16thApril

16thApril

16thApril

 

May 28,2019

นายกรัฐมนตรีจากโคราช รับตำแหน่งรัฐบุรุษสุดสง่า นำประเทศสู่ความโชติช่วง

‘พลเอกเปรม’ ผู้ผงาดจากกองทัพภาคที่ ๒ ขึ้นสร้างความเจริญรุุ่งเรืองทุกด้านให้แก่ประเทศชาติ รับใช้กษัตริย์ ๒ รัชกาล  ถึงแก่อสัญกรรมโดยสงบ นับเป็นชีวิตที่ไม่มีสามัญชนใดทาบเทียบได้ ร.๑๐ ทรงโทมนัสยิ่ง เนื่องเพราะ ‘พลเอกเปรม’ ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณ ด้วยความวิริยอุตสาหะและจงรักภักดี


• ปลายพ.ศ.๒๕๑๗

ครูรัตน์ ผาสุกมูล จากราชสีมาวิทยาลัย วางคอลัมน์สำคัญในนสพ.โคราชรายวันของท่านโดยย้ำว่า ต้องมีทุกฉบับนะ นั่นคือการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ ผมทราบนโยบายแล้วในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการตั้งชื่อหน้านี้ว่า “สนทนา”

ทุกวันกองบรรณาธิการเล็กๆ จะต้องหาบุคคลสำคัญมาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าหรือข้าราชการทั้งอดีตและปัจจุบันกระทั่งเริ่มร่อยหรอ เมื่อถึงเวรของผมที่ต้องทำหน้านี้ ผมคิดไปมาหลายตลบ และด้วยความห่ามผสมห้าว ผมจึงนึกไปถึงแม่ทัพ ชื่อเท่ห์ๆ พลโทเปรม ติณสูลานนท์ จึงโทรศัพท์เข้าไปหาฝ่ายประชาสัมพันธ์กองทัพย้ำว่า ‘ขออนุญาตสัมภาษณ์ท่านแม่ทัพเรื่องสำคัญและด่วนประมาณ ๑๐ นาทีครับ’

นายทหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ซึ่งคุ้นกันพอควรตอบว่า ‘วันนี้ท่านอยู่นะ แต่ขอกะทันหันแบบนี้ ไม่ทำหนังสือมาล่วงหน้า ไม่ทราบท่านจะอนุญาตหรือไม่ จะลองถามท่านก่อน’

เกือบครึ่งชั่วโมงฝ่ายประชาสัมพันธ์โทรกลับมาแจ้งว่า..คุณโชคดี อีกชั่วโมงท่านแม่ทัพอนุญาตให้เข้าพบได้เลย

ผมกระหืดกระหอบเข้าไปถึงหน้าห้องท่านแม่ทัพ พบนายทหารท่าทางผึ่งผายใบหน้าเหี้ยมเกรียมดุดัน แต่ชื่อน่ารักหนักหนาจำง่ายไม่ลืมเลือนถึงวันนี้ว่า พันโทอู๊ด เบื้องบน (เกษียณในยศพลเอกตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม สมศักดิ์ศรีลูกป๋า)

วันนั้นท่านแม่ทัพเมตตาคุยกับนักหนังสือพิมพ์หนุ่มกว่าชั่วโมง ด้วยความนุ่มนวลและถ้อยทีถ้อยอาศัย ท่านไม่พูดมากหรือพูดข้อความยาวๆ ท่านกล่าวสั้นๆ แต่ชัดเจน  เช่นช่วงหนึ่งผมเรียนท่านว่า ผมไม่เห็นด้วยที่ป้ายนิเทศของกองทัพ ผมได้อ่านก่อนขึ้นมาพบท่าน พบการตัดหนังสือพิมพ์บ้านเมืองหลายฉบับ ลงภาพและข้อความโจมตีขบวนการนักศึกษา


“มีด้วยหรือ? ผมก็ไม่เห็นด้วยนะ จะสั่งแก้ไข คุณไม่ต้องเสนอข่าวหรอกนะ”

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเล็กๆ ใหม่ๆ เสนอการสนทนาครั้งนี้ในหน้ากลาง ๒ หน้า เป็นที่สนใจในวงการต่างๆ สโมสรโรตารี่นครราชสีมา มาขอภาพไปลงพิมพ์หนังสือสโมสร ผมให้ยืมบล็อกภาพของท่าน (ยุคนั้นสิ่งพิมพ์เมืองโคราชยังไม่เข้าสู่ระบบออฟเซ็ต)

พ.ศ.๒๕๒๐ : นายสุนทร จันทร์รังสี บรรณาธิการ นสพ.โคราชรายวัน สัมภาษณ์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในโอกาสเดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

