28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 16,2019

ทย.เตรียมดันงบ ๗๐๐ ล้าน เสริมแกร่ง‘สนามบินบุรีรัมย์’ ส่วน‘โคราช’ยังไร้สายการบิน

          กรมท่าอากาศยานรับนโยบาย รมว.คมนาคม เตรียมทุ่ม ๗๐๐ ล้าน ให้สนามบินบุรีรัมย์สร้างอาคารผู้โดยสาร ๒ พร้อมผลักดันเป็นสนามบินนานาชาติ รองรับนักท่องเที่ยวแห่ชมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ MotoGP ด้านสนามบินโคราชเป็นนานาชาติ ๒๐ ปีแล้ว แต่ยังไร้สายการบิน ส่วน “ชัชวาล” ยังฝันว่ากัมพูชา ลาว และมาเลเซีย สนใจมาบินที่โคราช

          สืบเนื่องจาก เมื่อปี ๒๕๖๐ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เสนอขอรับงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี ๒๕๖๐ จำนวน ๑๗๐ ล้านบาท เพื่อพัฒนาปรับปรุงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศของกลุ่มจังหวัด ได้แก่ การขยายลานจอดอากาศยานจากเดิมให้สามารถรองรับการจอดอากาศยานแบบ boeing 737-400 ขนาด ๑๘๐ ที่นั่งให้เพิ่มมากขึ้นจาก ๒ ลำเป็น ๖ ลำ และมีการก่อสร้างทางขับเพิ่มขึ้นอีกจำนวน ๑ เส้น เพื่อให้อากาศยานขับเคลื่อนเข้าออกระหว่างทางวิ่งและลานจอดได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น มีการพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสารให้มีขนาดกว้างขวางรองรับประชาชน นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ยังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการยกระดับเป็นสนามบินศุลกากรหรือสนามบินนานาชาติอีกด้วย

ยกระดับสนามบินบุรีรัมย์

          ล่าสุด เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีรายงานว่า กรมท่าอากาศยานได้เข้าหารือเรื่องการขอจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ กับนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับกรมท่าอากาศยาน เพื่อให้การขอจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ กรมท่าอากาศยานจะขอจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น ๑๑,๓๑๕.๖๙ ล้านบาท ซึ่งตามปกติจะได้รับการจัดสรรเพียง ๕๐% ของวงเงินที่ขอไป ซึ่งโครงการลงทุนสำคัญในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ มี ๓ โครงการ วงเงินรวม ๒,๓๑๐ ล้านบาท ประกอบด้วย ๑.โครงการก่อสร้างทางขับคู่ขนาน (Taxiway) ระยะทาง ๓ กิโลเมตร สนามบินกระบี่ วงเงิน ๑,๓๕๐ ล้านบาท เพื่อรองรับเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็น ๒๔ ลำต่อชั่วโมง และเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก ๔ ล้านคนต่อปี เป็น ๘ ล้านคนต่อปี

          ๒.โครงการขยายห้องผู้โดยสารขาออก ในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุราษฎร์ธานี มูลค่า ๒๖๐ ล้านบาท เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากประมาณ ๒ ล้านคนต่อปี  เป็น ๓.๖ ล้านคนต่อปี 

          ๓.โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (Terminal) แห่งที่ ๒ ที่สนามบินบุรีรัมย์ วงเงิน ๗๐๐ ล้านบาท เพื่อขยายความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก ๗.๕ แสนคนต่อปี เพิ่มอีก ๑.๗ ล้านคนต่อปี เป็น ๒.๔๕ ล้านคนต่อปี เนื่องจากอาคารผู้โดยสารปัจจุบันมีชั้นเดียว ทำให้เกิดปัญหาแออัดช่วงที่มีการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ MotoGP ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยในช่วงที่ผ่านมา สนามบินบุรีรัมย์ได้รับงบประมาณในการขยาย ลานจอดเครื่องบินและตกแต่งเพิ่มเติมไปแล้ว

