29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 12,2018

ศธ.จับมือ‘ซีพีเอฟ’ ดึง ๒ รร.เมืองย่าโม นำร่อง‘ร่วมพัฒนา’

         ซีพีเอฟพร้อมสนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าส่งเสริม โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา และ โรงเรียนชุมชนบ้านวัด นำร่อง “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” เพิ่มศักยภาพทักษะการงานอาชีพ และประสบการณ์ เพื่อรองรับความต้องการของท้องถิ่น

         เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ ที่หอประชุมโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา (โคกศิลา) ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๓ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School นายทวีสิน คุณากรพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ และนายเมธี คอบตะขบ ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา (โคกศิลา) ตลอดทั้งคณะครู อาจารย์ และนักเรียน ร่วมกันเปิดโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มุ่งสร้างครูและนักเรียนเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ส่งเสริมสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

         ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมชมและให้กำลังใจกับนักเรียนของโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญทางรัฐบาลที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ ๔.๐ ยกระดับการเรียนรู้สร้างคนไทยยุค ๔.๐ ให้ทันโลก ทันสมัยทางเทคโนโลยี ช่วยกันขับเคลื่อนในการยกระดับเศรษฐกิจของสังคมและประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

         “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐ ซึ่งทางภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาเอกชนเข้ามาสนับสนุนเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนหรือเงินงบประมาณเพิ่มเติม แต่ขณะนี้ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยในการบริหารโรงเรียนด้วย โดยหลักการของโรงเรียนร่วมพัฒนา ต้องการให้ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน กระทรวงศึกษาธิการต้องลดบทบาทตัวเอง เหลือเพียงส่วนเดียว เพราะเราเชื่อว่าพลังที่สำคัญจะมาจากพ่อแม่พี่น้อง ภาคประชาชน ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนา การยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ทำการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ทำให้การบริหารนั้นมีความคล่องตัว และให้ภาคเอกชนมาเป็นประธานสานการศึกษา เพื่อต้องการแนวคิดการทำงานที่มีความคล่องตัว ความทันสมัย มุ่งประสิทธิภาพ มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่ยกระดับคุณภาพการศึกษาจริงๆ” นายแพทย์อุดม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

         รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า การคัดเลือกมา ๕๐ โรงเรียนแรกเพื่อให้เป็นต้นแบบ ทำให้สำเร็จและจะกระจายไปอีก ๓๐,๐๐๐ กว่าโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ.ทั้งหมด เราอยากให้ลูกหลานในท้องถิ่น มีโรงเรียนที่ดีๆ สักหนึ่งแห่ง ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับโรงเรียนในจังหวัด ใกล้เคียงกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ต้องส่งลูกหลานเข้าไปเรียนโรงเรียนในจังหวัด เข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ ลูกหลานได้อยู่กับท่านอย่างอบอุ่น มีความสุขและปลอดภัย สิ่งนี้จะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สำคัญ แต่จะสำเร็จได้นั้นทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง กระทรวง ศึกษาฯ ยังเป็นเจ้าของโรงเรียน ยังช่วยสนับสนุนเต็มที่ งบประมาณก็ยังให้เท่าเดิม และได้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติมเต็มในหลายๆ เรื่องที่ทางภาครัฐขาดอยู่ ได้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง เชื่อได้ว่าโรงเรียนร่วมพัฒนาจะเป็นโรงเรียนที่ยกระดับในการตระเตรียมอนาคตของลูกหลาน ยกระดับในการเตรียมอาชีพ โดยไม่ต้องจบอาชีวะหรือมหาวิทยาลัยถึงจะมีอาชีพได้ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียน เรียนจากการทำงาน เรียนจากการปฏิบัติจริงในชุมชน สถานประกอบการ และโรงงาน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จริงๆ กระทั่งเกิดการคิด วิเคราะห์ได้ สามารถต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรมซึ่งเป็นหัวใจของไทยแลนด์ ๔.๐ 

         นายทวีสิน คุณากรพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของไทย โดยให้การสนับสนุนโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ตามแนวทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ไทย ซึ่งโรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาที่เพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบบริหารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะพัฒนาเด็กนักเรียนให้เป็นคนดีและคนเก่ง พร้อมกันนี้ ยังส่งเสริมสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน

         ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ระดมสมองเพื่อทำแผน ๕ ปี (๒๕๖๑-๒๕๖๖) เพื่อสนับสนุนโครงการฯ ทั้งด้านวิชาการและทักษะให้ตรงความต้องการและความถนัดของแต่ละคนเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการฝึกฝนจากการทดลองปฏิบัติจริงในโรงเรียนและการฝึกงานในโรงงาน เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าประสงค์

         “ทั้งสองโรงเรียนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและจังหวัด ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างภาครัฐ เอกชน โรงเรียน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนเดินหน้าสู่เป้าหมาย ช่วยยกระดับการศึกษา ทักษะและความชำนาญ ของเด็กให้แข่งขันกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นายทวีสิน กล่าว

         นายเมธี คอบตะขบ ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา(โคกศิลา) กล่าวว่า คณะกรรมการของโรงเรียนร่วมพัฒนา จะร่วมกันกำหนดแผนพัฒนาโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นแผนระยะ ๕ ปี มีเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้ สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ คุณครูนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มทักษะในการผลิตสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ โรงเรียนต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และช่วยพัฒนาทักษะอาชีพให้นักเรียนมีอาชีพติดตัวหลังจากที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีจำนวนนักเรียน ๒๔๐ คน

         “โรงเรียนทำโครงการ ๑ ห้องเรียน ๑ ผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งแต่ละปีเด็กจะเรียนรู้ทักษะอาชีพ ๒ ชิ้นงาน อาทิ ระดับอนุบาล เรียนรู้วิธีการทำจ่อมเห็ด เพ้นท์สี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ทำแซนวิชเห็ด ขยายพันธุ์กล้าไม้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ผลิตไม้ประดับแบบแขวน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ทำกระถางต้นไม้จากเศษผ้าขนหนู นอกจากนี้ โรงเรียนยังจัดกิจกรรมโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง การเพาะเห็ดนางฟ้าพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นโครงการที่สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดในโรงเรือน จำหน่ายผลผลิตเห็ดสด จนถึงการแปรรูปเห็ด ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนได้ด้วย” ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา กล่าว

         นายธนยศ ปะเสทะกัง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านวัด อ.คง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า โรงเรียนชุมชนบ้านวัดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เน้นพัฒนานักเรียนทั้งในด้านคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนรู้จักพึ่งพาตัวเองตามสภาพพื้นที่ของโรงเรียนและสภาพพื้นที่ของชุมชนโดยรอบ เช่น กิจกรรมค่ายพัฒนาภาษาอังกฤษ กิจกรรมเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินและกระชังบก กิจกรรมปลูกถั่วดาวอินคาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และทักษะอาชีพ ปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกฟักข้าว การเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นต้น โรงเรียนคาดหวังว่าการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาจะให้ความสำคัญไปที่การพัฒนานักเรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะอาชีพ มีภาวะผู้นำ เป็นทั้งคนเก่งและคนดี

         ปัจจุบัน โรงเรียนชุมชนบ้านวัด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียน ๒๓๐ คน เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ๒ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังการกระจายของยาเสพติด จึงเน้นทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดกับนักเรียนและชุมชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาและทักษะอาชีพ

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๔ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

707 1363