ผมไม่กล้าคิดว่า ท่านเริ่มเป็นที่สนใจของพ่อค้าข้าราชการทั่วไป เพราะท่านให้สัมภาษณ์ “โคราชรายวัน” แต่แม่ทัพภาคที่ ๒ ก่อนหน้านี้สองท่านคือ พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๖ พลโทพโยม พหุลรัตน์ และพ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๑๗ พลโทสวัสดิ์ มักการุณ ก็ไม่มีอะไรประทับใจในความทรงจำของผู้คน

ผมคิดไปว่า แม่ทัพเปรม นอกจากจะชื่อสั้นๆ และบุคลิกที่สงบสง่าแล้ว ด้วยเหตุที่ท่านผ่านตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรีเมื่อพ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๑๖ในยศพลตรี ท่านจึงมีตำแหน่งเป็น “ป๋า”  ของทหารม้าทั่วไป กระทั่งกลายมาเป็นป๋าของค่ายสุรนารีในตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ ๒ เพราะท่านชอบเรียกผู้ด้อยกว่าว่า “ลูก” และกลายเป็น “ป๋า” ของคนแทบหมดทั้งประเทศในวันท่านสิ้นลม

ท่านหมดวาระจากกองทัพภาคที่ ๒ เข้าสู่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีพลเอกเสริม ณ นคร เป็นผบ.ทบ. ขณะนั้นประเทศชาติเริ่มแตกสลาย เพราะลัทธิการเมือง ขุนทหารบางคนกอบโกยขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ได้รับการสนับสนุนจากจีน และเวียดนาม ให้เงิน อาวุธ รวมทั้งการศึกษา กระทั่งการสู้รบด้วยกำลังอาวุธประเดิมที่วันเสียงปืนแตก คือวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก กองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เหตุเกิดที่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ “ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง” หลังจากวันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมาตลอด และในยุค “แสวงหา” บรรดานักเรียนนักศึกษาประชาชนเข้าป่าเพื่อต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พลเอกเปรม ติณณสูลานนท์ ได้ออกคำสั่ง ๖๖/๒๓ นิรโทษกรรมแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เคยจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล

• พลังงานโชติช่วงชัชวาล

สำหรับด้านพลังงาน ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ประมาณปีพ.ศ.๒๕๒๔ ถือว่าอยู่ในยุคบุกเบิกที่เฟื่องฟูของด้านพลังงานปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยบริษัทยูโนแคล (ปัจจุบันคือเชฟรอน) ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเป็นครั้งแรกในอ่าวไทย ซึ่งถูกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าแทนถ่านหินและน้ำมันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ยุคนั้นกลายเป็นยุคที่เรียกกันว่า “โชติช่วง ชัชวาล พลังงานธรรมชาติ” และแหล่งเอราวัณโดยเชฟรอนก็ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และในอดีตไทยเคยเผชิญวิกฤตพลังงานในสมัยพลเอกเปรม ยุคนั้นรัฐบาลรณรงค์เชิงบังคับให้ประชาชนประหยัดไฟฟ้า

• ฉายา “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

ฉายานี้ย่อมเป็นลบกับป๋าเปรม แต่สำหรับผมเห็นว่าเป็นเพียงท่านรักใครก็รักจริง สนับสนุนอุ้มชูโดยไม่เรียกร้องผลตอบแทนใดๆ แต่ถ้าคนที่รักกลับทำผิดพลาดอย่างไม่น่ากระทำ ป๋าจะเลิกคบเป็นการถาวรตลอดไป ดูได้จาก แม้ป๋าจะไม่มีเมียแต่ป๋าเป็นคนลูกดกนับร้อยๆ ราย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจปร.๗ ที่ภายหลังกำเริบเสิบสานกระทำปฏิวัติยึดอำนาจป๋า ไม่มีใครสักคนเข้าใกล้ชิดป๋าได้อีก อาทิ สองพี่น้อง มนูญและมนัส รูปขจร, พัลลภ ปิ่นมณี และที่ป๋าช่วยขอพระราชทานโทษให้พ้นคุก วีระ มุสิกพงศ์ ต่างล้วนไม่สำนึกคุณถ้วนหน้า เขาเหล่านี้ล้วนไปตั้งตัวเป็นศัตรู

หลังเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ดำเนินนโยบายกำหนดวินัยการเงินการคลังอย่างเข้มงวด ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการกู้ยืมทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังทรุดหนัก ไม่ให้ประเทศต้องล้มละลายเหมือนกับประเทศฟิลิปปินส์ จึงต้องใช้วิธีรัดเข็มขัดตัดงบประมาณ จำกัดสินเชื่อ ไปจนถึงการประกาศลดค่าเงินบาทอีกครั้งในปี ๒๕๒๗ (หลังจากลดค่าเงินมาแล้วรอบหนึ่งในปี ๒๕๒๔)  แต่ในครั้งนี้กลับก่อให้เกิดความเสียหายกับกลุ่มทุนที่กู้ยืมเงินตราต่างประเทศ (ปุ๋ยศรีกรุง) และกองทัพที่สั่งซื้ออาวุธ เพราะค่าเงินที่อ่อนลงทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น และงบประมาณที่ตั้งไว้เป็นเงินบาทไม่เพียงพอ

พล.อ.เปรม และพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ต้องมาเผชิญหน้ากันครั้งแรกในสงครามค่าเงินบาท พล.อ.อาทิตย์ ใช้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ และ ๗ มาโจมตีรัฐบาล ส่วนรัฐบาลก็ส่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกมาอธิบายผ่านทางช่อง ๙ อสมท. ในเวลานั้นสัญญาณรัฐประหารมีความรุนแรงขึ้น พล.อ.เปรม ต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ทำให้กระแสรัฐประหารอ่อนแรงลง

นายทหารคู่ใจ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเคยเป็นทั้งผู้เสนอให้มีการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรมในปี ๒๕๒๓ และช่วยปราบกบฏเมษาฮาวาย (๑-๓ เมษายน ๒๕๒๔) ในปีถัดมา พลันก็มีคำสั่งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. หลังออกมาวิจารณ์นโยบายลดค่าเงินบาท ไม่พอใจที่ตนไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน คำน้อยพลเอกเปรมไม่ตอบโต้ แต่กระทำการปลดกลางอากาศ ทำให้เหลือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว

พ.ศ.๒๕๕๕ : นายสุนทร จันทร์รังสี รับมอบหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในพิธีเปิดกิจกรรมถนนร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี

• เชือดลูกป๋าทั้งคอกโคราช

ที่บ้านพักส่วนตัวของป๋าเปรมที่หน้ากองบัญชาการช่วยรบที่ ๒ ค่ายสุรนารีนั้น ปกติจะปิดเงียบ เว้นแต่ในสัปดาห์ที่ป๋ามาโคราชเพื่อพักสมองในปัญหาการบริหารแผ่นดิน สื่อมวลชนกรุงเทพฯ จึงให้ชื่อบ้านนี้ว่า บ้านไกลกังวล แต่เนื่องจากไปคล้ายกับพระราชฐานเป็นการไม่เหมาะสม จึงมีการแถลงมิให้ใช้ชื่อนี้ขณะเดียวกันก็มีป้ายติดชื่อว่า บ้านแม่ทัพ


ขณะที่ป๋ามาพัก จะมีกลุ่มลูกป๋า ๕-๖ คนมาเสนอตนและภรรยามารับใช้ บางตนเป็นตำรวจใหญ่ระดับผู้บัญชาการและนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ซึ่งติดตามป๋าไปในที่ต่างๆ แต่วันนั้นลูกกลุ่มนี้กลับล้อมวงเล่นไพ่ในบ้าน โชคร้ายวาสนาหมด ป๋าลงจากบ้านมาเห็น ป๋าชะงักแล้วชี้นิ้วกล่าวเสียงสั่นว่า

“พวกมึงไม่ต้องเข้ามาบ้านนี้อีก” ทั้งๆ ที่ป๋าไม่เคยใช้สรรพนามนี้กับใครเลย

ภายหลังแม้จะมีความพยายามไปดักกราบขอขมาป๋าในงานหนึ่ง โดยทรุดกายลงดินพร้อมกราบ แต่ป๋าเปรมเดินขึ้นรถอีกด้านหนึ่ง โดยนายพลตำรวจเลือดทหารม้าเก่าไม่มีโอกาสเข้าใกล้อีกเลย

“พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๘ ปี ๕ เดือน เป็นเจ้าของวลี “เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น “ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และในสมัย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๑๐ โดยถึงแก่อสัญกรรมในเช้าวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฏ ในวัย ๙๘ ปี ซึ่ง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความโทมนัสยิ่ง ด้วยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณ ด้วยความวิริยอุตสาหะและจงรักภักดี มาตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก นายกรัฐมนตรี องคมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี ทั้งได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประธานองคมนตรี ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้สนิท นับเป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินเป็นอเนกประการ


จึงนับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย

----------------

สุนทร จันทร์รังสี : รำลึกด้วยความอาลัยยิ่ง


นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๖-วันศุกร์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒


803 1358