28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 27,2019

มทส.จับมือสมาคมวิจัยวัสดุ ส่งเสริมงานวิจัยสู่ระดับสากล

มทส.ร่วมกับสมาคมวิจัยวัสดุ เตรียทประชุมวิชาการนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย” เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล พร้อมเผยผลงานวิจัยเด่น เตรียมพัฒนาต่อยอดเพื่อวงการแพทย์

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๐๐ น. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานแถลงข่าวการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย” ครั้งที่ ๒ The second Materials Research Society of Thailand International Conference (2nd MRS Thailand International Conference) พร้อมด้วย ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. และรศ.ดร.อนันต์ ทองระย้า รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มทส. เข้าร่วมแถลงข่าว ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส.

โดยการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย” ครั้งที่ ๒ (2nd MRS Thailand International Conference) จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรมเดอะซายน์ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และ นักวิจัยด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า ๑๕ ประเทศ จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ร่วมประชุม และนำเสนอผลงานทางวิชาการ หวังส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล เพื่อความเป็นเลิศทาง วิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติจากสมาคมวิจัยวัสดุ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ ๒” ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และ IEEE Magnetics Society ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวัสดุศาสตร์และการบูรณาการศาสตร์นี้กับศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องด้วยความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยและพัฒนาวัสดุที่มี คุณสมบัติพิเศษเป็นเรื่องที่มีผลกระทบสูงมากในปัจจุบัน การประชุมวิชาการครั้งนี้จะเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีทางด้านวัสดุศาสตร์ เกิดความร่วมมือทางวิชาการที่จะเป็นแรงผลักดันในการ สร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ นำไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ การพัฒนาผลงานวิจัยที่ ตอบโจทย์และแก้ปัญหาของประเทศ สร้างประโยชน์สู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ตามนโยบาย การบริหารงานของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. ในฐานะนายกสมาคมวิจัยวัสดุ เผยว่า สำหรับการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ ๓” เป็นเวทีแลกเปลี่ยน ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า ๑๕ ประเทศ จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ประมาณ ๘๐๐ คน ประกอบด้วย วิทยากรบรรยายรับเชิญ ๑๒๐ คน จาก ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย และออสเตรเลีย ผู้นำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ ๔๐๐ คน ผู้เข้าร่วมประชุม ๑๐๐ คน และบุคลากรจากหน่วยงานร่วมจัดการประชุม ๒๒๐ คน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล สนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติที่มี Peer Review เพื่อความเป็นเลิศ ทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

ศ.ดร.สันติ เผยอีกว่า การประชุมครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ สาขาเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และจำมเป็นอย่างยิ่งในระยะ ๒๐ ปีต่อจากนี้ เพื่อผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 สำหรับ ๕ อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรม อนาคต (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิส ติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรม ดิจิตอล (Digital) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศต่อไป

ด้าน รศ.ดร.อนันต์ ทองระย้า รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มทส. กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับสมาคมวิจัยวัสดุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและเผยแพร่ความก้าวหน้าด้านการวิจัยวัสดุศาสตร์ของประเทศ และของนานาชาติ ซึ่งการวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อวิจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา ขับเคลื่อน และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยวัสดุทางการแพทย์ วัสดุพลังงานสะอาด เป็นต้น


“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และทางด้านการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีคณาจารย์หลากหลายในสาขาวิชาชีพที่ทำงานวิจัยทางด้านวัสดุ ทั้งในด้านการทดลอง และในเชิงทฤษฎี มีบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัสดุศาสตร์มากกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง หรือคิดเป็น ๑๒% เมื่อเทียบกับผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในทุกสาขาวิชาของมหาวิทยาลัย”

รศ.ดร.อนันต์  กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยในแกนนำของอธิการบดี ได้กำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งพร้อมจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศในด้านการสอน งานวิจัย การบริการงานวิชาการ รวมถึงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับ ๑ ของประเทศ โดยด้านการวิจัยทางมหาวิทยาลัยได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์มีการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์วิจัย กลุ่มวิจัย และหน่วยวิจัยอยู่ห้องปฏิบัติการวิจัย หรือที่เรียกว่า Research Unit (RU) เพื่อให้คณาจารย์ และนักวิจัยได้ผนึกกำลังทำงานวิจัยในรูปแบบที่เป็นบูรณาการสู่ความเป็นเลิศ รวมถึงการทำวิจัยในลักษณะสหวิทยาการ อาทิ การบูรณาการการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์กับศาสตร์ด้านอื่นๆ เช่น ด้านการแพทย์ เป็นต้น

