26thApril

26thApril

26thApril

 

September 24,2018

“สายแนนลำตะคอง” สุดยอดวงโปงลางแชมป์ถ้วยพระราชทาน

          ปัจจุบันเสียงดนตรี การละเล่น ศิลปะและวัฒนธรรมแบบไทย เริ่มจะจางหายไปเรื่อยๆ แม้แต่เพลงลูกทุ่งที่มีคนนิยมฟังกันมากเมื่อครั้งในอดีต แต่ปัจจุบันก็เริ่มลดน้อยลงไป เพราะทุกวัฒนธรรมต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ยังมีดนตรีชนิดหนึ่ง ที่เริ่มนิยมกันมากในภาคอีสานคือ “เพลงโปงลาง” เมื่อผู้คนเริ่มให้การสนใจกันมากขึ้น จึงทำให้เกิดเวทีการประกวดแข่งขันมากขึ้นด้วย ทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เริ่มศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเพลงโปงลาง และให้ความสำคัญ หวังช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไป ได้ชมได้ฟังกันอีกหลายชั่วอายุคนเลยทีเดียว

          เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ได้มีการการประกวดวงดนตรีพื้นบ้านโปงลาง ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ถือเป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้ชื่นชอบในเสียงเพลงโปงลาง มีวงดนตรีโปงลางจากทั่วถิ่นแดนไทย มารวมกันอยู่ที่ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินการโดย ศูนย์นันทนาการเด็กและเยาวชน กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และครั้งนี้วงโปงลาง “สายแนนลำตะคอง” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นทีมที่ผ่านเวทีนี้มาแล้ว ๒ ครั้ง แต่ได้รับเพียงคำติชมและรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการกลับไปเสมอ และพวกเขาได้กลับมาเยือนเวทีที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้อีกครั้ง พร้อมกับนำศิลปวัฒนธรรมความเป็นอีสาน ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของโคราชมาด้วย ทำให้พวกเขาได้รับชัยชนะกลับไปในที่สุด พร้อมกับรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และถ้วยรางวัลการแสดงย่อยอีก ๕ รางวัล เอาเป็นว่าอย่ารอช้าดีกว่า รีบไปทำความรู้จักกับ “สายแนนลำตะคอง” ว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนกันเลย...

• ที่มาวงโปงลางสายแนนลำตะคอง

          ผศ.ดร.ณัฐกิตต์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เล่าว่า “วงโปงลางมหาวิทยาลัยฯ  “สายแนนลำตะคอง” เราได้ชื่อนี้มาเพียงแค่ ๕ ปีเท่านั้น โดยวงโปงลางมีจุดประสงค์สำคัญคือ ทำงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เราจะสร้างกิจกรรมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนเกิดความต้องการในการอนุรักษ์ โดยเยาวชนจะต้องเข้ามาหาเรา ไม่ใช่เราเป็นหน่วยงานแล้วเราต้องเข้าไปหาเยาวชนแล้วบังคับให้เขาทำ เพราะเรื่องของการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมนั้นต้องทำด้วยใจ เยาวชนหรือนักศึกษาจะต้องมีความสนใจในสิ่งนี้แล้วเขาจะทำได้ดี ดังนั้นวงโปงลางสายแนนลำตะคอง จึงเป็นวงโปงลางที่เน้นในเรื่องของการอนุรักษ์เป็นหลัก ส่วนเรื่องการแข่งขันเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพื่อใช้กระตุ้นนักศึกษาให้เกิดการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะว่าศิลปะและวัฒนธรรมจะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ และวงโปงลางสายแนนลำตะคองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป”

• จากจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

          “วงโปงลางเกิดขึ้นเมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว จากบุคลากรร่วมกับนักศึกษาในสมัยที่มหาวิทยาลัยฯ ยังใช้ชื่อว่า ‘วิทยาลัยครู’ โดยสมัยก่อนสถานศึกษาในอีสานมีน้อยมาก ฉะนั้นคนในภาคอีสานจึงเดินทางเข้ามาศึกษาที่วิทยาลัยครูนครราชสีมา ดังนั้นในวิทยาลัยครูฯ ส่วนมากจึงเป็นคนที่พลัดถิ่นมา และส่วนมากจะเป็นคนอีสานมากกว่าคนโคราช เมื่อนักศึกษามาศึกษาที่นี่จึงได้นำภาษาและวัฒนธรรมติดตัวมาด้วย และเพื่อคลายความเครียด ความคิดถึงบ้านของนักศึกษา เพราะสมัยนั้นจะอาศัยอยู่หอในทั้งหมด จากนั้นนักศึกษาก็ได้มารวมตัวกันตั้งวงโปงลางขึ้นมา ช่วงแรกเครื่องดนตรีก็มีไม่มี มีเพียงพิณ แคน และเครื่องดนตรีไม้ทั่วไป จนเวลาผ่านไปกว่า ๓๐ ปี นักศึกษารุ่นใหม่ๆ ก็ได้พัฒนาวงโปงลางมาเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นวงโปงลางเต็มตัว”

          “ส่วนชื่อ ‘สายแนนลำตะคอง’ เกิดจากนักศึกษายุคปัจจุบัน ส่วนมากจะอยู่ปี ๔-๕ หรือจบไปแล้วก็มี โดยเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ เราได้ทำค่ายโปงลางแบบเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาครั้งแรก ขณะเดียวกันก็ได้ตั้งชื่อให้วงโปงลางของมหาวิทยาลัยฯ ขึ้นมาในวันนั้นด้วย แต่ก่อนหน้านี้จะใช้ชื่อว่า วงโปงลางมหาวิทยาลัยฯ หรือวงโปงลางประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้มีชื่อเป็นเอกลักษณ์ โดยชื่อที่ใช้ในปัจจุบันได้มาจากการโหวตของสมาชิกภายในวง โดยให้ทุกคนเสนอชื่อมา จะต้องสื่อถึงสัญลักษณ์ของจังหวัดคือ สายน้ำลำตะคองที่ไหลผ่านหลังมหาวิทยาลัย ตอนแรกได้ชื่อว่า สายลำตะคอง แต่ดูแล้วสั้นเกินไปจึงได้เพิ่มคำว่า ‘แนน’ เข้ามาด้วย จึงกลายเป็น “สายแนนลำตะคอง” ที่แปลว่า สายสัมพันธ์ ความร่วมมือร่วมใจ และความเหนียวแน่นของกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่มีความตั้งใจอยากจะอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ “วงสายแนนลำตะคอง” และได้ใช้ชื่อนี้มาตลอดระยะเวลา ๔-๕ ปี ไม่ว่าจะไปแข่งขันหรือไปแสดงที่ไหนก็จะใช้ชื่อนี้เสมอ เพื่อใช้เป็นชื่อวงโปงลางประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามาโดยตลอด”

          วงโปงลางสายแนนลำตะคอง ยังถือเป็นน้องใหม่ในแวดวงของการแข่งขันระดับประชาชน เนื่องจากระดับประชาชนหรือการแข่งระดับทั่วไป ถือเป็นการแข่งขันแบบจริงจังมากๆ และเราก็เพิ่งเข้ามาแข่งในระดับนี้ได้เพียง ๔ ปี การแข่งขันแรกที่เราเข้าร่วมคือ ลีโอโปงลาง-ลำซิ่ง ชิงแชมป์ประเทศไทย ๒๕๕๗ โดยเราได้อับดับที่ ๒ เวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงโปงลาง ที่มีแต่ทีมเก่งๆ เข้าร่วม คือ เวทีการประกวดวงดนตรีพื้นบ้านโปงลาง ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ โดยเราส่งประกวดทั้งหมด ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เข้ารอบสุดท้ายได้รางวัลชมเชย ครั้งที่ ๒ ก็ได้รางวัลชมเชยเช่นเดิม และปีนี้เราได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมถ้วยรางวัลย่อยทั้งการแสดงและรางวัลเดี่ยวเครื่องดนตรี อีก ๕ ถ้วยเล็ก

