29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 22,2019

เอกชนหวั่นการลงทุนหาย รถไฟฟ้ารางเบาผ่ากลางเมือง ที่ปรึกษาย้ำยังปรับเส้นทางได้

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา LRT เข้าเสนอแนะโครงการต่อจังหวัด หลัง สนข.เคาะ ๓ เส้นทาง เริ่มต้นสายสีเขียว (เซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์) ๘,๐๐๐ ล้าน ผอ.ทางหลวงชนบทหวั่นหากวิ่งผ่าเมือง อาจสร้างปัญหาจราจร แนะใช้ถนนมิตรภาพ ผ่านศูนย์การค้าและโรงเรียน เพื่อดึงผู้ใช้บริการ เผยมีเวลา ๑๒ เดือน ศึกษาความเหมาะสม ย้ำยังปรับเส้นทางได้  

ตามที่ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาค (จังหวัดนครราชสีมา) และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ปรับเพิ่มเติมสาระของงานการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพื่อการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมือง โดยให้เพิ่มเติมเนื้อหาการสำรวจและออกแบบและให้ผลการศึกษาสอดคล้องในการมีระบบขนส่งที่เชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบ Feeder ต่างๆฃ

สนข.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา สำหรับในส่วนของงานจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาการบูรณการเชื่อมโยงระบบขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ รวมถึงแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีและจุดจอดของระบบขนส่งสาธารณะ

โดยคจร.ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีมติรับทราบผลการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ตามที่ สนข.เสนอ และมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการและทำแผนดำเนินการร่วมกับ สนข. โดยมีความเห็นให้ ดำเนินการก่อสร้างครั้งละ ๑ เส้นทางตามลำดับความสำคัญ   


อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ สนข. เป็นการกำหนดแนวเส้นทางตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมา ศึกษาเปรียบเทียบเพื่อคัดเลือกระบบไฟฟ้าที่เหมาะสม และจัดลำดับความสำคัญของแนวเส้นทางในการก่อสร้างเท่านั้น ดังนั้น รฟม.จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมและดำเนินการในส่วนที่เหลือ ประกอบด้วย ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ และ/หรือ เอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานโยธา งานระบบไฟฟ้า งานบำรุงรักษาและงานให้บริการเดินรถ และดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุน

สนข.เคาะ ๓ แนวเส้นทาง

ตามผลการศึกษาของ สนข. ได้ออกแบบระบบรถไฟฟ้าเป็นแบบระบบรางเบา (tight Rail Transit หรือ Tramway) และได้ออกแบบโครงข่ายมีระยะทางรวม ๕๐.๐๙ กิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๓ แนวเส้นทาง คือ สายสีเขียว (ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กิโลเมตร และ ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ ๓ (ห้วยบ้านยาง)-ตลาดเซฟวัน และช่วงสถานคุ้มครอง และพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์-สํานักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา ๒ ระยะทาง ๑๒.๑๒ กิโลเมตร) สายสีส้ม (แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง ๙.๘๑ กิโลเมตร และส่วนต่อขยายช่วงโรงเรียนเทศบาล ๑ หัวทะเล-ดูโฮม ระยะทาง ๕.๓๗ กิโลเมตร) และสายสีม่วง (ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ บ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง ๗.๑๔ กิโลเมตร และส่วนต่อขยาย ช่วงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง ๔.๔๘ กิโลเมตร) โดยแบ่งการดําเนินโครงการออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะที่ ๑ สายสีเขียว และสีส้ม ระยะทางรวมประมาณ ๒๐.๙๘ กิโลเมตร ระยะที่ ๒ สายสีม่วง ระยะทางรวมประมาณ ๗.๑๔ กิโลเมตร และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายทั้งหมด ระยะทางรวมประมาณ ๒๑.๙๗ กิโลเมตร

จ้างที่ปรึกษา ๘.๕ หมื่นล้าน

โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมีวงเงินค่าจ้าง ๘๕,๖๐๐,๐๐๐ บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) โดยการเซ็นสัญญาในครั้งนี้เป็นเพียงการเซ็นสัญญาจ้างที่ปรึกษา “ออกแบบ รายละเอียดก่อสร้างโครงการ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)” หลังจากศึกษาเสร็จแล้ว รฟม.จะนำรายละเอียด และแบบที่ได้ไปเปิดประมูลหาผู้รับเหมาอีกครั้ง

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาแนะนำโครงการ

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาร่วมดำเนินงานในโครงการ ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด เข้าร่วมประชุมแนะนำโครงการงานจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยราชการ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ารับฟัง

นายเทิดศักดิ์ ห่วงจินดา ผู้จัดการโครงการ บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ตามที่ สนข.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยเลือกสายสีเขียว ดำเนินการก่อสร้างอันดับแรก (ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง ๑๑.๑๗ กิโลเมตร ซึ่งขอบเขตของงานที่ต้องดําเนินการประกอบด้วยงานใน ๒ ช่วง ๑.ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ จัดทํารายงานการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และทําหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กําหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลา ๑๒ เดือน และ ๒.งานจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ และ/หรือ เอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกประกวดเอกชนร่วมลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า งานบํารุงรักษา และงานให้บริการเดินรถ และทําหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กําหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ ระยะเวลา ๘ เดือน รวมแล้วจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด ๒๐ เดือน

“ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ นั้นในระหว่างการศึกษาโครงการฯ เอกชนสามารถปรับรูปแบบแนวเส้นทางได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องอยู่ในกรอบที่บริษัทที่ปรึกษาวางไว้ โดยหลักแล้วจะยึดจำนวนผู้โดยสารเป็นหลักว่า มีความสอดคล้องกับแนวเส้นทางหรือไม่ เช่น สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กิโลเมตร แต่มีถึง ๒๐ สถานี ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาต้องไปดูรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมถึงผลกระทบ เพราะยิ่งมีสถานีมากมูลค่าการก่อสร้างก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย”

 นายเทิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาร่วมจะลงพื้นที่ติดตามงานสำรวจปริมาณจราจรภาคสนาม การมีส่วนร่วมของประชาชน หารือผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อทราบปัญหาในเบื้องต้น แนะนำโครงการ หารือและขอข้อมูลหน่วยงานราชการในพื้นที่ งานจัดหาภาพถ่ายและสำรวจภูมิประเทศ และงานตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม  

ส่วนแผนการดำเนินงานขั้นต่อไปรอ ครม.อนุมัติให้ก่อสร้างเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ พร้อมพิจารณากำหนดรูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถ เดือนมกราคม ๒๕๖๓ ถึง เดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ สำรวจ/จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๗ เริ่มงานก่อสร้าง เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ คัดเลือกเอกชน (PPP) เดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ถึง เดือนตุลาคม ๒๕๖๔ และเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๘

เริ่มจุดแรก ‘เซฟวัน-นารีสวัสดิ์’

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวตะวันออก-ตะวันตก บนถนนมิตรภาพ ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล และถนนสุรนารายณ์ ระยะทางประมาณ ๑๑.๑๗ กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินมูลค่าลงทุนไว้ที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ล้านบาท

โดยมีจำนวน ๒๐ สถานี ได้แก่ สถานีตลาดเซฟวัน สถานีตลาดมิตรภาพ สถานีอู่เชิดชัย สถานีสำนักคุมประพฤติ สถานีชุมชนประสพสุข สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีแยกเต็กฮะ สถานีตลาดใหม่แม่กิมเฮง สถานีคลังพลาซ่าใหม่ สถานีราชดำเนิน สถานีธนาคารยูโอบี สถานีถนนชุมพล สถานีแยกประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฏ สถานีราชมงคล สถานีโรงแรมดิอิมพีเรียล และสถานีบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่งผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดเซฟวัน ตลาดมิตรภาพ สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา คลังพลาซ่าจอมสุรางค์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสิ้นสุดที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

เส้นทางเดินรถไฟฟ้ารางเบา

โดยเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่ตลาดเซฟวัน (ถนนมิตรภาพ) ซึ่งวิ่งอยู่บนเกาะกลางถนนด้านทิศเหนือ ฝั่งมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองนครราชสีมา วิ่งไปบนเกาะกลางถนนตามแนวถนนมิตรภาพ ผ่านแยกปักธงชัย ถึงบริเวณหน้าอู่เชิดชัย และเริ่มลดระดับลงทางลอดแล้ววิ่งเบี่ยง ไปตามทางลอดด้านข้างสะพานข้ามทางรถไฟ และเลี้ยวลอดผ่านตอม่อของสะพานข้ามทางรถไฟ วิ่งตามแนวทาง ลอดใต้ถนนสืบศิริ ชอย ๖ และเลี้ยวลอดทางรถไฟไปตามแนวถนนสืบศิริ แล้วเริ่มไต่ระดับขึ้นจากทางลอดทางรถไฟ จนถึงระดับผิวดิน แล้วเลี้ยวขวาตรงบริเวณวัดใหม่อัมพวัน ไปตามแนวถนนมุขมนตรี โดยลักษณะการวิ่งตามแนว ถนนมุขมนตรีและถนนโพธิ์กลางนั้น และจะเริ่มวิ่งเบี่ยงเข้ามาตรงกลางถนนเช่นเดิมจนกว่าจะถึงสถานีถัดไป โดยจะเริ่มจากสถานีชุมชนประสพสุข ผ่านสวนภูมิรักษ์และตลาด ๑๐๐ ปี ผ่านหน้าโรงเรียนมารีย์วิทยา สถานีรถไฟนครราชสีมา ผ่านห้าแยกหัวรถไฟ แล้วมุ่งหน้าไปตามถนนโพธิ์กลาง ไปถึงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชดําเนิน วิ่งชิดขอบทางฝั่งคูเมือง ถึงแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (บริเวณถนนราช ดําเนินตัดกับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔) แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ผ่านโรงเรียนเมืองนครราชสีมา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา และวัดสามัคคี แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกสุรนารายณ์ (ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ตัดกับถนนสุรนารายณ์) โดยเบี่ยงเข้าช่องจราจรด้านขวา และข้ามสะพานข้ามลําตะคอง มุ่งหน้าไปตามถนนสุรนารายณ์โดยวิ่งบนแนวเกาะกลางถนน ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ ๑๑.๑๗ กิโลเมตร

