29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 12,2018

พช.ชูท่องเที่ยวนวัตวิถี “แอ่งเล็กเช็คอินทั่วถิ่นอุดร”

         เปิดโครงการ “แอ่งเล็ก เช็คอิน ทั่วถิ่นอุดร” โครงการต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เชื่อมโยงแอ่งเล็กสู่เส้นทางเมืองรองและเมืองท่องเที่ยวหลัก นำท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ดึงเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้กับชุมชนในการขายสินค้าและการบริการ

         เมื่อเวลา ๑๖.๐๐ น. วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ ที่ลานกิจกรรมหน้าห้องอุดรธานีฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผวจ.อุดรธานี นายกัมปนาท จักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการ ค้าจังหวัดอุดรธานี และตัวแทนชุมชนท่องเที่ยว โอทอป นวัตวิถี ที่มีผลิตภัณฑ์เด่น เป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “แอ่งเล็ก เช็คอิน ทั่วถิ่นอุดร” มหกรรมเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดอุดรธานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน

         นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า เป็นการดำเนินงานตามโครงการงบประมาณกลางปีของรัฐบาล โดยกรมการพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการพัฒนาสินค้าชุมชน การให้บริการและการดึงนักท่องเที่ยวมาสัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน  เพราะนอกจากจะเป็นการเผยของดีและแหล่งท่องเที่ยวที่แฝงอยู่ตามชุมชนต่างๆ แล้ว จังหวัดได้จัดวางได้จัดวางเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอต่างๆ ให้ได้สัมผัสถึง ๕ เส้นทาง ได้แก่

         เส้นทางที่ ๑ เชื่อมโยงอำเภอกุดจับ-อำเภอบ้านผือ-อำเภอน้ำโสม-อำเภอนายูง เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมและชิมถั่วคั่วทรายกุดจับ วัฒนธรรมไทยพวนภูพระบาทบ้านผือ ถ้าบ่อน้ำผุดโสมทองและน้ำตกคำชะโนดอำเภอน้ำโสม และการผจญภัยล่องแกงท่องน้ำตกห้วยช้างพลายและกินข้าวป่าคีรีวงกต อำเภอนายูง ซึ่งการท่องเที่ยวเส้นทางนี้สามารถเชื่อมต่อแหล่งท่องเทียวจังหวัดข้างเคียงคือ ปากชมและเชียงคาน จ.เลย และสกายวอร์ค อ.สังคม จ.หนองคาย

         เส้นทางที่ ๒ เชื่อมโยงอำเภอประจักษ์ศิลปาคม-อำเภอหนองหาน-อำเภอกู่แก้ว-อำเภอไชยวาน สำหรับเส้นทางนี้นักท่องเที่ยวจะได้แวะชมต้นจำปาพันปี วัดหลวงปู่ก่ำและทะเลบัวแดงที่อุ่มจาน ต่อด้วยบ้านพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีและเป็นบ้านที่เป็นต้นกำเนิดของคุณทองโบราณ แวะชุมชนทอผ้ามัดหมี่ที่บ้านหนองหลัก อำเภอไชยวาน โดยเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงไปต่อที่จังหวัดสกลนคร

         เส้นทางที่ ๓ เชื่อมโยงอำเภอโนนสะอาด-อำเภอกุมภวาปี-อำเภอศรีธาตุ-อำเภอวังสาม หมอ เส้นทางนี้เริ่มต้นที่บ้านหนองกุง ตำบลหนองกุงศรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและเป็นฐานการเรียนรู้กลุ่ม OTOP งานผ้ามัดหมี่และผ้าไหม ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตเส้นไหมอีลี่ เป็นตัวไหมที่กินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร ทำให้ได้เส้นใยไหมที่มีขนาดใหญ่สวยงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง และยังมีน้ำอ้อยสด แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือหมู่บ้านนี้ยังเป็นหมู่บ้านรักษาศีลห้า ที่น่าเรียนรู้ว่าผู้นำชุมชนได้นำหลักศาสนาเข้ามาใช้กับชุมชนได้อย่างไร ต่อด้วยบ้านเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี ที่ติดกับทะเลบัวแดง ชุมชนนี้มีผลิตภัณฑ์จากบัวแดงมากมาย เช่น ชาบัวแดง กลุ่มทอฝ้ายสีบัวแดง ส้มตำสายบัว ตำรากบัว และยังมีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้อยู่เรียนรู้กับชุมชนอย่างใกล้ชิด แวะศรีธาตุดูตำนวนชนสามเผ่าเฮือนภูไทยและศูนย์วัฒนธรรมภูไทยและปิดท้ายด้วยบ้านคำโคกสูงไปดูผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาชุมชนติดลำน้าปาว เส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงไปจังหวัดกาฬสินธ์ุ

         เส้นทางที่ ๔ เชื่อมโยงอำเภอทุ่งฝน-อำเภอบ้านดุง-อำเภอเพ็ญ-อำเภอสร้างคอม เส้นทางนี้จะเริ่มที่บ้านโนนสะอาด ชมศูนย์เรียนรู้จักสานคล้า ผลิตเป็นกระเป๋า ตะกร้า และอีกมากมาย แวะไปบ้านเหล่าหลวงใต้วัดป่าคำเจริญ ที่ี่มีผ้าทอ และงานจักสานมาก มาย รวมถึงพานบายศรี เส้นทางคำชะโนดต่อด้วยบ้านสินเจริญ แวะกินปลาไหว้พระวัดป่านาไฮ ไปสักการะพระธาตุเมืองเพ็ญที่ศรีสว่างวงศ์ฟังตำนานของแม่นางเพ็ญวีรสตรีแห่งสันติภาพที่เสียสละเพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด ชุมฝูงนกยูง ๒๐๐ ตัวที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติและควายหากินในน้ำแวะบ้านไทยสวรรค์ ล่องกินปลาที่อ่างน้ำพาน เส้นทางนี้เชื่อมต่อหนองคายที่อำเภอโพนพิสัยและลัดออกสนามกอล์ฟที่หนองสองห้อง อำเภอเมืองหนองคายได้อีกด้วย

         เส้นทางสุดท้ายเส้นทางที่ ๕ เชื่อมโยงอำเภอหนองแสง-อำเภอหนองวัวซอ-อำเภอพิบูลย์รักษ์-อำเภอเมือง เริ่มจากภูฝอยลมลัดมาบ้านผาสิงห์แวะวัดถ้ำสหายและดูกลุ่มหัตถกรรมบ้านผาสิงห์ ไปต่อบ้านหนองแวงพัฒนาดูชุมชนแปรรูปมะม่วงถ้าและน้ำตก เช้าไปบ้านห้วยสำราญ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เข้าเมืองที่บ้านโนนกอก ดูผ้าทอโบราณ และผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่มีความงดงามจากผลิตภัณฑ์บัวแดง ผ้ายกดอกขิดแล้วไปดูชุมชนทอผ้าย้อมครามที่บ้านดงยางพิบูลย์ก่อนแวะเข้าอุดหนุนผ้าจากตลาดผ้านาข่าซึ่งสามารถเชื่อมออกจังหวัดหนองคาย

         นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผวจ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า โครงการ “แอ่งเล็ก เช็คอิน ทั่วถิ่นอุดรฯ” นี้ไม่เพียงแต่ เป็นหน้าที่หลัก ของสำนักพัฒนาชุมจังหวัดอุดรธานีเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของชาวอุดรฯ ทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ของดีของบ้านเราชาวอุดรฯ ให้เป็นที่รู้จักกันให้กว้างขวาง เพื่อนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างประเทศ จะได้มาเยี่ยมชมให้ถึงท้องถิ่น และจะได้ให้การท่องเที่ยวชุมชน นวัตวิถี เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาให้ถึงชุมชนของเรา และเกิดการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นตั้งแต่ฐานราก ซึ่งจะส่งผลให้อุดรธานีของเรามีเศรษฐกิจที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

         งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒–๑๘ กันยา ยน ๒๕๖๑ โดยยกชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ๘๑ หมู่บ้านมาไว้ที่ชั้น ๔ เซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี ให้พี่น้องชาวอุดรและจังหวัดใกล้เคียงได้สัมผัสของดีจากทุกหมู่บ้าน มาจัดแสดงให้กับชาวอุดรธานีได้ชมและตามไปเช็คอินตามแอ่งเล็กต่างๆ ทั่วถิ่นอุดรจำหน่าย รวมถึงมีการแสดงตลอดงาน

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๔ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

714 1386