9thMay

9thMay

9thMay

 

June 18,2020

ดงพญาไฟ

ในบรรดาป่าดงของเมืองไทยที่ถูกกล่าวขานและรู้จักกันมากที่สุดก็คือ “ดงพญาไฟ” ดงพญาไฟเป็นเทือกเขาสูงเหมือนเขื่อนแผ่นดินหรือกำแพงกั้นระหว่างภาคกลางและกรุงเทพฯ กับเมืองนครราชสีมาและภาคอีสาน

แม้ดงพระยาไฟจะเป็นเขื่อนเขาสูงทุรกันดารพียงใด แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องข้ามช่องเขาของดงนี้ในการติดต่อคมนาคม ในสมัยโบราณการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอื่นๆ ในภาคอีสาน ไปได้ ๓ ทาง โดยจะต้องผ่านช่องเขา ดงพระยาไฟซึ่งมี ๓ ด้าน

ด้านที่ ๑ ช่องระหว่างมวกเหล็กกับปากช่อง เป็นช่องข้ามไปมาระหว่างเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา (เมืองนคร ราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์) 

ด้านที่ ๒ ช่องดงพระยากลางหรือที่เรียกกันว่าช่องนางสระผม อยู่ในอำเภอด่านขุนทดเป็นทางขึ้นลงไปเมืองชัยบาดาล หรือช่องเขาตาบัว อำเภอจันทึกและช่องกระบอก อำเภอจัตุรัส เป็นทางขึ้นลงไปเมืองชัยบาดาล รวมทั้งช่องบึงมะเริงในอำเภอด่านขุนทดลงไปยังอำเภอสูงเนิน เมืองนครราชสีมา ดังนั้น จากภาคกลางจะไปมณฑลอุดร (เมืองอุดรธานี เลย หนองคาย ขอนแก่น สกลนคร นครพนม) ต้องผ่านเขตเมืองนครราชสีมา

ด้านที่ ๓ ช่องเขาบรรทัดที่ขึ้นจากเมืองปราจีนบุรีมี ๓ ช่อง คือ ช่องสะแกราช ช่องบุกขนุน (ซับสีดอ) และช่องตะโก ที่เรียกว่าช่องเรือแตกนั้นคงเป็นช่องใดช่องหนึ่งใน ๓ ช่องนี้ ซึ่งจากกรุงเทพฯ จะไปมณฑลอุบล (เมืองอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครจำปาศักดิ์) จะต้องเข้าเมืองปราจีนบุรีผ่านช่องดังกล่าว ซึ่งใช้เป็นเส้นทางขึ้นลงระหว่างเมืองนครราชสีมากับเมืองปราจีนบุรี เทือกเขาดงพระยาไฟเป็นป่าดงดิบชื้นรกชัฏขนาดใหญ่ ต้นไม้ที่ขึ้นสูงหนาแน่นมีหมอกปกคลุมหนาทึบจนไม่เห็นแสงตะวัน เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น เสือ ช้าง หมี กระทิง งู ทาก ฯลฯ เล่ากันว่า ความวิเวกสอดแทรกด้วยเสียงโหยหวนเยือกเย็นของชะนีป่า ระคนเสียงนกและจักจั่นเรไรจนทำให้รู้สึกวังเวงจนเสียวสันหลัง ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทำให้ต้นไม้มีขนาดใหญ่โต เชื่อว่ามีเจ้าหรือเทวาดผีสาวสถิตย์อยู่ งูเหลือมราวๆ ต้นมะพร้าว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าถึงภูตผีป่า มีคนสร้างเรื่อง “เสือสมิง” จนเป็นที่หวาดกลัว และที่หวั่นกลัวกันที่สุดก็คือไข้ป่า (ไข้จับสั่น หรือ ไข้มาลาเรีย) ชุกชุม ซึ่งผู้ผ่านดงนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระธุดงค์ พ่อค้า หรือนายฮ้อย มักจะได้รับอันตรายจากสัตว์ร้ายหรือไม่ก็เป็นไข้ป่าล้มตายกัน ถือกันว่าเป็นดงร้าย ในช่วงที่มีการก่อสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีคนงานเป็นไข้ป่าล้มตายจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีช่างฝรั่งชาวเดนมาร์กด้วย 

