20thApril

20thApril

20thApril

 

September 21,2018

โคราช-ชัยภูมิโอดพิษกังหันลม อ้างเสียงดังรบกวนโสต ร้องศาลเอาผิด‘กกพ.-เอกชน’

ร้องเรียนกังหันลมผลิตไฟฟ้าส่งเสียงดังรบกวน นอนไม่หลับมานาน โดยเฉพาะฤดูหนาวลมแรง ได้รับความเดือดร้อนหนัก เคยร้องศูนย์ดำรงธรรมทุกปีก็ไม่คืบ ด้านชาวด่านขุนทดบุกร้องศาลปกครอง อ้าง “สราญลมวินด์ฟาร์ม” ตั้งเสากังหันลมใกล้ชุมชน  

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลวะตะแบก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ อ้างว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินงานโครงของรัฐบาลที่เข้ามาส่งเสริมพลังงานทดแทน เพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบริษัทเอกชน เพื่อเข้ามาลงทุนในการดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในพื้นที่ โดยนำกลับมาส่งขายให้กับภาครัฐใน จ.ชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่องมากว่า ๒ ปี แล้ว โดยอ้างว่ามีการทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบโดยเฉพาะด้านเสียงมาตาม กระทั่งมีการเปิดดำเนินการผลิตไฟฟ้าขาย จากกังหันลมในพื้นที่ดังกล่าว ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่โครงการดังกล่าวดำเนินการ ทางตัวแทนกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีที่พักอาศัยในพื้นที่หลายหมู่บ้านโดยเฉพาะที่หมู่ ๑ และหมู่ ๖ ต.วะตะแบก กลับยังได้รับผลกระทบด้านเสียงจากใบพัดของกังหันลมดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนรำคาญอย่างหนักในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในช่วงเข้าใกล้สู่ฤดูหนาวของทุกปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ส่งผลกระทบให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวนอนไม่ได้ทั้งคืนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งนี้ มีชาวบ้านหมู่ ๑ และ หมู่ ๖ จำนวนหลายร้อยราย ได้รับผลกระทบอย่างหนักมานานกว่า ๒ ปีแล้ว ซึ่งเคยยื่นร้องขอความเป็นธรรมไปหลายหน่วยงานใน จ.ชัยภูมิ ให้การเข้ามาดำเนินการ กระทั่งจะเข้าสู่ฤดูหนาวอีกเป็นปีที่ ๓ แล้ว แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

กลางคืนเสียงดัง

  ตัวแทนประชาชนหมู่ ๑ และหมู่ ๖ (ขอสงวนนาม) เปิดเผยว่า โครงการของบริษัทเอกชนดังกล่าว ได้เปิดดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมอย่างเป็นทางการเมื่อตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๙ เพื่อเร่งผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐ และทันทีที่ได้เริ่มกิจการเต็มรูปแบบ ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงต้นกังหันลมก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักมาตลอด โดยเฉพาะในเวลากลางคืนและช่วงเข้าฤดูหนาว ที่จะมีลมหนาวพัดแรง ทำให้เกิดเสียงของใบพัดกังหันลมที่ดังมากจนนอนไม่ได้ ใครทนไม่ไหวในช่วงนี้ก็ต้องไปขอนอนตามบ้านญาติที่อื่นแทนไปก่อน โดยได้รวมตัวกันไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ มาตลอดทุกปี แต่ก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการแก้ไขให้คลายความเดือดร้อนเท่าที่ควร หลังจากนั้นทางจังหวัดได้ส่งหนังสือมาทาง อ.เทพสถิต เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ก่อนที่จะส่งหนังสือให้ทางบริษัทเอกชนดังกล่าวตรวจสอบและแก้ไข เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน อันจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม ที่มีผลทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางบริษัทเอกชน เจ้าของต้นกังหันลมได้ว่าจ้างบริษัทที่เกี่ยวกับการวัดคุณภาพเสียงมาตรวจสอบกังหันลม 

