25thApril

25thApril

25thApril

 

September 21,2018

อีกขั้น‘อุทยานธรณีประเทศไทย’ ปลื้ม‘ยูเนสโก’ชมโคราชคืบหน้า ดันฐานรากตระหง่านสู่ระดับโลก

        ‘โคราชจีโอพาร์ค’ ก้าวหน้าอีกขั้น เลื่อนเป็น ‘อุทยานธรณีประเทศไทย’ เตรียมดันเรื่องเข้า ครม. สมัครกับยูเนสโก รอรับประเมินเป็น ‘อุทยานธรณีโลก’ ซุ่มเปิดตัวที่อิตาลีแล้ว ได้รับคำชมมีความคืบหน้า ‘ผศ.ดร.ประเทือง’ ชี้ชุมชนต้องเข้มแข็ง เตรียมพร้อมสู่ ‘ดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโก’

        ตามที่ จังหวัดนครราชสีมามีการผลักดันอุทยานธรณีโคราชให้เป็นอุทยานธรณีโลก เพื่อนำไปสู่การเป็นดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโกนั้น เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ สำนักงานอุทยานธรณีโคราช ภายในสถาบัน วิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากร ธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ดร.สาวิตรี สุวรรณสถิต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ พร้อมด้วย นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการสตูลจีโอพาร์ค และกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระจากองค์การยูเนสโก เดินทางมาตรวจการประเมินภาคสนามของอุทยานธรณีโคราช เพื่อรับรองเป็น National Geopark 

        ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๑ มีหนังสือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามโดย นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เรื่องรับรองการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีประเทศไทย โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ มีมติรับรองการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราช จังหวัดนครราช สีมา เป็นอุทยานาธรณีประเทศไทย และให้อุทยานธรณีโคราชรับข้อคิดเห็นของคณะทำงานประเมินข้อมูลธรณีวิทยา และผู้ประเมินภาคสนาม นำไปปรับปรุงเพื่อให้อุทยานธรณีโคราชมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อุทยานธรณีโคราชจะต้องเตรียมความพร้อมในการประเมินซ้ำ ในเดือนเมษายน ๒๕๖๔

        ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๑ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ขณะนี้เราได้อนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์ทางแหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งเป็นอุทยานธรณี เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากนี้จะมีการมอบโลโก้และประกาศนียบัตรให้ทางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับรองการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีประเทศไทย โดยมีวาระ ๓ ปี และจะมีการประเมินซ้ำว่าเรายังคงรักษาสภาพต่างๆ ไว้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำเพิ่มเติมจากคณะ กรรมการฯ ในสิ่งที่เราควรจะปรับปรุงหรือพัฒนาต่อไป เช่นเดียวกับอุทยานธรณีโลกที่จะประเมินซ้ำทุก ๔ ปี ทั้งนี้ โคราชเป็นจังหวัดที่สอง ที่ได้เป็นอุทยานธรณีประเทศไทยต่อจากจังหวัดสตูล แม้ว่าขณะนี้จังหวัดสตูลได้ผ่านการรับรองของยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลกไปแล้ว แต่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของโคราช เนื่องจาก พ.ศ.๒๕๕๘ โคราชได้เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด และปีนี้เป็น National Geopark หรือ อุทยานธรณีระดับประเทศแล้ว ขั้นสุดท้ายของโคราช คือ UNESCO Global Geopark หรือ อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก”

        “สิ่งที่เราต้องเตรียมในขั้นตอนต่อไป คือต้องมีหนังสือจากทางจังหวัดฯ ถึงคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งเป็นอุทยานธรณี โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อให้มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในการส่งอุทยานธรณีโคราชเพื่อขอการรับรองจากยูเนสโก โดยส่งหนังสือไปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อ ครม.เห็นชอบ กระทรวงศึกษาฯ โดยคณะกรรมการด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องแจ้งความจำนงไปทางยูเนสโกว่า ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ เราจะส่งเอกสารสมัครพร้อมกับเอกสารการประเมินตนเอง ของอุทยานธรณีโคราชตามแบบฟอร์มของยูเนสโก เพื่อรับการพิจารณาและประเมินเป็นอุทยานธรณีโลก หลังจากนั้นหากมีการพิจารณาตอบรับ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ๒๕๖๓ ทางยูเนสโกจึงจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมินในพื้นที่” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว

