29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 04,2019

ทรงตัวได้ยังไม่แย่มาก ปีหน้าต้องรัดเข็มขัด ดัน‘โคราช’เขตเศรษฐกิจพิเศษ

คาดการณ์โรงงานในโคราชยังอยู่ในระดับทรงตัว โรงงานขนาดกลาง-เล็ก พยายามที่จะพยุงตัวเองให้อยู่รอด ด้าน ‘หัสดิน’ เผย ผลักดันให้โคราชเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการลงทุนในพื้นที่โคราช และภาคอีสานเพิ่มขึ้น เน้นย้ำผู้ประกอบการประคับประคองบุคลากร อนาคตเศรษฐกิจฟื้นตัว จะมีบุคลากรที่มีความสามารถทำงานได้ต่อไป

สืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้มีกระแสข่าวโรงงานปิดตัว และเลิกจ้างพนักงานในหลายพื้นที่ โดยในเรื่องนี้ ‘โคราชคนอีสาน’ สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรงงานในจังหวัดนครราชสีมา จากนางรินทร์รัตน์ดา ซึ้งสัมปทาน หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผนงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนคร ราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า สำหรับโรงงานในจังหวัดนครราชสีมามีการเจริญเติบโตในทุกๆ เดือน แต่อัตราการเติบโตจะมากกว่าปีที่แล้วหรือไม่ ต้องมาดูในเรื่องของการเลิกจ้างด้วย ซึ่งในอัตราการเลิกจ้างปีนี้มีการเลิกจ้างทั้งหมด ๓๖ โรงงาน หากเทียบกับปีที่แล้วถือว่าเพิ่มขึ้น ๕๐% แต่เงินทุนเลิกจ้างลดลง ซึ่งข้อมูลล่าสุดของเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ เงินทุนเลิกจ้างอยู่ที่ ๓๑๕ ล้านบาท คนงาน ๓๘๘ คน ซึ่งเงินทุนลดลงร้อยละ ๕๘.๗๒ และคนงานลดลงร้อยละ ๓๗.๖๒

นางรินทร์รัตน์ดา กล่าวอีกว่า ยังมีโรงงานบางส่วนที่มีการเลิกจ้าง แต่ไม่ได้แจ้งกับทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ โดยปกติจะมีกฎหมายระบุว่า หากเลิกจ้างต้องแจ้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ แต่บางกิจการหายไปเลย และเราทำการตรวจพบ ก็จะส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการให้ดำเนินการให้ถูกกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่หากไม่มาเสียค่าธรรมเนียมรายปี หรือมาต่ออายุระบบก็จะถูกตัดออกจากความเป็นโรงงานโดยอัตโนมัติ
“ในอีกกรณี หากไม่มีการมาเสียค่าต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน แต่ยังดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งถือว่าผิด จะต้องชำระค่าปรับ และดำเนินการอีกหลายขั้นตอน แต่หากหายไปเลย แล้วเราแจ้งให้ทำเรื่องยกเลิก แต่หากไม่มา ก็จะถูกตัดออกจากระบบไปอัตโนมัติอยู่แล้ว” นาง รินทร์รัตน์ดา กล่าว

โรงงานในโคราชยังทรงตัว

นางรินทร์รัตน์ดา กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรงงานในโคราช อย่างที่เห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่ถามว่าแย่มากไหม ก็ไม่แย่มาก ยังอยู่ในระดับทรงตัวได้ โรงงานขนาดกลาง และขนาดเล็กก็พยายามที่จะพยุงตัวเองให้อยู่รอด แต่ยังไม่ถึงขนาดที่ล้มเลิกกิจการไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้การช่วยเหลือค่อนข้างมาก อย่างกิจการ SMEs ก็มีกองทุน SMEs มาให้กู้ อัตราร้อยละ ๑ ต่อปี พวกสตาร์ทอัพ ก็อบรมให้ความรู้ มีเงินทุนต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ
“ข้อมูลสะสมโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมด ๒,๗๒๕ โรงงาน เงินลงทุน ๒๙๘,๖๙๐.๘๖ ล้านบาท คนงาน ๑๙๓,๖๙๓ คน ยังคงเป็นที่ ๑ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ GDP ของจังหวัดด้านภาคอุตสาหกรรมก็ยังเป็นอันดับหนึ่งเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังคงมีโรงงานขนาดใหญ่ที่เปิดกิจการอยู่ ส่วนแนวโน้มในปีหน้า เห็นได้ว่า ภาครัฐก็เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือมากขึ้น เช่น โครงการชิม ช้อป ใช้ คาดว่าแนวโน้มคงไม่ทรุดลง แต่อยู่ได้ในระดับทรงตัว ปัญหาเศรษฐกิจที่เจอในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะที่ไทย อย่างที่รู้ๆ กัน เศรษฐกิจโลกก็มีผลกระทบ โดยเฉพาะจากปัญหาการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ได้รับผลกระทบทั้งหมด” นางรินทร์รัตน์ดา กล่าว

