29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 17,2019

‘วงแหวนรอบเมืองโคราช’ ขยับเส้นสุดท้าย ๓,๓๐๐ ล. ปชช.ห่วงน้ำท่วม-ค่าเวนคืน

             กรมทางหลวงตั้งงบ ๓,๓๐๐ ล้านบาท ลุยวงแหวนรอบเมืองโคราชเส้นสุดท้าย เชื่อมถนนระหว่างเส้น ๒๒๔ กับ ๒๒๖ หวังลดปัญหาจราจรติดขัดในเขตเมือง คาดจ่ายเวนคืนที่ดินมากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท ด้านประชาชนห่วงวิถีชีวิตเปลี่ยนไป สัญจรไป-มาลำบากขึ้น และเกิดปัญหาน้ำท่วมหลังก่อสร้างเสร็จ

             ตามที่ กรมทางหลวงเห็นว่า โครงข่ายทางหลวงบริเวณรอบตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณการจราจรจํานวนมาก อีกทั้งยังต้องรองรับปริมาณการจราจรซึ่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลสําคัญต่างๆ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณตัวเมืองนครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของพื้นที่พักอาศัย การพัฒนาภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งมีโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motor Way) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ซึ่งในอนาคตปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้ตัวเมืองนครราชสีมามีการจราจรที่คับคั่งมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการรองรับการขยายตัวของผังเมืองรวมในอนาคต ช่วยระบายการจราจรที่คับคั่งในเขตเมือง อํานวยความสะดวกให้กับผู้ใช้เส้นทางและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการคมนาคม การค้า การขนส่งโดยรวม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมทางหลวง โดยแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ จึงได้เสนอโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ตอน แยกทางหลวงหมายเลข ๒๒๔-บรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (ด้านทิศใต้)

             เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ หอประชุมอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลหนองระเวียง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กรมทางหลวง โดยแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ จัดประชุมเพื่อชี้แจง “โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ตอน แยกทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ บรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (ด้านทิศใต้)” โดยมีนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา ประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายศรัณย์รัฐ พวงพัฒน์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ นายอนุชา ศิริโภคานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองระเวียง นายอังกูล ศิริโภคานนท์ กำนันตำบลหนองระเวียง และวิทยากรที่มาให้ข้อมูลทางกายภาพของโครงการฯ รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางผ่านของโครงการกว่า ๑๐๐ คน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ประชาชนยกมือผ่านการลงประชาคม โดยมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการได้ และไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่คนเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห่วงในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน และปัญหาน้ำท่วมที่จะตามมาในอนาคต

๓.๓ พันล้าน สร้างถนนวงแหวน

             สำหรับโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ตอน แยกทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ บรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (ด้านทิศใต้) สร้างขึ้นเพื่อเป็นโครงข่ายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาระบายปริมาณจราจรที่ผ่านเมืองนครราชสีมา เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่ง ซึ่งแบ่งการก่อสร้างออกเป็น ๓ ตอนดังนี้ ตอนที่ ๑ อยู่ในช่วง กม.๑๒+๕๒๓.๔๘๖-กม.๑๓+๗๐๐.๐๐๐ BK/กม.๐+๐๐๐.๐๐๐ AHD-กม.๗+๕๐๐.๐๐๐ ระยะทางรวม ๘.๖๗๗ กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณ ๙๕๐ ล้านบาท ลักษณะการก่อสร้างแบบสร้างคันทางใหม่ ภายในเขตทางหลวงรวม ๘๐.๐๐๐ เมตร มาตรฐานทางชั้นพิเศษแบ่งช่องจราจรเป็น ๒ ช่องจราจร และ ๔ ช่องจราจร ไป-กลับ กว้างช่องละ ๓.๕๐๐ เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง ๓.๕๐๐ เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง ๑.๕๐๐ เมตร ขอบทางกว้างข้างละ ๐.๕๐๐ เมตร คันทางกว้างรวม ๑๑.๐๐ เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกดเป็นร่องกว้าง ๘.๑๐๐ เมตร ผิวทางคอนกรีตหนา ๐.๒๕๐ เมตร

             ตอนที่ ๒ ระหว่าง กม.๗+๕๐๐,๐๐๐-กม.๑๕+๕๐๐.๐๐๐ ระยะทาง ยาวประมาณ ๘.๐๐๐ กิโลเมตร ระยะเวลาทําการ ๑,๐๘๐ วัน จังหวัดนครราชสีมา ระยะดําเนินการระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๒-พ.ศ.๒๕๖๔ ในวงเงินค่างาน ๙๕๐ ล้านบาท เงินสํารองเผื่อเหลือเผื่อขาด ๔๗.๕ ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๙๗.๕ ล้านบาท โดยได้รับจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๒ จํานวน ๑๙๐ ล้านบาท

