19thApril

19thApril

19thApril

 

September 18,2018

รุกเสริมแกร่งเอสเอ็มอี‘อีสาน’ ปรับโฉมภาคอุตสาหกรรม

            รมว.อุตสาหกรรม เปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ๔.๐ และ SMEs สัญจร ครั้งที่ ๓ จ.นครราชสีมา รุกเสริมแกร่ง SMEs ด้วยเทคโนโลยี พร้อมสัมมนาให้ความรู้ด้านการเงิน การทำระบบบัญชีเดียว กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับการเพิ่มผลผลิต ก้าวสู่ฮับอุตสาหกรรมอีสาน รวมทั้งปรับโฉมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้เป็นศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม ๔.๐

            เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๖ ถนนมิตรภาพ ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราช สีมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ๔.๐ (Industry Transformation Center : ITC 4.0) พร้อมด้วยนายสุวินัย ต่อศิริสุข เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางเบญจมาพร เอกฉัตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเปิดงาน โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ

            นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ๔.๐ (Industry Transformation Center : ITC 4.0) นำแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ ITC ส่วนกลาง มาปรับให้เข้ากับศักยภาพอุตสาหกรรมในพื้นที่ และนโยบายทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของทุกภูมิภาคจะมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร จัดอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ หรือ First S-Curve คือ อุตสาหกรรมที่ประเทศมีศักยภาพความเชี่ยวชาญในการผลิตและเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าการค้าเป็นจำนวนมาก แต่หากขาดการพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะถึงจุดอิ่มตัว และมีความสามารถในการเติบโตจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ ITC ระดับภูมิภาค ในระยะแรกจึงได้มุ่งเป้าหมายไปที่การยกระดับ หรือ Transformation ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารแปรรูป ให้เกิดการใช้ความรู้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตและนวัตกรรม ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและยุคสมัย และจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารแปรรูปในแต่ละภูมิภาคให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม ๔.๐ ได้ต่อไปในอนาคต”

เปิดศูนย์ ITC ให้บริการ SMEs

            นายอุตตม กล่าวอีกว่า “ศูนย์ ITC แห่งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงอาคารสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ความพร้อมของศูนย์ ITC ในวันนี้แสดงให้เห็นว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ ในพื้นที่ ได้บูรณาการการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมที่จะให้บริการแก่ SMEs เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในเขตนครชัยบุรินทร์ ทั้งนครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จะเข้ามาใช้บริการในศูนย์ ITC แห่งนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น” 

            ภายในงานมีการออกบูทแสดงเทคโนโล ยีและนวัตกรรมของผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาในเครือข่าย ITC รวมถึงผลงานของทั้ง ๔ มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.), มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน), มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล กว่า ๒๐๐ บูท

            นอกจากนี้ ภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาห กรรม ประจำภูมิภาคที่ ๖ ยังมีเครื่องจักรหลากหลายชนิดให้บริการ ทั้งเครื่องสีข้าวชุมชน, เครื่องบดพืชแบบหยาบ, เครื่องอบลมร้อนแบบฟลูอิดเบด, เครื่องตอกเม็ด, เครื่องบรรจุผงลงซองแนวตั้ง, เครื่องบดละเอียด, เครื่องพิมพ์ฉลากอัตโนมัติ, เครื่องชีลสูญญากาศ, เครื่องทอดสูญญากาศ, เครื่องหีบน้ำมันรำไร้สารเคมี, เครื่องผสมยาหรืออาหารความเร็วสูง, เครื่องผสมวัตถุดิบแบบแห้ง, เครื่องบรรจุเม็ดลงซองแนวตั้ง, เครื่องอัดวู้ดเพลเลทจากแกลบแบบจาน, เครื่องตัดอเนกประสงค์, เครื่องชิลฝาขวด/ฝาฟอยด์, เครื่องปิดฝากระป๋อง และเครื่องบรรจุอาหาร

เชื่อมโยงงานวิจัย-ผู้เชี่ยวชาญ

            โดยศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ประจำภูมิภาคที่ ๖ จะมีหน้าที่ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลงานวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน บริการข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการ เช่น ด้านการผลิต, บรรจุภัณฑ์, การตลาด, การเงิน และรับบริการออกแบบด้านบรรจุภัณฑ์ แสดงผลิตภัณฑ์และผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมรับปรึกษาแนะนำด้านธุรกิจ มีการบริการเครื่องจักรทั้งในการผลิต ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารแปรรูป

            ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๖ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จัดงาน “SME สัญจร เสริมแกร่ง SMEs รอบรู้เรื่องบัญชีและการเงิน พลิกธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม ๔.๐” ครั้งที่ ๓ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ความรู้ด้านการเงิน การทำบัญชี และภาษีอากร ให้กับ SME และผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งการมอบสินเชื่อตามมาตรการ Financial Literacy ของกระทรวงอุตสาหกรรม และมอบคูปองตรวจยกระดับมาตรฐาน SME ไทยสู่สากล ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้กับผู้ประกอบการที่อนุมัติสินเชื่อจากกองทุนการพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ พร้อมประชุมเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อน SME 4.0 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ร่วมด้วย นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวินัย ต่อศิริสุข เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางเบญจมาพร เอกฉัตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารองค์กรเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า ๕๐๐ คน