ผู้ประกอบการพูดคุยกับภาครัฐ

นางรินทร์รัตน์ดา กล่าวอีกว่า การเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง เราต้องพยายามเรียนรู้เสมอ และเมื่อเกิดปัญหาสามารถเข้ามาปรึกษาหน่วยงานภาครัฐได้ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ มีให้ผู้ประกอบการกรอกข้อมูล เพื่อให้ทราบว่ามีปัญหาในเรื่องวัตถุดิบ หรือปัญหาแรงงานอย่างไร เนื่องจากเราไม่ได้ทำงานโรงงาน เราจะไม่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง แต่หากผู้ประกอบการส่งข้อมูลมา ภาครัฐก็จะมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ เราก็จะรู้ว่าเกิดจุดบอดในส่วนไหน และจะได้เชื่อมโยงไปกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหางบประมาณ หรือจัดโครงการต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามให้ผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุย ให้ข้อมูล มีปัญหาอะไร อย่าเก็บไว้ และอย่าหยุดนิ่ง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่หยุดนิ่งอยู่แล้ว เพราะต้องพยายามพัฒนาตนเองเพื่อสู้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้ได้

“ปัญหาของเราคือเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูลกับภาครัฐ ไม่ว่าสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงอื่นๆ เวลาที่มีการจัดประชุม หรือเสวนา ก็ต้องการให้ผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุย อย่าอยู่คนเดียว อยากให้มาจับมือร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขได้ทัน” นางรินทร์รัตน์ดา กล่าว

การปรับตัวของโรงงาน

ทางด้านนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า โรงงานที่โคราชมีการปิดตัว และเปิดใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ตัวเลขไม่ได้ลดลง เดิมเรามีโรงงานที่มีใบอนุญาตอยู่ที่ ๒,๗๐๓ ใบ ปัจจุบันมีโรงงานที่มีใบอนุญาตจำนวน ๒,๗๒๕ โรงงาน จะมีข้อสังเกต คือ มีโรงงานที่มีการปิดตัวอัตราเร่งมากขึ้น บางโรงงานอาจยังไม่ได้ปิด แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะปิดในอนาคต โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตส่งออกจีนเริ่มมีปัญหา แต่โรงงานที่ผลิตส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกากลับมีแนวโน้มที่ดี จึงทำให้มีโรงงานที่ปิดตัวด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ความล้าสมัยของเครื่องจักร หรือปัญหาทางด้านการส่งออก ซึ่งจะขึ้นอยู่ว่า มีการส่งออกไปยังโซนไหน และขึ้นอยู่ว่าโรงงานนั้นผลิตสินค้าอะไร

“ในโคราช โรงงานที่เป็นอันดับหนึ่งยังคงเป็นโรงงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล โรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้า และโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ตามลำดับ โดยโรงงานอุตสาหกรรมอาหารมีทั้งปิดตัว และเปิดตัวใหม่ ซึ่งโรงงานที่เปิดใหม่ จะเป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดจำนวนคนงานลง เพียงแต่อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีความทันสมัยมากขึ้น ในส่วนของกรณีชิ้นส่วนรถยนต์ อาจจะไม่ดีนัก เนื่องจากตัวเลขการส่งออกรถยนต์ และตัวเลขขายรถยนต์ในประเทศเริ่มต่ำลง” นายหัสดิน กล่าว

ดันโคราชตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพืชผลทางเศรษฐกิจของโคราช ปกติช่วงปลายปีผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว จะต้องมีกำลังซื้อเนื่องจากเพิ่งขายผลผลิตได้ แต่ปีนี้เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ติดต่อกัน ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดี และผลผลิตได้น้อยตามไปด้วย ถึงแม้ว่าช่วงหลังๆ จะมีฝนตกมาบ้าง แต่ไม่ช่วยให้ผลผลิตกลับมาปกติได้ นอกจากนี้คุณภาพผลผลิตไม่ดี ทำให้เกิดผลกระทบทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐจำเป็นที่จะต้องหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือ กรณีโรงงานอุตสาหกรรม ทางรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า จะมีโครงการใหญ่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเราพยายามจะบอกว่า โคราชต้องการให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นกัน เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมทั้งยกระดับรายได้ และคุณภาพของประชาชนในพื้นที่ หากภาครัฐส่งเสริมจุดใดจุดหนึ่งในประเทศ ส่งเสริมให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีสิทธิประโยชน์มากมายอยู่ที่ภาคตะวันออกเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่จะมาตั้งในเขตโคราช หรือภาคอีสานมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากเขามองว่า ตรงไหนมีสิทธิประโยชน์มากกว่า เขาก็จะไปตรงนั้น โคราชจึงต้องการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

“เราไม่ได้เรียกร้องให้มีสิทธิประโยชน์เทียบเท่า EEC เพียงแต่ว่าไม่น้อยกว่า EEC มากเกินไป โดยเรียกร้องให้จัดตั้งและให้สิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมการลงทุน จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้านการลงทุนด้านแรงงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องด่านศุลกากรในโครงการ Dry Port (ท่าเรือบก) เพื่อทำให้เกิดการนำเข้าที่มีเขตปลอดภาษี เกิดการลงทุนในพื้นที่ ขณะเดียวกันหากมีการจัดตั้งด่านศุลกากรที่โคราชเพื่อการส่งออก จะทำให้เกิดการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มากขึ้น นอกจากนั้น ต้องการให้จัดตั้งเป็นศูนย์รวบรวมรับซื้อสินค้าเกษตรเกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการเรียกร้องผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) ทำเรื่องผ่านไปทางจังหวัดนครราชสีมาแล้ว จากจะช่วยโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังจะปิด เพื่อไปเปิดการลงทุนในพื้นที่อื่น ได้เกิดความคิดใหม่ว่า ทำที่โคราชก็ได้สิทธิประโยชน์ แม้จะไม่เท่ากับภาคตะวันออก แต่ก็ไม่น้อยเกินไป เนื่องจากปัจจุบันเรายังได้น้อยกว่า ทำให้มีบางโรงงานคิดจะปิดตัว และไปเปิดการลงทุนใหม่แถบภาคตะวันออก หรือผู้ประกอบการที่จะเปิดการลงทุนใหม่ เมื่อเห็นว่าทาง EEC ได้สิทธิประโยชน์ เขาก็เลือกไปตรงนั้น ทำให้ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาเสียโอกาสไป” นายหัสดิน กล่าว

แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้ายังแย่

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า “แนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าผมมองว่า ยังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เงินบาทก็แข็งค่า การส่งออกไม่ดี รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาแม้ว่าจำนวนลดลงไม่มาก แต่การใช้จ่ายต่อคนเห็นได้ชัดว่าลดลง ทำให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวอาจจะลดลงไปด้วย และหนี้สินครัวเรือนจะเป็นตัวถ่วง ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างยาก ผมดูแล้วปีหน้าภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจะต้องรัดเข็มขัด และใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

ประคับประคองแรงงาน

“ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจ เนื่องจากปีหน้าจะมีหนี้เสียมากขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อทางธุรกิจเป็นไปได้ยาก การซื้อขายสินค้าในปัจจุบัน หากซื้อขายเป็นเงินสด อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แต่หากเป็นแบบสินเชื่อก็คงต้องมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะดูแนวโน้มเศรษฐกิจแล้วคงไม่ได้ดีมากนัก ขณะเดียวกัน เรื่องแรงงาน อยากจะให้โรงงานอุตสาหกรรมประคับประคองแรงงาน หรือจ้างแรงงานไว้ เพราะหากเศรษฐกิจกลับมาดี ก็ยังมีแรงงานคุณภาพทำงานต่อไป” นายหัสดิน กล่าว

