18thApril

18thApril

18thApril

 

August 11,2018

ราชภัฏถักทอวิจัยท้องถิ่นสู่สากล งานวิจัยทั้งประเทศมุ่งพัฒนา กระทรวงใหม่ใครได้-ใครเสีย

            ราชภัฏโคราชประชุมวิชาการและนำเสนองานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ ๑๐ ‘ถักทองานวิจัยท้องถิ่น ก้าวไกลสู่สากล’ เพื่อนำเสนอผลงานการวิจัยของคณาจารย์จากราชภัฏทั่วประเทศ พร้อมรับฟังปาฐกถาพิเศษ “บทบาทการวิจัยกับการพัฒนาประเทศไทย” และเสวนาเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ใครได้-ใครเสีย”

            เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ๓ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาคณะวิทยาการจัดการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีการจัดประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ ๑๐ ภายใต้ชื่อ ‘ถักทองานวิจัยท้องถิ่น ก้าวไกลสู่สากล’ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานในพิธี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศกว่า ๒๐๐ คน เข้าร่วมงาน ในงานมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทการวิจัยกับการพัฒนาประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์ ดร.วรเดช จันทรศร ผู้ทรงคุณวุฒิ ต่อด้วยการเสวนาเรื่อง “กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ใครได้-ใครเสีย” โดย ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฏ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นอกจากนี้ มีการแสดงผลงานการวิจัยของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจัดแสดงด้วย

            ทั้งนี้การประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๑ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗-๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ๓ หน่วยงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราช สีมา กับเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และภาคีเครือข่ายจังหวัดนครราช สีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดการทำงานเชิงวิชาการในพื้นที่ ด้วยการเปิดเวทีนำเสนอผลงานวิจัยของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพงานวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการเพื่อสังคมชุมชนท้องถิ่น สร้างความร่วมมือในงานวิชาการรับใช้สังคมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิชาการรับใช้สังคมระหว่างสถาบันอุดมศึกษา กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการนำผลงานวิชาการไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อยอดไปสู่ระดับชาติต่อไป

            นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ ๑๐ ภายใต้ชื่อ ‘ถักทองานวิจัยท้องถิ่น ก้าวไกลสู่สากล’ ถือเป็นงานที่สำคัญและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมงานวิจัยท้องถิ่นและต้องการผลักดันประเทศไปสู่ยุค ๔.๐ ปีนี้ผมมีข้อสังเกตเมื่อครั้งไปเสนองบยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เรามีงบประมาณ ๔๐๐ ล้านบาทสำหรับงบกลุ่มจังหวัด ผมเป็นคนนำ ๔๐๐ ล้านบาทนี้ไปเสนอกับกรรมการงบประมาณ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีการเสนองบประมาณแตกต่างกับจังหวัดอื่นในกลุ่มนครชัยบุรินทร์ เพราะจังหวัดนครราช สีมาใช้ผลงานของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยา ลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยา ลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะได้งบในการดำเนินงานต่างๆ ประมาณ ๖๐ ล้านบาท และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือ ทางจังหวัดได้นำผลงานการวิจัยทางการศึกษามาต่อยอดและนำไปใช้ในการพัฒนาจังหวัด เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เด่นเรื่องการวิจัยสายพันธุ์โควากิว ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เด่นในเรื่องของการวิจัยข้าว การผลิตนมข้าวหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากข้าว ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เด่นเรื่องการจัดตลาดออนไลน์ การจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผมมีความภาคภูมิใจว่า มหาวิทยาลัยในพื้นที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาจังหวัด สำหรับวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และผลงานการวิจัย ของสถาบันการศึกษา, นักวิจัย และประชาชน ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากแวดวงการศึกษาแล้ว ยังก่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้พัฒนาพื้นที่ได้อีกด้วย”

