29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 19,2019

รถไฟทางคู่ทุบสะพานสีมาฯ เริ่มก่อสร้างกลางปี’๖๓-๖๕

จัดประชุมกลุ่มย่อย ยุติปัญหารถไฟทางคู่ผ่านเมือง สรุป “ทุบสะพานสีมาธานี” พร้อมสร้างอุโมงค์ทางลอด เตรียมจัดประชุมใหญ่ชี้แจงคนโคราชตุลาคมนี้ ด้าน รฟท.ขอกลับไปศึกษาวิธีการลดผลกระทบการจราจร คาดเริ่มก่อสร้างกลางปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ “หัสดิน” ชี้สะพานหัวทะเลต้องศึกษาให้ดี เผยบริเวณนั้นเป็นพื้นที่รับน้ำของเมือง

 

สืบเนื่องจาก รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา (ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย)-ชุมทางถนนจิระ (นครราชสีมา) ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น ๓ สัญญา ในสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร (ต.จันทึก อ.ปากช่อง)-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร โดยเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในขณะนั้นนายกรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกระดับรถไฟทางคู่ผ่านเมืองนครราชสีมา เป็นระยะทาง ๕.๑ กิโลเมตร ส่งผลให้ต้องทุบสะพานสีมาธานีออก

ต่อมา โครงการรถไฟความเร็วสูง ได้ปรับแบบการก่อสร้างสถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งขยับออกทางด้านสถานีรถไฟชุมทางจิระ ๑๖๐ เมตร ทำให้บริษัทที่ปรึกษารถไฟทางคู่ปรับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้ยกระดับผ่านเมืองนครราชสีมา โดยไม่จำเป็นต้องทุบสะพานสีมาธานี เนื่องจากรถไฟทางคู่สามารถลอดใต้สะพานสีมาธานี แล้วจึงไต่ระดับขึ้นไปยังสถานีได้ ส่งผลให้เกิดการคัดค้านจากประชาชนส่วนหนึ่ง ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อยมา

จากนั้นเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางตรวจเยี่ยมโครงการถนนมอเตอร์เวย์ พร้อมกับสั่งการให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เร่งสรุปว่า “คนโคราชต้องการให้ทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี” 

โดยในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ จังหวัดนครราชสีมา จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเสนอแนะรูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เพื่อหาข้อสรุปในกรณีดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย นำเสนอรูปแบบการทุบสะพานสีมาธานีออกแล้วเปลี่ยนเป็นทางลอด เพื่อให้เป็นไปตามที่มีผู้คัดค้านก่อนหน้านี้ แต่ในที่ประชุมมีมติว่า จะต้องมีการประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่า จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี โดยมีการนัดประชุมกลุ่มย่อยในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ แต่มีเหตุจำเป็นทำให้ต้องมีการเลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จัดการประชุมพิจารณาเสนอแนะรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา บริเวณสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานี ตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ โดยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยที่ทำกินในละแวกพื้นที่ดำเนินโครงการกว่า ๖๐ คน รับฟัง นายวราวุฒิ มาลา รักษาผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงรูปแบบ วิธีการและขั้นตอน ระยะเวลา งบประมาณและการบริหารจัดการจราจรทางเลี่ยงและผลกระทบในระหว่างดำเนินโครงการฯ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตทุกด้านและตอบโจทย์การขยายตัวของเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโคราช รวมทั้งความเป็นไปได้ของหลักวิศวกรรมก่อสร้างและอยู่ในกรอบวงเงินคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