          ผศ.ดร.ณัฐกิตต์ กล่าวอีกว่า “วงสายแนนลำตะคอง ได้เปิดเป็นชมรมของมหาวิทยาลัยฯ มีกำลังหลักเป็นนักศึกษา แต่บางครั้งก็มีทั้งนักศึกษา, อาจารย์, บุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ และบุคคลภายนอก มาเล่นร่วมกัน ผมมองว่าการทำวงโปงลาง ไม่ได้ทำในนามมหาวิทยาลัยฯ แต่ทำในนามของจังหวัดนครราชสีมา จึงมีความรู้สึกว่า ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงศิลปะและวัฒนธรรม ดังนั้นการแสดงหรือการเล่นดนตรีและนาฏศิลป์ ไม่มีเส้นมาขีดแบ่งแยกว่าใครสามารถเข้าร่วมได้บ้าง วงโปงลางจึงเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่สนใจมาร่วมสนุก ร่วมสืบสานวัฒนธรรม และในอนาคตวงโปงลางฯ อาจจะรับบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมด้วยอย่างจริงจัง”

• การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย

          “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ถือเป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาอยู่แล้ว ดังนั้นการทำวงดนตรีโปงลางฯ วงนี้ ตั้งแต่การดูแลนักศึกษา การพัฒนานักศึกษา หรือการจัดค่ายพัฒนาฝีมือนักศึกษา ถือเป็นการดูแลของสำนักฯ อยู่แล้ว และจุดเด่นของวงโปงลางสายแนนลำตะคองคือ เราไม่จำกัดว่านักศึกษาจะมาจากโปรแกรมไหน คณะไหน หรือชั้นปีไหน ก็สามารถมาเข้าร่วมวงฯ ได้ แบบนี้จึงถือว่าเป็นการสืบทอดอย่างแท้จริง ไม่ใช่จะทำวงแล้วมาจำกัดว่าต้องเป็นนักศึกษาโปรแกรมนาฏศิลป์หรือดนตรี และสิ่งสำคัญที่สำนักฯ อยากจะทำคือ การเผยแพร่ความรู้ กระจายความรักในศิลปะและวัฒนธรรม ไปสู่คนทั่วไปมากขึ้น นอกจากนี้ถือว่าวงโปงลางฯ โชคดีมากที่ได้ รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีคนปัจจุบัน ให้การสนับสนุนในด้านศิลปะและวัฒนธรรมเป็นพิเศษ เนื่องจากส่วนหนึ่งท่านก็เคยเป็นนักดนตรีมาก่อนด้วย ดังนั้นวงโปงลางสายแนนลำตะคอง จึงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งกำลังใจและงบประมาณที่มีให้อย่างที่ทำได้สบายๆ และอาจารย์ของนักศึกษาที่หลากหลายในมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้ความอนุเคราะห์หรืออนุญาตให้นักศึกษาเข้ามาซ้อมและทำกิจกรรมในครั้งนี้”

• การเตรียมตัวแข่งขัน

          “โดยทั่วไปวงโปงลางสายแนนลำตะคอง มีการฝึกฝนหรือทำกิจกรรมกันตลอดปีอยู่แล้ว เราไม่ได้เน้นการแข่งขัน แต่เน้นทำกิจกรรมร่วมกัน หากจำเป็นต้อนแข่งขันก็ต้องมีการวางแผนที่ดี โดยปกติสมาชิกในวงจะนัดซ้อมหรือเล่นดนตรีกัน ในเวลาว่างหรือหลังเลิกเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อแข่งขัน ก็ต้องเตรียมตัว เตรียมงบประมาณ รวมถึงการคัดเลือกนักแสดงและนักดนตรี โดยต้องเตรียมทุกอย่างก่อนวันแข่งขันนับถอยหลังไป ๖ เดือน และทางมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้บังคับให้แข่งขัน แต่ทางตัวนักศึกษาเองที่ต้องการแข่งขัน ดังนั้นจึงจะต้องมีแผนที่จะไปสู้กับทีมอื่นๆ และสิ่งสำคัญคือการคัดเลือกตัวนักแสดง นักดนตรี และนักร้อง รวมทั้งหมด ๓๕ คน เป็นการคัดเลือกที่เข้มข้นพอสมควร โดยจะไม่เลือกจากคนที่ฝีมือดีที่สุด แต่จะเลือกจากคนที่มีความพร้อมและเสียสละที่จะมาซ้อมมากที่สุด เพราะการทำวงดนตรีจะต้องทำเป็นทีม ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน เพราะฉะนั้นความเสียสละ ความตั้งใจ และการมาซ้อม ถือเป็นคุณสมบัติหลักของการคัดเลือกคนไปแข่งในครั้งนี้”

