28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 18,2019

ราชมงคลอีสาน‘ฉาว’ ชักดาบที่ปรึกษา ๕.๘ ล้าน อธิการบดีคาดไม่เกี่ยวราชการ

          ที่ปรึกษาอธิการบดี มทร. ยื่นหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัย สอบ ม.ราชมงคลอีสาน ค้างค่างานพิมพ์ ๕.๘ ล้าน หลังตรวจสอบพบมีการเบิกจ่ายหมดแล้วโดยผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน แต่ยังจ่ายคืนให้ที่ปรึกษาที่จำนำบ้านออกให้ล่วงหน้าไม่ครบ ด้านอธิการบดี เผยเป็นผู้บริหารของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ไม่ใช่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดยตรง

          ตามที่แหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยกรณีที่ปรึกษาอธิการบดีรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) มีปัญหาความขัดแข้งเรื่องการเงินกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สืบเนื่องมาจากที่ปรึกษาอธิการบดีรายนี้ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอปของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ว.ว.) จำนวน ๑๗.๑ ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๖๑ ในนามมหาวิทยาลัย และได้ออกเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการนี้ไปก่อน และมาเบิกเงินคืนจากทางมหาวิทยาลัยภายหลัง ซึ่งจะได้รับเงินว่าจ้างโครงการจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) ที่จ่ายผ่านเข้ามาทางบัญชีของสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (USI)

          แต่ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยยังค้างจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ที่ปรึกษารายนี้ เป็นจำนวนเงิน ๕.๘ ล้านบาท เมื่อมีการทวงถามก็ได้รับการบ่ายเบียง กระทั่งที่ปรึกษาอธิการบดีรายนี้ ได้ไปตรวจสอบข้อมูลจากฝ่ายการเงิน และได้รับแจ้งว่า เงินค่าจ้างที่ได้รับมาจาก ว.ว. ถูกเบิกจ่ายออกไปโดยผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยหมดแล้ว
จากนั้น วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ ที่ปรึกษาอธิการบดีรายนี้ จึงยื่นเรื่องถึงศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อให้ช่วยตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว โดยในหนังสือร้องเรียนระบุใจความว่า

          “กระผมมีตำแหน่งที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้รับมอบภารกิจจากอธิการบดี ในการประสานนำโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ผ่านยังกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มาเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อเป็นชื่อเสียงและผลงานให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการแรกที่ได้รับเข้ามาคือ โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) ได้รับมอบหมายจาก อธิการบดี ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ จำนวนทั้งสิ้น ๘๒ ราย แบ่งเป็น พื้นที่ภาคกลาง ๒๒ ราย และพื้นที่ภาคอีสาน ๖๐ ราย ซึ่งได้ดำเนินการครบถ้วนตาม TOR ตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ โดยใช้ทุนส่วนตัวในการดำเนินงาน มิได้ใช้เงินของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ด้วยการนำ บ้านพักจำนองไว้กับธนาคารและเงินเก็บส่วนตัวมาเป็นทุน งบประมาณทั้งสิ้น ๑๗.๑ ล้านบาท

          ทั้งนี้ ผู้ว่าจ้างได้โอนเงินครบตามจำนวนงวดงาน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ส.ค. ๒๕๖๑ มีหลักฐานการโอนและรับโดยผ่านสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (USI) และอธิการบดีทราบทางวาจา เอกสาร และข้อความทางไลน์มาโดยตลอด

          ภายหลังได้ทราบว่า มีการเบิกจ่ายจากสถาบันฯ ไปแล้ว คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานรายหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันฯ ด้วย จากนั้นจึงมีการทยอยจ่ายเงินและผัดผ่อนมาเป็นระยะ ด้วยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันคงเหลือยอดค้างจ่าย ๕.๘ ล้านบาท โดยปัจจุบันได้ล่วงเลยกำหนดรับชำระและไม่มีการติดต่อใดๆ

          ล่าสุด กลับกลายเป็นมีคำสั่งตรวจสอบโครงการขึ้นใหม่ ลงนามโดยอธิการบดี ทั้งที่เงินก้อนดังกล่าวได้มีการเบิกไปแล้ว ๑ ปีเศษ แต่ยังไม่ปรากฏว่า มีการตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยฯ รายดังกล่าวแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ จึงร้องขอความเป็นธรรมมายัง ท่านนายกสภาฯ”