บทบาทการวิจัยกับการพัฒนาประเทศไทย

            ศาสตราจารย์ ดร.วรเดช จันทรศร กล่าวว่า “การวิจัยที่จะนำไปพัฒนาประเทศ เราจำเป็นจะต้องดูหลายเรื่อง คือ ๑.คุณภาพ เพราะว่าเราไม่ต้องการวิจัยที่ไม่มีความเป็นจริง เราต้องทำให้บทบาทของการวิจัย กลายเป็นบทบาทที่ทรงความยุติธรรมคือ ตรงไปตรงมา เราจึงต้องมีการสุ่มตัวอย่าง มีการเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยได้รับการคัดเลือก ถ้าเราไปเลือกมาแล้วบิดเบือนว่ากลุ่มนั้นคือกลุ่มเป้าหมายที่จะตอบคำถามการวิจัย อย่างนี้จะทำให้คุณค่าของความซื่อตรง ความยุติธรรม ถูกละเลยไป อย่างเช่นศาล ศาลก็ถือว่าเป็นผู้ที่วิจัยอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าศาลจะต้องวิจัยความผิดถูกของผู้อื่น ต้องมีการคิดอย่างตรงไปตรงมา มีเหตุและผล และต้องดูข้อมูลประกอบอย่างถี่ถ้วน ดังนั้นผู้วิจัยจะต้องเป็นหลักในการพัฒนาประเทศว่าด้วยเรื่อง บทความของความซื่อตรง บทบาทของความยุติธรรม ๒.ต้องตอบคำถามการวิจัยให้ได้ว่า เรามองครบทุกด้านหรือยัง บางสิ่งอาจจะมีคำตอบได้มากมาย ดังนั้นผู้วิจัยจะต้องมองให้ออกทั้งหมด หากมองไม่ครบจะส่งผลให้ผู้วิจัยตัดสินใจผิดหลายๆ เรื่อง ๓.เรื่องปัญญาพิทักษ์ธรรม หากงานวิจัยขาดกรอบที่มีปัญญาหรือความรู้แจ้งเห็นจริง การเปลี่ยน แปลงก็จะไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เราต้องการสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์จริงๆ เมื่อในอดีตก็มีการวิจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งดีและไม่ดีมากมาย เช่น การวิจัยระเบิดนิวเคลียร์ เป็นการวิจัยที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและค้นพบไปในทางที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง มีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด คือการทิ้งระเบิดลงที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเราจะต้องมีปัญญาที่จะมองให้ออกทุกด้านของงานวิจัย ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดเพื่อจะสื่อให้เห็นว่างานวิจัยมีคุณค่าในตัวเองชิ้นงานเองอยู่แล้ว ผลของการศึกษามีทั้งสร้างสรรค์และเป็นตัวทำลายได้”

            “หากประเทศไทยต้องการที่จะนำการวิจัยไปช่วยในการพัฒนาประเทศจริงๆ ต้องไปมองดูภาคธุรกิจเอกชนเป็นตัวอย่าง เพราะเขามีวัตถุประสงค์และเป้าหมายชัดเจน วันนี้แม้รัฐบาลจะบอกว่าอยากเปลี่ยนประเทศไปสู่ยุค ๔.๐ แต่นี่เป็นเรื่องใหญ่ ต้องมาดูว่าอะไรเป็นเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน และเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะได้ด้วย ดังนั้นการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศต้องตอบโจทย์เป้าหมายให้ได้ เช่น เรามีเงิน ๑ ล้านบาทแล้วต้องการวิจัยเรื่องอะไรก็ตาม ภายใน ๑ ปี เราจะต้องตอบโจทย์เป้าหมายให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ถือว่าเราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการวิจัยเลย นอกจากนี้เรายังต้องยกเลิกระบบอุปถัมภ์ เพราะบางคนวิจัยเพื่อจะเอางบไปใช้อย่างเดียว และคนที่ได้งบไปวิจัยก็มีแต่หน้าเดิมๆ ส่วนผู้ที่เขาต้องการวิจัยอย่างจริงๆ จังๆ กลับไม่ได้การยอมรับและไม่ได้การสนับสนุน เรื่องแบบนี้เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทย ที่การศึกษาไทยล้มเหลว ส่วนมากเกิดจากมีแต่ผู้ชอบไม่มีผู้รับผิด กลไกความรับผิดชอบของระบบการศึกษาผิดตั้งแต่ให้หน่วยงานเล็กรับผิดชอบไปสู่หน่วยงานใหญ่ ครูทั้งประเทศจึงสนใจแต่เรื่องการทำผลงานไปเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้นเป้าหมายของครูก็ไม่ได้อยู่ที่นักเรียนแล้ว เพราะเป้าหมายของครูอยู่ที่ความก้าวหน้าส่วนตัว ระบบอุปถัมภ์ การวิ่งเต้นก็เพิ่มมากขึ้น เพราะทุกโรงเรียนทั้ง ๔๐,๐๐๐ กว่าแห่ง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการศึกษาของตนเองและนักเรียน แต่จะต้องมารับผิดชอบต่อความก้าวหน้าและชื่อเสียงของตน โครงสร้างแบบรวมอำนาจของไทย คือสิ่งที่ทำลายระบบการศึกษาไทยอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้เกิดจากทุกคนมุ่งเป้าหมายที่ผิดหมดตั้งแต่แรก ดังนั้นการศึกษาไทยจึงมีความเกี่ยวพันกับการวิจัยที่ต้องการการปฏิรูป และการปฏิรูประบบต่างๆ ในประเทศ ต้องไปเปลี่ยนกลไกที่รับผิดชอบ”

