29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 17,2019

ลำตะคอง’เน่าสนิท ซักเกอร์ ๒๐๐ กก.ตาย

      ปลาซักเกอร์กว่า ๒๐๐ กก. ตายในลำตะคองช่วงไหลผ่านเขตเมืองโคราช เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุ ชลประทานปรับเพิ่มปริมาณระบายน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์

      เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยและที่ทำกินในละแวกชุมชนมิตรภาพ ซอย ๔ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นเน่าของซากสัตว์น้ำจืด บริเวณช่วงลำตะคองไหลผ่าน ตรวจสอบพบซากปลาจำนวนมากลอยมาตามกระแสน้ำเกยตื้นอยู่ช่วงเส้นทางน้ำคดเคี้ยวและตื้นเขิน ส่วนใหญ่เป็นปลาซักเกอร์หรือปลาเทศบาล ขนาดลำตัวเฉลี่ยประมาณ ๑ ฟุต รวมน้ำหนักมากกว่า ๒๐๐ กิโลกรัม ได้ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว และฝูงแมลงวันได้บินเกาะซากปลา ส่วนลักษณะกายภาพของเส้นทางน้ำธรรมชาติ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้เพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากเดิม ๕ ลบ.เมตร เป็น ๘ ลบ.เมตร ต่อวินาที เพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค บริโภคให้กับการประปาท้องถิ่นช่วงลำตะคองตอนล่างและการปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทาน ทำให้กระแสน้ำในคลองน้ำธรรมชาติไหลมากกว่าปกติ ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ค่อนข้างดี

      จากการสอบถามชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในละแวกสองฝั่งลำตะคอง ได้ตั้งข้อสงสัยถึงความผิดปกติ เนื่องจากปลาที่ตายเกือบทั้งหมดเป็นปลาซักเกอร์ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ กินอาหารไม่เลือกโดยใช้วิธีดูด คนไทยนิยมนำปลาซักเกอร์มาเลี้ยงในตู้ปลาสวยงาม เพื่อให้ทำความสะอาดดูดตะไคร่น้ำ ต่อมาเมื่อปลาตัวใหญ่ขึ้น กินอาหารไม่พอ เริ่มไล่ดูดปลาอื่น จึงถูกนำมาปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอาหารสมบูรณ์ ทำให้เติบโตและแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ยังเป็นปลาอึดและทนกับสภาพแวดล้อมสามารถอยู่ได้ทุกลุ่มน้ำ ขนาดปลาซักเกอร์ที่ตายจำนวนมาก ไม่น่าจะเป็นการสิ้นอายุขัยและตายจากสภาพแวดล้อม จากการสังเกตแม้ลำตะคองจะมีสภาพความเสื่อมโทรมระดับ ๕ ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เฉพาะการคมนาคมทางน้ำเท่านั้น ได้พบเห็นสัตว์น้ำจืดอาศัยอยู่ในน้ำได้แต่ต้องขึ้นมาหายใจมากกว่าปกติ

      ด้านนายฮาเล็ม เจะมาริกัน ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ นครราชสีมา เปิดเผยว่า เหตุการณ์ปลาในลำตะคองตายจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้ลง    พื้นที่และสืบสวนหาข้อมูลถามจากชาวบ้าน ระบุลักษณะทางกายภาพของน้ำเมื่อวันที่  ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ น้ำมีลักษณะขุ่น มีกลิ่นเหม็น และพบปลาตายในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จึงดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำตรวจวิเคราะห์ในภาคสนาม ซึ่งลักษณะของน้ำมีความขุ่นเล็กน้อย สีของน้ำเป็นสีเขียวคล้ำเล็กน้อย และจากการวิเคราะห์ค่าออกซิเจนละลายน้ำคือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งปริมาณการละลายออกซิเจนในน้ำสามารถบอกถึงคุณภาพของน้ำ น้ำที่มีความสกปรกมากๆ มักมีค่าออกซิเจนละลายต่ำ น้ำที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต้องมีค่าออกซิเจนละลายไม่น้อยกว่า ๕ มิลลิกรัมต่อลิตร ในวันที่เก็บตัวอย่างน้ำมีค่า ๐.๒ มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนพารามิเตอร์อื่นๆ ได้ส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่๑๑ จะดำเนินติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาสาเหตุปลาซักเกอร์ตายจากอะไร แล้วลอยมาจากที่ใด