             ตอนที่ ๓ ระหว่าง กม.๑๕+๕๐๐.๐๐๐-กม.๑๗+๕๐๐,๐๐๐ ระยะทางประมาณ ๒ กม. ใช้งบประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร ก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบบหล่อในขนาด ๒ ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร ๑๒ เมตร จํานวน ๑ แห่ง (สะพานคู่) ความยาวรวม ๒,๑๐๘ เมตร ก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบบหล่อในขนาด ๒ ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร ๑๑ เมตร จํานวน ๑ แห่ง ความยาวรวม ๑,๐๕๔ เมตร ก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบบหล่อในที่ ขนาด ๑ ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร ๗.๕๐ เมตร จํานวน ๔ แห่ง ความยาวรวม ๑,๕๕๙ เมตร ก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรง BOX SEAM TYPE ขนาด ๒ ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร ๑๑ เมตร จํานวน ๓ แห่ง (สะพานคู่) ความยาวรวม ๑๘๐ เมตร 

             นายศรัณย์รัฐ พวงพัฒน์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “โครงการวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา เราจะดำเนินก่อสร้างให้วงแหวนครบรอบให้เสร็จ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการไปแล้วในเส้นทางถนนมิตรภาพมาเชื่อมต่อกับถนน ๓๐๔ ในทางทิศใต้ของเมือง ส่วนการรับผิดชอบของแขวงทางหลวงที่ ๓ รับผิดชอบในทางทิศใต้ของจังหวัด ในอนาคตอีกประมาณ ๒-๓ เดือน ถนนเชื่อมต่อเส้น ๓๐๔ กับ ๒๒๔ ก็จะแล้วเสร็จ ซึ่งโครงการที่มาให้ข้อมูลในวันนี้ เป็นโครงการที่จะเชื่อมระหว่างถนนสาย ๒๒๔ มายังสาย ๒๒๖ คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๒-๓ ปี สำหรับการมาจัดประชุมในวันนี้ เพราะว่า กรมทางหลวงต้องการให้ประชาชนหรือชาวบ้านในพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูลของโครงการ และกรมทางหลวงก็จะได้ทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่โครงการด้วย”

ห่วงน้ำท่วมที่ทำกิน

             นายอนุชา ศิริโภคานนท์ นายก อบต.หนองระเวียง กล่าวว่า “ผมมีที่ดินอยู่ในพื้นที่โครงการเช่นกัน แต่ที่ผ่านมากรมทางหลวงลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับประชาชนน้อยมาก รูปแบบการก่อสร้างต่างๆ ประชาชนอย่างผมแทบจะไม่รู้รายละเอียดเลย หากทำการก่อสร้างออกมาแล้ว แต่มาพบปัญหาในภายหลัง กรมทางหลวงจะสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ไหม ซึ่งทุกอย่างจะต้องเริ่มจากการเข้ามารับฟังปัญหาจากประชาชน แล้วที่ผ่านมา มารับฟังเพียงครั้งเดียว ผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านตามหมู่บ้านที่โครงการผ่าน ไม่มีใครรับทราบข้อมูลเลย เนื่องจากไม่มีการลงพื้นที่ของผู้ออกแบบ ผมจึงเป็นห่วงในเรื่องของน้ำ เพราะพื้นที่บริเวณนี้ส่วนมากเป็นที่ลุ่มน้ำ มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง หากสร้างถนนเสร็จแล้ว กังวลว่าจะทำให้ถนนไปขวางทางน้ำ บริเวณตำบลหนองระเวียง ตำบลพระพุทธ จะมีน้ำท่วมตามมาภายหลัง เมื่อเกิดน้ำท่วมแล้ว การทำมาหากินของประชาชนในพื้นที่ก็จะลำบากขึ้นด้วย อีกประเด็นหนึ่งคือ ชาวบ้านที่เคยใช้เส้นทางบริเวณที่โครงการจะตัดผ่านนั้น จะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปหรือไม่ เนื่องจากบริเวณนั้นชาวบ้านใช้ข้ามไปมาหาสู่กันได้ หรือจะข้ามไปนาไปสวนได้ง่าย หากเกิดถนนวงแหวนขึ้นมา จะทำให้ชาวบ้านสัญจรไปมายากขึ้น และอาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นผมต้องการให้ผู้ออกแบบทำการบ้านให้มากกว่านี้ ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่โครงการให้น้อยลงด้วย”

