29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 21,2018

‘ทางลอดประโดก’ ๔๐๐ ล. คาดก่อสร้าง ๙๐๐ วัน กรมทางหลวงยันเริ่มปี’๖๓

         กรมทางหลวงชี้แจง โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) แยกประโดก สร้างทางลอดแก้ปัญหาจราจร งบประมาณ ๔๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง ๓ ปี คาดเปิดใช้ปี ๒๕๖๖ ประชาชนยังเป็นห่วงเรื่องการระบายน้ำ  

         เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมวีวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นประธาน เปิดการประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศึกษาผลกระทบการดำเนินโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) กับถนนช้างเผือก (ทางแยกประโดก) เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการร้านค้า และประชาชนที่มีบ้านพักหรือที่ทำกินในรัศมีโครงการฯ จำนวน ๗๐ คน รับฟังการชี้แจงความเป็นมาและเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ จากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ บริษัท เทสโก้ จำกัด และบริษัท ธารา ไลน์ จำกัด โดยมี นางสาวจันทศิริ สายนภาพ วิศวกรงานทาง นายเบญจพล อินทรศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และนายอนุรักษ์ ศรีแสวง ผู้เชี่ยวชาญการมีส่วนร่วมของประชาชน 

         นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า “กรมทางหลวงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ กับถนนเทศบาล (แยกประโดก) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่คับคั่งและมีชุมชนหนาแน่น ซึ่งในปัจจุบันได้จัดการการจราจรด้วยสัญญาณไฟจราจร ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางได้อย่างเพียงพอ ส่งผลกระทบต่อกระแสการจราจรบนเส้นทางหลักถนนมิตรภาพ และสายรองถนนช้างเผือก ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางและติดขัด ทั้งนี้ จากการศึกษาพบแหล่งโบราณสถานในระยะ ๑ กิโลเมตร ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีการจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการพัฒนาโครงการ โดยในการดำเนินงานดังกล่าว กรมทางหลวงได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากโครงการนี้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำงานของกรมทางหลวง และประชาชนในพื้นที่ด้วย”

         นางสาวจันทศิริ สายนภาพ วิศวกรงานทาง กล่าวว่า “โครงการทางแยกต่างระดับ บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) กับถนนเทศบาลหรือถนนช้างเผือก (แยกประโดก) ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๗ โดยสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง เป็นโครงการที่เข้าข่ายที่ต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะมีแหล่งโบราณสถานในระยะ ๑ กิโลเมตร จากถนนโครงการคืออุโบสถวัดเวฬุนาราม โคกไผ่ ต.หมื่นไวย อ.เมือง อายุกว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับของสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง เลือกรูปแบบทางลอด ช่องจราจรจำนวน ๖ ช่องจราจร ระยะทางรวมของโครงการ ๑,๗๕๐ เมตร ค่าก่อสร้าง ๓๙๙ ล้านบาท โดยจุดเริ่มต้นโครงการ กม.๑๔๙+๔๕๐ ทล.๒ (ประมาณโคราชชัยยางยนต์) ส่วนจุดเริ่มต้นทางลอด กม.๑๔๙+๗๕๐ ทล.๒ (บริเวณหน้าแม็คโคร) ไปสิ้นสุดทางลอดที่ กม.๑๕๐+๘๒๕ ทล.๒ (บริเวณคลังสินค้าพันธ์เกษตร) และไปสิ้นสุดโครงการที่ กม.๑๕๑+๒๐๐ ทล.๒ (บริเวณหน้าโคราชอินเตอร์มาร์ท) ช่องจราจรในทางลอด ๖ ช่องจราจร (ไป-กลับ ข้างละ ๓ ช่องจราจร) ความกว้างช่องจราจรจรละ ๓.๕๐ เมตร สูง ๕.๕๐ เมตร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยการจราจร กล้องวงจรปิด, เครื่องสูบน้ำ ๔ ตัว, ไฟฟ้าแสงสว่าง, ระบบดับเพลิง และป้ายบังคับป้ายเตือนด้านความปลอดภัย”

         นายเบญจพล อินทรศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “โครงการทางแยกต่างระดับ บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) กับถนนเทศบาลหรือถนนช้างเผือก (แยกประโดก) ประชาชนบริเวณโครงการฯ จะได้รับผลกระทบทางด้านเสียงจากเครื่องจักรในการทำงานไม่เกิน ๘๖ เดซิเบล ซึ่งทางโครงการฯ จะมีติดตั้งแผงกั้นคอนกรีตและเมทัลชีทสูง ๓.๕ เมตร ตลอดแนวพื้นที่ก่อสร้างของโครงการ พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์ในการหลีกเลี่ยงเส้นทาง ส่วนการขนย้ายดินกว่า ๘๕,๐๐๐ คิว จะขนส่งดินไปยังที่เก็บกองดิน ของกรมทางหลวง บริเวณบ้านด่านจาก ต.ด่านจาก อ.โนนไทย คาดจะเริ่มดำเนินก่อสร้างช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ใช้เวลา ๓ ปี” 