สถิติโรงงานโคราช

อนึ่ง จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒ มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด ๒,๗๒๕ โรงงาน เงินลงทุน ๒๙๘,๖๙๐.๘๖ ล้านบาท คนงาน ๑๙๓,๖๙๓ คน จำแนกได้ ดังนี้ แยกตามจำพวกโรงงาน จำพวก ๑ ไม่มีข้อมูล จำพวก ๒ มีจำนวน ๖๒๔ โรง จำนวนเงินลงทุน ๑,๖๒๙.๗๗ ล้านบาท จำนวนคนงาน ๔,๙๘๒ คน และจำพวก ๓ จำนวน ๒,๐๙๗ โรงงาน จำนวนเงินลงทุน ๒๙๖,๔๗๐.๕๙ ล้านบาท จำนวนคนงาน ๑๘๘,๖๖๘ คน

แยกตามขนาดการลงทุน ขนาดเล็ก (เงินทุนน้อยกว่า ๕๐ ล้านบาท) จำนวน ๒,๒๓๕ โรง จำนวนเงินลงทุน ๑๘,๖๑๘.๔๗ ล้านบาท จำนวนคนงาน ๓๔,๗๘๔ คน ขนาดกลาง (เงินทุน ๕๐-๒๐๐ ล้านบาท) จำนวน ๓๐๐ โรง จำนวนเงินลงทุน ๒๙,๘๖๑.๗๒ ล้านบาท จำนวนคนงาน ๒๘,๐๖๔ คน และขนาดใหญ่ (เงินทุนมากกว่า ๒๐๐ ล้านบาท) จำนวน ๑๙๐ โรง จำนวนเงินลงทุน ๒๕๐,๒๑๐.๖๗ ล้านบาท จำนวนคนงาน ๑๓๐,๘๔๕ คน

แยกตามกำลังเครื่องจักร เครื่องจักรน้อยกว่า ๒๐ แรงม้า ๑๘๖ โรง กำลังเครื่องจักร ๒,๒๓๙.๙๘ แรงม้า จำนวนคนงาน ๒,๒๐๗ คน เครื่องจัก ๒๐-๕๐ แรงม้า ๗๒๕ โรง กำลังเครื่องจัก ๒๓,๙๖๑.๔๐ แรงม้า จำนวนคนงาน ๖,๓๘๔ คน และเครื่องจักรมากกว่า ๕๐ แรงม้า ๑,๘๑๔ โรง กำลังเครื่องจักร ๔๑,๘๐๙,๔๗๒ แรงม้า จำนวนคนงาน ๑๘๕,๑๐๒ คน

ลงทุนมากสุดในโคราช

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด ๖ อันดับแรกของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ๑.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล มีจำนวนทั้งหมด ๑๘๙ โรงงาน เงินลงทุน ๘๒,๙๔๙.๒๔ ล้านบาท คนงาน ๕๙,๔๒๖ คน ประกอบกิจการ จำนวน ๑๘๖ โรงงาน เงินลงทุน ๘๒,๙๐๖.๐๔ ล้านบาท คนงาน ๕๙,๔๐๓ คน ยังไม่ประกอบกิจการ จำนวน ๓ โรงงาน เงินลงทุน ๔๓.๒๐ ล้านบาท คนงาน ๒๓ คน ๒.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า มีจำนวนทั้งหมด ๖๓ โรงงาน เงินลงทุน ๓๖,๑๑๔.๙๘ ล้านบาท คนงาน ๙๐๔ คน ประกอบกิจการ จำนวน ๕๒ โรงงาน เงินลงทุน ๓๐,๖๘๕.๕๐ ล้านบาท คนงาน ๖๔๕ คน ยังไม่ประกอบกิจการ จำนวน ๑๑ โรงงาน เงินลงทุน ๕,๔๒๙.๔๘ ล้านบาท คนงาน ๒๕๙ คน
๓.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีจำนวนทั้งหมด ๒๙๑ โรงงาน เงินลงทุน ๓๓,๐๑๒.๑๔ ล้านบาท คนงาน ๑๘,๙๒๗ คน ประกอบกิจการ จำนวน ๒๕๖ โรงงาน เงินลงทุน ๒๓,๑๔๒.๕๗ ล้านบาท คนงาน ๑๗,๐๙๘ คน ยังไม่ประกอบกิจการ จำนวน ๓๕ โรงงาน เงินลงทุน ๙,๘๖๙.๕๗ ล้านบาท คนงาน ๑,๘๒๙ คน ๔.กลุ่มอุตสาหกรรมการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนทั้งหมด ๕๙ โรงงาน เงินลงทุน ๒๔,๙๘๙.๙๑ ล้านบาท คนงาน ๒๘,๕๗๘ คน ประกอบกิจการ จำนวน ๕๗ โรงงาน เงินลงทุน ๒๔,๘๓๖.๗๔ ล้านบาท คนงาน ๒๘,๔๔๕ คน ยังไม่ประกอบกิจการ จำนวน ๒ โรงงาน เงินลงทุน ๑๕๓.๑๗ ล้านบาท คนงาน ๑๓๓ คน

