28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

February 07,2020

LRT สายสีเขียวขยับอีก เปิดเวทีย่อยครั้งสุดท้าย พิจารณาเพิ่มเส้นทางกลับ

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

LRT สายสีเขียว โคราชเตรียมประชุม ๔ กลุ่มย่อย เน้นประชาชนตามแนวเส้นทางที่จะได้รับผลกระทบ พิจารณาเพิ่มเส้นทางขากลับ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ รฟม.เผยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ออกแบบ และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดจะดำเนินการเสร็จเดือนพฤษภาคมนี้

ตามที่ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาและวิเคราะห์ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดระบบการจราจรจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แผนแม่บทการจัดระบบการจราจร และแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะหลักจังหวัดนครราชสีมา และดำเนินการศึกษารูปแบบระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม โดยเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบขนส่งขนาดรอง รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ โดย สนข.ได้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) หรือ Tram way เงินลงทุน ๓๒,๖๐๐ ล้านบาท ดำเนินการ ๓ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ วงเงิน ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท ประกอบด้วย สายสีเขียว เริ่มต้นที่ตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ โดยใช้แนวถนนมิตรภาพ และเลี้ยวเข้าถนนสืบศิริ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กม. ๒๐ สถานี และสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง ๙.๘๑ กม. ๑๙ สถานี, ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๒.๑๖ กม. ๑๗ สถานี และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง หลังจากนั้นมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการในรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP โดยเริ่มจากสายสีเขียว

จากนั้น ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ ๑ (ปฐมนิเทศ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์) ซึ่งตัวแทนหลายภาคส่วนกังวลเส้นทางเชื่อมต่อยังไม่ครอบคลุม เสี่ยงขาดทุน โดยเสนอให้ รฟม.ศึกษา และปรับเส้นทางใหม่ให้ครอบคลุม 

โดยเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๓๐ น. ที่ห้องประชุมนางสาวบุญเหลือ ชั้น ๒ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายสมเกียรติ  วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน รับฟังผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา ชี้แจงแผนการดำเนินงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ล่าสุด กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา NMGC ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้กำหนดให้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๑๒-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เพื่อชี้แจงข้อมูลผลการศึกษาแนวเส้นทาง รูปแบบการพัฒนาของโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งหารือถึงความเหมาะสมและพอเพียงของมาตรการต่างๆ ต่อประชาชน หน่วยงานราชการ ผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ และรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมาย

โดยเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายอภิชาติ จันทร์แสงกุล นักวิชาการเศรษฐกิจและสังคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “LRT สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๔ ตำบล คือ บ้านใหม่ ในเมือง หัวทะเล และบ้านเกาะ โดยแบ่งประชุมกลุ่มย่อยออกเป็น ๔ กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ ๑ พื้นที่ ต.บ้านใหม่ และเขตเทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน ๒๘ ชุมชน, กลุ่มที่ ๒ พื้นที่ ต.หนองไผ่ล้อม และเทศบาลนครฯ จำนวน ๒๔ ชุมชน, กลุ่มที่ ๓ พื้นที่เขตเทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน ๒๕ ชุมชน และกลุ่มที่ ๔ พื้นที่ ต.บ้านเกาะ และเขตเทศบาลนครฯ บางส่วน จำนวน ๑๐ ชุมชน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มละ ๕๐-๖๐ คน โดยกลุ่มเป้าหมายการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จะเน้นประชาชนที่อยู่ตามแนวเส้นทาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก”

“การประชุมย่อยจะมีทั้งหมด ๒ ครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ หลังจากนั้นจะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งประมาณปลายเดือนมีนาคม แต่ยังไม่ได้กำหนดวันและเวลา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ออกแบบ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นนำรายงานเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อขออนุญาตก่อสร้างเพื่อพิจารณาก่อน เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ระยะเวลาการก่อสร้างต่างๆ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะเริ่มเมื่อใด” นายอภิชาติ กล่าว

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ ๒ จะนำเสนอแนวเส้นทาง สถานี และรูปแบบคร่าวๆ รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมว่า มีผลกระทบและมีมาตรการในการดำเนินการอย่างไรเพื่อลดผลกระทบ ทั้งนี้จากการประชุมครั้งก่อน มีการเสนอแนะช่วงขากลับ ให้เพิ่มเส้นทางจอมสุรางค์ยาตร์ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้นำมาพิจารณา และคาดว่าจะนำเสนอในที่ประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยจะสอบถามความเห็นของประชาชน เนื่องจากถนนโพธิ์กลางและถนนมุขมนตรีค่อนข้างแคบ ก็จะนำมาพิจารณาและเสนอในการประชุมด้วย

ทั้งนี้ การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ ๒ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๒-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ โดยแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มย่อย ดังนี้ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ กลุ่มที่ ๑ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ที่ห้องประชุมราชสีมาจารย์ สำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๓ อ.เมืองนครราชสีมา, กลุ่มที่ ๒ เวลา ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น. ชั้น ๒ โรงแรมลีโอซอ (Leosor Hotel) วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ กลุ่มที่ ๓ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. และกลุ่มที่ ๔ เวลา ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๓ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๔ วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


752 1411