             นายอังกูล ศิริโภคานนท์ กำนันตำบลหนองระเวียง กล่าวว่า “ผมเคยเข้ารับฟังข้อมูลโครงการหลายครั้ง ทุกครั้งผมมีข้อเป็นห่วงอยู่ไม่กี่อย่าง ซึ่งเส้นทางที่โครงการถนนวงแหวนรอบเมืองผ่าน ในบริเวณของตำบลหนองระเวียง แม้ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่การเกษตรทำไร่ทำนา แต่บริเวณนั้นก็เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำด้วย การจะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนั้น ทำได้ไม่ยาก ขอแค่ผู้ออกแบบลงมาศึกษา ลงมาสอบถามชาวบ้าน ผู้ที่จะรู้ปัญหาดีที่สุดคือชาวบ้านในบริเวณนั้นๆ แม้ความเจริญจะมาลงในตำบลหนองระเวียง แต่ก็อย่าให้ตัวโครงการไปสร้างปัญหาให้ประชาชน อย่าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เมื่อทำถนนใหญ่แบบนี้ออกมา การไปมาหาสู่กันก็จะยากขึ้น หากจำเป็นต้องทำสะพานข้ามทางได้ก็ควรทำ เมื่อมีประชาชนเสียชีวิต เพียงแค่ ๑ ชีวิตก็ไม่คุ้ม ถ้าจะทำก็ต้องทำให้ดีที่สุด และเรื่องของสะพานกลับรถ กว่าจะไปถึงสะพานกลับรถในแต่ละแห่ง ระยะทางก็ปาไป ๓-๔ กิโลเมตรแล้ว ไม่ว่าจะจังหวัดไหน พื้นที่ไหน หากสังเกตดีๆ สุดท้ายแล้วชาวบ้านก็จะขับรถข้ามถนนเอา จนทำให้เกิดการเสียชีวิตในที่สุด หากกรมทางหลวงสามารถทำทางลอดได้ก็ทำ อย่าให้โครงการที่สร้างความเจริญแบบนี้ มาสร้างปัญหาในภายหลังดีกว่า อย่างเช่น เส้นทางรถไฟทางคู่ตรงบัวใหญ่ ทำออกมาแล้วก็ต้องมาแก้ไขภายหลัง ชาวบ้านออกมาเรียกร้องให้แก้ไข สำหรับถนนวงแหวนรอบเมือง อะไรที่ทำแล้วเกิดประโยชน์แก่ประชาชนก็ทำเถอะ”

             นางนิชาภา เลิศอุตสาหะกุล ผู้ได้รับผล กระทบโดยตรง กล่าวว่า “ในบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล ตรงนั้นดิฉันมีที่ดินอยู่ประมาณ ๖๐ ไร่ ซึ่งโครงการนี้ตัดผ่านไปประมาณ ๘ ไร่ หากดูตามแบบเดิมที่เคยออกแบบไว้ สะพานนั้นจะมีทางลอดเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางเข้าที่ดินของดิฉัน เมื่อมีแบบการก่อสร้างตัวใหม่ออกมา กลับตัดทางลอดใต้สะพานออก ซึ่งทำให้ที่ดินบริเวณนั้นกลายเป็นพื้นที่ตาบอด ไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้ ในวันนี้จึงต้องการมาพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ของแขวงทางหลวง เพื่อให้เขารับรู้ว่า ขณะนี้ดิฉันมีความเดือดร้อน ซึ่งการมีโครงการนี้ ถือเป็นเรื่องทีดีมาก ประชาชนในอำเภอเมืองและอำเภออื่นๆ ก็ได้รับประโยชน์ แต่กรมทางหลวงก็ต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”

เวนคืนต้องรอรัฐบาลใหม่

             นอกจากนี้ ประชาชนที่มาร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังมีความเป็นห่วง เรื่องของราคาการเวนคืนที่ดิน โดยนายมรกต พรบุตร นายช่างโยธาอาวุโส ผู้ดูแลกรรมสิทธิ์ที่ดินของประชาชน เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงการเวนคืนที่ดินว่า “หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ได้มีการออก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเวนคืนมาแล้ว ในขณะนี้จึงรอกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อมาประเมินและกำหนดค่าทดแทนสินทรัพย์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในโครงการ ซึ่งในขณะนี้ผมจึงยังตอบไม่ได้ว่า ราคาการเวนคืนที่ดินจะอยู่ที่เท่าไหร่ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก เนื่องจากช่วงนี้ เป็นช่วงการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ด้วย งบประมาณโครงการต่างๆ มีการชะลอไปมาก แต่เท่าที่ผมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า มีประชาชนที่โดนเวนคืนประมาณ ๔๐๐ หลังคาเรือน หากประเมินเป็นค่าเวนคืนน่าจะมากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งในการประเมินราคาของคณะกรรมการนั้น จะยึดตามราคาของกรมธนารักษ์เป็นหลัก และปัจจัยอื่นๆ เช่น บริเวณนี้มีการซื้อขายกันในราคาเท่าใด ซึ่งราคาทั่วไปก็จะสูงกว่าราคาประเมินอยู่แล้ว สำหรับคนที่ไม่พอใจในราคาค่าเวนคืน สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะรัฐมนตรีได้ ในกรณีที่ประชาชนเกิดไม่ยอมให้ใช้ที่ดิน เราก็จะใช้กฎหมายในเรื่องของการเวนคืน โดยจะนำเงินค่าเวนคืนไปฝากไว้กับธนาคาร แล้วประชาชนคนนั้นก็สามารถไปเบิกได้ในภายหลัง ซึ่งตามหลักก็จะถือว่าเราได้จ่ายค่าชดเชยให้แล้ว และสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ต่อไป”

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๘ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


808 1431