        ต่อข้อถามว่า “ต้องมีการปรับปรุงด้านใดอีกหรือไม่?” ผศ.ดร.ประเทือง ตอบว่า “เราต้องเตรียมตัวในเรื่องการรับรู้ของชุมชนว่ารู้จักอุทยานธรณีโคราชมากน้อยเพียงใด จีโอพาร์คทำกิจกรรมอะไร และคนในชุมชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งการประเมินนั้นจะมีการสุ่มตรวจด้วย เช่น ทางคณะกรรมการฯ อาจจะจอดรถเพื่อแวะสอบถามข้อมูลคนในท้องถิ่น ดังนั้นเราจึงต้องสร้างความรับรู้ให้ชุมชนด้วยการประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ๕ อำเภอ ที่อยู่ในโครงการโคราชจีโอพาร์ค ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, เมืองนครราชสีมา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งขั้นตอนจะคล้ายกับช่วงที่คณะกรรมการฯ เข้ามาประเมินในระดับประเทศ คือจะเน้นเรื่องของชุมชนในท้องถิ่น ที่มีความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรณี เมื่อมีคนเข้ามาเที่ยว ชุมชนต้องมีความพร้อมในการต้อนรับหรือให้บริการ รวมถึงมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของอุทยานธรณีโคราช ซึ่งหากถึงเวลานั้นทางภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว ต้องเป็นเรื่องของคนในชุมชนเท่านั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด เพราะชุมชนเองเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์”

        อย่างไรก็ตาม ชุมชนเหล่านั้นเคยผ่านการประเมินมาแล้ว ซึ่งพวกเขาก็มีการตื่นตัว เช่นที่ท่าช้าง (อ.เฉลิมพระเกียรติ) ก็ได้เกิดตลาดไทรงามขึ้น จากการประเมินในระดับประเทศ ชุมชนที่นี่ได้ลุกขึ้นมาทำความสะอาด ทำป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาถนนทางเข้า กระทั่งเกิดตลาดขายสินค้าขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ก็มีการประชุมวางแผนให้ที่นี่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวทางเรือตามลำตะคอง นอกจากนี้ยังมีการเก็บสถิติของนักท่องเที่ยวและรายได้ต่อเดือนว่ามีเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด หากมีการประเมินระดับประเทศอีกครั้ง ก็สามารถตรวจสอบในส่วนนี้ได้” ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช กล่าว

        นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประเทือง ได้กล่าวถึงการกลับมาจากประชุมที่ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายนที่ผ่านมา ว่า “อุทยานธรณีที่จะขอรับการประเมินเป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโก มีเงื่อนไขว่าต้องมีการเปิดตัวในเวทีการประชุมจีโอพาร์คโลกอย่างน้อย ๑ ครั้ง ครั้งนี้จึงเป็นการไปประชุมเพื่อเปิดตัวอุทยานธรณีโคราชด้วย โดยเป็นการนำเสนอผลงานระดับนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นทุก ๒ ปี เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้รู้จักอุทยานธรณีโคราชมากขึ้น ซึ่งได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการฯ ว่าเรามีความคืบหน้ามากขึ้น”

        “จีโอพาร์คไม่ได้เป็นเรื่องของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชุมชนทั้ง ๕ อำเภอ เพราะฉะนั้นการดำเนินงานหรือความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ต้องมาจากหลายภาคส่วน รวมทั้งสื่อมวลชนที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งสร้างความรับรู้และตื่นตัว รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือที่จะผลักดันโคราชจีโอพาร์คให้ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น เราจะแตกต่างจากอุทยานธรณีสตูล คือเรามีมรดกของยูเนสโกอยู่แล้ว ๒ แห่ง ได้แก่ มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ และ พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ดังนั้นหากมีการรับรองจีโอพาร์คโลกอีก ๑ แห่ง โคราชจะเป็นจังหวัดเดียวที่มีมรดกโลกครบ ๓ อย่าง ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโก ที่จะเพิ่มคุณค่าของประเทศไทยสู่ระดับสากล ในการอนุรักษ์สิ่งที่เป็นมรดกของท้องถิ่น สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนโคราช รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ โรงเรียนต่างๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องของพื้นที่ตัวเองอย่างละเอียด ที่จะอธิบายการเชื่อมโยงระหว่างมรดกทางธรณีและมรดกทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการประเมินระดับโลกครั้งนี้ ต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเรามีความเข้มแข็งที่เกิดจากฐานราก โดยมีชุมชนและท้องถิ่นดำเนินการเอง ไม่ใช่จังหวัดหรือองค์กรใดเข้ามาสั่งการ เราเพียงให้คำแนะนำและประสานงานให้เท่านั้น” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวทิ้งท้าย

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๕ วันศุกร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๖ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

685 1342