ยังปรับเปลี่ยนเส้นทางได้

นายสมบูรณ์ ชัยศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๕ กล่าวว่า การศึกษาหาเส้นทางความเหมาะสม รถไฟฟ้ารางเบา สายสีเขียว ตามหลักกายภาพของถนนมีพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง มีพื้นที่แคบ การจราจรติดขัด ซึ่งถ้าไปเปรียบกับสายสีม่วง ที่เริ่มจากตลาดเซฟวัน ไปทางถนนมิตรภาพผ่านโรงแรมสีมาธานี ผ่านเดอะมอลล์  ผ่านบิ๊กซี ผ่านเทอร์มินอล ๒๑ โคราช และมุ่งหน้าไปทางโรงเรียนอนุบาลเมืองนครราชสีมา น่าจะเป็นเส้นทางศึกษาที่ควรจะทำควบคู่กันไป ซึ่งที่ผ่านมา ทาง มทส.อาจมีการสำรวจที่ตกหล่นบางจุดไป แต่ขณะนี้ยังสามารถที่จะทบทวนและปรับแก้เส้นทางได้ เพราะคนที่สัญจรไปมาส่วนใหญ่จะเลือกเส้นทางถนนมิตรภาพเป็นหลัก มีห้างสรรพสินค้าหลายแห่งที่เป็นจุดดึงผู้มาใช้บริการจำนวนมาก โดยหลังจากนี้บริษัทที่ปรึกษาจะต้องลงพื้นที่สำรวจถึงความเป็นไปได้แต่ละเส้นทาง และเมื่อศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ต้องนำเสนอไปยัง รฟม.เพื่อดำเนินการแก้ไข เพราะการลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเอกชนต้องการคนมาใช้บริการเยอะๆ อยู่แล้ว เพื่อเกิดเม็ดกำไรของการลงทุน อย่างไรแล้วแต่การปรับเปลี่ยนเส้นทางยังเกิดขึ้นได้ตามความเหมาะสม

เอกชนหวั่นผลกระทบการลงุทน

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ถ้ามองในเรื่องของเศรษฐกิจ เส้นเลือดใหญ่ของโคราชอยู่ที่ถนนมิตรภาพ มีผู้สัญจรไปมามากมายทั้ง ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ความแออัดในเมืองเป็นเมืองเก่าธุรกิจต่างๆ จึงขยับออกมา ที่สำคัญการศึกษาครวจะมีเส้นทางยาวไปถึงตำบลจอหอ เพราะจะรองรับผู้คนจากเขตนอกเมืองให้เข้ามาในเมือง ซึ่งปัจจุบันเส้นทางในเขตเมืองรถบรรทุกขนของขึ้นลงยังไม่สะดวก ด้วยพื้นที่ที่แคบและการจราจรที่คับคั่ง ที่สำคัญการลงทุนครั้งนี้ ภาคเอกชนต้องมีส่วนรวมด้วย ซึ่งถ้าเป็นเส้นทางตามที่ศึกษาผมคนนึงไม่ขอรวมด้วยแน่นอน เพราะส่วนตัวยังมองว่า เส้นถนนมิตรภาพมีความสำคัญกว่า

อนึ่ง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมี น.ท.วิรุฬห์ โชติบุตร เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท มูเชล (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาในเดือนตุลาคม ๒๕๔๓ ผู้บริหารชาวไทยของบริษัท มูลเชล (ประเทศไทย) จำกัด  ได้เจรจาซื้อหุ้นของบริษัทฯ จำนวนร้อยละ ๗๕ จาก มูเชลกรุ๊ป และล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยทุนจดทะเบียนอยู่ที่ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ให้บริการ ๖ สาขา ได้แก่ สาขาการจราจรและขนส่ง, สาขาท่าเรือและวิศวกรชายฝั่ง, สาขาแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์, สาขาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง, สาขาการวางผังเมืองและออกแบบชุมชนเมือง และสาขาบริหารควบคุมงานก่อสร้างสนามบิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความชำนาญงานการศึกษาความเหมาะสม การจัดทำแผนแม่บท การออกสำรวจออกแบบรายละเอียดวิศวกรรม/สถาปัตยกรรม การบริหารงานก่อสร้าง การควบคุมงานก่อสร้าง การจัดการและประเมินสภาพแวดล้อม การวางแผนดำเนินงาน และการเตรียมเอกสารสัญญาประกวดราคาก่อสร้าง สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน อาทิ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบราง ระบบรถไฟรางเดี่ยวและทางคู่ และโครงการพิเศษอื่นๆ


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๙ วันศุกร์ที่ ๒๑-วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


773 1433