28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 10,2018

ลงมือรื้อสายสื่อสาร ๑๘ กม. ‘เชียร’หวังเหนือจังหวัดอื่น

             พ่อเมืองโคราชนำทีม จัดระเบียบสายสื่อสารพาดเสาไฟฟ้ารกรุงรัง เพื่อความปลอดภัย ปรับทัศนียภาพเมืองให้สวยงาม เป็นโครงการระยะแรก รวมความยาวทั้งสิ้น ๑๘,๓๓๑ เมตร คาดแล้วเสร็จเมษายน ๒๕๖๒ หวังเป็นจังหวัดแรกที่มีสายสื่อสารเป็นระเบียบ ด้านสายไฟลงใต้ดินคาดดำเนินการปีนี้

             เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๓๐ น. มีพิธีเปิดโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้า ณ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา, นายมงคล ฉัตรเวทิน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เขต ๒๓ จังหวัดนครราชสีมา และนายสำเริง ขนายกลาง ผู้จัดการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

             นายสำเริง ขนายกลาง ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา คณะทำงานโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าจังหวัดนครราช สีมา กล่าวว่า “ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้า เพื่อความเป็นระเบียบของบ้านเมืองและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแผนการดำเนินการระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้า โดยวิธีการมัดรวบในพื้นที่เขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานดังนี้ ๑.กำหนดเส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ทั้งสิ้น ๕๔ เส้นทาง ความยาวสายสื่อสารรวม ๑๓๓ กิโลเมตร โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น ๙ ระยะ ๒.วิธีการคือ รื้อสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานหรือเรียกว่าสายตายออกจากเสาไฟฟ้า และดำเนินการมัดรวมให้เรียบร้อย ๓.ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนเมษายน ๒๕๖๒”

             ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอีกว่า “ในการดำเนินการครั้งนี้อยู่ในระยะที่ ๑ จำนวน ๗ เส้นทาง ประกอบด้วย ถนนกำแหงสงคราม ถนนสรรพสิทธิ์ ถนนมหาดไทย ถนนจอมพล ถนนอัษฎางค์ ถนนยมราช และถนนพลแสน ความยาวสายสื่อสาร ๑๘ กิโลเมตร โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนทั้งสิ้น ๒๐ หน่วยงาน ประกอบด้วย ๑.สำนัก งานจังหวัดนครราชสีมา ๒.เทศบาลนครนครราชสีมา ๓.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ๔.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ๕.กองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดนครราช สีมา ๖.สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา ๗.สำนัก งานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต ๒๓ นครราชสีมา ๘.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารเขต ๔ (นครราชสีมา) ๙.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ๑๐.บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ๑๑.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ๑๒.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ๑๓. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ๑๔.บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด ๑๕.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ๑๖.บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด ๑๗.บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด ๑๘.บริษัท ดิจิตอล เทเลวิชั่น เน็ทเวิร์ค จำกัด ๑๙.บริษัท เฉินเจียน วันเจริญ จำกัด (KCTV) ๒๐.สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการสื่อสาร (ยูนิเน็ต) โดยมีทีมงานร่วมปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งสิ้น ๑๖๗ คน”

             นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “นอกจากการพัฒนาบ้านเมืองของเราแล้ว เราต้องพยายามแข่งขันกับจังหวัดอื่น เพื่อสร้างมาตรฐานให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่า นี่คือความหวังที่เราต้องช่วยกันยกระดับหรือพัฒนาให้จังหวัดนครราชสีมาเหนือกว่าจังหวัดอื่นในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้จัดให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องในการนำสายไฟลงใต้ดิน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในปีนี้ และเห็นผลในปี ๒๕๖๒ เป็นต้นไป ซึ่งใช้งบประมาณกว่า ๑ พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเขตเทศบาลนครนครราชสีมามีพื้นที่กว้างขวาง รวมทั้งมีสายสื่อสารเป็นจำนวนมากที่ไม่อยู่ในโครงการ และสายเหล่านี้มีความไม่เป็นระเบียบ รกรุงรัง เราจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้มีประชุมกันไปหลายรอบ และมีปัญหาอุปสรรคค่อนข้างมาก เนื่องจากผมคิดว่าดำเนินการแค่เพียงรวบมัดให้เป็นระเบียบ แต่เมื่อประชุมกันแล้ว จึงพบว่ามีสายหลายประเภทที่อยู่รวมกัน จึงกลายเป็นโครงการความร่วมมือของหลายหน่วยงานในวันนี้”

