18thMay

18thMay

18thMay

 

June 18,2020

ศาลหลักช้างเผือก

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เกิดช้างเผือกพัง (เพศเมีย) ๒ ช้าง คล้องได้ในแขวงเมืองภูเขียว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา กรมการเมืองภูเขียวนำช้างมามอบให้เจ้าพระยานครราชสีมา เพื่อนำไปถวายในหลวงต่อไป และได้นำช้างมาพักอยู่นอกเมืองทางด้านเหนือผูกไว้กับเสาที่ได้นำมาด้วย เมื่อนำช้างเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เอาเสาไปด้วย หลังจากพนักงานกรมคชบาลตรวจลักษณะช้างแล้วนำความกราบบังคมทูลถวายรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้ขึ้นระวางรับไว้เป็นพระราชพาหนะและพระราชทานนามว่า พระอินทรไอยราช้าง และ พระเทพกุญชรช้าง

พระอินทรไอยรา พระยาช้างที่พระยานครราชสีมานำทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างพังเผือกตรี ลูกเถื่อน สมโภชขึ้นระวาง ณ วัน ๑ฯ๙ ๔ ค่ำ ปีขาล ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) พระราชทานนามว่า พระอินทรไอยรา รัตนาเคนทร์ คเชนทรบดินทร์ อินทรังสรรค์ อนันตคุณ สมบูรณเลิศฟ้า ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ณ วัน ๖ฯ๓๔ ค่ำ ปีวอก ๑๑๗๔ (พ.ศ.๒๓๕๕) ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระอินทรไอยรา คชาชาติฉัททันต์ พิศผิวพรรณเผือกตรีสียอดตองตากแห้ง วิศณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า

สำหรับ พระเทพกุญชร เป็นช้างเผือกพังเอก ลูกเถื่อน สมโภชขึ้นระวาง ณ วัน ๑ฯ๖๒ ค่ำ ปีระกา ๑๑๖๓ (พ.ศ.๒๓๔๔) พระราชทานนามว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต เอกชาติฉัททันต์ อนันตคุณ สมบูรณเลิศฟ้า ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ณ วัน ๖ฯ๓๒ ค่ำ ปีวอก ๑๑๗๔ (พ.ศ.๒๓๕๕) ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมเรศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลนาเคนทร์ คเชนทรเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิไลลักษณเลิศฟ้า

เสาที่ผูกช้างเผือกเป็นไม้ตะเคียนหินไม่ปรากฏเป็นหลักฐานว่าขุดฝังเพื่อผูกช้างในวันเดือนปีใด แต่ที่ว่าอยู่นอกเมืองทางด้านเหนือนั้น ก็คือทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงเรียนสุรนารีวิทยาปัจจุบัน (มุมโรงเรียนสุนารีวิทยา ตรงข้ามกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัด) ซึ่งที่ดินตรงนี้แต่เดิมเป็นที่ดินของท่านคุณหญิงสารภี อินทรกำแหง ณ ราชสีมา ภริยาของพระยากำแหงสงคราม (จัน ณ ราชสีมา) เจ้าเมืองนครราชสีมา ในสมัยรัชกาลที่ ๕

ต่อมามีผู้คนไปสักการะกราบไว้ เอาผ้าแพรไปผูก เนื่องจากเป็นเสาที่ผูกช้างเผือกซึ่งถือว่าเป็นสัตว์มงคลคู่บ้านคู่เมือง นอกจากนี้อาจมีเรื่องชาดกเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นพระยาช้างที่ทรงบำเพ็ญบารมี เป็นต้น บ้างก็เป็นเพราะความเชื่อ บนบานให้หายจากเจ็บไข้ได้ป่วย ให้มีโชคลาภในการพนัน ให้ค้าขายคล่อง เดินทางปลอดภัย คุ้มกันไฟไหม้ เป็นต้น ชาวเมืองเรียกกันว่า “หลักช้างเผือก” ในช่วงนั้นยังมีลักษณะไม่เป็นศาลเจ้า เป็นเพียงเพิงหลังคาสังกะสีเท่านั้น

ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีการขยายถนนมิตรภาพด้านหน้าโรงเรียนสุรนารี โดยบริษัทฝรั่งเป็นผู้ก่อสร้างให้รื้อถอนเสาหลักช้างเผือกออก แต่คนงานไทยไม่มีใครกล้ารื้อถอน หลายคนเกิดความกลัวเพราะเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่นายช่างฝรั่งยังคงยืนยันให้รื้อถอน โดยยอมให้มีการตั้งศาลทำพิธีย้ายไปตั้งที่ฝั่งตรงข้าม ในพื้นที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัจจุบัน ต่อมาปรากฏว่านายช่างฝรั่งคนนั้นขับรถไปประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ผู้คนลือกันว่า เป็นเพราะไปถอนเสาหลักช้างเผือก ยิ่งทำให้คนเชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลักช้างเผือก ชาวบ้านเรียกว่า “แรง” 

ต่อมาทางการและประชาชนเห็นว่า หลักช้างเผือกซึ่งชาวเมืองและคนทั่วไปศรัทธา แต่ตั้งอยู่ในที่ไม่เหมาะสม และมีภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงาม กล่าวคือ อยู่ติดชิดถนนและคับแคบ ไม่สะดวกในการสักการะ จึงย้ายมาตั้งอยู่ตรงมุมถนนมนัสตัดกับถนนพลแสน ในที่สวนสาธารณะริมคูเมืองของเทศบาลนครนครราชสีมาในปัจจุบัน ห่างจากที่เดิมประมาณ ๑๐๐ เมตร มีเอกชนจัดสร้างเป็นศาลครอบเสาหลักช้างเผือก ซึ่งคนจีนนับถือมาก

เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เมื่อมีการตั้งชื่อถนนเส้นจากที่ตั้งเสาหลักช้างเผือกเดิม ซึ่งเริ่มจากถนนมิตรภาพตรงไปผ่านโรงพยาบาลมหาราชถึงบ้านประโดกและบ้านหมื่นไวย จึงให้ชื่อถนนเส้นนี้ว่า “ถนนช้างเผือก”

จากเสาที่ใช้ผูกช้างเผือกได้มีการทำนุบำรุงมาเป็น “ศาลเจ้าพ่อช้างเผือก” และจากจุลศักราช ๑๑๕๖ ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๖๓) เป็นเวลา ๒๒๖ ปีแล้ว ยังมีคนศรัทธาไม่เสื่อมคลาย

 

(ข้อมูล : “ตำนานเมืองนครราชสีมา” ใน เที่ยวตามทางรถไฟ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ.๒๕๐๕, “พระยาช้างกรุงรัตนโกสินทร์” ใน รวมเรื่องเมืองนครราชสีมา กรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๑๑, โคราชในอดีต @korat.in.the.past. สืบค้นจาก, Blog Gang https://www.bloggang.com/viewdiary. php?id=tuk-tukatkorat&month.

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๐ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


701 1,350