29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 30,2019

“กินสบายใจ” กินอย่างปลอดภัย สบายใจแบบรู้ที่มา

         “กินสบายใจ” กินอย่างปลอดภัย สบายใจแบบรู้ที่มา

         หลายๆ คนคงได้ยินข่าวกันมาบ้างกับเรื่องสารพิษตกค้างในผักสด...โดยเฉพาะผัดสดตามห้างสรรพสินค้าที่เราคิดว่าปลอดภัย เป็นผักออร์แกนิก ดีต่อสุขภาพ แต่ใครจะรู้ว่า...ผักขึ้นห้างนี่แหละ...สารพิษตกค้างชั้นดี ยิ่งกว่าผักในตลาดสดเสียอีก...อันตรายที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง...

         วันนี้ “โคราชคนอีสาน” จะพามารู้จักโครงการดีๆ สำหรับคนที่รักสุขภาพ และใส่ใจในเรื่องอาหารการกินกับโครงการ “กินสบายใจ” โครงการตลาดนัดสีเขียวที่ส่งเสริม     การทำเกษตรแบบอินทรีย์ หลายๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร...ปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ต่างจากการทำเกษตรแบบอื่นๆ อย่างไร

         เดี๋ยวจะพามาพูดคุยกับ “พี่นุช” นางสาวคนึงนุชวงศ์เย็น ผู้จัดการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และมี พี่สุชัย เจริญมุขยนันท นั่งเก้าอี้เลขาธิการมูลนิธิฯ 

         “พี่นุช” นางสาวคนึงนุช วงศ์เย็น เล่าให้ฟังว่า โครงการกินสบายใจเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยในช่วงนั้นสถานการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานี จะเป็นลักษณะแบบต่างคนต่างทำไม่ได้จับมือทำงานร่วมกัน ผู้ผลิต เกษตรกรอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ทำให้ผู้บริโภคยังไม่รู้จักผู้ผลิตมากพอ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐในขณะนั้นยังไม่มีการส่งเสริม พี่นุชจึงเล็งเห็น และต้องการทำให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานทางภาครัฐได้รู้จักกันมากขึ้น

• ใช้สื่อเชื่อมสัมพันธ์

         ด้วยความที่ต้องการให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐได้รู้จักกันมากขึ้น พี่นุชจึงเลือกใช้รายการโทรทัศน์ กินสบายใจเป็นสื่อกลางในการถ่ายทำ และคิดว่าทุกๆ สิ้นปีควรจัดงานหรือเทศกาล เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาครัฐใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงจัดเทศกาลกินสบายต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ถึงปัจจุบัน โดยในแต่ละปี จะมีชื่อที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการสื่อสารจุดประสงค์ในแต่ละปี

• ราชธานี แห่งเกษตรอินทรีย์

         โครงการกินสบายใจต้องการให้เกษตรกรหันมาทำอาหารมีผลผลิตที่ปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ และยกระดับมาสู่ธุรกิจ  เพื่อนำผลผลิตมาสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและครอบครัวและนำไปสู่การสนับสนุนของภาครัฐ ให้เป็นระบบมากขึ้น

         จากโครงการเล็กๆ นำไปสู่นโยบายระดับท้องถิ่น โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ประกาศเป็นวาระ “อุบลฯ ราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์” โดยสนับสนุนงบประมาณ ๘.๗๒๕ ล้านบาท แต่ผู้สนับสนุนหลักของโครงการคือ มูลนิธิสื่อสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

• ทำไมถึงต้องเป็นเกษตรอินทรีย์?

         ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันพืชผักต่างๆ ล้วนแต่มีสารปนเปื้อน ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเร่งต่างๆ พี่นุช บอกว่าอาหารที่ปลอดภัย ต้องปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น 

         การทำเกษตรทุกวันนี้ มีรูปแบบหลากหลาย เกษตรปลอดภัย แต่ปลอดภัยแบบใส่สารเคมีต่างๆ ได้ หรือเกษตรปลอดสาร ใส่ปุ๋ยเคมีได้ แต่ฉีดยาฆ่าแมลงไม่ได้ การทำเกษตรแบบนี้ปลอดภัยต่อผลผลิต แต่ไม่ใช่กับผู้บริโภคนี่น่ะสิ

         เกษตรอินทรีย์ เป็นการทำเกษตรแบบใช้ปุ๋ยหมักแทนการใช้ปุ๋ยเคมี แถมยังเป็นปุ๋ยที่ต้องหมักเอง ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

         พี่นุชเล่าว่า การคัดเลือกเกษตรกรเพื่อเข้าร่วมโครงการ เราคัดเลือกกันอย่างเข้มข้น มีกฎเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร (PGS กินสบายใจ) เป็นข้อกำหนดว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมสามารถทำอะไรได้บ้าง และเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับตรวจแปลงทุกๆ ๖ เดือน มั่นใจได้ว่า ผัก และผลผลิตต่างๆ ปลอดภัย ไร้สารเคมีปนเปื้อนแน่นอน

• ตลาดสีเขียวไม่ใช่แค่ตลาดนัด

         ซื้อที่ไหน ก็เหมือนๆ กัน...แต่เดี๋ยวก่อน ตลาดสีเขียวกินสบายใจ ไม่ใช่แค่ตลาดนัดทั่วไป อย่างที่เราๆ ไปกันหรอกนะ...เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ของเกษตรกรทุกคน เป็นเจ้าของร่วมกัน แถมยังเป็นเหมือนห้องเรียน ที่มีการบ่มเพาะให้เกิดการเรียนรู้จากผู้ผลิต สู่ผู้บริโภค และสร้างรายได้ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น และผลผลิตของที่นี่ ปลอดภัย ไร้สารเคมี แน่นอน

         “ค่อนข้างได้ผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและครอบครัว โดยเฉพาะช่วงการจัดเทศกาลกินสบายใจ เพราะเป็นการจัดร่วมกับเทศกาลหนังสือของจังหวัด ทำให้มีผู้บริโภคสนใจเข้ามาเลือกดูสินค้ามากขึ้น และยังได้เลือกซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย”

• ปลูกฝังหนูน้อยนักโภชนาการ 

         นอกจากการจัดตั้งตลาดสีเขียวแล้ว โครงการยังทำงานร่วมกับโรงเรียน โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนกินสบายใจ” โรงเรียนที่เข้าร่วมมีทั้งหมด ๑๙ แห่งทั่วจังหวัดอุบลราชธานี การทำงานร่วมกับโรงเรียน จะเป็นการสร้างแกนนำเด็ก “หนูน้อยนักโภชนาการ” เพื่อให้เด็กมีความรู้เรื่องอาหารและโภชนาการ รู้จักโทษของขนม และน้ำอัดลม รวมถึงรณรงค์ชวนเพื่อนๆ มาทานผัก และให้โรงเรียนสร้างทางเลือกในการทำอาหารกลางวัน ที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียน

• เทศกาลกินสบายใจ

         และก็วนมาอีกครั้ง...กับเทศกาลกินสบายใจ พี่นุชเล่าว่า ปีนี้จัดเป็นปีที่ ๘ แล้ว ใช้ชื่องานว่า “เส้นทางเกษตรกรอินทรีย์ วิถีกินสบายใจ” เน้น ๓ ห่วงโซ่หลัก คือ ๑.การผลิต จะส่งเสริมการผลิตผัก ผลไม้อินทรีย์ และทำระบบรับรองมาตรฐาน PGS กินสบายใจ ๒.การตลาด ซึ่งเรามีตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ และตลาดนัดเครือข่ายอยู่ทั้งหมด ๖ แห่ง และ ๓.การบริโภค เป็นเรื่องของการสนับสนุนการบริโภคอาหารปลอดภัย

