26thApril

26thApril

26thApril

 

July 27,2018

ครูมีหนี้โคราชรวมพล ลั่นไม่ชักดาบแค่ขอลดดอก

         เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๗.๐๐ น. ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ได้มีกลุ่มครูที่มีหนี้สินนัดรวมตัวกัน นำโดย นายสุวัช ศรีสด ประธานชมรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้สินวิกฤติ ครูชำนาญการพิเศษ จังหวัดลำปาง และนายเรือง มั่นดี อดีตครูชำนาญการอายุ ๖๕ ปี พร้อมทั้งอดีตครูและบุคลากรทางการศึกษารวมกว่า ๑๐ คน พร้อมนำเอกสารเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเอกสารรายชื่อผู้กู้เงินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีความภาคภูมิในเกียรติของวิชาชีพส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนด้วยวิถีพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินจากกลุ่มครูที่เป็นหนี้วิกฤติ อัตราดอกเบี้ย ๓.๕๐ บาท เพื่อแสดงพลังประกาศปฏิญญาโคราชแก้วิกฤตหนี้ครู ระหว่างที่มีการรวมกลุ่มครู ได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้ามาเฝ้าระวังทำหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวให้ผู้บังคับบัญชา โดยร้องขอให้งดทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมซึ่งหมิ่นเหม่กับข้อกฎหมาย ทำให้สถานการณ์เป็นไปโดยสงบ

วอนรวมหนี้-ลดดอกเบี้ย-ขยายเวลาส่ง

         นายสุวัช ศรีสด ประธานชมรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้สินวิกฤต กล่าวว่า “ขอชี้แจงกรณีการประกาศปฏิญญาสารคาม ยุติการชดใช้หนี้สินตามที่สังคมเคลือบแคลงใจ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เราไม่ต้องการให้รัฐบาลยกหนี้สินให้โดยไม่ชำระคืน ความต้องการที่แท้จริงคือขอความเมตตาจากรัฐบาล ตามที่นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาและมีข้อสั่งการตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ให้ดำเนินการช่วยเหลือครูที่เป็นหนี้สิน หลังจากมีคำสั่งมาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการแก้ไขปัญหานี้สินครูโดยตรง ต่อมานายพิษณุ ตุลสุข ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.ช่วงระหว่าง วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙-๓๐ กันยายน ๒๕๖๐ เคยมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยการรวมหนี้ ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ จนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมมาแล้ว ๔ ราย หลังจากนั้นนายพิษณุ เกษียณราชการไป และมีนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ มาเป็นเลขาธิการ สกสค.เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ ไม่ได้สานต่อโครงการเดิม ทำให้ครูที่เคยลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินวิฤตไว้กับ สกสค.กว่า ๖๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศ ไม่ได้รับการช่วยเหลือตามแนวทางเดิม ซึ่งสร้างความเดือดร้อนกับครูเหล่านี้เป็นอย่างมาก ขณะนี้ความช่วยเหลือยังมาไม่ถึง ความเดือดร้อนของครูก็ยังมีอยู่ เรามิได้เคลื่อนไหวเชิงการเมือง แต่ต้องการขอความช่วยเหลือแจ้งความประสงค์ผ่านสื่อมวลชนถึงรัฐบาล และผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองให้ช่วยเหลือแก้ไข เยียวยาปัญหาความเดือดร้อนเรื่องหนี้สินครู โดยใช้วิธีการรวมหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการส่งชำระหนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องตั้งกองทุนสนับสนุนพิเศษ เพื่อความมั่นคง ช.พ.ค. ใช้งบประมาณจากกองทุนมาช่วยเหลือครูที่เป็นหนี้วิกฤต ส่วนใหญ่เป็นครูบำนาญ เมื่อเกษียณอายุราชการก็ถูกระงับเงินค่าตอบแทนวิทยฐานะหรือเงินประจำตำแหน่ง ส่งผลให้มีเงินไม่เพียงพอในการชำระหนี้สิน ข้าราชการครูได้เพียงเงินเดือนเพียงทางเดียว จึงมีหนี้สินวิกฤต ที่ผ่านมารัฐบาลเคยช่วยเหลือสำเร็จมาแล้ว แต่ขาดความต่อเนื่อง จึงเหมือนนำหินไปปิดปากถ้ำ ล่าสุดครูมีหนี้สินวิกฤตทั้งประเทศกว่า ๖๐,๐๐๐ คน ติดอยู่ในถ้ำไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง จึงต้องเคลื่อนไหวปฏิญญาสารคาม พวกเราไม่ต้องการเบี้ยวหนี้อย่างแน่นอน เพราะครูที่มีหนี้สินจะถูกหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย จึงหนีหนี้ไม่ได้อยู่แล้ว ขอให้สังคมเห็นใจและเข้าใจความประสงค์ที่แท้จริง”

แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

         นายสุวัช กล่าวอีกว่า “ในส่วนของธนาคารออมสินที่ได้ช่วยเหลือด้วยการลดดอกเบี้ย เป็นการช่วยเหลือไม่ตรงจุด เพราะครูที่มากู้เงินกับธนาคารออมสินกลุ่มนั้น เป็นครูที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินวิกฤต และที่ธนาคารออมสินรายงานตัวเลข NPL ให้รัฐบาลกับกระทรวงการคลัง ทราบว่ามีเพียง ๑-๒% นั้น ก็รายงานไม่หมด เพราะความเป็นจริงธนาคารออมสินได้นำเงินกองทุนสนับสนุนพิเศษเพื่อความมั่นคงเงินกู้ ช.พ.ค. ๑๑,๕๐๐ ล้านบาท ไปจ่ายแทนผู้กู้ที่ขาดส่ง ๓ งวด ดังนั้น ตัวเลข NPL ที่แท้จริงมีไม่ต่ำกว่า ๑๐% ซึ่งเหมือนเป็นการตกแต่งตัวเลขให้สวยหรู เพื่อรายงานให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินครูมีจำนวนไม่มาก สิ่งสำคัญที่กลุ่มครูออกมาเรียกร้องในวันนี้ ต้องการให้นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบความจริงในแก่นแท้ของปัญหาหนี้สินครู เพื่อใช้องค์กรที่มีความความเข้าใจ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้สินครูวิกฤติอย่างมีประสิทธิ ภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหานี้สินครูได้สำเร็จอย่างแท้จริง”

เชื่อปฏิญญาฯ ไม่ชักดาบ

         นายเรือง มั่นดี อดีตครูชำนาญการ จ.นครราชสีมา อายุ ๖๕ ปี กล่าวว่า “ช่วงที่รับราชการครูได้เป็นหนี้หลายสถาบันการเงิน อย่างธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเงินเดือนในแต่ละเดือนสามารถนำมาชำระได้ครบถ้วน แต่หลังจากที่เกษียณอายุราชการมาแล้ว ตลอดช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา เริ่มมีปัญหาเพราะเงินบำนาญไม่สามารถชำระหนี้ได้ครบทุกสถาบัน แต่ละเดือนเมื่อหักชำระหนี้ไปแล้วเหลือเงินประมาณ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่สามารถใช้จ่ายค่าครองชีพในชีวิตประจำวันได้เลย ดังนั้นการที่ตนเองเดินทางมารวมพลังในวันนี้ ก็เพื่อที่จะขอให้รัฐบาลได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้วิกฤตให้กับตนเองและกลุ่มครูที่เกษียณอายุราชการทั่วประเทศ โดยไม่มีเจตนาที่จะปฏิเสธหนี้และชักดาบเจ้าหนี้แต่อย่างใด ครูที่เป็นหนี้ในจังหวัดนครราชสีมา มีมากกว่า ๒๖,๐๐๐ คน ทางออกที่ดีก็คือ ครูที่เดือดร้อนได้รับการลดดอกเบี้ย หากธนาคารออมสินอยู่ได้ ครูก็อยู่ได้ เราอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งการรวมหนี้และมีการยืดระยะเวลาให้ครูสามารถยืนอยู่ในสังคมได้ รวมทั้งสามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ในสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ แต่ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้พวกเราตาย แต่ธนาคารออมสินเจริญรุ่งเรืองฝ่ายเดียว โดยครูในจังหวัดนครราชสีมามีมติให้มีการรวมหนี้ ลดดอกเบี้ยและประกันชีวิต อยากให้มีความเป็นธรรม เพราะมีการเก็บล่วงหน้าไป ๙ ปี ส่วนปฏิญญามหาสารคามพวกเราไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่าเป็นเพียงพิธีกรรมบนเวทีและเป็นกุศโลบายของผู้นำในวันนั้น เพื่อให้สังคมได้เอียงหูมารับฟังครู ว่ามีความเดือดร้อนอย่างไร ซึ่งความจริงเขาไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเบี้ยวหนี้หรือชักดาบ และอยากให้สื่อมวลชนให้ความเป็นธรรม และช่วยขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพามากลตรงนี้ เสนอต่อสาธารณชนให้ได้ทราบกัน และอยากให้สังคมได้เห็นใจกลุ่มครูด้วย ถ้ามีการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างผมอายุ ๖๕ ปี หนี้ของผมจะต้องยืดออกไปอีก ผมจะอยู่ถึง ๙๐ ปีหรือเปล่า ก็ไม่รู้ และหนี้สินทั้งหลายทั้งปวงจะตกเป็นภาระลูกเมีย ถ้ารัฐบาลให้ความเห็นอกเห็นใจพวกผม หันมาปรับลดดอกเบี้ยให้พวกผม เราสามารถชำระหนี้ได้ภายในชาตินี้ แต่ถ้าไม่มีการปรับหนี้ช่วยเหลือพวกเรา  ผมคิดว่า ชาติหน้าไม่รู้จะหมดหรือเปล่า”

         ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรียังระบุว่า คณะครูขอความเมตตาจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ๓ ข้อ คือ ๑.ขอให้โคราชการแก้ไขหนี้สินครูวิกฤตดำเนินการต่อไป หากรัฐมนตรียังไม่สามารถตัดสินใจได้ ให้นำเรื่องเข้าหารือ ครม. โดยขอให้ทีมงานของ ดร.พิษณุ อดีตรักษาการเลขาธิการ สกสค.ซึ่งเป็นผู้วางแผนในโครงการแก้ไขหนี้เดิมเข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย เพื่อปรับแก้ไขอุปสรรคปัญหาให้ดำเนินการต่อไปได้ ๒.ขอให้มีการแต่งตั้งเลขาธิการ สกสค. ตัวจริงโดยเร็ว ตามคำสั่ง คสช.ที่ ๑๗/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูวิกฤตอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และ ๓.ขอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันหลายฝ่าย โดยมีตัวแทนลูกหนี้ด้วย ตามแนวทางของท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประจิน จั่นตอง ที่ได้มีการนำเสนอในคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติ ตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) เพื่อติดตามและดำเนินการอย่างเป็นทางการให้ลุล่วง

สหกรณ์ครูเสนอ “โคราชโมเดล”

         ทางด้านนายสมศักดิ์ จักรสาร ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา ชุดที่ ๖๑ จัดการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๖๑ ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. โดยมีกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง และนำวาระปัญหาหนี้วิกฤตโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. มาหารือเร่งด่วน ซึ่งในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกรณีการอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือสมาชิกฯ จำนวนทั้งสิ้น ๒ หมื่นล้านบาท โดยพิจารณาในวงเงิน ๑.๖ หมื่นล้านบาท ล่าสุดคงเหลือ ๔ พันล้านบาท ทำให้ไม่เพียงพอในการเยียวยาสมาชิกได้ครบ และหลายรายมีหนี้สินทับซ้อนหลายแห่ง การช่วยเหลือไม่มีทางสิ้นสุด เสมือนเบี้ยหัวแตก รวมทั้งโอกาสที่ธนาคารออมสิน จะพิจาณาให้กู้เต็มวงเงินมีความเป็นไปได้น้อย ให้แสวงหาเงินกู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ มาสนับสนุนรองรับเพิ่มเติมและต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทุนเรือนหุ้นและหลักประกันต่างๆ ไม่ให้สูงเกินไป เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้าถึงโครงการปรับโครงสร้างหนี้สินได้ด้วย 

         นายสมศักดิ์ จักรสาร ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ฐานข้อมูลสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำนวนทั้งสิ้น ๒๖,๓๖๑ คน พบ ๑๐,๗๓๕ คน มีสถานะเป็นลูกหนี้ ช.พ.ค เฉลี่ยรายละกว่า ๑ ล้านบาท หลายสิบราย โดยเฉพาะครูบำนาญมีหนี้วิกฤตเปรียบเสมือนผู้ป่วยหนักรอความตาย หากปล่อยไว้ไม่ได้ตายคนเดียว ครอบครัวและผู้ค้ำประกันก็ตายตามด้วย ในที่ประชุมจึงมีมติเสนอแนวทาง “โคราช โมเดล” นำร่องเป็นสหกรณ์ครูแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้ธนาคารออมสินพิจารณาโอนหนี้ให้สหกรณ์ครูฯ พร้อมขอกู้เงินที่สมาชิก ช.พ.ค. ค้างชำระทั้งหมด รวมยอดกว่า ๑ หมื่นล้านบาท มาบริหารจัดการปรับโครงสร้างใหม่ โดยรวมเป็นหนี้ก้อนเดียวทำให้บริหารจัดการคล่องตัวและมีความเป็นธรรมมากขึ้น  

         “การที่กระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ปฏิญญามหาสารคามในทางลบ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ครูทั่วประเทศ ใครเป็นหนี้สินก็ต้องชำระคืน มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะผลทางกฎหมายถึงขั้นถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายและต้องออกจากราชการ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เล็งเห็นและเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนมาตลอด พวกเราสัญญาจะไม่ทอดทิ้งมวลสมาชิกอย่างแน่นอน ขณะนี้ได้พิจารณาช่วยเหลือสมาชิกที่มีหนี้สินไม่เกิน ๑.๒ ล้านบาท โดยรวมหนี้สิน ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาผ่อนชำระ หากหนี้สินมากเกินไป การพิจารณาต้องใช้เวลานานพอสมควร เพื่อมิให้เกิดผลกระทบตามมาภายหลัง ความคืบหน้าการดำเนินแนวทาง “โคราชโมเดล” อยู่ระหว่างนัดเจรจาหาข้อตกลงกับผู้บริหารธนาคารออมสิน ขอให้สมาชิกรอฟังข่าวดี” นายสมศักดิ์ กล่าว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


700 1353