ประชาชนกล่าวอีกว่า หลังจากนั้นทางบริษัทเอกชนได้ทำหนังสือชี้แจงกลับไปยังอำเภอเทพสถิต ว่า จากผลการตรวจสอบของบริษัทผู้เชี่ยวชาญไม่พบความผิดปกติ และเสียงจากใบพัดกังหันลมก็ไม่ได้ดังในขณะทำงาน ซึ่งทำให้แปลกใจมากว่า ทำไมการตรวจสอบถึงปกติ ทั้งที่ทุกวันนี้ยังส่งเสียงดังก่อความเดือดร้อนรำคาญอยู่ โดยเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนนอนหลับของประชาชนหลังกลับจากไร่นามาแล้ว ไม่เหมือนช่วงกลางวันที่ส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้านต้องออกไปทำงานกัน จึงอยากให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง โดยลงมาตรวจสอบให้ได้ผลที่แท้จริง เพราะปีนี้ก็ใกล้ฤดูหนาวจะมาถึงอีกเป็นปีที่ ๓ แล้ว ที่ช่วงหน้าหนาวจะมีความดังมาก เพราะเป็นช่วงที่กระแสลมแรง และยังได้มีการให้ตัวแทนชาวบ้านไปซื้อเครื่องวัดเสียงมาวัดระดับเสียงของใบพัดกังหันลมในช่วงเวลากลางคืนมาแล้ว สามารถวัดได้ตั้งแต่ ๕๐-๖๕ เดซิเบล ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ที่ระบุว่าไม่ควรเกิน ๑๐ เดซิเบล และในขณะที่ช่วงหน้าหนาวที่กระแสลมแรงจะมีความดังเพิ่มเป็น ๗๐-๘๐ เดซิเบล

ร้องศูนย์ดำรงธรรมแต่ไม่คืบ

“ถ้าจะยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปอีก ที่ถึงแม้จะร้องศูนย์ดำรงธรรมไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนทั้ง ๒ หมู่บ้าน ก็เตรียมที่จะรวมตัวลงชื่อ ยื่นเรื่องร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเรื่อง และวิงวอนไปที่กระทรวงพลังงานในครั้งนี้ด้วย ซึ่งหากข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมของประชาชนที่นี่ยังไม่เป็นผล ทั้งในส่วนการขอให้ย้ายต้นกังหันลมที่อยู่ใกล้ชุมชน หมู่บ้าน หรือบ้านของชาวบ้านให้ห่างออกไป เพื่อจะได้ไม่ส่งเสียงดังรบกวน หรืองดการทำงานของต้นกังหันลมที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนในช่วงเวลากลางคืน เพื่อประชาชนจะได้นอนพักผ่อน ส่วนเวลากลางวันก็เร่งเครื่องทดแทนเพื่อให้อยู่กันได้ทุกฝ่าย ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะกังหันลมดังกล่าว สามารถตั้งค่าปิดเปิดการทำงานได้ด้วยคอมพิวเตอร์จากระบบอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าหากยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขตามข้อเรียกร้อง ก็ต้องเห็นใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วย ที่อาจต้องเตรียมยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน พวกเราไม่ได้ขวางความเจริญ แต่ก็ขอให้มีแนวทางที่เป็นธรรมและสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้ดีกว่านี้” ตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อน กล่าว

บุกร้องศาลปกครอง

นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๑ มีประชาชนในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การนำของนายธีระศักดิ์ ชึขุนทด นายกสมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมตัวแทนประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยบง อ.ด่านขุนทด และตำบลหนองแวง อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา จำนวน ๙๘ คน ที่อาศัยติดกับโครงการโรงไฟฟ้าสราญลมวินด์ฟาร์ม เดินทางมายื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และบริษัท กรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด (จีเอ็นพี) ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า 

