29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 08,2018

เวทีถก‘รถไฟความเร็วสูง’ กรุงเทพ-หนองคาย ๘๓๗ กม. คนบัวใหญ่ -ปากช่องยังกังวล

          เปิดเวทีเสวนารับฟังข้อเสนอแนะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโคราช-บัวใหญ่-ปากช่อง ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย’ ระยะทาง ๘๓๗ กม. นำข้อมูลทำวิจัย เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ยังหวั่นผลกระทบ เอกชนชี้ต้องขยายถนนรองรับระบบขนส่งมวลชน คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี ๒๕๖๖

          เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่หอประชุมอนุสรณ์ ๗๐ ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีเวที “การศึกษาผลกระทบทางสังคมจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย” ซึ่งเป็นการจัดเวทีเสวนาแนะนำโครงการ และรับฟังข้อเสนอแนะ โดยมี นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, พลโทจเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานคณะกรรมา ธิการคมนาคม, นายธนพล จรัลวณิชวงศ์, นายพณา ศุภฐิติพงศ์ สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.), นายทศวรรณ นิจพาณิชย์, นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ ที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และนายปราการ ภูมิผล วิศวกรโครงการ โดยมีผู้แทนส่วนราชการและเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้นำชุมชน นักศึกษา และประชาชน กว่า ๒๐๐ คน เข้าร่วมรับฟังการประชุม

          นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ทางรัฐบาลมีโครงการสำคัญต่างๆ ตลอดปีที่ผ่านมา แม้กระทั่ง ๓-๔ ปีข้างหน้า มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องของทางด่วนระดับจังหวัด รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ชาวโคราชต้องรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง การสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องเป็นเครื่องมือที่สร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความไว้วางใจกัน คือการมาร่วมพูดคุยกันในวันนี้” 

กรุงเทพ-หนองคาย ๘๓๗ กม.

          รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า “การจัดโครงการการศึกษาผลกระทบทางสังคมฯ ครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง ๘๓๗ กิโล เมตร ที่เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบเชิงบวกและลบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน บริเวณสถานีรถไฟ จังหวัด และอำเภอที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอม เกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ๕ ประเด็นหลัก คือ ๑.สถานภาพปัจจุบัน (Existing Condition) ของพื้นที่ที่รถไฟวิ่งผ่าน และบริเวณโดยรอบสถานี ๒.ผลกระทบด้านการก่อสร้างและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ๓.ผลกระทบด้านการค้าการลงทุน ๔.ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและบริการ และ ๕.ผลกระทบด้านการเคลื่อนย้ายประชากร โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดและอำเภอตลอดเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านและบริเวณที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ทั้งการสอบถาม สัมภาษณ์ จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus Group) รวมทั้งการจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น เพื่อประมวลผลข้อมูลในภาพรวม พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ประโยชน์ในการวาง แผน และจัดเตรียมมาตรการรับรองผล กระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต”

          พลโทจเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานคณะกรรมา ธิการคมนาคม กล่าวว่า “รัฐบาลได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในระยะยาว สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙) และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพื่อสร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งให้การสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง รวมทั้งกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ”

ช่วงที่ ๑ กรุงเทพ-โคราช ๒๕๒.๓ กม.

          นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ ที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ว่า “มีสถานีรถไฟ ๖ แห่ง ได้แก่ สถานีบางซื่อ, สถานีดอนเมือง, สถานีอยุธยา, สถานีสระบุรี, สถานีปากช่องและสถานีนครราชสีมา โดยเป็นทางรถไฟขนาด ๑.๔๓๕ เมตร ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ๑๙๐ กิโล เมตร ความสูงจากพื้นดิน ๗-๒๒ เมตรและทางระดับพื้น ๕๔.๕ กิโลเมตร อุโมงค์ยาว ๗.๘ กิโลเมตร จำนวน ๒ แห่ง คือ บริเวณมวกเหล็ก จ.สระบุรี และบริเวณลำตะคอง จ.นครราชสีมา รวมระยะทางทั้งสิ้น ๒๕๒.๓ กิโลเมตร ใช้รถไฟความเร็วสูงของจีน ทำความเร็วสูงสุด ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนคร ราชสีมา ประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง ช่วงเวลาให้บริการ ๐๖.๐๐-๒๒.๐๐ น. ออกเดินทางทุก ๙๐ นาที อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น ๑๐๗ บาท สูงสุด ๕๓๔ บาท เฉลี่ยค่าโดยสาร ๘๐ บาท บวก ๑.๘ บาทต่อกิโลเมตร งบประมาณ ๑๗๙,๐๐๐ ล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำพิธีเปิดโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะช่วงที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่สถานีรถไฟมอหลักหิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระยะ ๓.๕ กิโลเมตร พร้อมจะเปิดให้บริการช่วงที่ ๑ ในปี ๒๕๖๖ จากนั้นจะขยายต่อช่วงที่ ๒ นครราชสีมา-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียนต่อไป  

