28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 07,2019

‘หัสดิน’ดันโคราชฮับโลจิสติกส์ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอีสาน

          สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ลงพื้นที่โคราชเพื่อรับฟังความคิดเห็น โครงการจัดทำแผนแม่บทและแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคสู่ประเทศไทย ๔.๐ ด้าน ‘หัสดิน’ ประธานสภาอุตฯ เผย โคราชเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น พร้อมสู่การเป็นฮับโลจิสติกส์ของภาคอีสาน 

          เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประชุมกลุ่ม (Focus Group) พื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนา (HUB) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการจัดทำแผนแม่บทและแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคสู่ประเทศไทย ๔.๐ (พ.ศ.๒๕๖๒-๒๕๖๖) พร้อมด้วย ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ และหัวหน้าส่วนภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสวนทุ่งลุงพี อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา โดยในช่วงเช้าได้มีการศึกษาดูงานที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตอนด้วย

          นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาได้เสนอตัวเป็นฮับในเรื่องของการขนส่งในภาคอีสาน ซึ่งเป็นโครงการที่ทางจังหวัดนครราชสีมาพยายามดำเนินการตั้งแต่เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว นั่นคือ เราอยากจัดตั้งเป็นเขตปลอดภาษีเพื่อการส่งออก และต้องการทำให้โคราชเป็นฮับของการขนส่งในภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Truck Terminal รวมทั้งท่าเรือบก (ICD) ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมา เริ่มมีการพัฒนามากขึ้น เห็นได้จากการที่มีโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ทั้ง รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ถนนมอเตอร์เวย์ และท่าเรือบก

          นายหัสดิน กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีการขนส่งทางราง เมื่อรถไฟเดินทางมาถึงโคราชแล้ว ซึ่งโคราชจะเป็นชุมทาง เพราะมีรถไฟสองสายจากโคราช ขอนแก่น อุดรธานี และเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกเส้นหนึ่งระหว่างโคราช ไปบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เพื่อเชื่อมกับ สปป.ลาว จะเห็นได้ว่าโคราชโดยทำเลของเราจะเป็นฮับอยู่แล้ว

          “โคราชเราในวันนี้ต้องการเสนอตัว เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า และคน ของภาคอีสาน นั่นหมายความว่าจะต้องทำอย่างไรให้มีสาธารณูปโภคให้มารองรับได้เพียงพอ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการในโคราชลงทุนซื้อหัวรถจักร และแคร่รถไฟ เพื่อใช้บริการขนส่งสินค้าของตนเองแล้ว ก็จะทำให้เกิดบริษัทเพื่อขนส่ง นอกจากนั้น มีผู้ประกอบการรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย จะสร้างแคร่ และหัวรถจักร เพื่อส่งสินค้าและคน สู้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อกรมรางรถไฟอนุญาตให้เอกชนนำรถไฟมาวิ่งแข่งบ้าง ซึ่งคาดว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้น ไม่ว่า ICD จะลงที่โคราชหรือไม่ ก็มีคนตั้งบริษัทเพื่อขนส่งสินค้าได้แน่” นายหัสดิน กล่าว

          นายหัสดิน กล่าวว่า ที่ตนย้ำว่า โคราชมีความเป็นฮับในการขนส่งภาคอีสานอยู่แล้ว เห็นได้จากการมีถนนสำหรับรถยนต์ มีรางรถไฟ มีสถานี ทั้งนี้ ในแผนการดำเนินการท่าเรือบก เราจะมีกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) โดยตั้งอยู่ที่กุดจิก ซึ่งเป็นสถานีแม่ จะมีการต่อรางรถไฟทั้ง ๒ ข้าง ข้างหนึ่งใช้เพื่อการส่งออกและนำเข้า เพื่อไปที่ฟรีโซน อีกข้างเพื่อเข้าไปที่ Truck Terminal นั่นหมายความว่า ทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะทุกอย่างมีครบหมดแล้ว เพียงแต่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้างเท่านั้น หากสร้าง โคราชก็จะกลายเป็นฮับการขนส่งทันที และโคราชจะเกิดบริษัทขนส่งมากมาย และกลายเป็นจังหวัดที่มีการขนส่งที่ยิ่งใหญ่มาก

          นายหัสดิน เผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า วันนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเข้ามาลงพื้นที่ เพื่อสำรวจการทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องถึงการกำหนดจุดฮับของโลจิสติกส์ ซึ่งวันนี้ทางโคราชได้เสนอว่า เรามีความพร้อมที่จะเป็นฮับโลจิสติกส์ในภาคอีสาน โดยได้เสนอข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดนครราชสีมาว่า เรามีโครงการอะไรบ้าง ที่จะซัพพอร์ตให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นฮับของการขนส่งในอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้เราอยากให้แผนแม่บทของรัฐบาลได้บรรจุให้   โคราชเป็นฮับโลจิสติกส์ของภาคอีสานเข้าไป เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาในอนาคต

