28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 17,2018

ผลกระทบรถไฟความเร็วสูง วอนผู้ว่าฯลงพื้นที่ดูแล พูดคุยกับจีนไม่รู้เรื่อง

         ประชาชนบุกยื่นหนังสือผู้ว่าฯ โคราช กลางที่ประชุม ระบุได้รับผลกระทบจากการสร้างรถไฟความเร็วสูง เหตุอาศัยอยู่ในที่ราชพัสดุแนวเส้นทางรถไฟ มีแต่วิศวกรและคนงานจีนลงพื้นที่ สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง วอนผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ดูแลประชาชน รวมทั้งเจรจากับกรมราชทัณฑ์เพื่อขอเช่าที่ดินสร้างที่พักอาศัย อ้างผู้ว่าฯ รับปากจะพาเข้าทำเนียบรัฐบาล

         ตามที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศ ไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๕ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ กำหนดให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมในการศึกษาความเหมาะสม ก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟ โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอยมาบตาพุด (ระยะทางรวมประมาณ ๘๖๗ กิโลเมตร) เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่นๆ ของไทย เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของประชาชน รวมถึงใช้ตำแหน่งที่ ตั้งอันเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของไทยในภูมิภาค ในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งต่อมาในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ ๑๐ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นลำดับแรก โดยฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างและการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ ๑๑ และครั้งที่ ๑๒ 

         ทั้งนี้ มีมติร่วมกันแบ่งสัญญาโครงการออกเป็น ๒ ส่วน คือ สัญญาที่ ๑ การก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา ฝ่ายไทยเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา และสัญญาที่ ๒ งานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลและรถจักรล้อเลื่อน ฝ่ายจีนเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างวางระบบ ส่วนฝ่ายไทยเข้ามาสังเกตการณ์ทำงานของผู้รับจ้างจีน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของฝ่ายไทย จากนั้น ในการประชุมครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจ้างและสั่งจ้างบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดการออกแบบของฝ่ายจีนและออกแบบเพิ่มเติมในส่วนที่ฝ่ายจีนไม่ได้ดำเนินการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเวนคืนและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมเพิ่มเติม โดยมีการก่อสร้างทางรถไฟความ เร็วสูงระยะทาง ๓.๕ กิโลเมตร ช่วงสถานีรถไฟกลางดง-ปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างในระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ–นครราช สีมาแล้วนั้น 

ประกาศทีโออาร์

         ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศร่างทีโออาร์ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหา นคร-หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ ๒-๑ งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว–กุดจิก ระยะทาง ๑๑ กม. ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง ๓,๓๕๐.๔๗๕ ล้านบาท ซึ่งมีการเปิดรับฟังคำวิจารณ์ ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน-๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ นั้น

         ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๒.๓๕ กิโลเมตร ใช้วงเงินลงทุนรวม ๑๗๙,๔๑๒.๒๑ ล้านบาท ซึ่งกรอบวงเงินของตอนที่ ๒ ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง ๑๑ กม. ราคากลางประกาศอยู่ที่ ๓,๓๕๐ ล้านบาท จากเดิมวงเงิน ๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติผู้เสนอราคา กรณีเป็นผู้ร่วมค้าทุกรายต้องมีอาชีพรับจ้างงานประกวดราคา โดยมีผลงานอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ผลงานก่อสร้างทางรถไฟที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ล้านบาท ส่วนผลงานก่อสร้างงานโยธาที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ล้านบาท ส่วนรูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย ๑.ทางรถไฟระยะทาง ๑๑ กม. แบ่งเป็นการก่อสร้างคันทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง ๗ กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง ๔ กม. ๒. ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Station yard) ๑ แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ หอพัก ที่ล้างรถ เป็นต้น ๓.งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และงานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงการ

ราษฎรบุกยื่นหนังสือ

         สำหรับในกรณีของการก่อสร้างรถไฟความ เร็วสูงนี้ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (นำเสนอผลการศึกษาร่างรูปแบบโครงการ) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ งานปรับรูปแบบรายละเอียดก่อสร้างทางรถไฟ บริเวณอำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราชสีมา โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานนั้น มีราษฎรรายหนึ่ง ทราบชื่อภายหลังว่า นางพิสมัย จันคำใจ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๒๓๘ หมู่ที่ ๑ บ้านคลองไผ่ ตำบลคอลงไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า หนังสือที่นางพิศมัยยื่นนั้นระบุเรื่องว่า “ผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง” ซึ่งตั้งใจจะนำมายื่นต่อผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราช สีมา โดยมีรายละเอียดว่า ตามที่ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขณะนี้ที่พิกัดตำบลคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีการออกแบบและสำรวจเส้นทางจากทางผู้รับจ้าง และทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประชุมที่โรงแรมสีมาธานีแล้ว ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ ซึ่งที่ประชุมได้แจ้งถึงการออกแบบเส้นทาง (ตามภาพถ่ายทางอากาศที่แนบมาพร้อมนี้ ๔ ภาพ) พบว่า การออกแบบเส้นทางดังกล่าว กระทบกับบ้านเรือนราษฎรหลายหลังคาเรือน (ดังรายชื่อและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ได้รับผลกระทบที่แนบมาพร้อมนี้) ขณะนี้ยังมิได้มีผู้แทนจากผู้ว่าจ้าง (รัฐบาล) และผู้รับจ้างหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มาให้ความกระจ่างและทำความเข้าใจและข้อตกลงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความวิตกกังวล ดังนั้น เพื่อความเข้าใจและป้องกันความเสียหายอันเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ ขอความกรุณาจากผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ดังนี้ 