กกพ.ออกใบอนุญาตให้บริษัทจีเอ็นพี ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม โครงการโรงไฟฟ้าสราญลมวินด์ฟาร์ม กำลังการผลิต ๖๐ เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลห้วยบง อ.ด่านขุนทด และตำบลหนองแวง อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา เพื่อจำหน่ายให้แก่หน่วยงานเอกชนและหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ประชาชนในพื้นที่ ๙๕๗ คน ไม่สามารถดำรงชีพได้ตามปกติสุข จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้ กกพ. และบริษัท จีพีเอ็น รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

เสากังหันใกล้ชุมชน

         รายงานข่าวระบุว่า นายธีระศักดิ์ ชึขุนทด ในฐานะแกนนำ เปิดเผยว่า เหตุที่มาฟ้องเพราะโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ไม่ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และไม่จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ และกฎหมายการประกอบกิจการพลังงงาน พ.ศ.๒๕๕๐ รวมทั้งการอนุมัติการก่อสร้างยังไม่เป็นไปตามประกาศ กกพ. ที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมว่า ผลกระทบด้านความปลอดภัย ให้กำหนดระยะห่างจากโคนเสากังหันลมไม่น้อยกว่า ๓ เท่าของผลรวมของความสูงเสากังหันลมบวกรัศมีใบพัด ถึงเขตที่ดินของบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังที่ใกล้ที่สุดของชุมชน ซึ่งตามกฎหมาย โครงการดังกล่าวต้องอยู่ห่างจากเขตชุมชนไม่น้อยกว่า ๖๓๐ เมตร แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ตั้งเสากังหันลมจากเขตที่ดินของประชาชนในเขตชุมชนไม่ถึง ๒๐๐ เมตร ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งนี้เปิดดำเนินการ ได้สร้างมลภาวะเสียงดังรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งกลางวันและกลางคืน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน จึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาสั่งปิดโรงไฟฟ้าสราญลมวินด์ฟาร์มเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

อนึ่ง บริษัท กรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด หรือ GNP ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เลขทะเบียนใบอนุญาต  กกพ ๐๑-๑(๒)/๖๑-๒๕๔ ออกให้ ณ วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ และให้ใช้ได้ถึงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๗๑ โดยที่ทำการบริษัทตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๓๘ ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ชื่อโครงการสราญลมวินด์ฟาร์ม

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า เลขที่ใบคำขอ สกพ-บ-(๑) ๖๐/๑๒๐ ซึ่งยื่นขอเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เป็นไปตามมติการประชุม กกพ. ครั้งที่ ๕๙/๒๕๖๐ (ครั้งที่ ๕๐๑) วันที่มีมติ ๒๗/๑๒/๒๕๖๐ โดยเริ่มต้นก่อสร้างสถานประกอบกิจการเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐, SCOD วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑, COD วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ มีกำลังการผลิตติดตั้ง (MW) ๖๗.๕๐๐ เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง (kVA) ๗๑,๐๕๒.๖๓ กิโลโวลต์แอมแปร์ สำหรับเครื่องจักรเป็นกังหันลมผลิตไฟฟ้า 2MW จำนวน ๑๘ ต้น และกังหันลมผลิตไฟฟ้า 2.1MW จำนวน ๑๕ ต้น ผลิตโดยบริษัท Gamesa ประเทศจีน 

นอกจากนี้มติที่ประชุม กกพ.ระบุว่า เห็นชอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ให้แก่บริษัท กรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด (โครงการสราญลมวินด์ฟาร์ม) สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ ณ ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น ๖๗.๕๐ เมกะวัตต์ หรือ ๗๑,๐๕๒.๖๓ กิโลโวลต์แอมแปร์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อายุใบอนุญาต ๑๐ ปี อย่างไรก็ตาม กกพ.ได้กำหนดเงื่อนไขประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าขึ้นทั้งหมด ๑๗ ข้อ โดยในข้อสุดท้ายคือข้อ ๑๗ ระบุว่า “ใบอนุญาตฉบับนี้อาจถูกเพิกถอนได้ หากได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญให้ยุติลงได้”

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะรายงานให้ทราบต่อไป

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๕ วันศุกร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๖ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

729 1355