28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

November 05,2019

สภาทนายความโคราช เร่งหาข้อมูลช่วยเหยื่อทำกระทงขายถูกจับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เตรียมจัดหนักหากจ้างให้คนอื่นทำแล้วจับเอง

สภาทนายความโคราช เร่งหาข้อมูลช่วยเหยื่อทำกระทงขายถูกจับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เตรียมจัดหนักหากจ้างให้คนอื่นทำแล้วจับเอง


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 พฤศจิกายน นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นกรณีตัวแทนบริษัท พอส์อิงค์ จำกัด และ บริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด แสดงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชื่อดัง จำนวน 25 แบบ อาทิ ริลัคคุมะ, ซูมิโกะกูราชิ, มาเมะโกมะ ฯลฯ ได้แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษ “น้องอ้อม” นามสมมติ หญิงสาวอายุ 15 ปี นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา โดยกล่าวหาละเมิดลิขสิทธิ์รูปตัวการ์ตูน “ริ-ลัค-คุ-มะ” หรือ “หมีขี้เกียจ” และ “แมวการ์ฟิลด์” โดยเรียกร้องเงิน 5 หมื่นบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเหลือ 5 พันบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในพื้นที่รับผิดชอบ สภ.เมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา


ประธานสภาทนายความ ฯ เปิดเผยว่า หลังทราบข่าวได้สอบถามทนายความอาสา ซึ่งเป็นผู้แทนของสภา ฯ ได้ตั้งโต๊ะให้บริการคำปรึกษากฎหมายที่ สภ.เมือง ทุกวันในเวลาราชการ แต่ไม่พบเรื่องราวดังกล่าว คาดเป็นการเจรจายอมความกันเองและน้องอ้อม ก็ไม่ได้มาขอคำปรึกษาแต่อย่างใด จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นตามที่น้องอ้อม ระบุต้องการหารายได้พิเศษเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาขายในเฟสบุ๊ค ห้อง “อายจ๋า” ในช่วงเทศกาลลอยกระทงประกอบกับมีไอเดียออกแบบประดิษฐ์กระทงที่ใช้วัสดุส่วนใหญ่เป็นขนมปัง เพื่อให้อาหารปลาหรือสัตว์น้ำจืด จึงโพสต์รับสั่งทำกระทง ปรากฏมีผู้สนใจสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ต่อมามีตัวแทนลิขสิทธิ์ได้สั่งให้ทำกระทง เน้นให้ทำตัวการ์ตูนลิขสิทธิ์จำนวน174 อัน ตกลงราคาอันละ 17.25 บาท “น้องอ้อม” ก็เร่งทำให้จนหามรุ่งหามค่ำให้ทันตามออเดอร์ สุดท้ายเป็นพฤติการณ์ล่อซื้อให้นำของมาส่งที่ข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) จนกระทั่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาละเมิดลิขสิทธิ์


มูลเหตุของคดีสามารถยอมความกันได้ แต่พฤติการณ์จ้างให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบสินค้าของตนแล้วมาจับเอง เสมือนชงเองกินเอง ถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยลำดับเหตุการณ์สืบค้นพยานหลักฐานการจ้างให้ทำกระทงที่มีตัวลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ตามที่กล่าวอ้างมีการสนทนากันในห้องส่วนตัวลักษณะว่าจ้าง ขณะนี้สภาทนายความฯ กำลังรวบรวมข้อมูล แต่ “น้องอ้อม” และครอบครัวอยู่ระหว่างเดินทางไปออกรายข่าวโทรทัศน์ที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามคดีนี้จะต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นคดีตัวอย่างมิให้เกิดขึ้นอีก ส่วนที่กลุ่มเพจดัง ระบุมีผู้เสียหายในจังหวัดนครราชสีมา 5 ราย ถูกล่อซื้อในลักษณะเช่นเดียวกันอยู่ระหว่างติดต่อประสานเหยื่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ประธานสภาทนายความฯ กล่าว


ด้าน พ.ต.อ คเชนทร์ เสตปุตตะ ผกก.สภ.เมือง นครราชสีมา กล่าวว่า มีการนัดส่งของบริเวณข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ด้านถนนราชดำเนิน เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ตัวแทนลิขสิทธิ์ได้เชิญตัว “น้องอ้อม” มารับทราบข้อกล่าวหาละเมิดลิขสิทธิ์ที่ สภ.เมือง นครราชสีมา โดยผู้กระทำผิด ต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท ฯ ตัวแทนลิขสิทธิ์ได้เรียกร้องเป็นเงินจำนวน 5 พันบาท ไม่ใช่ 5 หมื่นบาท เพื่อแลกกันการไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย


“เราเห็นใจน้องๆ ที่ต้องการหารายได้พิเศษช่วยครอบครัว แต่ประเทศไทยมีกฎหมายลิขสิทธิ์ จะอ้างไม่ทราบกฎหมายไม่ได้ ตัวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ ล้วนมีลิขสิทธิ์ทั้งนั้น รายนี้เป็นการกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างไรก็ตามมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สังคมส่วนใหญ่อาจมองกรณีนี้เป็น “ผู้ใหญ่รังแกเด็ก” เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย ไม่ต้องการให้น้องผู้กระทำผิด ถูกดำเนินคดี ผกก.สภ.เมือง ฯ กล่าว

 

 


789 1404