February 07,2020
ตั้งเป้าลดขยะให้ได้ ๒๐% มุ่งสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว
มทส.ประกาศเจตนารมณ์ “SUT Zero Waste” จัดการขยะต้นทางจริงจัง สู่การสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักให้ ประชาคม มทส. ร่วมลดขยะให้ได้ ๒๐% และเพิ่มปริมาณการรวบรวมขยะรีไซเคิลให้ได้ ๓๐%
เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๓ ที่อาคารเรียนรวม ๑ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและบริหารทั่วไป มทส. ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรและการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “SUT Zero Waste สู่การสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดกิจกรรม SUT Zero Waste Day สร้างความตระหนักให้ประชาคม มทส. มีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะต้นทาง สร้างการตระหนักรู้ด้าน Zero Waste ร่วมขับเคลื่อนการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยมีบุคลากรใน มทส.เข้าร่วมกว่า ๕๐ คน นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของนักศึกษา ระหว่างวันที่ ๒๙–๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ ณ อาคารเรียนรวม ๑ มทส.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและบริหารทั่วไป มทส. เผยว่า “ตามที่มหาวิทยาลัยมีนโยบายเขียวสะอาด (Green and Clean University) รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทาง SUT Re-Profile 2020 ในยุทธศาสตร์การบริหารงานที่นำสมัย เป็นธรรม และสร้างระบบนิเวศน์แห่งคุณภาพ ที่มีประเด็นยุทธศาสตร์ข้อหนึ่งว่าด้วยการสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรและการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการปัญหาขยะ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งดําเนินการ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจัดให้มี “กองทุนสิ่งแวดล้อม มทส.” ทุนประเดิม ๕.๗ ล้านบาท ให้การสนับสนุนทุนสำหรับจัดกิจกรรม งานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์ จำนวน ๕๐ ทุน คิดเป็นทุนสนับสนุน ๒ ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้จากการบริหารจัดการขยะ จากโรงจัดการขยะแบบครบวงจรและธนาคารวัสดุรีไซเคิล ประมาณ ๑.๒ ล้านบาทต่อปี สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยได้วางแนวทางไว้
“เนื่องจากประชากรภายใน มทส. กว่า ๒๐,๐๐๐ คน พบว่า เกิดการผลิตขยะมากถึง ๑,๓๐๐ ตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการจัดการขยะปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำมาคัดแยกและแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงภายในโรงจัดการขยะแบบครบวงจร แต่หากไม่จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ที่เน้นหลัก 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle ภายใน ๑๐ ปีข้างหน้าขยะจะล้น มทส. ดังนั้น กองทุนสิ่งแวดล้อม มทส. จึงได้ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมกับศักยภาพของชาวมหาวิทยาลัย นั่นคือ “SUT Zero Waste” วางเป้าหมายปฏิบัติการ ๓ ปี คือ พ.ศ. ๒๕๖๒–๒๕๖๔ ใน ๗ แนวทาง ได้แก่ ๑.งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ซึ่งปัจจุบันร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัยงดจ่ายถุงพลาสติกหูหิ้วได้ร้อยละ ๑๐๐ สามารถลดการใช้ได้ ๑.๒ ล้านใบต่อปี ๒.ลดการใช้แก้วพลาสติก ให้ได้ร้อยละ ๕๐ ๓.รณรงค์จัดประชุมแบบ Green Meeting ๔.จัดการขยะอินทรีย์ที่แหล่งกำเนิด ๕.จัดการขยะรีไซเคิล โดยธนาคารวัสดุรีไซเคิล และส่งเสริมการคัดแยกขยะต้นทาง ๖.ปรับปรุง พัฒนาถังขยะแยกประเภทและระบบจัดเก็บขยะภายในอาคาร และ ๗.ให้ความรู้และสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม”
ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าวอีกว่า “เป้าหมายของ SUT Zero Waste นั้น ภายในสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๔ จะช่วยกันลดปริมาณขยะที่เคยมีอยู่ ๑,๓๐๐ ตันต่อปี ลงร้อยละ ๒๐ และเพิ่มปริมาณการรวบรวมขยะรีไซเคิลให้ได้ร้อยละ ๓๐ เมื่อเทียบปีงบประมาณ ๒๕๖๐ รวมทั้งสร้างพฤติกรรมทิ้งขยะอย่างถูกประเภท ถูกถัง ให้ได้ร้อยละ ๘๐ ซึ่งชาว มทส. สามารถมีส่วนร่วมในทางตรง คือ การงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและลดการใช้แก้วพลาสติก สำหรับแนวทางอื่นๆ มหาวิทยาลัยจะได้สร้างการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการสนับสนุนในเชิงกายภาพให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไป”
“สำหรับกิจกรรม SUT Zero Waste Day โดย กองทุนสิ่งแวดล้อม มทส. และ โครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (SEDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น สร้างความเข้าใจกระบวนการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะและประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ลดการสร้างขยะ โดยคิดก่อนใช้ ใช้อย่างรู้คุณค่า และทิ้งอย่างชาญฉลาด ตลอดทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเริ่มจากประชากรภายในมหาวิทยาลัย กระตุ้นให้นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรในมหาวิทยาลัย เกิดการนำองค์ความรู้จากงานวิจัย ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่จะช่วยวิเคราะห์ประเด็นปัญหา นำเสนอแนวทางและออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหา ไปบูรณาการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าว
ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าวในตอนท้ายว่า “นอกจากนี้ กิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วย การจัดแสดงผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ๑.ระบบการจัดการขยะสดด้วยเครื่องย่อยเศษอาหาร Smart Compost Bin ๒.Raw Material ที่มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดีขึ้น โดยทำมาจากเศษขยะ ๓.U:PO อิฐบล็อกปูพื้นจากขยะพลาสติก รวมทั้งการนำเสนอแนวคิดและผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของนักศึกษา เพื่อขอรับทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม มทส. นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ Startup Camp #18 Zero Waste ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม นิทรรศการจากชมรม SE ให้ความรู้เกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม โดยเฉพาะด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นิทรรศการจากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมร่วม Sharing and Talking “Zero Waste” Inspiration สร้างขยะให้น้อยที่สุด การรับบริจาคขยะอิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้ามือสอง ธนาคารวัสดุรีไซเคิล ร้านอาหารที่ไม่ใช้ภาชนะพลาสติก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙–๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ ณ อาคารเรียนรวม ๑ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๔ วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
851 1,539