๕.กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร มีจำนวนทั้งหมด ๔๔๖ โรงงาน เงินลงทุน ๒๒,๖๘๔.๖๗ ล้านบาท คนงาน ๙,๔๑๓ คน ประกอบกิจการ จำนวน ๔๒๙ โรงงาน เงินลงทุน ๑๘,๙๒๑.๒๗ ล้านบาท คนงาน ๘,๙๓๐ คน ยังไม่ประกอบกิจการ จำนวน ๑๗ โรงงาน เงินลงทุน ๓,๗๖๓.๔๐ ล้านบาท คนงาน ๔๘๓ คน และ ๖.กลุ่มอุตสาหกรรมขนส่ง มีจำนวนทั้งหมด ๒๗๑ โรงงาน เงินลงทุน ๑๔,๑๑๗,๔.๔ ล้านบาท คนงาน ๑๐,๙๙๑ คน ประกอบกิจการ จำนวน ๒๖๓ โรงงาน เงินลงทุน ๑๔,๐๗๗.๕๗ ล้านบาท คนงาน ๑๐,๙๙๑ คน ยังไม่ประกอบกิจการ จำนวน ๘ โรงงาน เงินลงทุน ๓๐.๘๗ ล้านบาท คนงาน ๗๒ คน

ภาพรวมเทียบกับปี’๖๑

เมื่อเปรียบเทียบเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ กับเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ พบว่า เดือนตุลาคม ๒๕๕๒ จังหวัดนครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด จำนวน ๒,๗๒๕ โรงงาน เงินลงทุน ๒๙๘,๖๙๐.๘๖ ล้านบาท คนงาน ๑๙๓,๖๙๓ คน เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ จังหวัดนครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด จำนวน ๒,๖๙๗ โรงงาน เงินลงทุน ๒๘๙,๐๖๔.๖๔ ล้านบาท คนงาน ๑๙๐,๐๕๘ คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้วพบว่า ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๒๘ โรงงาน คิดเป็นร้อยละ ๑.๐๔ เงินลงทุน เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๙,๖๒๖.๒๒ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓.๓๓ จำนวนคนงาน เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๓,๖๓๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๑.๙๑

โรงงานตั้งใหม่เดือนตุลาคม ๒๕๕๒ มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ ๔ โรงงาน เงินทุน ๓๑๒.๕๐ ล้านบาท คนงาน ๔๓ คน เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ ๑๐ โรงงาน ๒๒๕.๕๒ ล้านบาท คนงาน ๑๓๕ คน เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว พบว่าในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ มีจำนวนโรงงานฯ ตั้งใหม่ ลดลง เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๖ โรงงาน คิดเป็นร้อยละ ๖๐ เงินลงทุน เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๘๖.๙๘ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๕๗ จำนวนคนงาน ลดลง เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๙๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๘ และโรงงานเลิกกิจการ พบว่า เดือนตุลาคม ๒๕๕๒ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมเลิกกิจการ แต่ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ มีโรงงานอุตสาหกรรมเลิกกิจการ ๓ โรงงาน เงินทุน ๓.๘๑ ล้านบาท คนงาน ๑๒ คน

ใส่วนของโรงงานขาดต่ออายุใบอนุญาต พบว่า ทั้งเดือนตุลาคม ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขาดต่ออายุใบอนุญาต ทั้งนี้ เดือนตุลาคม ๒๕๖๒ มีโรงงานอุตสาหกรรมขยายกิจการ ๒ โรงงาน เงินทุน ๒๘๖.๖๒ ล้านบาท คนงาน ๖๘ คน เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ มีโรงงานอุตสาหกรรมขยายกิจการ ๒ โรงงาน เงินทุน ๓๙.๘๐ ล้านบาท คนงาน ๓๐ คน เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว พบว่า ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ มีจำนวนโรงงานฯ ขยายกิจการ เท่าเดิม เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ เงินลงทุน เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๒๔๖.๘๒ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖๒๐.๑๕ และจำนวนคนงานเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี ๒๕๖๑ จำนวน ๓๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๒๖.๖๗

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๕ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 


802 1432