      ทั้งนี้ เหตุการณ์ปลาตายในลำตะคอง เขตเมืองนครราชสีมา เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ หรือ ๗ ปีที่ผ่านมา พบปลาตายนับหมื่นตัวลอยอยู่ในคลองน้ำธรรมชาติ ตั้งแต่หลังศูนย์การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมาถึงหมู่บ้านวีไอพี เป็นระยะทางกว่า ๓ กิโลเมตร โดยสาเหตุเกิดจากโรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ข้างโรงพยาบาลราชสีมา กรุงเทพ ลักลอบปล่อยสารแอมโมเนียลงลำตะคอง เนื่องจากสารดังกล่าวมีพิษต่อปลาสูงมาก เมื่อไหลลงสู่ลำคลอง จะส่งผลให้มีค่าความเป็นกรดด่างสูงและสารแอมโมเนียมีคุณสมบัติไม่เสถียรจะดึงออกซิเจนในน้ำ ทำให้ออกซิเจนลดต่ำอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุให้ปลาตายเฉียบพลัน ต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงโทษเจ้าของโรงงานฯ ตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม

      ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสุขาภิบาล ทน.นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ปรับภูมิทัศน์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยเก็บซากปลาซึ่งส่วนใหญ่ถูกย่อยสลายไปตามกระแสน้ำ รวมทั้งกำจัดเศษขยะมูลฝอย วัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ ซึ่งมีกระแสน้ำไหลมากกว่าปกติ นอกจากนี้ได้สอบถามหาสาเหตุการตายจำนวนมากของปลาซักเกอร์ ซึ่งยังเป็นปริศนาที่พบปลาซักเกอร์ตายจำนวนมาก สันนิษฐานเบื้องต้นไม่น่าเป็นการสิ้นอายุขัยและตายจากสภาพแวดล้อม จากการสังเกตแม้นลำตะคองตอนล่าง จะมีความเสื่อมโทรมระดับ ๕ ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เฉพาะการคมนาคมทางน้ำเท่านั้น ก็ยังพบเห็นสัตว์น้ำจืดชนิดอื่นๆ สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้แต่ต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำมากกว่าปกติ ล่าสุดเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่สืบสวนและเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

      นายชยุธพงศ์  อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า แนวทางเยียวยา ฟื้นฟูลำตะคองตอนล่าง ได้เพิ่มปริมาณการระบายน้ำเดิมวินาทีละ ๕ ลบ.ม. เป็น ๘ ลบ.ม. โดยปรับยกบานประตูระบายน้ำคนชุม ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง เพื่อสนับสนุนการประปาท้องถิ่นและการปลูกข้าวนาปีรวมทั้งฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำตะคองช่วงตอนล่าง
อนึ่ง ปลาซักเกอร์ธรรมดา เป็นปลาตู้ชนิดหนึ่งที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีส่วนหัวโต ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่างมีขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงสามารถใช้ดูดเกาะติดเป็นสุญญากาศกับตู้กระจกหรือวัสดุต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีลำตัวสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวสากและหยาบกร้านมาก หนังมีลักษณะแข็งจนดูเหมือนเกราะ มีลวดลายสีเขียวตามครีบหลังและครีบหาง ตัวผู้มีเงี่ยงแหลมบริเวณครีบอกและข้างหัว

      ปลาซักเกอร์เป็นปลาที่มีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แม้ในภาวะที่เป็นพิษ หรือแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่ามาตรฐานปกติที่ปลาทั่วไปจะอาศัยอยู่ได้ จึงทำให้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ ในแม่น้ำแซนแอนโทนีโอ ในรัฐเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกา พบได้เพิ่มปริมาณขึ้นเป็นจำนวนมากจนไปกินและทำลายไข่ของปลาเซนทรัลสโตน                               โรลเลอร์ (Campostoma anomalum) ซึ่งเป็นปลาพื้นเมือง ในส่วนประเทศไทย ขณะนี้กรมประมงได้มีประกาศให้กลายเป็นปลาต้องห้ามสำหรับเลี้ยงและจำหน่ายแล้ว โดยรณรงค์ให้นำไปปรุงเป็นอาหารแทนถ้าหากเจอ แต่ในปัจจุบันได้มีผู้นำไปหลอกขายเป็นปลาปล่อย โดยเรียกว่า “ปลาราหู” (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๔ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่  ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


793 1442