             “การดำเนินการจะต่อเนื่องไปถึงเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ถึงวันนั้นผมคิดว่านครราช สีมาน่าจะเป็นจังหวัดแรกที่มีการจัดระเบียบสายไฟได้เรียบร้อย จึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าสายทั้งหมดเป็นสายไฟฟ้า แต่ความจริงแล้วส่วนใหญ่เป็นสายสื่อสาร และผมจะขอให้ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมานำผลการดำเนินงานไปแจ้งในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือน เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่มีปัญหาหรืออุปสรรค วันนี้จึงขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับทุกหน่วยงาน” นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวทิ้งท้าย

             สำหรับเส้นทางความผิดชอบโครงการจัดการระเบียบสายสื่อสารจังหวัดนครราช สีมา ระยะที่ ๑ (ดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๖๑) จำนวน ๑๖ เส้นทาง คือ เส้นทางที่ ๑ กำแหงสงคราม จากถนนราชดำเนิน-ถนนสรรพสิทธิ์ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย TOT และ CAT, เส้นทางที่ ๒ ถนนสรรพสิทธิ์ จากที่ทำการอำเภอเมือง-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย TOT และ CAT, เส้นทางที่ ๓ ถนนมหาดไทย จากถนนชุมพล-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย TOT และ CAT, เส้นทางที่ ๔ ถนนมหาดไทย จากถนนชุมพล-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งขวา) ดำเนินการโดย TOT และ CAT, เส้นทางที่ ๕ ถนนจอมพลถนน จากชุมพล-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย TOT และ CAT, เส้นทางที่ ๖ ถนนจอมพลถนน จากชุมพล-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งขวา) ดำเนินการโดย TOT และ CAT, เส้นทางที่ ๗ ถนนอัษฎางค์ จากถนนชุมพล-ถนนประจักษ์ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย TRUE, เส้นทางที่ ๘ ถนนอัษฎางค์ จากถนนชุมพล-ถนนประจักษ์ (ฝั่งขวา) ดำเนินการโดย AIS, 

             เส้นทางที่ ๙ ถนนอัษฎางค์ จากถนนประจักษ์-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย 3BB, เส้นทางที่ ๑๐ ถนนอัษฎางค์ จากถนนประจักษ์-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งขวา) ดำเนินการโดย ITEL และ SYM, เส้นทางที่ ๑๑ ถนนยมราช จากถนนชุมพล-ถนนประจักษ์ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย DTAC, เส้นทางที่ ๑๒ ถนนยมราช จากถนนชุมพล-ถนนประจักษ์ (ฝั่งขวา) ดำเนินการโดย UIT, เส้นทางที่ ๑๓ ถนนยมราช จากประจักษ์-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งซ้าย) ดำเนินการโดย SIMAT, เส้นทางที่ ๑๔ ถนนยมราช จากประจักษ์-ถนน ๒๒๔ (ฝั่งขวา) ดำเนินการโดย UNINET, เส้นทางที่ ๑๕ ถนนพลแสน จากถนนชุมพล-ถนนประจักษ์ (ฝั่งขวา) ดำเนินการโดย KCTV, เส้นทางที่ ๑๖ถนนพลแสน จากถนนประจักษ์-ถนนกุดั่น (ฝั่งซ้าย-ขวา) ดำเนินการโดย DNTV รวมความยาวของสายสื่อสารทั้งหมด ๑๘,๓๓๑ เมตร 

 

 

นางสาวศิธาธร เนตรวิเศษ/ข่าว/ภาพ

  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๙ วันจันทร์ที่ ๖ - วันศุกร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

701 1356