เสนอ ๓ รูปแบบ

นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการศึกษาวิธีการและขั้นตอนตามข้อเสนอของคนโคราช ซึ่งเป็นรูปแบบทางรถไฟยกระดับผ่านเมืองนั้น ได้พิจารณาไว้ ๓ รูปแบบ คือ ๑.ไม่รื้อถอนสะพานสีมาธานี เริ่มยกระดับระดับ ๒ บริเวณหน้าผับตะวันแดงสาดแสงเดือน ณ โคราช ความสูงประมาณ ๑๐.๔ เมตร จากนั้นเริ่มลดระดับสู่พื้นดินเมื่อผ่านสถานีชุมทางถนนจิระ รวมระยะทาง ๔.๒๐ กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ๙,๗๕๗ ล้านบาท มีคนโคราชเห็นด้วย ๒๓% ด้านการจราจรและวิถีชีวิตคงเดิม ๒.รื้อถอนสะพานสีมาธานี ให้ยกระดับระดับ ๒ เมื่อผ่านสะพานต่างระดับสามแยกปักธงชัยและลงสู่พื้นดินหลังผ่านสถานีชุมทางถนนจิระ ระยะทางรวม ๕.๔๐ กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ๑๑,๕๑๘ ล้านบาท มีคนโคราชเห็นด้วย ๖๑% ด้านการจราจรเกิดผลกระทบในช่วงก่อสร้างและต้องสร้างทางอุโมงค์ลอดทดแทน วิถีชีวิตชุมชนรอบข้างจะเปลี่ยนเป็นย่านเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้ง ๒ รูปแบบ กำหนดดำเนินการเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ถึงธันวาคม ๒๕๖๕ และ ๓.ไม่รื้อถอนสะพานสีมาธานี เริ่มยกระดับตั้งแต่สถานีภูเขาลาดและลงสู่พื้นดินที่สถานีบ้านเกาะและสถานีบ้านพะเนา ผลกระทบต้องย้ายโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟ จึงต้องจัดหาที่ดินกว่า ๒๐๐ ไร่ เพื่อสร้างสถานีใหม่ และโครงการรถไฟไทย-จีน ได้ลงนามในสัญญาออกแบบทางรถไฟและอาคารสถานีนครราชสีมา รวมทั้งโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว รวมระยะทางยกระดับ ๑๓ กิโลเมตร งบประมาณ ๒๑,๘๒๖ ล้านบาท เกินกรอบวงเงินต้องเสนอขอ ครม.ให้อนุมัติเปลี่ยนแปลงวงเงินเพิ่ม กำหนดก่อสร้างเดือนตุลาคม ๒๕๖๙ ถึงกันยายน ๒๕๗๓

นายวราวุฒิ มาลา รักษาผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีนี้เป็นปัญหายืดเยื้อมานาน เมื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านแล้ว รฟท.จะนำไปพิจารณาในระดับส่วนกลาง จากนั้นจะนำเสนอรูปแบบให้ประชาชนทราบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้รื้อถอนสะพานสีมาธานี แต่การดำเนินการเกรงว่า จะมีผลกระทบด้านการจราจร จึงควรมีแผนรองรับโดยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย

สรุปทุบสะพานสีมาธานี

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่ารายการจังหวัดนครราชสีมา เผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า เมื่อวานมีการพูดคุยถึงทางเลือก ซึ่งทางเลือกที่คนโคราชไม่ได้พูดถึงเลย คือ การลอดใต้สะพานสีมาธานี เนื่องจากจะทำให้พี่น้องที่อยู่ช่วงตั้งแต่สะพานสามแยกปักธงชัย ถึงสะพานสีมาธานี ไม่สามารถข้ามไปมาได้ จึงพูดกันในประเด็นที่หากยกระดับข้ามไปเลย จะสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากรถไฟจะไม่สามารถเข้าชานชลา และลงศูนย์ซ่อมได้ เพราะในระดับที่ยกค่อนข้างจะสูง ซึ่งอยู่ในระดับ ๓ ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมจึงเห็นควรว่า ควรจะมีการทุบสะพานสีมาธานีออก ซึ่งในเรื่องการจราจร จะมีถนนสุรนารี ๒ และถนนเลียบนคร ถนนที่ตัดใหม่ผ่านทางออกไปกองบิน ๑ รองรับ ซึ่งทางการรถไฟจะไปตั้งกรรมการ และมาพูดคุยเรื่องการแก้ปัญหาจราจรอีกครั้ง ซึ่งมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่เสนอให้ทุบสะพานตรงหัวทะเลด้วย โดยผู้ว่าการรถไฟจะให้ทางจังหวัดรวบรวมข้อเสนอนี้ส่งให้การรถไฟต่อไป และเนื่องจากคนโคราชให้ความสนใจเรื่องนี้ จึงคาดว่า ในข่วงเดือนตุลาคมอาจจะมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อรับฟังอีกครั้ง”