          ทั้งนี้ ที่ปรึกษาอธิการบดี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตนได้รับมอบอำนาจจากทางมหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้รับผิดชอบประสานจัดทำโครงการกับหน่วยงานต่างๆ โดยโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอปของสถาบัน  วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) จำนวน ๑๗.๑ ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถประสานมาให้มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ 

          “เมื่อประสานได้โครงการมาแล้ว เราก็เริ่มทำงานโครงการจนแล้วเสร็จ โดยผมใช้เงินส่วนตัวออกไปก่อน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงาน เพราะคิดว่าหลังจากที่ทาง ว.ว.โอนเงินค่าจ้างมาให้มหาวิทยาลัยแล้ว ค่อยไปเบิกเงินคืนจากทางมหาวิทยาลัยภายหลัง วิธีการหาเงินในครั้งนั้น คือ การนำบ้านพักจำนองไว้กับธนาคารและเอาเงินเก็บส่วนตัวมาเป็นทุนด้วยผมออกเงินไปก่อนแล้วจึงไปเบิกเงินจากทางมหาวิทยาลัยเป็นงวดๆ ข้อตกลงแบบนั้น”

          ที่ปรึกษารายนี้ เผยอีกว่า  “ต่อมาเมื่อ ว.ว.ตรวจรับงานเสร็จ และโอนเงินตามงวดเงินงาน ผ่านไปยังสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (Unisearch Istitute Rmuti : USI) ทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา USI ได้ชำระเงินให้ผมในงวดที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๘,๕๖๙,๗๑๕ บาท และยังไม่ได้ชำระที่เหลือ จำนวน ๘,๕๖๙,๗๑๕ บาท ซึ่งผมก็ได้ทวงถามเงินที่คงค้างไว้ทั้งทางข้อความไลน์ (Line) รวมถึงทำหนังสือทวงถามและเดินทางไปทวงถามด้วยตนเองด้วย ซึ่งในระหว่างที่ติดตามทวงนั้น ก็ได้รับการชำระเงินอีก ๔ ครั้ง รวม ๒,๓๐๐,๐๐๐ บาท  ทำให้เหลือยอดเงินที่ค้างอยู่อีก  ๕,๘๔๑,๒๒๙ บาท แต่จากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อจ่ายเงินที่ค้างอยู่ให้แต่อย่างใด”

          ที่ปรึกษารายนี้ ยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่ต้องยื่นเรื่องให้ นายกสภามหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยตรวจสอบ เป็นเพราะได้พยายามติดตามเงินที่ค้างอยู่มาหลายครั้งแล้ว แต่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่จ่ายเงินให้ กระทั่งไปสืบทราบภายหลังว่า เงินจำนวนดังกล่าว มีการเบิกจ่ายจากสถาบันฯ ไปแล้ว คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานรายหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันฯ และมีการทยอยจ่ายเงินและผัดผ่อนมาเป็นระยะด้วยเหตุผลส่วนตัว 

          “ผมไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันว่าทำไม ผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน ถึงได้มาเบิกเงินก่อนนี้ไป เอาเงินไปใช้ทำอะไร และทำไมสถาบันยอมให้เบิกเงินไป แต่ไม่ยอมจ่ายเงินคืนให้ผม ต่อมาก็ทราบว่า อธิการบดีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวขึ้นแล้ว ผมก็ได้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปสองครั้ง แต่ไม่ได้รับรายละเอียดความคืบหน้าตอบกลับแต่อย่างใด และคณะกรรมการฯ ไม่เคยเรียกผมไปให้ข้อมูลเลยสักครั้ง ในขณะที่ผมและครอบครัวก็เดือนร้อนมาก จากการที่ได้รับเงินค่าจ้างคืนล่าช้าแบบนี้” ที่ปรึกษา  อธิการบดีฯ ระบุ 

          ทั้งนี้ ในส่วนของผลประโยชน์ที่ได้จากการให้ที่ปรึกษาทำหน้าที่ประสานงานหาโครงการเข้ามาให้  จะมีการหักส่วนแบ่งรายได้ให้มหาวิทยาลัย ๕% ซึ่งหลายๆ มหาวิทยาลัยก็ทำกันแบบนี้ ในส่วนของรายละเอียดการจ่ายเงินอื่นๆ ที่ปรึกษาฯ รายนี้ไม่สะดวกให้รายละเอียด และรอดูว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ จะหาทางแก้ไขอย่างไร และกล่าวเพียงว่า “แต่ผมมีหลักฐานครบถ้วนอยู่ในมือแล้ว”

