8thDecember

8thDecember

8thDecember

 

February 07,2020

หออุดรธานียื่นข้อเสนอส.ว. หนุนนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าศูนย์กลางโลจิสติกส์

ส.ว.ชื่นชมนิคมอุตสาหกรรมฯ ด้าน “เสี่ยปิง” ประธานหอฯ ยื่นหนังสือ ๓ ข้อ ให้ รฟท.สนับสนุนระบบราง ๑.๘-๒.๓ กม. เชื่อมต่อขนส่งภายในนิคมฯ หวังให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคอีสาน

ตามที่เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ ที่ห้องกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น ๕ อาคาร ๑ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี พลโทจเรศักณิ์อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) นำคณะลงพื้นที่อุดรธานี โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับและประชุมร่วมกับคณะสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหารบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัดและคณะ เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา พร้อมติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี โดยมีส่วนราชการ และผู้นำหน่วยงานเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดในด้านต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านการศึกษา และวัฒนธรรม เป็นต้น

หอการค้า’ยื่นข้อเสนอ

ภายหลังการประชุม นายสวาท (ปิง) ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ได้ยื่นหนังสือเพื่อรับการสนับสนุนผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ใน ๓ เรื่อง ประกอบด้วย ๑.ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้าทางรางสำหรับโครงการ Logistics Park ในนิคมฯ อุดรธานี โดยขอให้กระทรวงคมนาคมสนับสนุนการก่อสร้างรางรถไฟภายนอกโครงการในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากสถานีหนองตะไก้เชื่อมต่อศูนย์ Logistics Park ของนิคมฯ อุดรธานี เป็นระยะทาง ๑.๘ กิโลเมตร หรือ ๒.๓ กิโลเมตร (โดยพิจารณาด้านเทคนิคของการรถไฟ) สำหรับการก่อสร้างระบบทางภายในโครงการ ระยะทาง ๑.๒ กิโลเมตร บริษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุนเอง ทั้งนี้สอดคล้องกับมติ ครม.สัญจร เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ ณ จังหวัดอุดรธานี

๒.การให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ อุดรธานี โดยขอให้พิจารณาขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายให้ครอบคลุมเขตนิคมฯ อุดรธานี เพื่อให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ อุดรธานี ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย หรือเท่ากับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ทั้งนี้สอดคล้องตามมติ ครม.สัญจร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ จังหวัดหนองคาย และ ๓.การก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมรอบนิคมฯ อุดรธานี โดยขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเรื่อง การสำรวจและศึกษาเพื่อก่อสร้างถนน Local Road เชื่อมต่อจากถนนเลียบทางรถไฟหนองตะไก้จนถึงใจกลางเมืองอุดรธานี ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ซึ่งได้ก่อสร้างระยะแรกเสร็จไปแล้ว ๑ กิโลเมตร เพื่อเพิ่มเส้นทางสัญจรรองรับการเติบโตของชุมชนรอบนิคมฯ อุดรธานี และสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในพื้นที่ในอนาคต ซึ่งสอดรับกับการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ได้ให้ความสำคัญ สนับสนุนและลงทุนไว้บางส่วนแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามมติ ครม.สัญจร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ จังหวัดหนองคาย

หวังสร้างงานสร้างรายได้

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กล่าวว่า “หอการค้าจังหวัดอุดรธานี พร้อมสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งหากสามารถดำเนินการสำเร็จจะช่วยให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยหอการค้าฯ ได้นำเสนอโครงการในทุกช่องทางที่จะสามารถสร้างโอกาสความสำเร็จให้กับโครงการฯ ได้ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยส่งเสริม ผลักดันโครงการให้มีความก้าวหน้าได้”

ส.ว.เยี่ยมชมพื้นที่นิคมฯ

ต่อมา พลโทจเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมี นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหารบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปข้อมูล ซึ่งมีนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ร่วมลงพื้นที่ ณ โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี ทั้งนี้เพื่อรับทราบความก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตามข้อเสนอของภาคเอกชนในการสนับสนุนการจัดสร้างโครงการ

พลโทจเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปตามโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) ดูแลงานฝ่ายบริหารในพื้นที่ ๑๒ จังหวัดภาคอีสานตอนบน ประกอบด้วย มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธ์ อุดรธานี นครพนม บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และสกลนคร เพื่อติดตามงาน โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ โดยได้ประชุมร่วมกับส่วนราชการในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ได้รับทราบข้อมูลในหลายประเด็น

