26thApril

26thApril

26thApril

 

October 16,2018

แบ่งเขตส.ส.ยังมีเห็นแย้ง ชี้กระทบฐานเสียง กกต.กลางฟันธงพฤศจิกานี้

       ๓ รูปแบบแบ่งเขตการเลือกตั้งโคราช บางกลุ่มยังไม่พอใจ เดินหน้าเสนอแบบเพิ่ม ผอ.กกต.จังหวัด รับไม่มีสิทธิ์ฟันธง รอกกต.กลางชี้ขาดเดือนหน้า “หมอแหยง” ว่าที่ผู้สมัครภูมิใจไทย เชื่อแบ่งเขตอยู่ที่ฐานเสียง มั่นใจ คสช.ทำเลือกตั้งโปร่งใสแน่นอน

       ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดให้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน ๓๕๐ คน แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. ๑ คน จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้ไม่เกิน ๑ คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้เกิน ๑ คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมี ทั้งนี้ ใช้จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ซึ่งมีจำนวน ๖๖,๑๘๘,๕๐๓ คน เป็นฐานในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย ๑๘๙,๑๑๐ คน ต่อ ส.ส. ๑ คน หมายความว่า จังหวัดใดมี ส.ส. ๑ คน ก็นับจังหวัดนั้นทั้งจังหวัดเป็น ๑ เขตเลือกตั้ง

       โดยจังหวัดนครราชสีมามีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ๒,๖๓๙,๒๒๖ คน จำนวนเฉลี่ยราษฎร ๑๘๘,๕๑๖ คน ต่อ ส.ส. ๑ คน จึงต้องลดจำนวน ส.ส. ๑ เขต โดยเหลือ ๑๔ เขตเลือกตั้ง กกต.จ.นครราชสีมา ยึดหลักเกณฑ์การจัดรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งดังนี้ ๑.พื้นที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ๒.ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน ๓.เป็นรูปแบบที่แบ่งตำบลออกจากอำเภอน้อยที่สุด และ ๔.ใกล้เคียงกับรูปแบบการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่หากสัดส่วนแตกต่างกันเกินไปให้แบ่งตำบลของแต่ละอำเภอมารวมเป็น ๑ เขตเลือกตั้ง เพื่อจัดแบ่งให้ได้จำนวนราษฎรเพียงพอต่อเขตเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถแบ่งเขตหมู่บ้านออกจากตำบลมารวมได้ และสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง ๑๔ เขตเป็น ๓ รูปแบบ และประกาศให้ประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียแสดงความคิดเห็นเข้ามา ระหว่างวันที่ ๔-๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ 

       นายศิริชัย วิริยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า หลังจากประกาศเขตเลือกตั้งทั้ง ๓ รูปแบบออกไปแล้ว ปรากฏว่า มีประชาชนและสมาชิกกลุ่มพรรคการเมืองที่สนใจทั้งโทรศัพท์มาสอบถามและเดินทางมายื่นเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบอื่นๆ นอกเหนือจาก ๓ รูปแบบที่กกต.จัดทำ ประมาณ ๗-๘ ราย ซึ่งส่วนใหญ่ที่มายื่นจะมองเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อฐานคะแนนเสียงของแต่ละกลุ่ม เช่น เขตอำเภอด่านขุนทด ครบุรี และโชคชัย ที่บางตำบลแยกออกจากอำเภอของตัวเอง แต่ทางกกต.จังหวัดนครราชสีมาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ ทำได้เพียงรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และจะทำให้ถูกใจทุกฝ่ายคงไม่ได้ เมื่อครบกำหนดเวลาในการแสดงความคิดเห็น กกต.จังหวัดนครราชสีมาจะประมวลความคิดเห็นว่า จะมีการปรับปรุงหรือไม่ รายงานต่อ กกต.กลางต่อไป โดย กกต.กลางกำหนดเวลา ๒๐ วันในการพิจารณาเพื่อเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด จากนั้นจะประกาศรูปแบบที่เลือกออกมาให้รับทราบ รวมใช้เวลา ๕๐ วัน ตามระเบียบของ กกต. แต่ กกต.คาดการณ์ว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน ซึ่งจะครบกำหนดประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ จากนั้นจะเริ่มนับถอยหลัง ๑๕๐ วันสู่การเลือกตั้ง

       “โคราชคนอีสาน” สอบถาม นพ.สำเริง แหยงกระโทก (หมอแหยง) ว่าที่ผู้สมัครส.ส.พรรคภูมิใจไทย และว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ.นครราช สีมา เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเปิดเผยว่า การจัดระบบแบบแบ่งเขตการเลือกตั้งแบบใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา ส่วนตัวไม่ได้มองรูปแบบไหนเป็นพิเศษ เพราะครั้งนี้ตนลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย ส่วนตัวเชื่อว่ากฎหมายการเลือกตั้งมีเหตุผลในการแบ่งเขตเลือกตั้งออกมาในลักษณะนี้ แต่จากการพูดคุยกับสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจจะเป็นเพราะถ้าสมาชิกใดอยู่เขตไหนแล้วมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของตัวเองก็จะไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา เช่น อำเภอด่านขุนทด บางตำบลต้องไปรวมกับเขตอื่น เจ้าของฐานคะแนนเสียงเดิมก็จะได้รับผลกระทบต่อการทำงานหาเสียงแน่นอน ตนมั่นใจกับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารที่จะมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใสแน่นอน 

       “ส่วนการลงสมัครส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อครั้งนี้ตนก็มีความหวังเล็กๆ ว่า จะไม่เจ็บช้ำเหมือนตอนที่ลงสมัครนายกอบจ. และหวังได้กลับมา บริหารโคราชในระดับการเมืองใหญ่ เพื่อจะได้พัฒนาโคราชต่อไป” หมอแหยง กล่าว 

       ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีเขตการเลือกตั้ง ๑๔ เขต มากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ เป็นรองแค่กรุงเทพฯ ที่มี ๓๐ เขตเลือกตั้ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่จำนวน ส.ส. หายไปมากที่สุด เดิมมี ส.ส. ๑๒๖ คน ลดเหลือ ๑๑๖ คน หายไป ๑๐ คน สกลนคร อุดรธานี เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี หายไปจังหวัดละ ๑ ที่นั่ง

 

 

  นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๓๐ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

684 1342