• อุปสรรคก่อนแข่งขัน

          ผศ.ดร.ณัฐกิตต์ อินทร์สวรรค์ เผยว่า “ผมมองว่าวงของเราคือวงที่มีปัญหามากที่สุดในการแข่งขันคือ ๑.เด็กนักศึกษามีหลากหลาย มีทั้งคนที่เรียนดนตรี เรียนนาฏศิลป์โดยตรง และเด็กที่มาฝึกใหม่ เพราะฉะนั้นทักษะของแต่ละคนจึงมีไม่เท่ากัน ดังนั้นการปรับทักษะของวงให้พอดีกันจึงค่อยข้างลำบาก ๒.ปัญหาการรวมวงมาซ้อม เพราะตัวจริงที่เราเลือกไว้ส่วนมาก เป็นนักศึกษาปี ๕ เพราะว่านักศึกษากลุ่มนี้มีความสามารถและเคยผ่านงานมาแล้ว และเพื่อให้มาช่วยแนะนำน้องๆ ที่มาใหม่ได้ด้วย โดยนักศึกษากลุ่มนี้จะติดฝึกสอน และส่วนมากจะกลับไปฝึกสอนที่ภูมิลำเนาของตน จึงต้องเดินทางไกลเพื่อมาซ้อม ดังนั้นจึงซ้อมได้เพียงแค่เย็นวันศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์ ๓.ความเป็นโปงลางหรือสำเนียงดนตรี คือคำพูดแบบโปงลาง สำเนียงแบบโปงลาง การล้อแบบโปงลาง และท่ารำแบบโปงลางเราไม่มี เพราะโคราชเราอยู่ไกลพื้นที่ที่เล่นดนตรีโปงลางจริงๆ อีกอย่างคือโคราชเราแทบจะไม่มีวงโปงลางเลย ดังนั้นต้นทุนวงสายแนนลำตะคองจึงต่ำกว่าทีมอื่นๆ ฉะนั้นเราจึงต้องหาครูหรือผู้ที่รู้จริงมาสอน แต่ปัญหาอุปสรรคที่กล่าวมาทั้งหมด “สายแนนลำตะคอง” ก็สามารถแก้ได้หมด”

• มุมมองต่อดนตรีโปงลาง

          “โปงลางเป็นดนตรีประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่โปงลางมีคนให้ความสนใจเร็วมาก เพราะเสน่ห์ของโปงลางคือ “ความสนุก” ในต่างประเทศเขาขอเลยว่าหากคนไทยไปแสดงวัฒนธรรมต้องเอาโปงลางไปแสดง แต่คนที่สนใจและลงมือเล่นอย่างจริงจังยังมีอยู่แค่ในภาคอีสาน ไม่เหมือนกับวงมโหรีที่จะมีคนเล่นทุกภาค แต่ขณะนี้ที่ในกรุงเทพฯ ก็เริ่มนำไปเล่นกันแล้ว เป็นเพราะคนอีสานเข้าไปอยู่จึงนำติดตัวไปด้วย ในอนาคตวงโปงลางจะต้องเป็นที่รู้จักมากขึ้นแน่นอน เพราะทุกวันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ผมเองไม่ได้เป็นห่วงว่าโปงลางจะไม่ได้รับความนิยม แต่เป็นห่วงอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อมีคนนำไปแสดง ไปเล่นมากขึ้น อาจจะลืมรากเหง้าของความเป็นโปงลางอย่างแท้จริง กลัวกระแสของค่านิยมสมัยใหม่จะกลืนกินทำให้ความเป็นโปงลางหายไป อยากให้อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมของโปงลางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย หรือท่าฟ้อนรำ แต่เวทีประกวดก็ยังมีให้แสดงความเป็นโปงลางอยู่ เช่นการให้แสดงลายเดิมซึ่งเป็นการแสดงลายเก่าๆ ทั้งนั้น ดังนั้นความทันสมัยกับรากเหง้าของโปงลางจะต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ใหม่จนไม่เหลือสิ่งเก่าๆ ก็ไม่ถูก อย่างไรก็ตามผู้ที่รักโปงลางจริงๆ คงมีความเข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว” ผศ.ดร.ณัฐกิตต์ อินทร์สวรรค์ กล่าว

