29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 09,2019

‘เทวัญ’จับมือ อสม.อีสาน เฝ้าระวัง‘ข่าวปลอม’

สัมมนาให้ความรู้ “บทบาทของ อสม.กับการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคม” หวังหยุดแพร่ระบาด “Fake News” ด้าน “เทวัญ” ห่วงประชาชน ตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอมที่โคราช ช่วยเป็นตัวกลางเชื่อมภาครัฐกับประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม

 

เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๓๐ น. ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา “สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม (Fake News) ภาคประชาชน” และบรรยายพิเศษ โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมสัมมนากว่า ๓๐๐ คน เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายใหม่ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิดมากขึ้น และให้เครือข่ายมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของข่าวปลอม (Fake News) สามารถแยกแยะและมีความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะช่วยสกัดกั้น เฝ้าระวังข่าวปลอม อีกทั้งเพื่อพัฒนาให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านข่าวสารระหว่างภาครัฐ ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

กิจกรรมภายในการสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายหัวข้อ “บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กับการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคม” โดยวิทยากร ดร.เมธี จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ส่วนช่วงบ่าย ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นการนำเสนอชุดความรู้ประกอบด้วย ๑.ความรู้ ความเข้าใจข่าวปลอม (Fake News) โดยผู้แทนจากภาคสื่อมวลชน “รู้ทันข่าวปลอมในมิติต่างๆ” ข่าวปลอมคืออะไร วิธีสังเกต กรณีตัวอย่างข่าวปลอมที่สร้างความเสียหาย ๒.แนะนำ Fake News Center โดยตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ๓.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข่าวปลอม ลักษณะความผิดและบทลงโทษ ๔.ผลกระทบจากข่าวปลอม ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย และ ๕.เครือข่ายภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังข่าวปลอมอย่างไร โดยผู้ให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน และตัวแทนเครือข่าย อสม. โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต ผู้ดำเนินรายการคุยถึงแก่น ช่อง NBT2HD เป็นผู้ดำเนินรายการ 

จากนั้น เวลา ๑๕.๑๕ น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือการสื่อสารเพื่อการพัฒนาระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยมีนางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายอุทัย มิ่งขวัญ อดีตผู้ลงสมัคร ส.ส.พรรคชาติพัฒนา รวมทั้งประชาชนร่วมเป็นสักขีพยาน

ผลกระทบจากข่าวปลอม

พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มีอิทธิพลในการกำหนดความรับรู้ของผู้คนในสังคมมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของประชาชนทั้งด้านสุขภาพและชีวิต ซึ่งมีทั้งด้านบวกที่เป็นประโยชน์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางรวดเร็วกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็มีด้านลบที่เป็นปัญหาของสังคมในขณะนี้ ซึ่งมีการเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) แพร่ระบาดมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผล กระทบต่อสังคมหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการสร้างความแตกแยกทำให้คนเข้าใจผิดในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและความเสียหายต่อการทำงานของภาครัฐ ธุรกิจการค้า และการลงทุนของภาคเอกชนรวมถึงการสร้างข่าวและเผยแพร่ข่าวที่เป็นเท็จ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อตัวบุคคลในวงการต่างๆ รวมทั้งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ที่ตกเป็นข่าว อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐเล็งเห็นถึงปัญหาและพยายามแก้ไขโดยชี้แจงข้อมูลที่เป็นจริง หลังข่าวปลอมถูกเผยแพร่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักและมีผู้ตกเป็นเหยื่อช่วยแชร์โดยตัวเองไม่รู้จำนวนมาก การทำงานของภาครัฐมีข้อจำกัดที่จะรับมือปัญหานี้โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จึงต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านข่าวสารระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ ให้เป็นอีกแนวทางช่วยรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากขึ้น