หวั่นไม่มีที่พักอาศัย

         ข้อ ๑ เรื่องที่ดินปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ได้อาศัยบนที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ กรมราชทัณฑ์ เขตเรือนจำกลางคลองไผ่ ทุกราย และได้ทำเรื่องเช่าที่ราชพัสดุ หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ขอความกรุณาผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา หรือผู้มีส่วนรับผิดชอบ ได้ประสานกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอเช่าที่ดินเป็นที่ปลูกสร้างบ้านเรือนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยขอเช่ารายละไม่เกิน ๒ งาน (พร้อมนี้ได้แนบภาพถ่ายทางอากาศบริเวณขอเช่ามาด้วยแล้ว)

         ข้อ ๒ เรื่องค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างและอื่นๆ ข้อเท็จจริงคือ กรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ผู้ได้รับผลกระทบวิตกกังวล เรื่องค่าชดเชย เพราะไม่มีผู้ใดสามารถให้ความกระจ่างได้ มีข้อมูลจากผู้ไม่เกี่ยวข้องเป็นไปในทางลบ ยิ่งเป็นเหตุให้เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบเกรงว่า ฝ่ายผู้ดำเนินการจะยึดถือเอาข้อมูลจากการประชุมที่โรงแรมสีมาธานี เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ เป็นการให้ความยินยอม แล้วนำไปสรุปออกเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยว่าด้วยการเวนคืน หากดำเนินถึงขั้นตอนดังกล่าว เรื่องก็เกินกว่าจะแก้ไขได้ จึงใคร่ขอความกรุณาจากผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานกับผู้มีส่วนรับผิดชอบ ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ได้ไปพบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย เพื่อทำความเข้าใจในการออกแบบเส้นทาง และค่าชดเชยทุกชนิด

         ข้อ ๓ เรื่องขอให้เจ้าหน้าที่ไปพบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ข้อเท็จจริงคือ สืบเนื่องจากข้อ ๒ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้รับผิดชอบ ไปพบและสอบถามรวมทั้งให้ข้อมูลในรายละเอียด ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นเหตุให้เกิดความวิตกกังวลดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ขอความกรุณาจากผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ได้ประสานกับผู้มีส่วนรับผิดชอบ ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ไห้ไปพบกับผู้ได้รับผลกระทบด้วย ภายใน ๓๐ วัน จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน และกรุณาส่งผู้แทนหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดให้กับผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบ 

คุยกับจีนไม่รู้เรื่อง

         ล่าสุดวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ นางพิศมัย จันคำใจ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เพิ่มเติมว่า “เนื่องจากมีทีมงานของโครงการรถไฟความ เร็วสูงที่เป็นคนจีน มาทำเครื่องหมายกำกับเส้นทางการก่อสร้างหรือปักเสาเข็ม และหลังจากนั้นเขาก็มาตรวจชั้นดินหรือตรวจการสั่นสะเทือนของดิน ซึ่งชาวบ้านก็คุยกับชาวจีนไม่รู้เรื่อง จึงไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเขามาทำอะไร ขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนมาก บางคนนั่งร้องไห้ทุกวันก็มี ประชาชนบริเวณนี้ก็อยากให้หน่วยงานรัฐลงมาดูแล เพราะตั้งแต่ชาวจีนมาก็ไม่มีคนไทยมาชี้แจง ซึ่งประชาชนก็เข้าใจหากโครงการผ่านตรงนี้จริง เพราะทุกคนก็อาศัยอยู่ในที่ราชพัสดุ ดังนั้น อยากให้หน่วยงานราชการลงมาดูแล มาพูดคุยหาทางแก้ไขกับประชาชน เพราะถ้าโครงการผ่านจริงจะได้เตรียมตัวย้าย และอยากจะให้ช่วยพูดคุยกับราชพัสดุ หากประชาชนต้องย้ายไปจะได้ง่าย ถ้าให้ประชาชนเข้าไปคุยเอง เขาคงไม่สนใจ และเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ดิฉันได้ไปยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ผู้ว่าฯ ก็รับเรื่องไว้เรียบร้อย และรับปากจะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งผู้ว่าฯ ได้เสนอจะพาชาวบ้านไปที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้อยากให้เป็นเรื่องใหญ่โต แต่อยากให้ลงมาช่วย มาชี้แจงให้กระจ่างเท่านั้น โดยมีประชาชนในชุมชนนิยมพัฒนา หมู่ ๔-๕ ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ประมาณ ๒๐ ครัวเรือน”

         อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมมอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราช สีมา ระยะทาง ๒๕๓ กม. วงเงิน ๑๗๙,๔๑๒ ล้านบาท ให้คืบหน้าโดยเร็ว เพื่อเชื่อมรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน 

         หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๓๑ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่ ๒๐ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


793 1421