         “ขณะนี้เกษตรกรเริ่มเตรียมปลูกผัก ผลผลิตงานแปรรูปต่างๆ เพื่อให้มีเพียงพอต่องานเทศกาลกินสบายใจครั้งที่ ๘ แถมยังเน้นย้ำกับผู้ผลิตทุกรายว่า “ของต้องพอ ห้ามให้บูธว่างเด็ดขาด” เรียกได้ว่า ตลอดทั้ง ๙ วัน ยังไงผู้ที่มาเที่ยว มาช้อปต้องได้สินค้าปลอดภัยติดมือกลับบ้านไปแน่นอน”

• ช้อปได้ สบายใจ

         เทศกาลกินสบายใจ ไม่ได้มีเพียงแค่เกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการเท่านั้น ยังมีเกษตรกรจากที่อื่นๆ สนใจร่วมงานด้วย แต่ไม่ต้องห่วงไปว่า...จะมั่นใจได้อย่างไร ผลิตภัณฑ์ไหนปลอดภัย ๑๐๐% เพราะพี่นุชบอกว่า จะมีการจัดแบ่งโซนอย่างชัดเจน คือ โซนกินสบายใจ เป็นผลผลิตจากเกษตรกร ๗๕ รายที่ผ่านการคัดเลือกของโครงการ โซนกินปลอดภัย เป็นผลผลิต หรือสินค้าที่จัดอยู่ในระดับปลอดภัย แต่ไม่ได้รับรองจากโครงการ และโซนงานผ้า งานแปรรูป OTOP ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าภายในงาน

         สำหรับเทศกาลกินสบายใจ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ ห้างสรรพสินค้าสุนีย์ทาวเวอร์ ชั้น G โดยตลอดทั้ง ๙ วันนี้ จะได้รับความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ มีการจัดเวทีเสวนาทุกวัน เช่น วิกฤตและทางออกผลไม้ อาบสารพิษ โดยไทยแพน และกัญชาทางการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการประกวดต่างๆ ทั้งกิจกรรมร้อง เล่น เต้น โชว์ “อุบลออร์แกนิก ก็อททาเลนท์” ครั้งที่ ๓ สำหรับกิจกรรมนี้ให้ผู้ที่สนใจคิดคอนเซ็ปต์การแสดง หรือเนื้อหาเกี่ยวกับ “ใช้ชีวิตกินอยู่อย่างสบายใจ หรือจะจากไปด้วยสารเคมี” ชิงเงินรางวัลกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรจากผู้ว่าราชการจังหวัด สมัครได้ทั้งประเภทเดี่ยว และประเภททีม นอกจากนี้ยังเปิดรับสมัครสำหรับผู้ที่สนใจในจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก : กินสบายใจ หรือโทรสอบถามเพิ่มเติม ๐๘๗-๓๗๘๖๙๕๕, ๐๙๓-๑๐๒๕๒๙๐

• กินอย่างไรให้สบายใจ

         เรากิน...แล้วเรารู้ที่มาของสิ่งที่เรากินหรือเปล่า?

         พี่นุชฝากมาถึงผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน...ต่อไปนี้ ผู้บริโภคจะต้องหันมาบริโภคอย่างรู้ที่มากันมากขึ้น รู้ว่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรืออาหารต่างๆ ที่เราบริโภคมีกระบวนการผลิต กระบวนการแปรรูปอย่างไร ถ้าผู้บริโภครู้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราได้ผลผลิตที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ และตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนาการ ทานอาหารให้ได้ครบตามหลักโภชนาการโลก ก็จะทำให้ตัวเราห่างไกลโรค และยึดหลักการกินไว้ว่า....

         “กินอย่างปลอดภัย สบายใจแบบรู้ที่มา”

         และอย่าลืมหันมากินผัก (ปลอดภัย) กันเยอะๆ ด้วยล่ะ...ด้วยความห่วงใยจาก “โคราชคนอีสาน”

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

789 1434