29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 27,2019

ชาวสีคิ้วบุกห้องผู้ว่าฯ ให้ระงับโรงไฟฟ้าชีวมวล โยน‘กกพ.-อุตสาหกรรม’จัดการ

         ชาวสีคิ้วฯ เดินหน้าต้านสุดกำลัง ฟ้อง กกพ.ออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าโดยมิชอบ ให้ ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการทำงาน วอนผู้ว่าฯ สั่งระงับผลิตไฟฟ้า หลังส่งกลิ่นเหม็นแสบจมูก เดือดร้อนและรำคาญ ‘วิเชียร’ เร่ง กกพ.และอุตสาหกรรมฯ ชี้แจงก่อนสิ้นเดือน

         ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าว กรณีที่บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเมื่อปี ๒๕๕๙ บนที่ดินกรรมสิทธิ์ประมาณ ๒๐๐ ไร่ กำลังการผลิตขนาด ๙.๙ เมกะวัตต์ มูลค่า ๘๐๐ ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จเดือนตุลาคมปี ๒๕๖๒ ที่บ้านหนองรี หมู่ ๓ กิโลเมตรที่ ๒ อยู่ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสีคิ้ว (อบต.สีคิ้ว) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตลาดสดและแหล่งชุมชนประมาณ ๒ กิโลเมตร โดยกลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า ได้คัดค้านการก่อสร้างมาตลอดนั้น ซึ่งศาลปกครองนครราชสีมา มีคำพิพากษาเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ ให้เพิกถอนใบอนุญาตทั้ง ๒ ฉบับ ที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจาก อบต.สีคิ้ว และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เหตุผลว่า ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน และไม่มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกับประชาชน จากนั้นจำเลยยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป

         และเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ เพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘ชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า’ เผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอ ขณะที่โรงงานไฟฟ้าชีวมวลกำลังดำเนินเครื่องการผลิต มีการปล่อยควันลอยขึ้นมาและส่งกลิ่นเหม็นออกมาทั่วบริเวณรอบโรงงานในรัศมี ๗๐๐ เมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวสีคิ้วเข้าใจว่า โรงงานได้หยุดการก่อสร้างและจะไม่มีการผลิตไฟฟ้า เพราะว่าอยู่ในช่วงการโดนเพิกถอนใบอนุญาตทั้ง ๒ ฉบับ

         ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า และตัวแทนชาวบ้าน นำโดยนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ประธานกลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล เดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่ศาลปกครองสูงสุด ที่กรุงเทพฯ และยื่นหนังสือคัดค้านใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ที่ กกพ.

         โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าว นำเศษไม้ เปลือกไม้และรากเหง้ามันสำปะหลังรวมทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขนาดกำลัง ๙.๙ เมกกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑

         ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า ประมาณ ๒๐ คน สวมเสื้อยืดสีเขียว นำโดยนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ประธานกลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล เดินทางไปยื่นหนังสือฟ้องคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา คําขอให้ศาลกําหนดวิธีการ บรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อน การพิพากษา โดยมีผู้รวมฟ้องคดีทั้งหมด ๒๘๕ คน ได้ยื่นคําฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมา คดีหมายเลขดำที่ ส.๗/๒๕๖๒ โดยขอให้ศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าควบคุม (พค. ๒) เลข ทะเบียนใบอนุญาต กกพ ๐๑ ๑ (๑) ๖๑-๗๗๐ ที่คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดี ออก ให้แก่บริษัท ยูนิ พาวเวอร์ เทค จํากัด เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๑ ทั้งนี้เพราะกระบวนการและขั้นตอนการออกใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้น มีกระทําและมีการออกคําสั่งทางการปกครองที่ไม่ถูกต้อง

         จากนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าฯ ให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการนครราชสีมา ขอให้ตรวจสอบและมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของโรงงานไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ชาวสีคิ้วเกรงผลกระทบต่อชุมชนทั้งมลพิษทางอากาศ พื้นที่เกษตรกรรม ลำรางน้ำสาธารณะและระบบนิเวศ อีกทั้งการออกใบอนุญาต ซึ่งมีกระบวนการและรวบรัดขั้นตอนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจัดประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการให้ข้อมูลไม่ทั่วถึงและครบถ้วนทำให้ประชาชนขาดโอกาสเข้าถึงข้อมูลอย่างเพียงพอ

         นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ประธานกลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล เปิดเผยว่า กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล ดำเนินการคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน ชาวสีคิ้วฯ ไม่เคยกระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด แต่การที่กลุ่มชาวสีคิ้วฯ อยู่ในความสงบ เพื่อรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ปรากฏว่า ทางโรงงานฯ และทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ดำเนินการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและทดลองการเดินเครื่องโดยทำการเผาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าตลอดเวลา ทำให้เกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนกับประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน ทั้งๆ ที่คำพิพากษาคดียังไม่ถึงที่สุด เพราะศาลปกครองนครราชสีมา ได้พิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตทั้งสองฉบับไว้แล้ว เพียงแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวให้ใบอนุญาตทั้งสองฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ไปชั่วคราวจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมี คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งโดยจริยธรรมและโดยความชอบธรรมแล้วคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควรรอให้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน

          เงื่อนไขที่จะออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าได้นั้น ทางโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ต้องทำประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) ว่า ด้วยมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับโรงงานไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ 

         “ทั้งนี้เพราะหากมีการทำประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) ทางโรงงานจะต้องจัดและเปิดรับ ฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในทุกระดับของการดำเนินการประชาชนซึ่งอยู่ในกลุ่มคัดค้านฯ ต้องรับทราบและเข้าร่วมการรับฟังความเห็นทุกครั้ง ดังนั้นเมื่อไม่มีการดำเนินการดังกล่าวนี้ การออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าฯ ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทางกลุ่มชาวสีคิ้วอยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นอีกหนึ่งคดี แต่ในการเปิดดำเนินการของทางโรงงานดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นำพาความเดือดร้อนรำคราญ ความเสียหายมาสู่ประชาชนในละแวกใกล้เคียงโรงงานและประชาชนในตำบลสีคิ้ว ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นผู้ปกครองท้องที่ จะต้องให้ความดูแลปกป้องรักษาความสงบสุขของประชาชนในท้องที่ให้ได้รับความปลอดภัย ความร่มเย็นในทุกๆ ด้าน ต้องตรวจสอบและมีคำสั่งระงับการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย และทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ทำให้เสื่อมเสียสุขภาพ อนามัย ของโรงงานไฟฟ้าชีวมวลบริษัท ยูนิ พาว์เวอร์เทค จำกัด เอาไว้ก่อน” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว

         นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการนครราชสีมา เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต ๖ (นครราชสีมา) และอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ขอให้ทั้ง ๒ หน่วยงานนี้ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าให้กับบริษัท ยูนิ พาวเวอร์ เทค จำกัด และพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยให้รายงานผลการดำเนินการพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้จังหวัดนครราชสีมา ทราบ ภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคมนี้

         “อย่างไรก็ตาม หากโครงการใดๆ ที่มีความเสี่ยงส่งผลกระทบในด้านลบแก่พี่น้อง ประชาชน ทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาวะ ตนไม่เห็นด้วยและไม่ควรดำเนินการต่อไป แต่เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน ให้ผู้ประกอบการสร้างความเชื่อมั่น มีมาตรการอย่างครอบคลุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้รอบบริเวณ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

         นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ กลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้เดินทางไปยืนหนังสือที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กกพ.

         อนึ่ง สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล คือโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุต่างๆ ที่เป็นชีวมวล เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือผลิตไอน้ำ ซึ่งอาจเป็นวัสดุชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมกัน อาทิ โรงน้ำตาลใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบ

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๖-วันศุกร์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒


783 1421