทรคมนาคม ส่งผลให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม บ้านเมืองขาดความเป็นระเบียบเรียบ ร้อย ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะยาวนาน สร้างความเดือดร้อนเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้สัญจรไปมา ปัญหาดังกล่าวยากต่อการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง ที่ผ่านมาทางเทศบาลฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กสทช. และบริษัทสื่อสารต่างๆ ก็ได้ร่วมมือกันดำเนินการจัดระเบียบสายบนเสากันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

         ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน เทศบาลนครอุดรธานี จึงได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ออกแบบ วางแผนและทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินในเขตเทศบาลนครอุดรธานี จำนวน ๔ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑ บริเวณถนนอุดรดุษฏีถึงถนนโพธิ์ศรี ช่วงหอนาฬิกาเฉลิม พระเกียรติถึงวงเวียนน้ำพุ และจากวงเวียนน้ำพุ ถึงสามแยกตัดกับถนนอำเภอ ระยะทาง ๑.๓ กิโลเมตร ระยะที่ ๒ จากบริเวณถนนประจักษ์      ศิลปาคมถึงสามแยกถนนพานพร้าว ช่วงหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติถึงทุ่งศรีเมือง ระยะทาง ๐.๙๗ กิโลเมตร ระยะที่ ๓ จากถนนอุดรดุษฏีถึงถนนทหาร จากช่วงวงเวียนน้ำพุถึงห้าแยกอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมต่อไปจนถึงสามแยกตัดกับซอยจินตคาม ระยะทาง ๒.๔ กิโลเมตร และระยะที่ ๔ บริเวณถนนโพศรี ช่วงสามแยกตัดกับถนนอำเภอ ไปถึงสี่แยกตัดกับถนนมุขมนตรี รวมระยะทาง ๑.๕๖ กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น ๖.๒๓ กิโลเมตร

         นายอิทธิพนธ์ กล่าวอีกว่า ทางเทศบาลนครอุดรธานี จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านระบบงานโยธา ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านระบบงานไฟฟ้า และเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดิน พร้อมทั้งรื้อถอนระบบจำหน่ายเดิมออก ภายใต้มาตรฐานการก่อสร้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยระยะที่ ๑ ระยะทาง ๑.๓ กิโลเมตร จะดำเนินการภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๒  ส่วนระยะที่ ๒ และระยะต่อๆ ไป จะดำเนินการหลังจาก ระยะที่ ๑ หรือที่ ๒ หรือระยะที่ ๓ แล้วเสร็จ ตามลำดับ

         นายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้าง และบริหารโครงการ กฟภ. กล่าวว่า ปัจจุบันกฟภ.ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนสำหรับหน่วยงานท้องถิ่นที่ประสงค์จะนำสายเคเบิลลงใต้ดินกว่า ๑,๓๕๐ ล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมโครงการที่ต้องลงทุนเอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์อีกว่า ๗,๐๐๐ ล้านบาท ในพื้นที่ที่มีปัญหาไม่สามารถก่อสร้างขยายระบบจำหน่ายรองรับโหลดในอนาคตแบบเหนือดินได้ 

         สำหรับการดำเนินโครงการในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี ในระยะที่ ๑ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ออกแบบวิธีการก่อสร้างวางท่อร้อยสายเป็นแบบดันท่อลอด (HDD) ทั้งด้านระบบไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำ เพื่อลดปัญหาผลกระทบเรื่องการขุดเปิดผิวการจราจรของประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวท่อร้อยสายระบบแรงต่ำอยู่ด้านริมฟุตบาทของทั้งสองฝั่งถนน เพื่อจ่ายไฟผ่านบ่อพักสายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า แนวท่อร้อยสายระบบแรงสูงอยู่บริเวณกลางถนน การก่อสร้างบ่อพักสายใช้วิธีการหล่อสำเร็จจากนอกพื้นที่แล้วนำมาจมบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง

         นายปิยพจน์ กล่าวท้ายสุดว่า การก่อสร้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อาจจำเป็นต้องมีการขุดเปิดผิวการจราจร และปิดการจราจรบางส่วนบ้าง ก็ต้องขอความอนุเคราะห์ประชาชนในพื้นที่เพื่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งก็จะมีการประสานงานกันกับทางเทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพูดคุยช่วงระยะเวลาดำเนินการ ทำความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหา และเมื่อเราลงนามเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นเรื่องของทางเทศบาลนครอุดรธานีพิจารณาเงินอุดหนุนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๒ และในวันนี้เราก็ได้นำแบบก่อสร้างมาปรับปรุงให้ทันสมัย ประกวดราคาจ้างเหมา ในส่วนของการเอาสายไฟฟ้าลงดินคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน ๘ เดือน หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการรื้อถอน และปรับภูมิทัศน์ร่วมกับทางเทศบาลนครอุดรธานี เพื่อให้เกิดความสวยงาม งบประมาณ ๕๖ ล้านบาท เป็นระบบงานโยธาของเทศบาลนครอุดรธานี ๒๒ ล้านบาท และระบบงานไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ๓๔ ล้านบาท การก่อสร้างก็จะเป็นไปตามแผนงานดำเนินการต่อเนื่องกันไปเป็นระยะๆ และขึ้นอยู่กับเรื่องของงบประมาณด้วยว่าจะมาช้าหรือเร็ว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


710 1342