29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

January 09,2020

โคราชลงทุนอันดับ ๑ อีสาน มูลค่ากว่า ๒,๐๙๓ ล้าน ปี ๖๓ กระตุ้นลงทุนเกษตร

‘บีโอไอโคราช’ เผยภาวะการส่งเสริมการลงทุนใน ๓ ไตรมาสแรก ปี ๖๒ ของอีสานล่าง พบกิจการที่มีการลงทุนมากสุดคือ ด้านเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โคราชลงทุนเป็นอันดับ ๑ จำนวน ๒๕ โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า ๒,๐๙๓ ล้านบาท ด้าน ผอ.บีโอไอโคราชเผย มาตรการรองรับการลงทุนปี ๖๓ เน้น ด้านการเกษตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๓ นางสาวบังอร ฐิตะไพศาลผล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอโคราช) เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงการลงทุนในพื้นที่ ๘ จังหวัด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ  และอุบลราชธานี ของปี ๒๕๖๒ ว่า หากดูในแง่ของประเภทกิจการ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมช่วง ๓ ไตรมาสแรก เนื่องจากไตรมาสที่ ๔ ยังไม่สรุป พบว่า จะเป็นด้านอุตสาหกรรมเกษตร เช่น กิจการเลี้ยงไก่ รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้า 

“สำหรับมูลค่าการลงทุนในอีสานล่าง มีทั้งหมด ๕๓ โครงการที่ได้รับการส่งเสริมใน ๓ ไตรมาสแรก เงินลงทุนอยู่ที่ ๔,๖๑๘ ล้านบาท ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีการลงทุนมากที่สุด โดยมูลค่าลงทุนอยู่ที่ ๒,๐๙๓ ล้านบาท หากถามว่าด้านใดมากที่สุด ก็จะคละๆ กัน ด้านเกษตร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือก๊าซชีวภาพบ้าง” นางสาวบังอร กล่าว
ต่อข้อซักที่ว่า การลงทุนในโคราชถดถอยลงจากปีก่อนๆ หรือไม่ นางสาวบังอร เปิดเผยว่า บีโอไอไม่ได้เปรียบเทียบ เนื่องจากปัจจัยต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาวะเศรษฐกิจ หรืออีกหลายๆ เรื่อง ดังนั้นไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งเราจะต้องดูแบบปีต่อปี ทั้งนี้การลงทุนส่วนมากจะเป็นการลงทุนของคนไทยมากกว่าต่างชาติ

“จากที่พูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ก็มีทั้งคงที่ และเพิ่มขึ้น แล้วแต่คำสั่งซื้อ (Order) ซึ่งมีผลกระทบจากสงครามการค้า สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงสภาวะค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งก็จะทำให้มีปัญหาด้านการส่งออก ทำให้การลงทุนชะลอตัวลงบ้าง ดังนั้น ผู้ประกอบการก็ต้องพยายามที่จะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับตามแนวโน้มของตลาด” นางสาวบังอร กล่าว

สำหรับมาตรการของบีโอไอที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการลงทุนนั้น นางสาวบังอร กล่าวว่า เรามีหลายมาตรการ เช่น มาตรการส่งเสริม SMEs ไทย รวมทั้งมาตรการในการปรับปรุงคุณภาพการผลิต เพื่อเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านการผลิต โดยใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น ด้าน Robotic หรือ Automation รวมทั้งการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการใช้พลังงานด้านสิ่งแวดล้อม

นางสาวบังอร เปิดเผยอีกว่า “ในปี ๒๕๖๓ เนื่องจากการลงทุนมีหลากหลายประเภท หากดูในพื้นที่พบว่า การเกษตรของเราค่อนข้างจะเด่น เพราะฉะนั้น เราก็จะมีประเภทกิจการที่ส่งเสริมด้านการเกษตรกรรม และผลิตผลทางด้านการเกษตร และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ๓-๘ ปี ตามประเภทกิจการ ซึ่งจะสามารถส่งเสริมได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับแนวโน้มในปีนี้ก็ต้องดูปัจจัยภายนอกร่วมด้วย เนื่องจากมาตรการในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนมีความเสถียรอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการต่างๆ จะช่วยเสริมแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ และเรื่องค่าเงินบาทด้วย”
อนึ่ง ภาวการณ์ส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๓ ไตรมาส (มกราคม-กันยายน) ปี ๒๕๖๒ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๗๗ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๘,๓๒๒ ล้านบาท การจ้างงาน ๒,๗๔๔ คน ลงทุนโดยคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๖๔ โครงการ ร่วมหุ้นไทยและต่างชาติ ๔ โครงการ (จีน และญี่ปุ่น) และหุ้นต่างชาติทั้งสิ้น ๙ โครงการ (ญี่ปุ่น, จีน, ฮ่องกง, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์)
สำหรับรายละเอียดโครงการต่างๆ ที่อยู่ในเขตการรับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ จำนวน ๓ ไตรมาส มีดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๒๕ โครงการ เงินลงทุน ๒,๐๙๓.๗ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูป และสำเร็จรูปแช่แข็ง กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการผลิตซุปปลา กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตแปรงถ่านในชิ้นส่วนยานพาหนะ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา

จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน ๑๕ โครงการ เงินลงทุน ๑,๔๘๗.๔ ล้านบาท ได้แก่ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการเลี้ยงสุกรขุน กิจการผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กิจการผลิตยางผสมอัดแท่ง จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๕๒๒.๕ ล้านบาท ได้แก่ กิจการสถานพยาบาล กิจการผลิตผ้าลูกไม้ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน ๙ โครงการ เงินลงทุน ๔๙๙.๘ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และจังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๘.๔ ล้านบาท ได้แก่ กิจการคัดคุณภาพข้าว โดยพบว่า จังหวัดยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญไม่มีการลงทุนช่วง ๓ ไตรมาสที่ผ่านมา

ในขณะที่โครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในเขตรับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๓ (บีโอไอขอนแก่น) พบว่า จังหวัดอุดรธานีมีการลงทุนเป็นอันดับ ๑ จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๑,๕๘๐.๒ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน ๙ โครงการ เงินลงทุน ๑,๒๐๗.๓ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องดื่มจากผักและผลไม้ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการผลิตเอทานอล กิจการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิด MONOCRYSTALIN 

จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๔๐๑ ล้านบาท ได้แก่ กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ กิจการผลิตชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์สำหรับโทรคมนาคม เช่น CIRCULATOR จังหวัดนครพนม จำนวน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๒๙๗.๕ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตยางแท่ง กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา จังหวัดมหาสารคาม จำนวน ๔ โครงการ เงินลงทุน ๘๕.๒ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องดื่มจากผักและผลไม้ กิจการผลิตเครื่องดื่มผงสำเร็จรูป กิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา

จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๕๐ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ จังหวัดมุกดาหาร จำนวน ๓ โครงการ เงินลงทุน ๔๓.๑ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตฟิล์มและถุงพลาสติก กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา จังหวัดหนองคาย จำนวน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๓๙.๙ ล้านบาท ได้แก่ กิจการคัดคุณภาพข้าว กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และจังหวัดสกลนคร จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๖ ล้านบาท ได้แก่ กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โดยพบว่า จังหวัดกาฬสินธ์ุ เลย และบึงกาฬ ไม่มีการลงทุนช่วง ๓ ไตรมาสที่ผ่านมา

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๐ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 

 


794 1414