29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 28,2019

ปปส.ติวเข้มป้องกันยาเสพติด ย้ำกัญชามีทั้งคุณและโทษ

ป.ป.ส.ภาค ๓-๔ ระดมความคิดเห็นในการจัดทําแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับภาค ปี’๖๓-๖๕ ย้ำเปิดกัญชาเสรีมีทั้งคุณและโทษ หาแนวทางสร้างความมั่นใจ และควบคุมใช้กับผู้ที่จำเป็นเท่านั้น

สืบเนื่องจากสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐) อันมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน ๒๓ ประเด็น โดยในประเด็นที่ ๑ ประเด็นความมั่นคง ได้กำหนดแผนย่อยเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง โดยมีเป้าหมายสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและการพัฒนาประเทศ และกำหนดตัวชี้วัด คือ ระดับความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในปัจจุบันให้ดีขึ้นอย่างน้อยร้อยละ ๕๐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ จึงจำเป็นจะต้องดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐) เพื่อวางกรอบ ทิศทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับประเทศ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และกำหนดจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับภาค ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕) เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ในพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค ๓ และ ป.ป.ส.ภาค ๔ ในฐานะเป็นหน่วยรับผิดชอบอำนวยการ ขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕ รองรับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง เพื่อบูรณาการร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง แนวคิด และประสบการณ์ด้านยาเสพติดในพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมกันระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับภาค พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕ รองรับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๖๓ ให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ในระดับพื้นที่

วันอังคารที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมสีมาธานี นายวีรวัฒน์ เต็งอำนวย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประธานในพิธี พร้อมด้วย นายอดุล ประยูรสิทธิ? ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค ๓ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ส. หน่วยงานภาคีและเครือข่าย ภาคประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงการ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี รวมทั้งสิ้นกว่า ๑๗๐ คน ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕ รองรับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘–๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๒

นายวีรวัฒน์ เต็งอำนวย รองเลขาธิการ ป.ป.ส.  กล่าวว่า วันนี้สำนักงาน ป.ป.ส.ได้เชิญหน่วยภาคี ทั้งภาคราชการ เอกชน และประชาชน ประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการยาเสพติด เป็นการแก้ไขปัญหาระยะเวลา ๓ ปี คือช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ซึ่งเป็นแผนระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับในด้านความมั่นคง ซึ่งเป้าหมายคาดไว้ว่า ในช่วง ๓ ปีแรก อยากจะให้เกิดการบูรณาการ กลไกต่างๆ อย่างเป็นเอกภาพ และนำมิติด้านอื่นๆ ด้านสังคม หรือบริบททางภูมิสังคมต่างๆ ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาเป็นองค์ประกอบในการวางแผน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้มีการเข้มงวดเรื่องของยาเสพติดมากขึ้น จะพบว่า การจับกุมยาบ้าที่หลักล้านเม็ดขึ้นไปนั้นหายไปจำนวนมาก เราอาศัยการร่วมมือจากต่างประเทศ อย่างเช่นข่าวล่าสุดของประเทศเพื่อนบ้าน ก็เกิดจากการทำงานร่วมกันตลอดมา มีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร การชี้เป้า และรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านก็ให้ความร่วมมือในการเข้าไปดูแล ในขณะเดียวกันยังได้ความร่วมมือจากทหาร ตำรวจชายแดน และหน่วยข่าวต่างๆ ในการสืบสวนการนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดน โดยมีการกำหนดจุดที่เป็นจุดเสี่ยง และเคลื่อนกำลังฐานตำรวจไปสกัดให้เหมาะสม ทำให้เราสามารถสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนได้ดีมากขึ้น

ทางรัฐบาลเชื่อว่ากัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ที่ผ่านมาเรามองกัญชาในมุมเดียว คือเรื่องของให้โทษ โดยทางสำนักงานป.ป.ส. ภายใต้การผลักดันของรัฐบาล เราก็มีการผลักดันกระทั่งพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ ๗ ที่ได้ออกมาแล้วนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ซึ่งกัญชาทางการแพทย์ อาจจะต้องมีการระวังเนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่มีสารปนเปื้อนง่าย เนื่องจากกัญชาเป็นพืชพิเศษที่สามารถดูดแร่ธาตุต่างๆ เช่น สารปรอท จะสามารถดูดซึมได้มาก ดังนั้นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ จำเป็นต้องมีการปลูกอย่างสะอาด คือ ปลอดยาฆ่าแมลง ปลอดสารปนเปื้อน และปลอดเรื่องเชื้อรา โดยปัจจุบันมีการทดลองปลูกอยู่ที่รังสิต โดยจะมีการสกัดน้ำมันกัญชาที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้น้ำมันกัญชาแต่ละขวดมีตัวยาที่แตกต่างกัน และเหมาะกับโรคบางโรคและสอดคล้องกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

“ในอนาคตการเปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องกัญชา สามารถเป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องมีความรอบคอบมากขึ้น ซึ่งการเปิดกัญชาเสรีครั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะเสียงที่สนับสนุนเท่านั้น ประชาชนบางส่วนก็ห่วงในเรื่องของลูกหลาน กับการเข้าถึงยาเสพติดมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ทางหน่วยงานราชการพยายามทำคือทำให้เห็นว่า แม้จะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ มีการเปิดกว้างมากขึ้น ยังจะต้องมีขั้นตอนการควบคุม และขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพ และให้มั่นใจว่าการใช้กัญชาในทางการแพทย์จะต้องเหมาะสมกับคนที่ต้องการใช้งานจริง” นายวีรวัฒน์ กล่าวสรุป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๘๐วันพุธที่ ๒๖-วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


770 1418