นอกจากนี้ ดงพระยาไฟยังเต็มไปด้วยโขดหินระเกะระกะ เส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดทุรกันดารที่สุด แม้แต่เกวียนก็ไม่สามารถไปได้ ต้องใช้การเดินเท้าอย่างเดียว เลียบไปตามไหล่เขาบ้าง เดินไต่ไปตามสันเขาบ้าง ทุกคนจะมีบั้งทิง (กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำ) สะพายหลัง ส่วนการขนส่งสินค้านั้นพวกพ่อค้าจะสะพายหรือไม่ก็แบกหามสินค้ากันเป็นขบวนข้ามไป คนที่ว่าเก่งกล้าอย่างไรก็ไม่กล้าไปคนเดียว จึงมักจะไปกันเป็นกลุ่มเสมอ เมื่อถึงเวลาพักแรมก็จะต้องจัดเวรยามไว้ตลอดคืน คอยเฝ้าระวังสัตว์ร้ายและต้องคอยเติมฟืนตลอดไม่ให้ไฟมอดดับ ถ้าเผลอหลับและไฟมอดดับเคยมีเสือย่องมาคาบคนไปกิน ดังนั้น เมื่อตื่นขึ้นมาก็มักจะนับพรรคพวกว่าเหลืออยู่กันครบหรือไม่ จึงเป็นที่ครั่นคร้ามหวาดกลัวของผู้ที่จะเดินทางเส้นนี้ การเดินทางใช้เวลาประมาณถึง ๒ วัน ๒ คืน จึงจะพ้นดงพระยาไฟ                                      ที่บ้านจันทึก จนมีคำกล่าวกันว่า ถ้าใครผ่านดงพญาไฟได้ นับว่ามีบุญจริงๆ 

ที่เรียกว่า “ดงพญาไฟ” นั้นไม่ปรากฏที่มาเป็นหลักฐาน เข้าใจว่าส่วนหนึ่งมาจากเมื่อหน้าแล้งมักจะเกิดไฟป่าแดงฉานไปทั้งป่ากว้าง ประกอบกับคนที่เป็นไข้ป่าจะมีอาการหนาวสั่นครั้นเมื่อตัวร้อนก็จะร้อนดังไฟ จึงเรียกดงนี้ว่า “ดงพญาไฟ” บ้างก็เรียก “ป่าพระเพลิง” เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีผู้พยายามจะผูกโยงกับนิทานเรื่องเมืองขวางทะบุรี กล่าวคือ คัทธกุมารท่องเที่ยวมาถึงเมืองขวางทะบุรีเห็นเป็นเมืองร้าง พบนางกองสีที่รอดชีวิตคนเดียว นางเล่าว่า ถ้าจุดไฟและมีควันขึ้นไปบนท้องฟ้าเมื่อใด จะมีงูฝูงใหญ่ลงมาทำร้ายผู้คนจนหมดสิ้น คัทธกุมารให้ทหารจุดไฟเผาฟืนกองมหึมาเป็นควันมืดมัวขึ้นไปบนท้องฟ้า พระยาแถน (เทวดา) ได้ปล่อยฝูงงูลงมา คัทธกุมารและทหารได้สังหารงูตายหมดสิ้น บริเวณที่ก่อกองไฟกลายเป็นป่าดงดิบรกชัฏ เรียกว่า “ดงพญาไฟ”

ในปี พ.ศ.๒๓๙๙ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเมืองนครราชสีมา โดยผ่านช่องทางดงพระยาไฟ ได้พบเห็นความทุรกันดารและอันตรายที่น่าสะพรึงกลัว แต่ทรงกลับเห็นว่าดงพญาไฟอากาศเย็นสบายดีคงเป็นตลอดทั้งปีไม่ร้อนเหมือนกรุงเทพฯ ไม่สมควรเรียกดงพญาไฟจึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ให้เปลี่ยนชื่อ “ดงพญาไฟ” เป็น “ดงพญาเย็น” เพื่อให้ผู้คนหายกลัวหรือไม่กล้าเดินทางผ่านเส้นนี้ 

รัฐมีนโยบายดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Facilities) เช่น ระบบการคมนาคม รถไฟ การขนส่ง โดยมีเป้าหมายให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโต ได้มีการสร้างถนนมิตรภาพจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒  

ดังนั้น จึงมีการระเบิดภูเขาหินปูนไปทำปูนซีเมนต์และการก่อสร้างต่างๆ ส่วนรถไฟในสมัยก่อนใช้เครื่องจักรไอน้ำต้องใช้ไม้เป็นฟืนและเป็นไม้หมอน ป่าไม้ได้ถูกทำลายไปทีละเล็กละน้อยอย่างไม่รู้สึกตัว กอปรกับประชากรเพิ่มขึ้นทำให้มีการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย ภูเขาหลายแห่งกลายเป็นเขาหัวโล้น สัตว์ป่านานาชนิดไร้ที่อยู่ตามธรรมชาติ ต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด การสาธารณสุขทำให้ไข้ป่าไม่น่ากลัวเหมือนก่อน ณ วันนี้แทบไม่เห็นร่องรอยของความเป็นดงพระยาไฟ ที่เป็นเทือกเขาสูงมีป่าไม้ขึ้นหน้าทึบ และอันตรายที่น่าสะพรึงกลัวหลงเหลืออยู่เช่นในอดีต คงเหลือแต่ความทรงจำเท่านั้น

 

(ข้อมูล : เที่ยวตามทางรถไฟ พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, จดหมายเหตุ เรื่องมณฑลนครราชสีมา พ.ศ.๒๔๖๗ พระยาเพ็ชร์ปาณี, จดหมายเหตุของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ. 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๑ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


764 1,543