29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 20,2019

“ผ้าทอบุรีรัมย์...อารยธรรมภูเขาไฟ” ชื่อเสียงดังไกลไปทั่วประเทศ

ในฉบับนี้ “หนุ่มหน้ามน...คนอีสาน” จะพาไปรู้จักกับผ้าทอขึ้นชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งยังอยู่ในโครงการ “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง” ที่นำโดยนางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ถ้าพูดถึง “บุรีรัมย์” คุณนึกถึงอะไรบ้าง?

หลายคนคงจะนึกถึงทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด สนามช้างอารีน่า ปราสาทหินพนมรุ้ง แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงว่า บุรีรัมย์คือ “ถิ่นภูเขาไฟ” ที่ผมบอกแบบนี้ก็เพราะ จังหวัดบุรีรัมย์เป็นที่ที่มีภูเขาไฟถึง ๖ ลูก...แต่ไม่ต้องกลัวนะครับ ทั้งหมดดับไปนานแล้ว

“ถิ่นภูเขาไฟ” คำนี้อาจจะฟังดูคุ้นๆ ใช่ครับประโยคนี้เป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญเมืองบุรีรัมย์ และเจ้าภูเขาไฟเหล่านี้ เป็นเหมือน ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมหลายๆ อย่างในจังหวัดนี้ด้วย ซึ่งบางชุมชนต้องอาศัยและพึ่งพาภูเขาไฟเพื่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในบริเวณที่เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน และสิ่งที่ภูเขาไฟทิ้งเอาไว้หลังจากพวกมันดับสนิทแล้วคือ แร่ธาตุ

แร่ธาตุต่างๆ ที่ยังคงหลงเหลือนั้น ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย มีพืชพันธุ์นานาชนิดเกิดขึ้น ซึ่งสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารหรือเป็นวัตถุดิบสร้างเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องนุ่งห่ม เกิดเป็นวิถีชุมชนในรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างกันไป และหนึ่งในชุมชนเหล่านั้นก็คือ “บ้านเจริญสุข” ที่ตั้งอยู่ในตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 

ถึงแม้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์ จะขึ้นชื่อในเรื่องของภาษาถิ่น (ภาษาเขมร) แต่ที่ “บ้านเจริญสุข” เป็นหมู่บ้านที่ใช้ภาษาอีสาน (ลาว) เป็นหลัก มีวัฒนธรรมที่เด่นชัด มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเกิดจากภูเขาไฟ คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่น่าสนใจในหลายมิติ ผู้คนที่นี่มักนำวัตถุดิบจากภูเขาไฟมาดัดแปลงเป็นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ซึ่งที่หมู่บ้านเจริญสุขมีผ้าทอขึ้นชื่ออย่าง “ผ้าภูอัคนี” ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญากับธรรมชาติ

“ผ้าภูอัคนี” หรือ “ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ” เป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ ผ่านกรรมวิธีในการย้อมสีผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าฝ้าย เพื่อให้ออกมามีสีแดง อ่อนๆ งดงาม “เฉกเช่น สีของลาวาจากภูเขาไฟ” และยังมีสีที่คล้ายหินของ “ปราสาทพนมรุ้ง” ซึ่งสีที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากดินภูเขาไฟและเปลือกไม้ เช่น เปลือกของต้นประดู่ กระโดน และมะพูด ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผ้าภูอัคนี ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“ผ้าภูอัคนี” นอกจากจะเป็นสินค้าที่เลื่องชื่อของบ้านเจริญสุขแล้ว ตอนนี้ยังถือเป็นอีกหนึ่งของดีประจำจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย ซึ่ง “พ่อสมหวัง” (นายสมหวัง ผาสุขใจ) ผู้ใหญ่บ้านบ้านเจริญสุข เล่าให้ผมฟังว่า ในอดีต “แม่ศรีบ้านเจริญสุข” เป็นผู้ค้นพบสีสันอันสดสวยของผ้า เริ่มจากแม่ศรีเป็นคนที่ชอบหาของป่า ได้ขึ้นไปบนภูเขาดินแดง บริวารของเขาอังคาร ซึ่งเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน ในการหาของป่านั้น ตะกร้าที่นำไปและผ้าถุงที่ใส่ไว้ก็เปื้อนดิน มีสีออกส้มแดง ซักออกยาก แม่ศรีจึงคิดค้นนำสีของดินภูเขาไฟมาใช้ในการย้อมผ้า โดยใช้ไม้ประดู่ร่วมด้วย ในที่สุดจึงกลายเป็น “ผ้าภูอัคนี” ในทุกวันนี้