         นายชัชวาล วงจร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในระยะเวลาที่ใช้ก่อสร้างคือ ๓ ปี ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่นานมาก และจะส่งผลกระทบเป็นเวลานานกับชุมชนในละแวกใกล้เคียง หากเราต้องการพัฒนาอะไร ก็ต้องมีผลกระทบเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นประชาชนก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะพบกับผลกระทบในอนาคตนี้ ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงก็คือ อยากจะให้มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการก่อสร้าง เพราะจะเห็นว่าเส้นถนนช้างเผือกมีการจราจรติดขัดเป็นอย่างมากตลอดทั้งวัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความแออัด นอกจากนี้อยากเสนอว่า เมื่อโครงการนี้ทำเสร็จแล้ว อยากจะให้ขยายถนนช้างเผือกและถนนที่มุ่งสู่ชุมชนประโดก เพราะไม่อย่างนั้นการจราจรก็จะยังติดขัดเช่นเดิม”

         นายอำนาจ อินทร์หมื่นไวย รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลพณิชยนครราช สีมา (ช.พ.น) กล่าวว่า “จากกรณีที่จะมีการรื้อย้ายเสาไฟฟ้า อยากเสนอให้ทำในช่วงของการปิดทำการของสถานศึกษา เพราะบริเวณนั้นมีสถานศึกษาค่อนข้างหนาแน่น เป็นห่วงในเวลาที่มีการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสอบ เพราะการศึกษาสมัยนี้ต้องพึ่งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก”

         นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ. อ.เมือง เขต ๔ กล่าวว่า “โครงการนี้ได้สำรวจมาก่อนหน้านี้หลายปี ควรที่จะได้ลงมือก่อสร้างได้แล้ว แต่ก็ไม่อยากจะโทษใคร ดังนั้นพี่น้องชาวโคราชต้องร่วมไม้ร่วมมือกันผลักดันโครงการนี้ และจากที่ผมนั่งฟังวิทยากรบรรยาย ผมอยากถามว่าภายในอุโมงค์จะมีการระบายน้ำ หรือที่เรียกว่าลำรางระบายน้ำจะมีความสูงห่างกับผิวการจราจรเท่าไหร่ ส่วนเรื่องที่ผมเป็นห่วงคือการขนย้ายดิน ๘๕,๐๐๐ คิวว่า จะมีการทำความสะอาดอย่างไร เพราะผมอยากให้นำเครื่องมือหรือเครื่องจักรมาใช้ แต่ส่วนมากหลายแห่งจะใช้แรงงานคนในการเก็บกวาด แล้วถ้าหากมีดินมากจริงๆ บวกกับการจราจรที่หนาแน่นในช่วงทำการก่อสร้าง และถ้าหากวันนั้นมีฝนตกลงมาด้วย คนก็จะต้องหยุดทำงาน และอีกเรื่องคือ การป้องกันเสียง ผมเป็นห่วงว่าหากวันใดเกิดมีลมแรงๆ พัดมาชนกับที่กั้นเสียง อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนได้ จึงอยากจะให้ทำให้แข็งแรง ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ ระยะเวลาก่อสร้าง ๓ ปี ผมคิดว่านานเกินไป ขณะนี้ประเทศไทยมีเครื่องมือที่ทันสมัยมากมาย ผมว่าอย่างเร็วก็ควรใช้เวลาแค่ ๑ ปีครึ่ง”

         นายมานะ เสนากลาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ บ้านโคกไผ่ กล่าวว่า “ผมอยากเสนอให้ใส่รูปกระเชอลงไปในป้ายของดีเมืองโคราช เพราะว่ากระเชอคือเอกลักษณ์ของบ้านประโดก และลวดลายผนังของอุโมงค์ ไม่อยากให้ใช้เป็นลวดลายของอำเภออื่น เพราะอุโมงค์อยู่ที่อำเภอเมือง ดังนั้นต้องเป็นของอำเภอเมืองเท่านั้น นอกจากนี้ ดินที่ขุดออกมาต้องขนไปไกล อยากเสนอว่า โรงเรียนและวัดหมื่นไวยยังต้องการรับบริจาคอยู่ จะได้นำมาใช้ประโยชน์จนถึงที่สุด”

         นายเบญจพล อินทรศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ตอบว่า “ทุกเรื่องที่เสนอมาทางเราจะนำไปศึกษาอีกครั้ง ส่วนเรื่องน้ำในอุโมงค์ต้องบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเราจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั้งหมด ๔ ตัว เพื่อสูบน้ำจากในอุโมงค์ขึ้นมา โดยเราจะไม่ใช้เครื่องสูบน้ำพร้อมกันทั้งหมด ๔ ตัว เมื่อตัวใดตัวหนึ่งเสีย เครื่องอื่นๆ ก็พร้อมจะทำงานต่อ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่จะไหลลงในอุโมงค์จะเท่ากับปริมาณน้ำฝนที่ตกบนถนนปกติอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงว่าในอุโมงค์จะมีปริมาณน้ำมากกว่าบริเวณพื้นผิวถนน และการสร้างอุโมงค์ทางลอดทุกที่ จะเห็นว่าบริเวณก่อนทางลงอุโมงค์พื้นถนนจะเป็นเนินยกสูง นี่ไม่ใช่การออกแบบที่ผิดพลาด แต่เป็นการออกแบบที่ตั้งใจทำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำบนผิวถนนไหลลงมาลงสู่อุโมงค์ได้”

         นายอนุรักษ์ ศรีแสวง ผู้เชี่ยวชาญการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวสรุปว่า จากการประชุมแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของจราจรและการระบายน้ำทางที่ปรึกษาโครงการจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปประชุมสรุปกันอีกทีก่อนที่จะมาประชุมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้

 

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๕ วันศุกร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๖ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

713 1396