29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 28,2018

เปิดเวทีฟังเสียงประชาชน โครงการรถไฟความเร็วสูง หวังเกิดประโยชน์สูงสุด

            การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดการประชุมใหญ่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงสระบุรีถึงนครราชสีมา เพื่อนำไปใช้ปรับแบบรายละเอียด หวังให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการฯ

            เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมสีมาธานี การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดการประชุมใหญ่ การมีส่วนร่วมของประชาชน งานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ช่วงสระบุรี-นครราชสีมา) โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ผู้จัดการโครงการฯ นายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม Mr.Zhou Xinxin ผู้ออกแบบเส้นทางจากประเทศจีน และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกว่า ๓๐๐ คน การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง และนำไปแก้ไขปรับปรุงแบบโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ในการประชุมครั้งนี้ไร้เสียงคัดค้าน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นห่วงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาภายหลัง 

            ทั้งนี้ตามที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงลงนามบันทึกความเข้าใจด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๙ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางรวมประมาณ ๘๖๗ กิโลเมตร ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมโครงการ ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา

            นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ซึ่งวันนี้เรามาฟังข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษาและการรถไฟแห่งประเทศไทย หลังจากมีการปรับแบบโครงการ เนื่องจากว่าทางจังหวัดนครราชสีมาได้เสนอว่า โครงการรถไฟทางคู่ต้องมีการยกระดับในบริเวณเขตอำเภอสีคิ้ว และในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ดังนั้นรถไฟความเร็วสูงจึงต้องมีการปรับแบบให้สอดคล้องกัน ที่สำคัญ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคนี้ จะเป็นโครงการที่นำพาความเจริญมาสู่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก โดยโครงการในเฟสแรก จะทำให้การเดินทางจากโคราชไปกรุงเทพฯ ก็จะลดระยะเวลาเดินทางเหลือเพียง ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาทีเท่านั้น และเมื่อโครงการในเฟส ๒ จากโคราชไปหนองคายและเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว ก็จะช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ได้สะดวกรวดเร็วมากกว่าเดิม รวมถึงด้านเศรษฐกิจก็จะพัฒนามากขึ้นเช่นเดียวกัน”

            “ในส่วนของสถานีรถไฟปากช่องตามแบบโครงการนี้อยู่ห่างจากสถานีเดิมถึง ๗ กิโลเมตร ถ้ามีโอกาสผมก็อยากจะสอบถามว่า สถานีรถไฟใหม่นั้นทำอย่างไร ถึงจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟเก่าได้ เพื่อให้คนที่นั่งรถไฟความเร็วสูงมาลงที่สถานีปากช่อง แล้วทำอย่างไรจะใช้บริการรถไฟท้องถิ่นต่อไปได้ เพราะรถไฟทางคู่นั้นจะอยู่ที่สถานีรถไฟเดิมด้วย ดังนั้นจึงต้องทำให้ทั้ง ๒ สถานีเชื่อมต่อกันเพื่อประชาชนจะได้สัญจรต่อได้ด้วย”

            นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน (กัมพูชา-สปป.ลาว-มาเลเซียและเวียดนาม) รวมทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดีย ทั้งยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน โดยยกระดับมาตรฐานรถไฟและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง เป็นการลงทุน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในระยะยาวและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สามารถกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวม โดยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมของรัฐบาลจีนตามนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและผลต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางรวมทั้งให้คนไทยได้รับความรู้ทางเทคโนโลยีระบบรางของจีนและได้ฝึกทักษะความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง แนวเส้นทางโครงการ ฯ ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา มีสถานีรถไฟ ๖ แห่ง ได้แก่ สถานีบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่องและสถานีนครราชสีมา โดยเป็นทางรถไฟขนาด ๑.๔๓๕ เมตร เป็นทางยกระดับ ๑๙๐ กิโลเมตร มีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ ๗-๒๒ เมตร และทางระดับพื้น ๕๔.๕ กิโลเมตร อุโมงค์ยาว ๗.๘ กิโลเมตร จำนวน ๒ แห่ง คือ บริเวณมวกเหล็ก จ.สระบุรี และบริเวณลำตะคอง จ.นครราชสีมา ความเร็วสูงสุด ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา ประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง ช่วงเวลาให้บริการ ๐๖.๐๐-๒๒.๐๐ น. ออกเดินทางทุก ๙๐ นาที อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น ๑๐๗ บาท สูงสุด ๕๓๔ บาท เฉลี่ยค่าโดยสาร ๘๐ บาท บวก ๑.๘ บาทต่อกิโลเมตร เปิดให้บริการปี ๒๕๖๖ งบประมาณ ๑๗๙,๐๐๐ ล้านบาท”