• การแสดงที่ทำให้ได้รับชัยชนะ

          อดิศักดิ์ แสงจันทร์ดี สมาชิกวงโปงลางสายแนนลำตะคอง กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากๆ ที่ความพยายามของพวกเราสำเร็จจนได้ เพราะเราสู้ด้วยกันมาถึง ๕ ปี จนได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติมากที่สุดในกลุ่มเยาวชนที่รักในดนตรีโปงลาง การแสดงที่นำไปแสดงในการชิงชนะเลิศครั้งนี้ เริ่มต้นจากการได้รับโจทย์ที่ยาก เพราะการแข่ง ๒ ครั้งก่อน เราได้รับรางวัลชมเชยมาตลอด ทางคณะกรรมการบอกว่า การแสดงครั้งแรกเรามีความเป็นอีสานมากเกินไป และครั้งที่สองเราจึงปรับมาใช้วัฒนธรรมโคราช แต่ก็มีความเป็นโคราชมากเกินไป จนในครั้งนี้เรานำทั้งสองวัฒนธรรมมาหลอมรวมกัน ให้เป็นการแสดงเพียงหนึ่งเดียว โดยครั้งนี้เรานำแสดงผ่านความเป็นชนพื้นเมืองโคราช โดยมีเอกลักษณ์เป็น ‘ข้าวของพ่อ ไหมของแม่’ โดยเรื่องราวที่ ๑ จะเป็นการแสดงเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙  มีการนำท่วงทำนองเพลงโคราชผสมผสานกับเพลงลูกทุ่งและเพลงหมอลำ นี่จึงทำให้คณะกรรมการแปลกใจว่าทำนองเหล่านี้เข้ากันได้ด้วยหรือ และเรายังทำฉากหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ การแสดงที่ ๒ เป็นการแสดงเปิดวงส่งนางไห โดยจะมีการเปิดด้วยเพลงโคราชพร้อมทักทายผู้ชมและคณะกรรมการ มีการตีกลองโทนเพื่อแสดงถึงความเป็นโคราชของเรา พร้อมกับมีหญิงสาวชาวอีสานเหนือออกมาทดลองตีกลองโทนของโคราช การแสดงที่ ๓ เป็นการแสดงลูกทุ่งอีสานผ่านบทเพลงลูกทุ่ง เป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการตำข้าวเม่า และการแสดงที่ ๔ เป็นการแสดงบทบาทวิถีชีวิตของคนอำเภอโชคชัย โดยเราก็ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง เพื่อมาใช้ประกอบการแสดง โดยเราจะเน้นที่พิธีสู่ขวัญสากเพราะไม่สามารถหาดูได้ที่ไหนอีกแล้ว ทั้งหมดนี้คือการแสดงที่เราใช้นำเสนอบนเวที และทำให้เราได้รับรางวัลชนะเลิศมาในที่สุด โดยรางวัลที่เราได้รับมามีดังนี้ ๑.รางวัลเทิดพระเกียรติฯ ยอดเยี่ยม, ๒.รางวัลเปิดวงยอดเยี่ยม ๓.รางวัลบรรเลงพิณยอดเยี่ยม ๔.รางวัลเพลงลูกทุ่งอีสานยอดเยี่ยม ๕.รางวัลกั๊บแก๊บยอดเยี่ยม และรางวัลใหญ่ที่สุดในเวที คือ รางวัลชนะเลิศการประกวดวงดนตรีพื้นบ้านโปงลาง ประจำปี ๒๕๖๑”