          “เชื่อว่าในวันนี้ที่เราให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภค รถไฟทางคู่ จุดเหมาะสมที่จะจัดตั้ง Truck Terminal หรือท่าเรือบก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของพื้นที่ ถ้าเกิดศูนย์กลางในการขนส่งแล้ว ก็จะเกิดการลงทุนต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เราเชื่อว่า เมื่อเราเป็นฮับของอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องการขนส่ง การคมนาคมแล้ว จะทำให้การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวเกิดในจังหวัดนครราชสีมามากขึ้น”

          นายหัสดิน เผยอีกว่า หลังจากที่ได้ศึกษาดูงานที่ ICD ลาดกระบังที่ผ่านมา เราต้องกลับมาเพื่อปรับปรุง เพราะในวันนั้นผู้เข้าร่วมประชุมบอกว่า การออกแบบที่ทำไว้อาจจะยังไม่มีการเหมาะสม เราคงต้องปรับการออกแบบให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการหาผู้ร่วมลงทุน โดยเฉพาะเรื่องสายเรือ ซึ่งสายเรือจะเป็นตัวละครสำคัญที่จะทำให้ ICD ที่จังหวัดนครราชสีมาเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำ Public Private Partnership (PPP) คือ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ซึ่งเราก็พยายามที่จะติดต่อกับภาคเอกชนที่เป็นสายเรือเพื่อเข้ามาร่วมคิดในกระบวนการจัดตั้ง ICD ที่โคราช ซึ่งตรงนี้สามารถดำเนินการไปได้ดีพอสมควร เรามีผู้ลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนหลังจากที่ไปลาดกระบังก็มีผู้ที่สนใจมาติดต่อทางจังหวัด ๓ รายแล้ว แต่ต้องอยู่ที่การคุยกันต่อว่าจะมีการร่วมลงทุนกันอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป

          “สำหรับการทำ PPP คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ หรือไม่เกินต้นปีหน้า หลังจากทำการศึกษา PPP แล้วต้องมีการกำหนดระยะเวลาว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ และในระหว่างนี้เราก็ยังไม่หยุดนิ่ง ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอให้ PPP เสร็จก่อนถึงเริ่มเดินหน้า เรายังคงมีการเจรจากับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง” นายหัสดิน กล่าว

          ด้านดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ในวันนี้เรามารับฟังความคิดเห็น เนื่องจากเราได้รับมอบหมายจากทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาค จากผลการศึกษา ภาคอีสานเป็นภาคที่มีความพร้อม ซึ่งจริงๆ แล้วทุกภาคต้องมีการพัฒนา แต่ในภาคอีสานนั้นมีความพร้อมในลำดับต้นๆ ทางเราได้ทำการศึกษาเพื่อคัดเลือกอุตสาหกรรมจาก ๑๐ อุตสาหกรรมหลักที่เป็น New S-Curve และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังหลักของประเทศไทย คัดออกมาเหลือ ๓ อุตสาหกรรมที่ทางอีสานมีศักยภาพคือ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ที่เน้นไปที่สมุนไพร และเพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีการทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่ศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้ง ๓ สาขา             ดังกล่าว โดยผลการศึกษาการคัดเลือกก็ออกมาที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่นที่จะต้องมีการขับเคลื่อนและพัฒนาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั้ง ๓ ดังกล่าว จึงมารับฟังความเห็นในจังหวัดนครราชสีมาว่ามีมุมมองอย่างไร ในการพัฒนาเมืองทั้งในด้าน Hard Infrastructure  และ Soft Infrastructure และรับฟังปัญหาเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้นำไปจัดทำแผนปรับปรุง บรรเทาปัญหาตรงนั้นต่อไป

          ดร.เกรียงไกร เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” อีกว่า ประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นใช้ทรัพยากรเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งโคราชมีทรัพยากรการเกษตรที่สำคัญ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลจึงมีแผนจะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) ซึ่งทางภาคอีสานก็จะมีฮับสำหรับไบโอรีไฟเนอรี่ เช่น จังหวัดขอนแก่น และทางโคราชมีความสำคัญคือ จะเป็นจังหวัดที่จะเชื่อมโยงภาคอีสานไปยังภูมิภาคอื่นในประเทศไทย ดังนั้น โคราชจึงมีความสำคัญมาก ทั้งในเชิงฟิสิกส์ เชิงที่ตั้ง และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ รวมทั้งมีความพร้อมแหล่งการศึกษาต่างๆ

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๗ วันอังคารที่ ๖ - วันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

797 1417