ประชาชนแสดงความคิดเห็น

            นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เนื่องจากสถานีนครราชสีมาออกแบบให้สูง ๓ ชั้น สถานีปากช่องสูง ๔ ชั้น ด้วยสถานีนครราชสีมานั้นเป็นสถานีขนาดใหญ่ เป็นจุดแยกของเส้นทางอื่นๆ ดังนั้นอยากเสนอว่า ชั้นล่างของสถานีน่าจะเปิดให้รถประจำทางหรือรถทัวร์ระหว่างเมือง เข้าไปจอดรับผู้โดยสารได้เลย เพื่อจะได้เป็นสถานีที่สมบูรณ์แบบ และยังสามารถเชื่อมต่อได้กับทุกๆ ระบบการขนส่ง ส่วนสถานีปากช่องจะเห็นว่า สถานีรถไฟความเร็วสูงกับสถานีรถไฟทางคู่ไม่ได้เชื่อมต่อกัน จึงอยากเสนอให้บริษัทที่ปรึกษาลองศึกษาดูว่าทำอย่างไรทั้ง ๒ สถานีจะสามารเชื่อมต่อกันได้ และเช่นเดียวกันกับสถานีนครราชสีมา อยากให้มีการเปิดให้รถประจำทางเข้ามาเชื่อมต่อได้ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่”

            “นอกจากนี้ สถานีนครราชสีมาเป็นสถานีที่อยู่ใจกลางเมืองโคราช โดยมีถนนรองรับคือถนนมุขมนตรี ซึ่งเป็นถนนที่มีการใช้งานหนาแน่น แม้วันปกติการจราจรก็ติดขัดมากอยู่แล้ว และปลาทางของถนนมุขมนตรีที่เชื่อมต่อกับถนนมิตรภาพมีขนาดกว้างเพียงไม่กี่เมตร จึงอยากเสนอให้มีถนนเชื่อมต่อกับสถานีตั้งแต่ถนนมิตรภาพ เป็นถนนรองรับรถที่มาจากต่างจังหวัดโดยจะเชื่อมตั้งแต่แยกโรงแรมสีมาธานี แล้วสัญจรโดยเข้าอุโมงค์มาจนถึงตัวสถานีรถไฟความเร็วสูงก็ได้” นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าว

            นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ผู้จัดการโครงการฯ ตอบกลับว่า “จากความคิดเห็นที่ได้เสนอมา ทางเราค่อนข้างเห็นด้วย และจะขอนำกลับไปพิจารณาปรับให้เหมาะสม ซึ่งทางที่ปรึกษาเองก็จะนำส่วนนี้ไปคุยกับทางประเทศจีน ส่วนเรื่องของการเชื่อต่อกับถนนมิตรภาพ ทางผู้ออกแบบก็ได้เล็งเห็นการเชื่อมต่อเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว ซึ่งเราก็มีความคิดเห็นแบบนี้เช่นเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการที่สะดวกขึ้นเช่นกัน”

            นายณรงศักดิ์ มีทา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว กล่าวว่า “ผมเป็นห่วงสถานศึกษาหรือโรงเรียนที่จะถูกตัดขาด และกีดกันการเดินทางของนักเรียนจากทางรถไฟความเร็วสูง ผมสงสัยว่าทางตัดหรือทางข้ามนั้นจะนำไปรวมกันที่ทางเดียวหรือไม่ เพราะจะส่งผลให้การสัญจรไปมาของผู้คนยากขึ้นด้วย”

            นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ผู้จัดการโครงการฯ ตอบกลับว่า “ในส่วนนี้ ทางประเทศจีนก็กำลังพิจารณาหาทางออกให้ ส่วนใหญ่แล้วรถไฟความเร็วสูงจะยกระดับขึ้น จึงไม่เกิดปัญหาจุดตัดสักเท่าไหร่ แต่จุดที่ตัดกับรถไฟทางคู่ก็จะมีปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่จะเป็นผู้ดูแลเรื่องจุดตัด ดังนั้นทั้งโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงก็จะช่วยกันหาทางออก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน”


798 1418