ทางเลือกจากการรถไฟ

ด้าน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า สืบเนื่องจากการประชุมร่วมกับการรถไฟและบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ที่ผ่านมาหลายครั้งนั้น เขาได้เสนอทางเลือกให้ ๒ ทางคือ ๑.รถไฟยกระดับหลังจากผ่านสะพานสามแยกปักธงชัย แล้วค่อยๆ ลดระดับลงเป็นระดับพื้นดิน เพื่อลอดใต้สะพานสีมาธานี หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ไต่ระดับเข้าสู่สถานีนครราชสีมา ๒.ให้ทางรถไฟยกระดับมาตั้งแต่สะพานสามแยกปักธงชัย และมาชนกับสะพานสีมาธานี โดยจะให้ทำการทุบสะพานสีมาธานีออกไป แล้วทำเป็นอุโมงค์ทางลอดแทน แต่ตัวเลือกนี้ก็ต้องพบกับปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งอาจจะนานถึง ๓๖ เดือน และอุโมงค์ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การจราจรเท่าไหร่ จึงมีการเสนอแนวทางที่ ๓ ขึ้นมาคือ ให้ทางรถไฟยกระดับมาตั้งแต่สะพานสามแยก ปักธงชัย และข้ามสะพานสีมาธานีไป โดยไม่มีการทุบสะพานสีมาธานีออก เพื่อจะได้เป็นการยกระดับที่ยาว พื้นที่ข้างล่างก็จะได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งตรงนี้ก็ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ให้ยกระดับแบบตอม่อ เพราะถ้าเป็นแบบคันดินคนโคราชก็จะเห็นแล้วว่า มีปัญหาตามมาทีหลัง”

จัดการปัญหาจราจร

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า “หลังจากนั้นการรถไฟก็ได้นำข้อเสนอทั้ง ๓ รูปแบบกลับไปพิจารณา และก็กลับมาประชุมร่วมกับจังหวัดอีกครั้งเมื่อวานนี้ (วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒) ทางรถไฟได้ชี้แจงว่า แนวทางที่ ๓ นั้นติดขัดหลายเรื่อง ทั้งเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และยังต้องมีการปรับแบบทั้งตัวสถานีและแบบของทางรถไฟด้วย ในที่ประชุมก็รับทราบถึเหตุผลและเข้าใจ จึงเห็นว่า ยอมให้การรถไฟทำตามแนวทางที่ ๒ คือ ให้ทางรถไฟยกระดับตลอดช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา และให้ทุบสะพานสีมาธานีออกไป แล้วทำเป็นอุโมงค์ทางลอดแทน ส่วนปัญหาด้านการจราจร การรถไฟได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษากลับไปศึกษาวิธีการแก้ปัญหาให้รอบด้าน ลดผลกระทบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็ได้มีตัวแทนภาคประชาชนเสนอว่า ให้ทำเป็นสะพานเหล็ก เพื่อทดแทนสะพานสีมาธานีไปก่อน เสมือนแยกสะพานสีมาธานีออกเป็น ๒ ฝั่ง โดยตรงกลางจะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ ก็อาจจะช่วยลดปัญหาด้านการจราจรได้ส่วนหนึ่งด้วย”

พิจารณาสะพานหัวทะเล

“สำหรับสะพานหัวทะเล ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงเช่นกัน โดยยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เนื่องจากจะต้องศึกษาให้ละเอียดก่อน คนโคราชน่าจะทราบกันดีว่า บริเวณสะพานหัวทะเลนั้น เป็นพื้นที่รับน้ำของเมืองโคราช หากทุบสะพานแล้วทำเป็นอุโมงค์ก็เกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตามมาทีหลังได้ นอกจากนี้ บริเวณนั้นยังเป็นทางแยกของรถไฟทางคู่ด้วย ซึ่งทางที่ไปขอนแก่นได้ก่อสร้างทางคู่ไปแล้ว ส่วนทางที่ไปอุบลราชธานีนั้นยังไม่ได้ก่อสร้าง ก็ต้องดูกันว่า หากทุบแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ต้องการให้คนโคราชมองในระยะยาวด้วย หากทำไปแล้วก็อาจจะแก้ไขไม่ได้อีก” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่สายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร เดิมใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านบาท หากมีการปรับแบบก่อสร้างโดยการทุบสะพานสีมาธานี จะส่งผลให้มูลค่างานโยธาเพิ่มขึ้นเป็น ๑๑,๕๑๘ ล้านบาท ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๓ สัญญา คือ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง ๕๘ กิโลเมตร วงเงิน ๗,๗๒๑ บาท ก่อสร้างคืบหน้า ๓๒%, สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร อยู่ระหว่างปรับรูปแบบการก่อสร้าง และสัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร วงเงิน ๙,๓๙๙ ล้านบาท ก่อสร้างคืบหน้า ๖% แล้ว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๕๙๔ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


809 1452