          โดยความคืบหน้า ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๒ ศ.(พิเศษ)ดร.สุรเกียรติ์ ได้เชิญ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เข้าพบ เพื่อให้รายงานข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวและมีการร้องเรียนเรื่องเข้ามาแล้ว ซึ่งเบื้องต้น ดร.สุรเกียรติ์ ได้สั่งการให้อธิการบดีตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้มีการเชิญคนนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย พร้อมให้รายงานความคืบหน้าการสอบสวนต่อสภาฯ ให้รับทราบในการประชุมสภาฯ ช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ได้กำชับอธิการบดีว่า กรณีที่เกิดขึ้น ถ้าได้ผลว่ามีผู้กระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งด้านวินัยและกฎหมายบ้านเมืองด้วย ส่วนหนังสือร้องเรียนของที่ปรึกษาอธิการบดี ที่ทำถึง ดร.สุรเกียรติ์ ได้มีการลงนามให้สภาฯ พิจารณาเป็นทางการแล้ว

          จากนั้น วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ‘โคราชคนอีสาน’ ติดต่อไปยัง ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ถึงความคืบหน้ากรณีนี้ ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า ทาง มทร. จะมีการวางระบบที่ปรึกษา เป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑. ตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย มีหน้าที่คือ ช่วยทางสภาฯดูภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัยว่ามีเรื่อง หรือโครงการอะไรที่สำคัญ ซึ่งหากตั้งโดยสภาฯ จะมีเงินค่าเบี้ยประชุม และเงินขั้นต่ำให้ ๒.ที่ปรึกษาอธิการบดี จะไม่มีเงินเดือนให้เหมือนที่ปรึกษาที่ตั้งโดยสภาของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ตนจะเชิญคนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีเครือข่าย เพื่อมาช่วยด้านโครงการ หรือกิจกรรมที่สามารถเป็นชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย

          อธิการบดี กล่าวอีกว่า ในกรณีที่เกิดเป็นข่าว เนื่องจากที่ปรึกษาท่านนี้มีเครือข่ายการทำกิจกรรมและโครงการมาให้ทาง มทร.และมีการประสานงานและทำให้เกิดโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอท็อปของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ว.ว.) ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (USI) ช่วยดำเนินการบริหารโครงการ ซึ่งทั้งที่ปรึกษา และทางหน่วยงานที่มอบหมายก็บริหารดำเนินการ กระทั่งโครงการสำเร็จผ่านไป แต่เกิดกรณีที่คนในโครงการด้วยกันเองเกิดปัญหาเรื่องเงินทอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับโครงการใหญ่ๆ ของมหาวิทยาลัย ในส่วนของที่ปรึกษารายนี้เป็นเพียงคนที่ให้คำแนะนำ และคำปรึกษากับตนว่า มีโครงการใดบ้าง และสามารถนำมาจัดเป็นโครงการในนามของมหาวิทยาลัยได้หรือไม่เท่านั้น แต่ข่าวที่ออกมาเกิดจากการจัดการบริหารภายในของเขาเอง

          “เมื่อวานนี้ (๑๒ กันยายน ๒๕๖๒) มีการตกลงและเคลียร์กันแล้ว และนี่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการใหญ่ๆ ของทางมหาวิทยาลัย เป็นเงินของทีมที่ดำเนินการ และเรื่องการเบิกจ่ายโดยผู้บริหารระดับสูงนั้น เป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งการเบิกจ่ายไม่เกี่ยวกับทางอธิการบดี เป็นการเบิกจ่ายตามโครงสร้างของหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว เป็นเหมือนหน่วยงานอิสระ” อธิการบดี กล่าว

          อธิการบดี กล่าวอีกว่า ตอนนี้ทางนิติกรได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะทราบผลไม่เกิน ๑-๒ สัปดาห์ ปัญหานี้น่าจะจบ ทางมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปดูในส่วนของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการตั้งกรรมการสอบสวนเบื้องต้นไปแล้ว แต่อย่างไรยืนยันว่า ผู้บริหารระดับสูงในข่าวนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทางมหาวิทยาลัยแน่นอน และหากมีความผิด ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบวินัย แต่หากเป็นเรื่องของการโกงเงินก็ต้องเป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องจัดการกันเอง

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๕๙๔ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


791 1421