            ศาสตราจารย์ ดร.วรเดช จันทรศร กล่าวอีกว่า “วันนี้เราจะขยายปริมาณของผู้ที่มาทำวิจัยได้อย่างไร นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องถูกฝึกให้ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์อยู่ตลอดเวลา การขยายผู้ร่วมทำวิจัยถือเป็นบทบาทใหม่ที่เข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศ ส่วนเรื่องคุณภาพการวิจัย ต้องให้คณาจารย์เข้ามามีส่วนรับผิดชอบคุณภาพงานวิจัยของนักศึกษา จะเห็นว่าปัจจุบันหลายๆ มหาวิทยาลัย คณาจารย์ส่วนใหญ่ให้นักศึกษาทำวิจัยแค่ให้นักศึกษาเรียนจบ งานวิจัยจึงมีทั้งด้อยคุณภาพและมีคุณภาพ และเรื่องสำคัญที่สุดคือการนำคนไปใช้ประโยชน์ วันนี้ระบบอุปถัมภ์ต้องถูกทำลายหรือลดลง เพราะคนเก่งคนมีฝีมือส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมาใช้งาน หลายๆ แห่งที่มีงบวิจัยมักไม่ใช้ระบบการทำงานแบบธรรมาภิบาลแต่ใช้ระบบอุปถัมภ์ มีการเอื้อประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นคนรุ่นใหม่ รวมทั้งคณาจารย์ที่มีส่วน ต้องช่วยกันดูแลและเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ เพราะหากเราปล่อยให้กลไกเป็นแบบเดิม จะส่งผลให้คนที่มีความรู้ความสามารถไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ บทบาทต่างๆ ในการวิจัยจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกัน ทั้งเป้าหมาย, ความรับผิดชอบ, มาตรฐาน และการดึงชุมชนหรือนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม และสุดท้ายการใช้งบประมาณ ทุกคนย่อมประหยัดเงินในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่เสมอ แต่เมื่อเป็นเงินของรัฐบาล บางคนทำวิจัยเพื่อใช้งบให้หมดไป โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ผู้วิจัยต้องตระหนักว่าเงินที่ใช้นั้นคือเงินของเรา และต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การที่ผู้วิจัยทุกคนเป็นทั้งคณาจารย์และนักศึกษา ถือว่าทุกคนคือพลเมืองดีคนหนึ่ง และท้ายที่สุดแล้วการเป็นพลเมืองดีของสังคมก็จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในที่สุด”