สำหรับ “ผ้าภูอัคนี” ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านเจริญสุข ที่เกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชนนั้น สามารถสร้างรายได้ต่อคนกว่า ๑ หมื่นบาทต่อเดือน โดยจะมีวางขายทั่วจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวและโรงแรม รวมทั้งยังส่งขายในต่างจังหวัดด้วย แต่ถ้าชอบหรือรักในผ้าทอจริงๆ ผมก็ไม่อยากให้พลาดที่จะไปเยือนถึงถิ่นที่บ้านเจริญสุขด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะได้เห็นผ้าสวยๆ ที่มีให้เลือกมากมายแล้ว ยังจะได้เห็นความสวยงามของวิถีชีวิตชุมชนที่เรียบง่าย และถือโอกาสพักผ่อนไปในตัวด้วย เพราะที่บ้านเจริญสุขนี่เอง...มีแหล่งท่องเที่ยวให้เยี่ยมชมหลายแห่งเลยทีเดียว

ฮั่นแน่ อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนช่อง...เอ้ยเปลี่ยนหน้าไปไหนนะครับ เพราะที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ได้มีแค่ผ้าทอ “ภูอัคนี” เท่านั้นที่ขึ้นชื่อ แต่ใกล้ๆ กันนี่เอง ที่ตำบลถาวร มีการรวมตัวกันของ ๘ กลุ่มในตำบล กลายเป็น “กลุ่มผ้าไหมตำบลถาวร” ถือเป็นกลุ่มทอผ้าที่ใหญ่และเหนียวแน่นมาก ซึ่งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากนายธนากร โพธิ์ไข หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลถาวร

“ตำบลถาวร” ในอดีตเป็นชุมชนที่มีความเจริญมาก อยู่ใกล้กับภูเขาไฟและปราสาทหินพนมรุ้งด้วยเช่นกัน โดยชุมชนนี้เกิดจากการอพยพของนายฮ้อยหา วงศ์เพ็ญ ชาวบ้านจากจังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านทางมา ซึ่งเห็นว่า บริเวณนี้เหมาะที่จะตั้งหมู่บ้าน ผู้คนในชุมชนจึงมีวัฒนธรรมคล้ายกับคนลาว (คนอีสานปัจจุบัน) ซึ่งจะแตกต่างกับชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่รับอิทธิพลมาจากขอม เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนนี้เป็นคนอีสาน จึงนำภูมิปัญญาในการทอผ้ามาด้วย โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป เช่น หมู่บ้านหนึ่งเก่งเรื่องการเลี้ยงไหม แต่อีกหมู่บ้านก็เก่งเรื่องการทอผ้าไหม จากนั้นจึงได้รวมกลุ่มกันเป็น “กลุ่มผ้าไหมตำบลถาวร” ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะนำความสามารถที่ตนมีมารวมกัน เพื่อให้เกิดคุณค่ามากที่สุด

สำหรับ “กลุ่มผ้าไหมตำบลถาวร” ประกอบด้วย ๘ กลุ่มย่อย คือ ๑.กลุ่มร้านกัญญาผ้าไหม ๒.กลุ่มทอผ้าไหม-ไหมประดิษฐ์บ้านถาวร ๓.กลุ่มศรีทองผ้าไหม ๔.กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม (หมู่ ๑๑) ๕.กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม (หมู่ ๑๑) ๖.กลุ่มทอผ้าไหม (หมู่ ๑) ๗.กลุ่มทอไหม หมู่ ๘ และ ๘.กลุ่มเลี้ยงไหมพึ่งตนเอง หมู่ ๑ 

