29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 22,2019

เปิด‘คลินิกกัญชา’รพ.มหาราช ‘มทส.’พร้อมปลูกเพื่อการวิจัย

‘อนุทิน’ ตรวจเยี่ยมงานตามนโยบายรัฐบาลที่โคราช พร้อมร่วมเปิดคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ แห่งแรกในประเทศไทยที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยผลักดันนโยบายกัญชา ย้ำมุ่งเน้นใช้เพื่อการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ ด้านมทส.พร้อมปลูกเพื่อวิจัย

ตามที่เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย นายอภิชา เลิศพชรกมล ส.ส. นครราชสีมา เขต ๙ นายพรชัย อำนวยทรัพย์ ส.ส. นครราชสีมา เขต ๑๐ เดินทางเยี่ยมชมศักยภาพการวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา     รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้บริหาร มทส. ให้การต้อนรับ และนำเสนอภาพรวมงานวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ 

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด ได้นำเยี่ยมชมโรงเรือนเพาะเมล็ดและโรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ ณ สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา บรมราชกุมารี ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นคำขออนุญาตสำหรับครอบครองเมล็ดพันธุ์สำหรับการวิจัยเพื่อการผลิตกัญชาทางการแพทย์กรมการแพทย์แผนไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมด้านการสร้างโรงเรือนแฝด ๓ ขนาด ติดตั้งระบบน้ำหยดภายในโรงเรือน ปูพื้นผ้ากันหญ้าในโรงเรือน และติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และเยี่ยมชมเครื่องมือและอุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนระบบการสกัดสารสำคัญจากกัญชา ณ โรงประลอง Bio-processing pilot plant ศูนย์วิจัยมันสำปะหลัง มทส.

มทส.วิจัยกัญชา

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มทส. กล่าวว่า “การวิจัยการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ของ มทส.นั้น ในฐานะสถาบันการศึกษาและเป็นที่พึ่งของสังคม ซึ่งมีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพสูงทางการวิจัย พร้อมให้ความร่วมมือด้านวิชาการและทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านกัญชาทางการแพทย์ บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมาย ทั้งด้านการปลูก การผลิต และการนำไปใช้ เช่น การให้องค์ความรู้ การวิจัยเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรแก่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับอนุญาต การทำ Smart Farming การควบคุมคุณภาพการปลูกและการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน เทคโนโลยีการกลั่นที่บริสุทธิ์เพื่อการนำไปใช้งานทางการแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อให้ปลายทางของกัญชาสามารถใช้อย่างถูกกฎหมายและเกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชนเป็นสำคัญ และในขณะนี้เราพร้อมที่จะปลูกเพื่อใช้ในการวิจัย ซึ่งมทส.มีหลายเรื่องที่เตรียมไว้แล้ว แต่ในขณะนี้ยังพูดไม่ได้ เพราะกัญชายังไม่ถูกกฎหมาย หากมีการแก้กฎหมายแล้ว เราสามารถดำเนินการวิจัยได้ทันที”

“ทั้งนี้ หากได้รับอนุญาตให้ปลูกและศึกษาวิจัยได้ มหาวิทยาลัยได้เตรียมชุดโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการผลิตและการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีทั้งโครงการวิจัยส่วนต้นน้ำ เพื่อรวบรวมสายพันธุ์กัญชาที่บ่งชี้เอกลักษณ์ทางพันธุกรรมของกัญชาแต่ละสายพันธุ์ในประเทศไทย คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความสม่ำเสมอ มีความคงตัว และมีสัดส่วนของสารออกฤทธิ์ที่เหมาะสม การพัฒนารูปแบบการจัดการดิน น้ำ ธาตุอาหาร และแมลงศัตรูพืช ในการผลิตกัญชาที่มีคุณภาพและให้ผลผลิตสูง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้แสง LED ในระบบโรงเรือนปิด เพื่อการผลิตพืชกัญชาที่มีความบริสุทธิ์สูง โครงการวิจัยส่วนกลางน้ำ เพื่อพัฒนาการแปรรูปเพื่อทำการสกัดสารและทำบริสุทธิ์สารที่เป็นฤทธิ์ทางยาจากต้นกัญชาพันธุ์ไทย ทั้งในรูปแบบแห้งและสด ด้วยเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ได้สารสำคัญสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสกัดสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางยาจากต้นกัญชาพันธุ์ไทย รวมถึงการศึกษาการกำจัดไขมัน wax คลอโรฟิลล์ สารปนเปื้อนจากยาฆ่าหญ้า และแมลง รวมถึงโลหะหนักต่างๆ เพื่อให้ได้น้ำมันกัญชาที่มีคุณภาพ รวมถึงศึกษาและวิเคราะห์ เปรียบเทียบปริมาณสารสำคัญทางด้านเคมีและเภสัชวิทยาของสาร phytocannabinoids ชนิดต่างๆ สำหรับโครงการวิจัยส่วนปลายน้ำ เพื่อวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก ศึกษาประสิทธิผลสารสกัดกัญชาที่มีฤทธิ์ต่อเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ต่อไป” รองอธิการบดี มทส. กล่าว

