28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

January 31,2020

๕ สถาบันจับมือราชภัฏโคราช พัฒนาสาธารณสุขศาสตร์เข้มขึ้น

ราชภัฏโคราช กับ ๕ สถาบัน ร่วมมือมุ่งพัฒนาความเป็นเลิศด้านสาธารณสุขศาสตร์ “ดร.อดิศร” ย้ำเรื่องการผลิตบัณฑิตและการบริการวิชาการ หวังทลายกำแพงหลักสูตร สร้างความเป็นหนึ่งระหว่างสถาบั

เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ๑  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ ระหว่างคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ทั้ง ๖ สถาบัน ได้แก่ ๑.รองศาสตราจารย์ ดร.พุฒิพงศ์ สัตยวงศ์ทิพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ๒.ดร.ชลาลัย หาญเจนลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ๓.รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๔.ดร.วิทชย เพชรเลียบ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ๕.อาจารย์พิชชานาถ เงินดี วิทยาลัยนครราชสีมา และ ๖.อาจารย์สุภาพ หวังข้อกลาง วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และคณาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ทั้ง ๖ สถาบัน ร่วมเป็นสักขีพยาน

รองศาสตราจารย์ ดร.พุฒิพงศ์ สัตยวงศ์ทิพย์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “ในนามของเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ทั้ง ๖ สถาบัน ในจังหวัดนครราชสีมา โดยทั้ง ๖ สถาบันนี้ เคยบันทึกข้อตกลงเช่นนี้มาแล้ว ๒ ฉบับ ในฉบับที่ ๑ นั้นมีระยะเวลาการดำเนินการ ๔ ปี และฉบับต่อมามีระยะเวลาอีก ๔ ปี ซึ่งขณะนี้หมดเวลาตามข้อตกลงแล้ว โดยในฉบับที่ ๑ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธานเครือข่ายความร่วมมือ ส่วนฉบับที่ ๒ คือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อข้อตกลงสิ้นสุด จึงต้องมีการลงนามฉบับใหม่และเลือกประธานเครือข่ายใหม่”

“โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการประสานกำลังของสถาบันการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ทั้ง ๖ สถาบัน ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้ผนึกกำลังดำเนินการเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ มุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัย การบริการด้านวิชาการ การสาธารณสุขและสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบูรณาการกิจการนักศึกษา การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของสังคมในจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนระดับชาติ ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้ มีระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป สำหรับการดำเนินงานนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการเครือข่าย โดยให้คณบดีทั้ง ๖ สถาบันเป็นผู้เลือก หลังจากนั้นจะเป็นการแต่งตั้งอนุกรรมการเครือข่าย ๓ อนุกรรมการ คือ ๑.อนุกรรมการด้านการผลิตบัณฑิต ๒.อนุกรรมการด้านการวิจัยและบริการวิชาการ ๓.อนุกรรมการด้านกิจการนักศึกษา การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ลักษณะความร่วมมือนี้ ยึดตามมาตฐานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองกิจกรรมของนักศึกษาที่มีต่อสังคมต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.พุฒิพงศ์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา เห็นว่าทั้ง ๖ สถาบันมีความร่วมมือที่เข้มแข็ง ส่วนการดำเนินงานในครั้งนี้ต้องทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก โดยผมต้องการเน้นย้ำการทำข้อตกลงนี้ ๒ เรื่อง คือ เรื่องการผลิตบัณฑิต ซึ่งในปัจจุบัน สังคมเราเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ผมไม่ได้มองในแง่ของจำนวนเด็กที่จะเข้ามาศึกษาต่อ แต่ผมมองถึงความเข้มแข็งในการใช้ทรัพยากร ล้วนแล้วมีแต่ใช้งบประมาณภาษีแผ่นดินทั้งสิ้น แม้เราจะมีการเก็บค่าศึกษาเอง ทุกบาทล้วนเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่เพียงเรื่องของคณะสาธารณสุขศาสตร์เท่านั้น แต่รวมถึงทุกคณะ เราต้องมาร่วมกันผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้ได้ แต่นี่คงไม่ใช่อำนาจตัดสินใจในระดับของคณบดี เช่นในกรณีที่ผมพยายามจะทุบรั้วระหว่าง มทร.อีสานและราชภัฏโคราช เพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ให้มีความเข้มแข็งระหว่างทั้ง ๒ สถาบัน เป็นหลักสูตรที่บูรณาการระหว่างช่างและครู กลายเป็นหลักสูตรที่เรียกว่าครูช่าง ซึ่งยังมีปัญหาอีกมากมาย เรื่องนี้รัฐมนตรีหลายท่านพยายามทำลายกำแพงระหว่างคณะ โปรแกรม และหลักสูตร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ การที่เราพูดคุยกันแล้วสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ผมจะเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้”

“ส่วนอีกประเด็นที่ผมต้องการจะเน้นย้ำคือ เรื่องการบริการวิชาการ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าเรื่องแรก และมีความเป็นไปได้สูง ประจวบกับมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ มีโจทย์ใหญ่คือ การตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ดำเนินการทำกิจกรรม และมีการเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ ความจริงแล้วกิจกรรมนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ได้รับจากโครงการการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย แต่เป็นเรื่องที่เราทำตามภารกิจการบริการวิชาการ ซึ่งเราเห็นว่า การทำโครงการเช่นนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเป็นหน้าเป็นตาให้มหาวิทยาลัยได้ สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เวลาที่ท่านดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ขอกิจกรรมให้ไปออกโทรทัศน์ ผมก็นำกิจกรรมของคณะสาธารณสุขศาสตร์ไปนำเสนอ ดังนั้นเมื่อได้งบประมาณมา ผมจึงแบ่งส่วนหนึ่งให้คณะสาธารณสุขศาสตร์โดยตรง หากเราทำงานตรงนี้แล้วมีอีก ๕ สถาบันมาร่วมด้วย หากออกมาดีรัฐบาลก็จะทุ่มงบประมาณหรือทุ่มหน่วยงานลงมาช่วย หรือลงมาช่วยระดมความคิด เราไม่ใช่หน่วยงานสาธารณสุข แต่เราเป็นสถาบันอุดมศึกษา เราทำเพียงโมเดลออกมาว่า เรื่องไหนควรลงไปแก้ไข ฉะนั้นต้องฝากทุกสถาบันเอาไว้ในเรื่องของการบริการวิชาการ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ มีงบประมาณให้ส่วนหนึ่ง และหากอีก ๕ แห่งต้องการเข้ามาร่วมด้วย เราก็ยินดี”

“จากผลงานความร่วมมือครั้งที่ผ่านๆ มา ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ดูเป็นความร่วมมือที่มีพลัง มีผลงานเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ซึ่งครั้งนี้ผมไม่ได้ลงนามด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะผมพยายามเลิกลงนามความร่วมมือกับหลายๆ แห่ง เพราะลงนามกันไปก็เอาไปเพื่อตอบโจทย์ประกัน (ประกันคุณภาพการศึกษา หรือ QA) เท่านั้น ซึ่งผมได้ลดโจทย์ประกัน เปลี่ยนไปเป็นการประเมินด้วยวิธีอื่น เฉพาะโจทย์ประกันสำนักงาน แต่ประกันคณะหรือหลักสูตร ก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ ซึ่งผมหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๓ วันพุธที่ ๒๙ มกราคม - วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


776 1434