ภายหลังการแถลงข่าว รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ, ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ และรศ.ดร.อนันต์ ทองระย้า ได้เยี่ยมชมผลงานวิจัย “พัฒนาเส้นใยนาโนด้วยเทคนิคอิเล็กโตร สปินนิ่งแบบ ๓ มิติ (3D Electrospinning)” ของนักวิจัยจาก มทส. โดยนักวิจัยกลุ่มวิจัยวัสดุเชิงฟิสิกส์ขั้นสูง สาขาวิชาฟิสิกส์ (AMP) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง มทส. พัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุนาโนผลิตเส้นใยนาโนด้วยเทคนิคอิเล็กโตรสปินนิ่ง (Electrospinning) เป็นผลสำเร็จ สามารถสังเคราะห์เส้นใยให้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์กว่า ๑ พันเท่า ปัจจุบัน ทีมนักวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยนาโนแบบแกนในเปลือกนอก เพื่อทำให้เส้นใยนาโนมีองค์ประกอบ ชั้นในและชั้นนอกต่างกันได้ รวมทั้งยังสามารถทำให้เส้นใยมีลักษณะเป็นท่อกลวงในขนาดระดับ ๑๐๐-๒๐๐ นาโนเมตร ซึ่งช่วยให้วัสดุนาโนที่สังเคราะห์ขึ้นมีหน้าที่พิเศษตามการออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ที่ต้องการได้ อาทิ เช่น การใช้เส้นใย นาโนเป็นระบบนำส่งยา วัสดุกรองขั้นสูง เซนเซอร์ตรวจจับความชื้นหรือเซนเซอร์อื่นที่มีความไวสูงเป็นพิเศษ สามารถ ตรวจจับสารแม้มีปริมาณเพียงเล็กน้อยได้

ทั้งนี้ ทางกลุ่มวิจัยยังได้พัฒนานวัตกรรมการพิมพ์แบบใหม่ขึ้น โดยเป็นการพิมพ์เส้นใยนาโนให้ก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่าง แบบสามมิติ โดยเรียกเทคนิคนี้ว่า “อิเล็กโตร สปินนิ่งแบบสามมิติ (3D Electrospinning)” สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้หลากหลาย อาทิ การสร้างแบบจำลองทางการแพทย์สำหรับวิเคราะห์ ตัดสินใจ ช่วยให้การ วินิจฉัยหรือวางแผนผ่าตัดสะดวก ถูกต้องมากยิ่งขึ้น การผลิตวัสดุทดแทนกระดูกด้วยเส้นใยนาโน หลอดเลือดเทียม ผิวหนังเทียมสำหรับการรักษาแผล และสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอวัยวะเทียมได้ในอนาคต ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง ต้องการผลักดันให้มีการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ สร้างมูลค่าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆ และสามารถตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ นักวิจัย มทส.ยังเตรียมเสนอผลงานวิจัยเด่นอีก ๒ ผลงาน คือ งานวิจัย การพัฒนาศักยภาพการอัดประจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวด ด้วยเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการสภาวะวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมมุ่งเน้นให้ต้นทุนการผลิตถูกลง มีศักยภาพการกักเก็บพลังงานเพิ่มขึ้น และงานวิจัย เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ OCT ทำให้สามารถถ่ายภาพสามมิติของเนื้อเยื่อตัวอย่างที่ต้องการศึกษาได้ภายในเวลาไม่ถึง ๑๐ วินาที ช่วยลดความยุ่งยากและขั้นตอนของการเตรียมตัวอย่างดังเช่นในเทคนิคอื่น ซึ่งจะนำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ ๒ The second Materials Research Society of Thailand International Conference ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรมเดอะซายน์ จังหวัดชลบุรี

อนึ่ง สมาคมวิจัยวัสดุ หรือ Materials Research Association ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบุคคลที่ทำงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และการพัฒนา นวัตกรรมวัสดุ รวมไปถึงวิศวกรรมวัสดุ โดยเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางวิชาการ การจัดอบรมและเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนให้การยกย่องและเชิดชู สนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร นวัตกร ที่ทำงานวิจัยในด้านนี้ ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้ สมาคมได้รับการตอบรับให้เป็นสมาชิกของ International Union of Materials Research Societies (UMS) ในปี ๒๕๖๐ และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ ๑” ขึ้น เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม–๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ จังหวัดเชียงใหม่

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๘๐วันพุธที่ ๒๖-วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


795 1415