เครือข่ายเฝ้าระวัง Fake News

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “อสม.ในวันนี้ ต้องทำหน้าที่เป็นเครือข่ายผู้เฝ้าระวัง ต่อต้านเรื่องข่าวปลอม ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์เลือกโคราชเป็นเมืองล่าสุดในการก่อตั้งเครือข่าย เพราะเป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน และโคราชยังเป็นจังหวัดที่มี อสม.ที่เข้มแข็งที่สุดด้วย ข่าวปลอมหรือ Fake News เป็นเหมือนสิ่งที่คอยทำลายเศรษฐกิจและประเทศชาติ เพราะข่าวที่ได้รับมาไม่ใช่ความจริง จะเห็นว่า ทุกวันนี้ใครก็เล่นไลน์กันหมด บางคนส่งโน้นส่งนี้ ส่งจนถูกแฟนจับได้ก็มี ในขณะที่ข้อมูลที่เราส่งนั้นมีประโยชน์ อีกมุมหนึ่งก็มีโทษด้วย เพราะข่าวที่เราส่งกันอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม และสมัยนี้คนมักจะส่งก่อนอ่านด้วย ยิ่งขณะนี้ข่าวปลอมมีออกมามากเหลือเกิน เช่น ข่าวปลอมที่บอกว่า หลังออกพรรษา รัฐบาลจะแจกเงินอีก ๓,๐๐๐ บาท ประชาชนก็แห่ไปรอรับเงินก็ที่จังหวัด ซึ่งข่าวปลอมไม่ได้มีแค่เรื่องแบบนี้ บางข่าวก็เขียนถึงสถาบันชั้นสูง ดังนั้นในความเป็นเครือข่าย อสม.ที่มีถึง ๑ ล้านคน เราจะต้องช่วยกันเข้าถึงประชาชนให้ได้ อสม.ต้องเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม คัดกรองตรวจสอบข่าวจริงและข่าวปลอมก่อนแชร์ หากขยายไปถึงกลุ่มญาติ พี่น้องของ อสม. จะเป็นเครือข่ายที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาได้จัดอบรมที่ จ.พิษณุโลก และ จ.พระนครศรีอยุธยา แนวคิดต่อไป มีโครงการจัดอบรมให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและผู้นำท้องถิ่น ขอฝากถึงประชาชนว่า การรับข้อมูลทางสื่อโซเชียลให้วิเคราะห์ ตรวจสอบ และสังเกตก่อนจะแชร์ หากสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อกับการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้”

รู้ทันข่าวปลอม

สำหรับวิธีสังเกต แยกแยะ และเฝ้าระวังข่าวปลอม ปัจจุบันการเข้ามาของสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียทําให้การสร้าง รับแชร์ ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว ทําให้ผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถรายงาน ข่าวทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวีดิโอ อย่างไรก็ตามนั่นทําให้ข่าวปลอมหรือข่าวลวงถูกเผยแพร่อย่างมากมาย ซึ่งหากมีผู้หลงเชื่อจํานวนมากและแชร์ต่อ ๆ กันก็อาจทําให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ในการสังเกตว่าข่าวได้รับนั้นเป็นข่าวปลอมหรือไม่ ผู้ใช้อาจพิจารณาความน่า เชื่อถือของข่าวโดยอาศัยข้อแนะนําดังต่อไปนี้ 

๑.ดูชื่อเว็บไซต์ พิจารณาความน่าเชื่อถือเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าว หากพบเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ที่มีเพียงไม่กี่หน้าเว็บไซต์ ไม่ระบุที่อยู่ติดต่อ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกสร้างเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม สังเกตว่าเป็นเว็บไซต์หรือสํานักข่าวที่มีชื่อเสียงหรือไม่ ถ้าหากเป็นเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าไม่ใช่ข่าวปลอมนอกเสียจากว่า จะเป็นการลงข้อมูลผิดพลาดแต่ก็ต้องระวังเว็บไซต์ที่ตั้งใจใช้ชื่อลอกเลียนแบบให้คล้ายกับสํานักข่าวชื่อดังด้วย ทําให้อาจเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อเดียวกันได้หรือถ้าหากไม่ใช่เว็บไซต์มีชื่อเสียง ก็อาจดูที่ชื่อผู้เขียนแทนว่าเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือหรือไม่ 

๒.พิจารณาความสมเหตุสมผล อ่านเนื้อหาให้ครบถ้วน อย่าอ่านเพียงแต่พาดหัวแล้วใช้ความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ส่วนตัวพิจารณาเนื้อหาของข่าวนั้นๆ ว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนถ้าหากว่า เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมากเกินไป หรือมีโอกาสเป็นจริงได้ยากก็มีแนวโน้มว่า จะเป็นข่าวปลอมนอกเสียจากว่าจะมาจากแหล่งหรือสํานักข่าวที่เชื่อถือได้จริงๆ 