น้ำมันกัญชาต้องมีคุณภาพ

นายพรชัย อำนวยทรัพย์ ส.ส.เขต ๑๐ พรรคภูมิใจไทย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จากที่ผมพบวิธีการสกัดสารจากกัญชาในโลกโซเชียล และผมก็ได้เห็นวิธีการจากภูมิปัญหาชาวบ้านด้วย เขาจะนำกัญชาไปใส่ในกะละมังและน้ำเอทิวแอลกอฮอล์ใส่ลงไป แล้วขย้ำรวมให้เข้ากัน จากนั้นก็นำไปกรอกและผ่านกระบวนการความร้อน ให้เอทิวแอลกอฮอล์ระเหยออกไป เพื่อจะได้เหลือเพียงสารสกัดน้ำมันกัญชา และสุดท้ายก็ผสมกับน้ำมันมะพร้าวแล้วค่อยบรรจุในภารชะต่อไป ซึ่งผมเป็นห่วงของเรื่องสารปนเปื้อนจากการสกัดแบบนี้ บางรายที่ทำแบบนี้ได้นำไปขายในโลกใต้ดินให้ผู้ป่วยที่สนใจมาซื้อไปในราคาปกติ ซึ่งกัญชา ๑ กิโลกรัม จะสามารถสกัดตามวิธีข้างต้นได้ประมาณ ๔๘ ขวด ขวดละ ๕ cc. ซึ่งในขณะนี้ การสกัดแบบนี้แล้วนำไปใช้ ยังถือว่าเป็นวิธีที่ผิด เพราะอาจจะได้รับผลข้างเคียงต่างๆ ได้ ดังนั้นผมต้องการให้ มทส.ได้ทำการวิจัยอย่างจริงจัง และหาผลกระทบของกัญชาด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนว่า แท้จริงแล้วกัญชานั้นดีหรือไม่ดี จากนั้นก็ทำเป็นเอกสาร หรือแผ่นพับเล็กๆ แจกให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงประโยชน์และโทษของกัญชา”

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวสรุปสั้นๆ ว่า “ผมเคยทำงานและได้เห็นเครื่องของ มทส. มีทั้งความทันสมัยและมีคุณภาพที่ดี ในแนวความคิดผม ผมว่า ๑ cc. จะต้องเป็นสารสกัดที่มีคุณภาพครบทั้ง ๑ cc. ไม่ใช่แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งผมเชื่อมั่นในศักยภาพของ มทส. ว่าทำได้แน่นอน”

ล่าสุด ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสวนหม่อน อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ดร.เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย, นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธ์ ทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต, นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ให้การต้อนรับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนาย วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมงานตามนโยบายรัฐบาล ณ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมร่วมพิธีเปิดให้บริการคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

เปิดคลินิกกัญชาแห่งแรกในไทย

นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชน จำนวน ๖.๗ ล้านคน ในพื้นที่ ๔ จังหวัดของเขตสุขภาพที่ ๙ นครชัยบุรินทร์ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ มีผู้ป่วยในเฉลี่ยประมาณ ๑,๖๔๐ รายต่อวัน มากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ รายต่อปี  ให้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) เฉลี่ยกว่า ๔,๐๐๐ รายต่อวัน  และมากกว่า ๑ ล้านรายต่อปี  จากจำนวนผู้รับบริการที่มีจำนวนมากนี้  พบว่า มีผู้ป่วยกลุ่มโรค กลุ่มอาการที่กรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ให้คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ เช่น น้ำมันกัญชาและยาตำรับแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ ใช้รักษาผู้ป่วยแล้วเกิดประโยชน์ส่งผลให้โรค และอาการดีขึ้น สามารถควบคุมอาการได้ ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเล็งเห็นว่า การเปิดคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ จะทำให้ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงมีโอกาสเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อรักษาและควบคุมอาการของโรคได้อย่างปลอดภัย เป็นความหวังของผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยมาตรฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบัน โรงพยาบาลมหาราชฯ ได้วางหลักการทำงานของคลินิกนี้ไว้ ๓ ข้อ คือ ๑.ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย ๒.ต้องเป็นประโยชน์ และ ๓.ต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

กัญชาเสรีเพื่อทางการแพทย์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ได้บรรจุไว้เป็นนโยบายที่สำคัญคือ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาใช้ในทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรต่างๆ รวมถึงกัญชาด้วย เราจะใช้สารสกัดจากกัญชามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเราเชื่อว่า ในทางการแพทย์ กัญชาจะมีสรรพคุณที่รักษาอาการหลายๆ อย่างให้กับผู้ป่วยได้

