June 27,2020
โคราช’บ้านหลังใหม่นักลงทุน สุวัจน์’แนะราชภัฏร่วมพัฒนาอีสาน
‘สุวัจน์’ เสนอทิศทางราชภัฏหลังโควิด-๑๙ ย้ำโคราชเป็นบ้านหลังใหม่ของนักลงทุน แนะส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดประชุมเสวนาวิชาการ ทางออนไลน์ในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยหลัง COVID-19” ซึ่ง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาหลัง COVID-19” โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้
“วันนี้ต้องกลับมาทบทวนเกี่ยวกับบทบาทภายในมหาวิทยาลัยว่า จะเปลี่ยนไปในทิศทางใดบ้าง โดยเฉพาะเรื่อง NEW NORMAL ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในสภาวะโควิด-๑๙ ซึ่งสร้างผลกระทบทุกภาคส่วน ไทยถือเป็นประเทศที่มีระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ เห็นถึงความมีน้ำใจฃองประชาชนภายในประเทศ การเสียสละ การสร้าง Social Distancing การปฏิบัติตนในวิถีใหม่ เป็นความร่วมมือร่วมใจที่ทำให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ ภายใต้คำแนะนำของสาธารณสุข หากมองถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น เมื่อต้องวิเคราะห์ถึงบทบาทในอนาคต มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ จะต้องปรับบทบาทให้ตรงกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตวิถีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ”
เสริมจุดแข็งสร้างจุดยืนทางเศรษฐกิจ
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวต่อไปว่า “ประเทศไทยมีจุดแข็งคือ ระบบสาธารณสุข จึงควรพัฒนาพื้นฐานสาธารณสุขให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อต่อยอดจุดแข็ง เชื่อมโยงไปถึงสุขภาพอนามัย และโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุข สร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย นำจุดแข็งมาสร้างเป็นจุดขายให้กับประเทศ สำหรับเรื่องการท่องเที่ยว มองว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-๑๙ จะเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวชนบท ซึ่งในอนาคตจะขยายการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดต่างๆ ภายในประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดนครราชสีมา มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (เขาใหญ่, วังน้ำเขียว) ก็อาจจะสร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ หรือจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่ถูกพักจากสถานการณ์ก็กลับมาสวยงามอีกครั้ง”
ดังนั้น การท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มไปในทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงวัฒนธรรมและชนบทมากขึ้น และกลับมาเป็นจุดแข็งของประเทศ รวมทั้งประเทศไทยจะเป็นอาหารของโลก จะเห็นได้ว่าจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบทางด้านอาหารมากนัก เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ อุตสาหกรรมด้านอาหารสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น (ข้อมูลจากดัชนีการผลิตเพื่อการส่งออก) ดังนั้น แสดงให้เห็นจุดแข็งของประเทศไทย ๓ ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว และด้านการเกษตร ซึ่งมองเป็นจุดแข็งที่จะสามารถนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจกับจุดแข็งข้างต้น
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจต้องหันมาสนใจประชานิยมในแต่ละด้าน เช่น การลงทุน การท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น นำการรณรงค์การท่องเที่ยวกลับมานำเสนออีกครั้ง สร้างความเป็นชาตินิยม เพื่อให้เกิดการพึ่งพากันภายในประเทศ สร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีด้วยตัวเอง ซึ่งจากตัวเลข GDP ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศถึง ๙๐% ดังนั้น ควรหันกลับมา สร้างฐานรากให้สามารถพึ่งพาตนเอง ทำให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศหมุนเวียน
นักลงทุนเลือกโคราช
นายสุวัจน์ กล่าวว่า “บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจะสามารถพบแนวทางการต่อยอดและสร้างประโยชน์ต่อประชาชนในแต่ละด้าน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้อำเภอปากช่อง (เขาใหญ่) และอำเภอวังน้ำเขียว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ภายในประเทศ ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางมา ประกอบกับไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และระบบคมนาคมที่จะเสร็จสิ้นภายใน ๒ ปี ซึ่งมองว่าจะเป็นเป้าหมายทางธุรกิจการท่องเที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักมากขึ้น”
“ขณะนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราช สีมา กำลังดำเนินการจีโอพาร์คหรืออุทยานธรณี การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี การจัดจำหน่ายสินค้า OTOP ของชุมชน และทำให้อาหารของภาคอีสานเป็นจุดแข็งของประเทศ โคราชเริ่มผลิตเนื้อวากิว ที่กำลังได้รับความนิยม และการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านธรรมชาติ พัฒนาให้เป็นบ้านหลังใหม่ เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ คนจะหันมาสนใจซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัยอย่างถาวร ซึ่งวิถีชีวิตใหม่ทำให้คนทำงานที่บ้านมากขึ้น ผลการประเมิน WORK FROM HOME มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทำงานที่บริษัท สามารถอยู่ที่บ้าน ออกกำลังกาย มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น และการเติบโตทางเทคโนโลยีก็ส่งเสริมให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นบ้านหลังใหม่ของนักลงทุนและนักธุรกิจต่อไป” นายสุวัจน์ กล่าว
พัฒนาเมืองอุตสาหกรรม
นายสุวัจน์ กล่าวว่า “การบริหารงานสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง จะทำให้พื้นที่ทางธรรมชาติสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อสุขภาพของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาการบริการด้านอนามัยของจังหวัดนครราชสีมา และด้านอุตสาหกรรมที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการบิน แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ทำให้พื้นฐานความเป็นเมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกสามารถขยายตัวนำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตใหม่เข้ามาในภาคอีสานมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของโคราชและภาคอีสาน”
“จากภาพรวมของสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ การหาช่องทางโอกาสจากผลกระทบ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาอาจจะใช้โอกาสเหล่านี้ สนับสนุนภาคอีสานให้เติบโต ตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัย ที่ต้องการสนับสนุนความต้องการของท้องถิ่น นำประเด็นต่างๆ เหล่านี้มาต่อยอดและให้การสนับสนุนต่อไป”
บทบาทมหา’ลัย หลังโควิด-๑๙
นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า “สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะนำมาเสริมให้กับท้องถิ่น ภายใต้วิถีชีวิตใหม่ ที่จะทำให้การพัฒนาคนในภาคอีสานดีขึ้น อาจจะต้องปรับหลักสูตร เพื่อผลิตนักศึกษาและบุคลากรให้สอดคล้องกับโอกาสทางเศรษฐกิจ ปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องให้มากขึ้น ทั้งเรียนภายในห้องและระบบ E-learning หรือสนับสนุนการเรียนภายในสถานประกอบการ ซึ่งจะทำให้หลักสูตรต่างๆ หลากหลายมากขึ้น”
“การผลิต SME รุ่นใหม่ ผลิต MICRO SME หรือธุรกิจ Startup เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ พัฒนาระบบภาคเกษตร Smart Farmer, Smart Farming ให้เกิดขึ้น เพื่อชูเมืองอาหารของภาคอีสานให้ดังก้องโลก พัฒนาภาษา เพื่อจะนำไปสู่เทคโนโลยี ภาษาทำให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้กว้างขึ้น สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้มากขึ้น แนะนำภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ที่จะสอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกและสอดคล้องกับนักลงทุน นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังจังหวัดนครราชสีมา ควรเน้นให้ความสำคัญกับความรู้ด้านภาษาต่อประชาชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมรองรับกับระบบเศรษฐกิจวิถีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น การให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยี ปัจจุบันถูกนำมาใช้สำหรับการเรียนการสอนมากขึ้น จึงต้องพัฒนาบุคลากรทางเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยมากขึ้น” นายสุวัจน์ กล่าว
นายสุวัจน์ กล่าวว่า “เมื่อเกิดการว่างงานมากขึ้น ก็ต้องสร้างการ Re-training, Re-skilling สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะ กับแรงงานที่ต้องการจะเปลี่ยนโอกาส เปลี่ยนงาน ให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นแรงงานคุณภาพที่สามารถพัฒนาต่อได้ หรือการดำเนินการจีโอพาร์คเป็นการสร้างชื่อเสียง และวางพื้นฐานการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งทั่วโลกให้ความสนใจและมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ก็ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน”
“ทั้งนี้ เป็นเพียงแนวความคิดที่ต้องการเสนอให้ทุกฝ่ายช่วยกันระดมความคิด เพื่อรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์เพิ่มเติม ทำให้เกิดเป็นแนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของมหาวิทยาลัยต่อไป” นายสุวัจน์ กล่าวปิดท้าย
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๓ วันพุธที่ ๒๔ - วันอังคารที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
840 1,501