ชื่นชมนิคมฯ ก้าวหน้า

“โดยภาคเอกชน ได้นำเสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งรับทราบและเคยลงพื้นที่แล้ว การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือว่ามีความก้าวหน้า และพัฒนาขึ้นมาก ต้องชื่นชมภาคเอกชนที่มีความเสียสละในการทำงาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก อีกทั้งแนวโน้มการเกิดปัญหาภัยแล้ง ทำให้รัฐบาลค่อนข้างมีความห่วงใยประชาชนซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาภัยแล้ง การหาแนวทางเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ประธานกรรมาธิการด้านแรงงาน มีแนวคิดในการเพิ่มรายได้ เพิ่มศักยภาพแรงงาน ทำอย่างไรประชาชนจะมีงานทำ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งเพื่อการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นคุณภาพของประชาชนจะต้องได้รับการพัฒนา ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลมีการพัฒนาค่อนข้างมาก ทั้งรางรถไฟ เครื่องบิน จังหวัดอุดรธานีมีศักยภาพในการเชื่อมระหว่างภูมิภาคได้มาก ใกล้พื้นที่ด่านพรมแดน อีกทั้งการรถไฟของประเทศจีนเข้ามาที่ สปป.ลาว แล้ว ในส่วนระบบรางของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก” พลโทจเรศักณิ์ อานุภาพ กล่าว

ส.ว.รับเรื่องเสนอ กมธ.คมนาคม

พลโทจเรศักณิ์ กล่าวอีกว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีความพยายามจัดสร้างมาเป็นระยะเวลานานกว่า ๓๐ ปี ซึ่งน่าจะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น หลายๆ ภาคส่วนให้ความสำคัญทั้งการเตรียมกำลังคน การพัฒนาการศึกษาต่างๆ ทั้งด้านอาชีวะ หรืออุดมศึกษา เพื่อเตรียมการด้านอาชีพในระยะต่อไป ซึ่งหากเราจะพัฒนาประเทศจากภาคเกษตร เป็นเกษตรอุตสาหกรรม จะต้องเตรียมความพร้อมมากขึ้น แต่จังหวัดอุดรธานี จะมีอุปสรรคเล็กน้อย คือ การขอให้มีการวางระบบรางเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรม โดยสถานีหนองตะไก้ ส่วนตัวแล้วเห็นด้วย หากได้รับการส่งเสริมจะทำให้นิคมฯ ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และจะได้ประโยชน์ทั้งด้านแรงงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายบริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยจะรับเรื่องนี้ไปหาแนวทางผลักดันสู่ขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งการส่งเรื่องให้กรรมาธิการคมนาคมที่มีความรับผิดชอบโดยตรง กรรมาธิการด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งกรรมาธิการในแต่ละด้านจะผลักดันตามช่องทางของกรรมาธิการนั้นๆ ต่อไป”

ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ เยือน

ล่าสุดเมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายณรงค์ เชื้อบุญช่วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ไปยังโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี เพื่อเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ โดยมีนางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด และนายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ ให้การต้อนรับ 

นายณรงค์ เชื้อบุญช่วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนในฐานะผู้แทนของสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฯ และรับคำร้องดังกล่าว หลังจากนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมหารือปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเกิดขึ้น ตามความประสงค์ของภาคเอกชนที่ต้องการสร้างนิคมฯ ให้เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง มีที่ทำงานใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว ลดปัญหาการจราจรที่แรงงานต้องกลับมาเยี่ยมครอบครัวในช่วงเทศกาลสำคัญ

สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการใหญ่โดยภาคเอกชน ถือว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การกำกับของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐอยู่แล้ว ที่จะต้องส่งเสริมเมื่อมีโรงงานมาตั้ง ก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ รวมทั้งภาคอีสานด้วย
ซ้อหงส์’ระบุสถานีไฟฟ้าย่อยพร้อมใช้

นางอรพิน (ซ้อหงส์) พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการบริหารฯ กล่าวว่า การพัฒนาโครงการระยะที่ ๑ งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย ขนาด 115Kv แล้วเสร็จ พร้อมจ่ายกระแสไฟ งานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำและงานปรับระดับแปลงขายมีความคืบหน้าไปมากกว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ และพร้อมจะพัฒนาสาธารณููปโภคส่วนอื่นๆ และจัดสรรที่ดินขายเป็นอันดับต่อไป แผนโลจิสติกส์พาร์คบนพื้นที่ที่เตรียมไว้กว่า ๖๐๐ ไร่ จะให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางบก และเชื่อมกับระบบขนส่งทางราง ณ สถานีรถไฟหนองตะไก้ ซึ่งพร้อมจะเปิดให้บริการภายในปี ๒๕๖๓ ก็รอคำตอบจากทางการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐจะให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนว่าจะมากน้อยแค่ไหน

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๔ วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


880 1,555