          ด้านนางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ (นครชัยบุรินทร์) กล่าวว่า อานิสงส์ของโครงการฯ ในอนาคตประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เช่น ลดความแออัดบนถนนมิตรภาพ โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา ซึ่งถือเป็นประตูสู่อีสาน มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ช่วยให้ร่นระยะเวลาการเดินทางให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ไม่เสียโอกาสในการทำธุรกรรมด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม

ถกความคิดเห็น

          ภายหลังการนำเสนอโครงการ ในห้องประชุมได้เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น สะท้อนปัญหา และเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก 

          นายอรุณ อัครปรีดี คหบดีและอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบัวใหญ่ ได้ซักถามถึงผลกระทบของสถานีบัวใหญ่ว่า “เนื่องจากมีทางยกระดับบริเวณ ถนน ๒๐๒ และเกือกม้าอีก ๒ แห่งจะมีผลกระทบต่อการสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่?”

          นายทศวรรณ ตอบว่า “สำหรับสถานีบัวใหญ่อยู่ในเฟส ๒ ซึ่งทางการรถไฟฯ จะให้ทางที่ปรึกษา เริ่มออกแบบตามแผนในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ดังนั้นสิ่งที่ท่านให้ความเห็นไว้จะเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่จะนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อไป เพื่อให้เกิดผล  กระทบต่อประชาชนชาวบัวใหญ่ให้น้อยที่สุด โดยปกติรถไฟความเร็วสูงถ้าผ่านตัวเมืองเราจะใช้เป็นทางยกระดับ ซึ่งปัญหาจะน้อยกว่ารถไฟทางคู่ เนื่องจากรถไฟทางคู่จะใช้เป็นระดับดิน ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่องจุดตัดต่างๆ”

          นายสุระชัย กนกะปิณฑะ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน จากอำเภอปากช่อง เสนอว่า “สถานีเดิมที่ปากช่องขณะนี้เป็นเพียงที่สับหลีก แต่ขนถ่ายคนและสิ่งของไม่ได้ จึงย้ายสถานีมาอยู่ที่บ้านท่ามะนาว ขณะที่รถไฟทางคู่ยังอยู่ที่เดิม จึงอยากถามว่า หน่วยงานไหนจะทำให้ ๒ สถานีนี้มาอยู่ด้วยกัน?”

สถานีฯ เป็นจุดชี้นำการพัฒนาเมือง

          ที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย ตอบว่า “ขณะนี้เรามีความคืบหน้ามากแล้ว ในส่วนของ ๑๑ กิโลเมตร ระหว่างสีคิ้ว-กุดจิก ขณะนี้ทำราคากลางอยู่ คาดว่าจะประกวดราคาภายใน ๒ สัปดาห์นี้ และจะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี หลังจากนี้ประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ จะมีการประกวดราคาในช่วงของแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทางเกือบ ๑๐๐ กิโลเมตร เพราะฉะนั้นโครงการจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน และจะเปิดดำเนินการในปี ๒๕๖๖ เมื่อมีการย้ายสถานีแล้ว ตำแหน่งของสถานีจะเป็นจุดที่ชี้นำการพัฒนาเมือง ดังนั้นในส่วนของปากช่องคาดว่าจะเป็นเมืองใหม่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่โครงการฯ คาดหวัง และทาง สนข.มีแผนจะศึกษา ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ต่อไป”

          ด้านนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราช สีมา เสนอว่า “ไม่ว่าจะออกแบบขนส่งมวลชนอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ทำถนนใหม่เข้าไป อย่างไรถนนก็ไม่พอให้รถวิ่ง ผู้โดยสารวันละกว่า ๒๐,๐๐๐ คน ต้องมีรถเข้าออกกี่เที่ยว เนื่องจากโคราชถนนแคบ ดังนั้นจึงเสนอให้มีการทำถนนใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวด้านขนส่งมวลชน”

          นายทศวรรณ จึงกล่าวว่า “ความจริงในแผนพัฒนามีแนวทางที่จะให้เกิดการเชื่อมต่อทางด่วน หรือขยายถนนให้เข้ามาสะดวกบนพื้นที่ ๖๕๐ ไร่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้มาจากความคิดเห็นของทุกท่านในวันนี้ จะมีการรวบรวมเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการต่อไป”

 

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๓ วันพฤหัสบดีที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑


800 1451