งาน SME สัญจร

            ดร.อุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การจัดงาน SME สัญจร พลิกธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม ๔.๐ เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศภายใต้ Thailand 4.0 เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.หรือ SME Bank) ในการนำนโยบายดังกล่าว มากำหนดเป็นแนวทางการขับเคลื่อน พร้อมด้วยมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และให้การช่วยเหลือ SMEs เพื่อยกระดับไปสู่การสร้างมูลค่าที่สูงขึ้น (High Value) อย่างมีศักยภาพก้าวไปสู่ SME 4.0 ได้ในที่สุด”

            “การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ตอบสนองพันธกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดึงศักยภาพของอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ออกมา และพัฒนาให้ตรงตามความต้องการ โดยเริ่มจากการปรับตัว พัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ต่อยอดอุตสาหกรรมให้ถึงเป้าหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การยกระดับการเพิ่มผลผลิต รวมถึงด้านการพัฒนาคนเพื่อเป็นรากฐานของการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรม ๔.๐ ได้ในทุกมิติ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหน่วยร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การวิจัย การพัฒนาและการศึกษาไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งเป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” ที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำนโยบายดังกล่าวมากำหนดเป็นแนวทางขับเคลื่อนพร้อมมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและการช่วยเหลือ SMEs เพื่อยกระดับไปสู่การสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างมีศักยภาพ”

เสริมแกร่ง SMEs ด้วยบัญชีและการเงิน

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรม SME สัญจร ครั้งที่ ๓ ที่จังหวัดนครราชสีมา เดินหน้าเสริมแกร่งทุกมิติ พร้อมดึงเอกชนรายใหญ่วางกลยุทธ์พัฒนาพื้นที่ภาคอีสานให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจครบวงจร ทั้งการเปิดเวทีสัมมนาเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้เรื่องบัญชีและการเงิน การจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ๔.๐ การส่งเสริมหมู่บ้าน CIV การดึง Big Brother ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อมุ่งขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค ๔.๐ ภายใต้กรอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นฐานความได้เปรียบเชิงวัฒนธรรมตามยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ สู่ Thailand 4.0 รวมทั้ง เพื่อตอบสนองพันธกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก โดยเริ่มจากภาคเกษตรให้มีการปรับตัวให้สามารถพัฒนาผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลผลิต โดยการต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรมในด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับสู่ความยั่งยืน ขณะเดียวกันได้มีการปรับโฉมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม ๔.๐ “Industry Transformation Center” หรือ ITC ด้วยแนวคิด “Where Transformation Begins” เพื่อเป็น Platform สำคัญในการสนับสนุนยกระดับ SMEs ในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถ “เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรม ๔.๐” รวมถึงส่งเสริมยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของไทย ในการเข้าสู่ช่องทางการตลาดสมัยใหม่ หรือ E-Commerce และสามารถเชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกได้”

ขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค ๔.๐

            “พื้นที่ จ.นครราชสีมา เป็นประตูสู่อีสาน มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นฮับอุตสาหกรรมอีสาน ซึ่งจะมีการให้คำแนะนำผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาสินค้าและมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมในเขตอีสาน นอกจากนี้ ยังเร่งพัฒนา SMEs โดยการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในด้านบัญชีและการเงิน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong/Regular Level) ตามมาตรการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค ๔.๐ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความรู้ด้านบัญชีการเงิน และเห็นความสำคัญของการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สูงขึ้นและเสริมความเข้มแข็งให้กับ SMEs ให้มีความรอบรู้ในด้านการเงิน และเพื่อเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงแหล่งทุนและปรับปรุงระบบบัญชีเพื่อผลักดันสู่ระบบบัญชีเดียวได้ต่อไป” นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติม

            การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังมีกิจกรรมการตรวจเยี่ยมชุมชนหมู่บ้านยวน (ไทย-ยวน หรือ โยนก) หนึ่งในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)” ณ หมู่บ้านยวน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา หนึ่งในหมู่บ้าน CIV จาก ๑๖๐ ชุมชน ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา และความต้องการในการพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์ของชุมชนหมู่บ้านยวน (ไทย-ยวน หรือ โยนก)  ให้รองรับนักท่องเที่ยวต่อไป

            ทั้งนี้ การจัดงาน SME สัญจร ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑ ได้กำหนดจัดขึ้นครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศใน ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา สงขลา และสุพรรณบุรี ซึ่งการจัดงาน SME สัญจร ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓ โดยมีผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน จากพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ หรือกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอ นิกส์ เกษตรแปรรูป สิ่งทอ ฯลฯ ซึ่งถือเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและของประเทศ

 

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

708 1342