• ความรู้สึกจากสายแนนลำตะคอง

          ฤทธิเกียรติ แก้วศรี นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ตำแหน่งผู้นำวงโปงลางสายแนนลำตะคอง กล่าวว่า “ผมรู้สึกภูมิใจมาก ถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดของผมและครอบครัว เป็นรางวัลที่ผมใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ผมศึกษาดนตรีโปงลางมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา และปัจจุบันผมเรียนสาขาวิชาภาษาไทย ซึ่งผมไม่ได้เรียนด้านดนตรีมา เมื่อครั้งเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยฯ ก็คิดว่าคงไม่ได้เล่นดนตรีแล้ว แต่เมื่อได้มาอยู่ในชมรมหรือวงสายแนนลำตะคอง ถือเป็นโอกาสให้ผมได้เล่นดนตรีอีกครั้ง กระทั่งวันนี้ ผมและทีมชนะเลิศวงโปงลางแห่งประเทศไทย ได้รับถ้วยพระราชทานฯ จึงถือเป็นที่สุดของความสำเร็จแล้ว และในอนาคตผมจะนำความรู้ความสามารถไปใช้เพื่ออนุรักษ์ และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป”

          อารีญา มีศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ สมาชิกวงโปงลางสายแนนลำตะคอง เล่าความรู้สึกว่า “มีความดีใจเป็นอย่างมาก และรู้สึกตื้นตันที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ และในอนาคตจะนำดนตรีโปงลางไปถ่ายทอด เพราะตนได้เรียนคณะครุศาสตร์ จึงมีความใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน จึงจะนำไปถ่ายทอดต่อและช่วยอนุรักษ์ดนตรีประเภทนี้เอาไว้”

          ศิริรัตน์ ประสงค์สันติ์ นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สมาชิกวงโปงลางสายแนนลำตะคอง เล่าความรู้สึกว่า “รู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะตั้งแต่เด็กก็รักในดนตรีประเภทนี้ การได้รับรางวัลนี้ จึงถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งชีวิต ต่อจากนี้ไปจะช่วยสืบสานอนุรักษ์โปงลางเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักมากขึ้น”

          ทิวาพร ใจสว่าง นักศึกษาชั้นปีที่ ๕ สมาชิกวงโปงลางสายแนนลำตะคอง เล่าความรู้สึกว่า “หลังจากเคยแข่งขันมานานกว่า ๔ ปี และปีนี้ได้ประสบความสำเร็จจึงรู้สึกปลาบปลื้มมากๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้ถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และเนื่องจากดิฉันเป็นครูฝึกสอน ก็จะนำดนตรีโปงลางหรือดนตรีไทยไปสอนให้กับนักเรียนที่โรงเรียนด้วย ช่วยสืบสานอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทยแบบนี้ให้คงอยู่คู่คนไทยไปอีกนาน”

          ณัฐพงศ์ มณีเนตร นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สมาชิกวงโปงลางสายแนนลำตะคอง เล่าความรู้สึกว่า “รู้สึกดีใจมากกับผลงานครั้งนี้ การที่พวกเราทำสำเร็จได้ เพราะพวกเราสามัคคีกัน มีการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง คอยช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าใครจะอยู่ตำแหน่งไหน เราคือวงเดียวกัน เมื่อผมจบการศึกษาแล้วก็จะนำความรู้ความสามารถด้านการประชาสัมพันธ์ ช่วยให้ประชาชนรู้จักกับโปงลางมากขึ้น”

          “เพลงโปงลาง” ถือเป็นเพลงที่ยังหาชมได้ค่อนข้างง่ายในปัจจุบัน เพราะเยาวชนรุ่นใหม่ยังมีความสนใจที่อยากจะอนุรักษ์สืบสานเอาไว้ แต่โลกก็ไม่เคยหยุดพัฒนาเช่นกัน และในอนาคตวันหนึ่ง “เพลงโปงลาง” อาจจะเหลือไว้เพียงแค่ชื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก ดังนั้นการที่วงโปงลางสายแนนลำตะคองได้นำเอา “เพลงโปงลาง” ออกมาสร้างชื่อเสียงให้คนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น ทำให้สังคมเกิดความสนใจ องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เริ่มหันมาเปิดเวที เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือผู้ที่สนใจได้แสดงออกอย่างเต็มที่ และที่สำคัญยังทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักกับ “เพลงโปงลาง” มากขึ้นอีกด้วย

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๖ วันศุกร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 

 


765 1391