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของกลุ่มนี้ คือ ความสามัคคี เพราะมีกระบวนการทอผ้าที่ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการการเลี้ยงตัวไหมถึงการทอผ้าไหมด้วยตัวเอง โดยแต่ละกลุ่มย่อยจะมีหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองตามที่ถนัด ผ้าไหมของที่นี่จะมีสีสันที่ฉูดฉาดน่ามอง ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับกระบวนการทอผ้าตั้งแต่ต้นเช่นกัน เจ้าตัวไหมตัวเล็กๆ ผมก็เพิ่งจะเคยเห็นตัวเป็นๆ ครั้งแรก เพราะส่วนมากจะเห็นตอนที่เขานำเอาดักแด้ตัวไหมมาทอดและพร้อมจะเข้าปากแล้ว สำหรับคนทอผ้าที่นี่ส่วนมากอายุก็ปาไปหลัก ๗ กันหมดแล้ว แต่ความแข็งแรงบอกเลยว่า “ทอเบิ่ดมื่อกะไหว”

ในการวางจำหน่ายนั้น ส่วนมากแล้ว “กลุ่มผ้าไหมตำบลถาวร” มักจะนำไปจำหน่ายในงานต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น งานแสดงสินค้าโอทอปในจังหวัดต่างๆ ซึ่ง “พ่อธนากร” บอกผมว่า “ชุมชนนี้ยังขาดสถานที่รวมกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันเล็งพื้นที่บริเวณลานศาลาหมู่บ้านบ้านถาวรเอาไว้ และการขายส่วนมากจะฝากไว้ตามร้านขายผ้าไหมที่อยู่ในตัวจังหวัด บางชิ้นก็นำไปขายรวมกับร้านของกลุ่มทอผ้าภูอัคนีด้วย”

จากการจำหน่ายผ้าไหมนี้ ทำให้ผู้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการสอบถามแล้ว รายได้ต่อคนก็ประมาณ ๑ หมื่นบาทโน้นแน่ะ เห็นแบบนี้อยากเปลี่ยนอาชีพมาทอผ้าเลยใช่ไหมละครับ

เอาล่ะ...ใครที่สนใจผ้าทอ ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ผมว่างานนี้ห้ามพลาด (ก็ห้ามพลาดทุกงานแหละ) ที่จะลองไปหาซื้อมาใช้กันทั้ง “ผ้าภูอัคนี” และ “ผ้าไหมตำบลถาวร” ซึ่งสองเจ้านี้เขาก็มีความต่างของตัวผ้ากันอยู่แล้ว “ไผมักแบบได๋กะใช่แบบนั้นหล่ะครับ” สำหรับพิกัดของบ้านเจริญสุข (ผ้าภูอัคนี) อยู่ที่ ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ โทร.๐๘๙-๕๒๖-๖๐๗๑ (คุณสำรวย ศรีมะเรือง) และพิกัดกลุ่มผ้าไหมตำบลถาวร อยู่ที่ ต.ถาวร

อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ โทร.๐๘๕-๔๗๙-๔๐๒๕ (คุณธนากร โพธิ์ไข)

สำหรับในตอนหน้า ผมจะพาไปเที่ยวถิ่นเมืองช้างอย่างจังหวัดสุรินทร์ รอดูกันว่าที่นั่นจะมีผ้าทอแบบไหน และน่าสนใจมากเพียงใด แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า “สวยสุดๆ” (ผ้าไหมหรอ...เปล่า...สาวสุรินทร์ต่างหาก) ฮ่าๆๆ ล้อเล่นนะครับ และติดตามกันได้ในฉบับหน้านะคร๊าบบบบ

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๓ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

870 1579