กระทรวงอุดมศึกษาฯ ใครได้-ใครเสีย

            ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ กล่าวว่า “ ในเชิงโครงสร้างองค์กร ในปัจจุบันที่รัฐบาลเรามีนายกรัฐมนตรี มีรองนายกฯ มีกระทรวงต่างๆ เป็นเสาหลัก ปัญหาของการสร้างองค์กรแบบนี้มีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือแบ่งหน้าที่การทำอย่างชัดเจน แต่ข้อเสียคือแต่ละกระทรวง เมื่อทำงานร่วมกันจะค่อนข้างยาก เพราะหลายๆ อย่างไม่เอื้ออำนวย เช่น ตัวชี้วัด เมื่อตัวชี้วัดไม่เอื้ออำนวยแล้ว พฤติกรรมของคนในกระทรวงก็จะไม่เอื้ออำนวยตาม ดังนั้นการควบรวมที่ลดลำดับลงมา โดยเอาหน่วยงานอุดมศึกษาไปรวมกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์และวิจัย หวังว่าการรวมกันจะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของ ๓ หน่วยงานนี้ดีขึ้น”

            “ทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องศตวรรษที่ ๒๑ ทุกคนได้ยินคำว่ายุค ๔.๐ ตรงนี้จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงกำลังเข้ามาสู่ประเทศของเรา การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลถึงคน หากมองย้อนไปในอดีตหลายๆ คนคงผ่านการพัฒนาตัวเองในระหว่างการทำงาน จนทำให้ประสบความสำเร็จใจตำแหน่งที่สูง แต่ปัจจุบันหากไม่มีเรื่องการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง คนๆ นั้นย่อมไม่มีทางที่จะไปอยู่ในตำแหน่งสูงๆ ได้ สรุปก็คือ ยุค ๔.๐ ก็ดี เรื่องศตวรรษที่ ๒๑ ก็ดี คนที่อยู่ในยุคนี้จะต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ๑.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การรวมกระทรวงระหว่างหน่วยงานอุดมศึกษากับหน่วยงานวิทยา ศาสตร์ เป็นคำตอบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพราะคนเราจะต้องอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีให้ได้ ๒.การวิจัย ผู้วิจัยจะต้องศึกษาเรียนรู้ในเชิงประจักษ์ มีข้อมูลรองรับ พร้อมที่จะผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดังนั้นด้วยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและความรู้ทางด้านวิจัย เพื่อรองรับยุค ๔.๐ หรือศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งหมดนี้คือหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ และขับเคลื่อนคนไทยในวันนี้และวันหน้า สรุปว่าการควบรวมกระทรวงครั้งนี้ ถือว่าสมบูรณ์มากที่นำ ๓ ภาค ส่วนมาอยู่ใต้การควบคุมเพียงหนึ่งเดียว และหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงการทำงาน วัฒนธรรมต่างๆ ของกระทรวงที่ครั้งหนึ่งเคยแยกกัน มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ มองภาพรวมการศึกษาคู่ไปกับเทคโนโลยีและการวิจัย และคำว่า ‘ควบรวม’ หากมองย้อนไปในอดีตจนถึงปัจจุบันเกิดการควบรวมมากขึ้น ๑๒ เท่าตัว โดยบริษัทเอกชนมากมายได้ควบรวมจากการซื้อบริษัทหนึ่งมาอยู่ในบริษัทหนึ่ง เพราะการควบรวมจะส่งผลให้เป้าหมายไปสู่ความสำเร็จได้ดีกว่าเดิม” ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ กล่าว

            ผศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ กล่าวว่า “ในมุมมองของนักวิจัย ในแง่ของกระทรวงใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นมา ‘ผมเห็นด้วย’ เพราะจะมีการควบรวม มีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ การควบรวมนั้นจะทำให้เกิดการผนึกกำลัง และในอีกแง่มุมของนักวิจัย ในภาพรวมของประเทศ ประเทศไทยควรจะมีนักวิจัยจำนวนมากถึง ๓๐๐,๐๐๐ คน เพื่อเทียบกับประเทศที่เจริญและพัฒนาแล้ว แต่ปัจจุบันเรามีเพียง ๔๐,๐๐๐ คน สำหรับผมแล้วการวิจัยคือปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ แต่หากทำวิจัยอย่างเดียวแต่ไม่นำไปใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น เครื่องมือของใช้ที่เราใช้อยู่ ทุกอย่างมาจากการวิจัยแล้วนำไปพัฒนา จึงทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น แต่ว่ารัฐบาลไม่ค่อยให้ความสนใจงานวิจัย เพราะหลายคนคิดว่างานวิจัยที่วิจัยเสร็จแล้วจะนำไปใช้อะไรได้ แต่ไม่ยอมมองว่าในอนาคตเราอาจจะต้องใช้ประโยชน์จากการวิจัยเหล่านี้ จะต้องเปิดใจมองว่าสิ่งที่ทำ ณ ขณะนั้น อาจจะได้ใช้ในคนรุ่นต่อๆ ไป เมื่อเกิดการพัฒนาแล้วก็ต้องทำให้เกิดนัวตกรรม แต่ประเทศไทยมักจะเน้นนวัตกรรมไปในทางบริการ เราควรจะเน้นไปในทางผลิตภัณฑ์ให้มากว่านี้ ดังนั้นการที่จะตั้งกระทรวงใหม่ ที่มีเรื่องงานวิจัยเข้าไปด้วย ก็จะทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ผมคิดว่านี่เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ที่นักวิจัยจะต้องพร้อมปรับตัว”

            ท้ายสุด ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ กล่าวว่า “ผมว่าหากถามคนทั้งประเทศ เขาคงไม่สนใจเรื่องการตั้งกระทรวง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกระทรวงมาก แล้วรัฐบาลชุดนี้ตอนเข้ามารับหน้าที่บอกว่าจะไม่ตั้งกระทรวงใหม่ แนวคิดของการตั้งกระทรวงใหม่มีมาก่อนรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เหตุผลที่คิดจะตั้งกระทรวงนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยมีปัญหา แล้วถ้าตั้งกระทรวงใหม่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือ แต่ผมมองว่าปัญหาที่จะตั้งกระทรวงจริงๆ คือปัญหาของคนในกระทรวงที่คิดจะทำอะไรใหม่อย่างเดียว นี่คือปมหนึ่งที่อยู่ในใจของคนที่คิดจะตั้งกระทรวง จริงๆ แล้วปัญหาของเรื่องทั้งหมดคือ เรื่องคุณภาพการทำงาน ปัญหาของคนในองค์กร และเรื่องของการรับนโยบายรัฐไปขับเคลื่อนต่างๆ และองค์กรในกระทรวงศึกษาก็ต่างคนต่างอยู่ ที่เล่ามาทั้งหมดผมจะสื่อว่า มุมมองของคนมีการมองในมุมที่ต่างกัน ในมุมมองของนักกฎหมาย เขาก็จะถามว่า ‘ตั้งกระทรวงใหม่แล้วแก้ปัญหาเหล่านั้นได้จริงหรือ’ กลุ่มนี้เขาจะมองในมุมของความขัดแย้งในมหาวิทยาลัย และส่งผลไปถึงคุณภาพของการศึกษา เพราะความเป็นอุดมศึกษาต้องมีอิสระและเสรีภาพ คือ มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ และมีเสรีภาพในทางวิชาการ ดังนั้น มหา วิทยาลัยคือแหล่งรวบรวมคนเก่ง และเป็นแหล่งผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ หากประเทศไทยต้องการเดินหน้าสู่ยุค ๔.๐ ต้องขับเคลื่อนด้วยหัวรถจักรขบวนนี้เท่านั้น และเมื่อตั้งกระทรวงใหม่ที่นำโดยอุดมศึกษาแล้ว รัฐบาลก็จะตั้งโจทย์ให้มหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนไปได้โดยใช้นโยบายจากรัฐบาล ถ้าถามผมตอนนี้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ผมยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเรื่องนี้ต้องมาคุยกันอีกหลายรอบ เพื่อหาข้อสรุปและทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย”

 

 

 

วีรภัทร์ จูฑะพงษ์/ข่าว/ภาพ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๐ วันเสาร์ที่  ๑๑ - วันพุธที่  ๑๕  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

701 1342