“ดีใจที่ได้มาโรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งผู้อำนวย การฯ ยังได้เชิญมาดูคลินิกกัญชาด้วย ถือเป็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้ป่วย และประชาชน ทางกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้การรักษาผู้ป่วยจากสารสกัดจากกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์สมัยใหม่ การแพทย์ทางเลือก หรือการแพทย์พื้นบ้าน ทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ แพทย์ที่สามารถจ่ายยาที่สกัดจากกัญชาได้ จะต้องได้รับการอบรมจากกรมการแพทย์ จึงจะมาดูแลรักษาผู้ป่วยที่จะมารักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เราได้รับความร่วมมือจากองค์การเภสัชกรรม มอบสารสกัดจากกัญชาที่มีทั้ง THC ๑๐๐%, CBD ๑๐๐% และมีทั้งสูตรผสม CBD ๑ เท่า และ THC ๑ เท่า ซึ่งกำลังจะออกมาเรื่อยๆ และกระจายไปทั่วโรงพยาบาลทุกแห่งที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขในเวลาอันใกล้นี้ แต่ยิ่งกว่านี้คือ ในทางการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน สามารถนำสูตรที่จะมาทำสารที่สกัดจากกัญชา สูตรผสมที่ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว อะไรต่างๆ ไปทำการพิสูจน์ที่ อย. และแพทย์แผนไทย หากสารเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ทางเคมี ทางการแพทย์แล้วว่าไม่มีพิษที่จะทำลายสุขภาพ และอวัยวะต่างๆ ก็สามารถใช้สารสกัดกัญชาตามแบบแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านมารักษาผู้ป่วยได้เช่นกัน

“ปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาโดยใช้สารที่ออกมาจากกัญชา คือ THC และ CBD ได้จำนวนมาก คลินิกกัญชาของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาน่าจะเป็นคลินิกแห่งแรก เนื่องจากยังไม่เคยได้รับรายงานจากที่อื่น และเชื่อว่าจะมีการขยายและเปิดคลินิกกัญชาเป็นส่วนหนึ่งในโรงพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขต่อไปทั่วประเทศ และต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันผลักดันสิ่งที่คนเคยคิดว่าเป็นสารเสพติด เป็นโทษ ทำลายสังคม มาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยยืดชีวิตของมนุษย์ เราไม่ได้มุ่งเน้นการนำกัญชาไปใช้ด้านสันทนาการ นี่คือบทพิสูจน์การใช้กัญชาเสรีเพื่อทางการแพทย์ นั่นหมายถึงทุกคนมีสิทธิ์ มีเสรีที่จะมารับการรักษาโดยใช้สารสกัดจากกัญชาได้ หากรักษาได้ผลดีก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และพัฒนาการใช้กัญชาในด้านอื่นๆ ต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

มอบกัญชาไปต่อยอดวิจัย

พร้อมกันนี้ ชมรมหมอพื้นบ้านได้มอบยาพื้นบ้านที่มีส่วนผสมของกัญชาให้กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งมอบต่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อใช้พัฒนางานวิจัยต่อไป
อนึ่ง คลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จะเปิดให้บริการแก่ประชาชน ที่ชั้น ๔ อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ  และเป็นคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ที่ให้บริการ ดังนี้ ๑.บริการรักษาผู้ป่วยด้วยน้ำมันกัญชาและยาตามตำรับแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งการรักษานี้ต้องมีข้อบ่งชี้ที่ตรงตามข้อเกณฑ์การใช้กัญชาแล้วเกิดประโยชน์ ปลอดภัย และ ๒.ให้คำปรึกษาแก่ ผู้ที่สนใจการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค 

ทั้งนี้  โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้กำหนดวันและเวลาการให้บริการของคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ วันจันทร์-วันศุกร์ เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลาทำการ ๘.๓๐-๑๖.๐๐ น. สอบถามเพิ่มเติมที่กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โทรศัพท์ ๐๔๔-๒๓๕๙๗๒ และ ๐๔๔-๒๓๒๒๔๐ เฉพาะวันและเวลาราชการ

นอกจากนี้มีรายงานว่ามีโรงพยาบาลที่เตรียมเปิด คลินิกกัญชาเพื่อรักษาทางการแพทย์อีก ๒ แห่ง คือโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี โดยจะเปิดให้บริการ “คลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์” และให้คำแนะนำโดยแพทย์ และเภสัชกรผู้ผ่านการอบรมด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่ตรงกับข้อบ่งชี้ในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาเฉพาะโรคในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ณ ห้องตรวจเคมีบำบัด ชั้น ๒ อาคาร ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ทุกวันศุกร์ เวลา ๑๓.๐๐–๑๖.๐๐ น. โทร.๐๔๕-๓๑๙๒๐๐ ต่อ ๑๖๙๘ (ในเวลาราชการเท่านั้น) เริ่มวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ นี้ และที่โรงพยาบาลขอนแก่น เปิดให้บริการคลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ (CDB Clinic) ที่ชั้น ๑ โรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งน้ำมันกัญชาให้กับ โรงพยาบาลขอนแก่น ๓๕๐ ขวด โดยเน้นเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งกำหนดให้การรักษาด้วยกัญชา ในทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น.

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

779 1408