          ในปัจจุบันท่าอากาศยานจังหวัดบุรีรัมย์ยังไม่ถูกรับรองให้เป็นสนามบินศุลกากร หรือสนามบินนานาชาติ โดยมี ๒ สายการบินที่ให้บริการอยู่คือ สายการบินนกแอร์และสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งสายการบินนกแอร์ ให้บริการทุกวัน จากกรุงเทพฯ ไปบุรีรัมย์วันละ ๓ เที่ยวบิน ได้แก่ เวลา ๐๖.๐๕ น. ๑๔.๒๐ น. และ ๑๗.๓๕ น. และจากบุรีรัมย์ไปกรุงเทพฯ วันละ ๓ เที่ยวบิน ได้แก่ เวลา ๐๗.๔๐ น. ๑๖.๐๐ น. และ ๒๐.๐๐ น. ส่วนสายการบินแอร์เอเชีย ให้บริการทุกวันเช่นกัน จากกรุงเทพฯ ไปบุรีรัมย์วันละ ๒ เที่ยวบิน ได้แก่เวลา ๐๗.๕๐ น. และ ๑๒.๒๕ น. และจากบุรีรัมย์ไปกรุงเทพฯ วันละ ๒ เที่ยวบิน ได้แก่ เวลา ๐๙.๑๕ น. และ ๑๔.๔๕ น.

โคราชยังไร้สายการบิน

          สำหรับท่าอากาศยานนครราชสีมา ถูกรับรองจากกรมท่าอากาศยานให้เป็นสนามบินศุลกากร หรือสนามบินนานาชาติตั้งแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๒ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ๒๐ ปี มีสายการบินมาเปิดให้บริการอยู่หลายครั้ง แต่แล้วก็ต้องพบกับปัญหาขาดทุน ทำให้สายการบินต้องยกเลิกเส้นทางการบินในจังหวัดนครราชสีมาไปในที่สุด โดยในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา มีการผลักดันเรื่องสายการบินอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนำโดยนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตลอดช่วงการรับตำแหน่งได้มีความพยายามนำสายการบินใหม่ๆ มาเปิดให้บริการอยู่หลายครั้ง เช่น คุนหมิง แอร์ไลน์, แฮปปี้แอร์, มาเลเซียแอร์ไลน์, สายการบินในประเทศเพื่อนบ้าน และล่าสุดได้มีการทาบทามอีกหนึ่งสายการบินสำหรับเส้นทางฟูกูโอกะ (โคราช-ญี่ปุ่น)

          นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ในฐานะประธานหอการค้าฯ มีเรื่องการพัฒนาจังหวัดหลายเรื่อง ได้แก่ ๑.สายการบิน หอการค้าฯ อยากให้โคราชมีสายการบินให้ด่วนที่สุด เพื่อให้จังหวัดเติบโตได้เร็ว ๒.รถไฟทางคู่ ที่ยังมีการพูดคุยกันอยู่ว่า จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร และ ๓. เรื่องน้ำ ที่เราจำเป็นต้องใช้ในอนาคตต่อไป เป็นต้น 

          “เรื่องสายการบินขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอราคา เพราะแต่ละบริษัทเสนอมาสูงกว่าที่เราต้องการ แต่ถือว่าเป็นการพูดคุยที่มีอนาคต ไม่เลื่อนลอย หรือราคาสูงเกินไป เช่น มาเลเซียก็กำลังจะประสานเข้ามาเรื่องที่จะลงทุนด้วย ซึ่งมีความคืบหน้าในการพูดคุยประมาณ ๗๐-๘๐% แล้ว คาดว่าจะพร้อมบินต้นปีหน้า โดยมีอยู่ ๒-๓ เส้นทางที่เข้ามา แต่เราไม่สนใจ จะเป็นที่ไหนก่อนก็ได้ เพราะต้องการจุดให้เกิดกระแสของการบินก่อน” นายชัชวาล กล่าว

          นายชัชวาล กล่าวอีกว่า “จากการพูดคุยกับกัมพูชา ลาว และมาเลเซีย ถ้าได้ที่ไหนก่อนก็บินที่นั่น เช่น กัมพูชามาก่อนก็เริ่มบิน โคราช-เสียมเรียบก่อน จากการที่ผมได้ไปเสียมเรียบมาก่อนหน้านี้ เป็นการดูลู่ทางเรื่องสายการบิน และแมชชิ่งธุรกิจให้กับนักธุรกิจในโคราช และขณะนี้เรื่องแมชชิ่งธุรกิจก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ซึ่งปัจจุบันเกิดการค้าระหว่างโคราชและเสียมเรียบแล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดือนหน้านักธุรกิจจากเสียมเรียบก็จะเข้ามาในโคราช โดยสนใจเรื่องทั่วๆ ไป เพราะการค้าของทั้งสองมีความคล้ายกัน และสนใจเรื่องธุรกิจไม่ว่าจะเป็นกาแฟ เครื่องสำอาง ปุ๋ย เหล็ก สมุนไพร ประมาณนี้ ซึ่งบางอย่างเขาก็ต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีจากเราด้วย” 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๙ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 


850 1432