๓.ตรวจสอบแหล่งที่มา ตรวจสอบดูว่าข่าวดังกล่าวนั้นมีต้นตอมาจากแหล่งไหน มีเว็บไซต์ หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งข่าวเดียว ก็อาจเป็นไปได้ว่า เป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ลองเปรียบเทียบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ซึ่งอาจมีทั้งแหล่งข่าวในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อดูว่าเนื้อหาตรงกันและถูกต้องหรือไม่ มีการบิดเบือนหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาแหล่งที่มาของข่าวว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน (นอกจากนั้น เราสามารถตรวจสอบโดยการนําชื่อข่าว หรือเนื้อความในข่าวมาค้นหาในกูเกิล (Google) ซึ่งจากผลลัพธ์การค้นหาอาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมหรือดูวันที่เผยแพร่ข่าวอาจพบว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ถูกเผยแพร่เมื่อในอดีต) 

๔.แม้มีภาพประกอบก็อย่าวางใจ ถึงแม้ว่าข่าวนั้นๆ จะมีภาพประกอบข่าว ก็ไม่ได้เป็นตัวช่วยยืนยันว่า จะเป็นข่าวจริงเสมอไปเพราะต่อให้ภาพนั้นเป็นของจริงไม่ว่าจะเป็นภาพที่ผ่านการตัดต่อหรือไม่ก็ตามก็อาจจะเป็นภาพของข่าวอื่นที่ถูกขโมยมาใช้ประกอบข่าวปลอมก็เป็นได้ (บ่อยครั้งที่ข่าวปลอมมักจะใส่ภาพจากข่าวเก่าที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อทําให้ดูน่าเชื่อถือ ผู้ใช้อาจพิจารณาใช้งานบริการค้นหาเว็บไซต์จากรูปภาพของเว็บไซด์กูเกิล (Google Reverse Image Search) เพื่อค้นหาว่ารูปดังกล่าวปรากฏอยู่ในข่าวเก่าหรือไม่ 

๕.สื่อที่นําเสนอเป็นกลางหรือไม่ ในบางข่าวนั้นความเป็นกลางของสํานักข่าวหรือสื่อรวมทั้งคนเขียนข่าวที่นําเสนอนั้นก็มีผลเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นข่าวปลอมแต่การที่สื่อมีอคติหรือความลําเอียงก็อาจทําให้เนื้อหาของข่าวมีความบิดเบือนและไม่ตรงกับความเป็นจริงได้เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่ถือว่าต่างจากข่าวปลอมนักเพราะเป็นการนําเสนอสิ่งที่ไม่เป็นความจริง 

๖.รอผู้เชี่ยวชาญมายืนยัน ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเพื่อนํามาประกอบการพิจารณาโดยการสอบถามบนเว็บบอร์ดหรือติดต่อสํานักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ หรือควรรอให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ออกมาพิสูจน์หรือยืนยันก่อนว่าเป็นเรื่องจริงโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ อาหารและยา ที่ต้องพิจารณาให้มากก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ เพราะหากเชื่อข่าวปลอมแล้วนําไปปฏิบัติตามก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเองได้ นอกจากนี้ หากพบข่าวบนโซเชียลมีเดียและพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นข่าวปลอมแต่ยังไม่แน่ใจ ทางที่ดีสุดเพื่อป้องกันความผิดพลาดควรหลีกเลี่ยงการแชร์เพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

แชร์ผิดชีวิตเปลี่ยน

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยตนจะเป็นประธานเพื่อให้เห็นผลการทํางานเป็นรูปธรรมภายใน ๓ เดือน หรือภายในเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ จะต้องมีศูนย์ปรามข่าวปลอมที่ชัดเจน นอกจากจะดึงส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยทํางานแก้ไขปัญหาข่าวปลอมแล้ว ล่าสุดยังได้เจรจากับบริษัท ไลน์ ประเทศไทย จํากัด (LINE) แอปพลิเคชัน ที่มีคนไทยใช้งานมากที่สุด ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันตรวจสอบข่าวปลอมด้วย เช่น กรณีมีข่าวปลอมเกิดขึ้น เมื่อศูนย์ปราบข่าวปลอมแก้ข่าวแล้ว ก็จะให้ไลน์ขึ้นข่าวจริงนําเสนอแทน แล้วเปรียบเทียบข่าวปลอมข่าวจริงให้ประชาชนรับทราบชัดเจน รวมถึงอาจทําเพจเฟซบุ๊กต่อต้านข่าวลวงด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า ข่าวนี้เป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมกันแน่ โดยกรณีที่เกิดข่าวปลอม ศูนย์ปราบข่าวปลอมจะต้องแก้ข่าวให้ได้ภายในระยะเวลา ๑-๒ ชั่วโมง และเมื่อชี้แจงแล้วใครยังแชร์ข่าวปลอมอีก ถือว่ากระทําความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๖๐ มีโทษปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจําคุก ๕ ปี หรือทั้งจําและปรับ”

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๗ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

789 1421