28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 03,2018

ผนึกพลัง‘สดร.-สซ.-จุฬาฯ-มทส.’ สร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ฯ

        ๔ สถาบันสถาบันสร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทย รองรับโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ โครงการความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ระดับโลก หวังใช้งานวิจัยดาราศาสตร์ระดับแนวหน้าพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน มั่นใจศักยภาพคนไทยจะสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในอนาคต

        เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาระบบเคลือบกระจกสำหรับโครงการหมู่กล้อง โทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ (Cherenkov Telescope Array หรือ CTA) มีผู้แทน ๔ สถาบัน ได้แก่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ศาสตราจารย์ น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมลงนาม รวมทั้งได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามดังกล่าว ณ ห้องโถง ชั้น ๑ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขา ธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการความร่วมมือพัฒนาระบบเคลือบกระจกสำหรับโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟของประเทศ ไทย เป็นผลจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสถาบันเดซี ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ ด้วยทรงทราบว่า นอกเหนือจากงานวิจัยด้านซินโครตรอนแล้ว สถาบันเดซียังมีงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ประสานกับ สดร. เจรจาความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน นำไปสู่การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันเดซีและ สดร. ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ เมืองฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จากนั้นสถาบันเดซี ได้เสนอให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ โครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่จะสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ค้นหาคำตอบของจักรวาลจากการค้นพบทางฟิสิกส์อนุภาคที่ยิ่งใหญ่ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทย อาทิ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และช่างเทคนิค จะมีโอกาสทำงานร่วมกับนักวิทยา ศาสตร์และวิศวกรระดับโลก นำไปสู่การสร้างและพัฒนากำลังคนขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยโจทย์ที่ท้าทายที่สุดในจักรวาล ในอนาคตอาจกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง หรือเป็นวิศวกรสร้างสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ผู้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป  

        ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ถือเป็นวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและบุคลากรหลายๆ ด้านมารองรับ การออกแบบพัฒนาระบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกฝีมือคนไทย สำหรับใช้ในโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีผลมาจากการพัฒนาองค์ความรู้และความสามารถของบุคลากรทางด้านวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ตอบสนองความต้องการศึกษาวิจัยชั้นแนวหน้า และยังชี้ให้เห็นถึงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทยให้เก่งขึ้น นอกจากนี้ ผลงานวิจัย สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสามารถต่อยอดไปสู่ภาคการผลิตอุตสาห กรรมได้อีกด้วย

        ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากภารกิจการค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์สู่ประชาชนแล้ว สดร. ยังให้ความสำคัญในการออกแบบและสร้างอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการวิจัยทางดาราศาสตร์ และมุ่งใช้ดาราศาสตร์มาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน เพื่อยกระดับงานวิจัยและวิศวกรรม  ให้สามารถเป็นผู้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ระดับสูงด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะงานด้านดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ในสาขาอื่นๆ ได้อีกด้วย        

        สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาระบบเคลือบกระจกสำหรับโครงการหมู่กล้อง โทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ ทั้ง ๔ หน่วยงานจะร่วมดำเนินการออกแบบพัฒนาระบบ และผลิตเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ จำนวน ๖,๐๐๐ บาน  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางบานละ ๑.๒ เมตร มีประสิทธิภาพในการเพิ่มอัตราการสะท้อนแสง สามารถควบคุมความหนาของฟิล์มบางได้ในระดับนาโนเมตร  ซึ่งกล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟในโครงการ CTA ต้องการความยาวคลื่นในการสะท้อนแสงช่วง ๓๕๐-๕๐๐ นาโนเมตร และสามารถเคลือบฟิล์มซิลิกอนไดออกไซด์ เพื่อยืดอายุการใช้งานกระจก ซึ่งอาจถูกกัดกร่อนจากสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น ลม พายุทะเลทราย ความชื้น เป็นต้น หากแล้วเสร็จจะนำไปติดตั้ง ณ โครงการก่อสร้างหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชอเรนคอฟ ประเทศชิลี  

        โครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ เป็นโครงการตรวจวัดรังสีแกมมาพลังงานสูงจากแหล่งกำเนิดพลังงานนอกโลก พลังงานระดับดังกล่าวไม่สามารถสร้างขึ้นจากเครื่องเร่งอนุภาคบนโลก นักดาราศาสตร์จึงวางแผนสร้างกล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟเพื่อตรวจจับรังสีแกมมาพลังงานสูงที่เดินทางมายังโลก โครงการ CTA นี้ เป็นความร่วมมือจาก ๒๑๒ สถาบัน ใน ๓๒ ประเทศทั่วโลก ดำเนินการสร้างหอดูดาวหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเซเรนคอฟ ๒ แห่ง ณ เกาะลาปาลมา ประเทศสเปน ๑๙ กล้อง และบริเวณทะเลทราย ใกล้หอดูดาวปารานัล ประเทศชิลี ๙๙ กล้อง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งซีกฟ้าเหนือและใต้ ภายใต้งบประมาณ ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ณ เกาะลาปาลมา ประเทศสเปน คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๘ โครงการหมู่กล้อง โทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ จะเป็นหอสังเกต การณ์ใหม่ของโลก ที่จะเปิดประตูสู่การค้นหาธรรมชาติของแหล่งกำเนิดรังสีระดับพลังงานสูงในจักรวาล อาทิ หลุมดำ ซูเปอร์โนวา หรือความลับทางฟิสิกส์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และอาจเป็นกุญแจสู่การค้นพบที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติในชั่วชีวิตของเรา

 

 

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๘ วันพุธที่ ๑ - วันอาทิตย์ที่ ๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

705 1348