29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 13,2020

เล็งแก้รถติด‘แยกหัวทะเล’ ‘ทางลอด & สะพานข้าม’ บ้านเอ็งต้องการแบบไหน?

กรมทางหลวงตั้งโจทย์ศึกษา แก้ปัญหารถติดหนักบริเวณแยกหัวทะเล ถามระหว่างอุโมงค์ทางลอดกับสะพานข้ามแยก คนโคราชต้องการแบบไหน? คาดใช้เวลาศึกษา ๑ ปี ด้านประชาชนห่วงน้ำท่วมขัง รวมถึงเศรษฐกิจในเขตชุมชน แย้งแก้ปัญหาจราจรได้ ต้องแก้ปัญหาปากท้องได้ด้วย 

 

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่โรงแรมปัญจดารา จ.นครราชสีมา นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ประธานการประชุม พร้อมด้วยนายประยุทธ ยิ่งหาญ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง นายเลิศชัย นามวิชัยศิริกุล รองนายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล และประชาชนกว่า ๗๐ คน ร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ ๑) โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) โดยมี นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ จากบริษัท สยาม เยนเนอรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และนายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากบริษัท เอ็นทิค จำกัด เป็นผู้ให้ข้อมูลและรายละเอียด

ความเติบโตของเมืองโคราช

นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราช สีมา กล่าวว่า “กรมทางหลวงมีแนวคิดเริ่มต้นที่จะสำรวจออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางต่างระดับหรือการแก้ปัญหาการจราจรบริเวณแยกหัวทะเล รู้สึกดีใจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา กรมทางหลวงได้พัฒนาโครงข่ายในเขตจังหวัดนครราชสีมาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดชัยภูมิ หรือการเชื่อมต่อในจังหวัดต่างๆ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถือว่าน่าชื่นชม”

“แยกหัวทะเลมีลักษณะเป็นคอขวด และอีกหนึ่งปัญหาคือความแออัดของประชากร ตึกแถว ความไม่สะดวกในการจราจร เพราะต้องเลี้ยวตัดไปตัดมา และเมื่อคืนได้ติดต่อทางโทรศัพท์กับผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นห่วงเรื่องน้ำท่วม จึงได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องน้ำท่วมตำบลหัวทะเลด้วย ซึ่งบริเวณนี้มีน้ำท่วมประจำ ถือเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งของโคราช เมื่อมีการปฐมนิเทศโครงการ เชื่อว่าเป็นการนับหนึ่งที่ดี และคาดว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะให้ร่วมมือหรือแนวทางกับคณะสำรวจได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าจะได้รูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมที่สุดที่จะรองรับความเจริญเติบโตของจังหวัดนครราชสีมาได้ในอนาคต เพราะในช่วงต่อไปนี้จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทุกจุดในโคราชจะมีการพัฒนาไม่แพ้ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อโครงการนี้ตกตะกอนความคิดจากผู้จัดทำโครงการแล้ว อยากยื่นเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเร่งด่วน ถือเป็นโครงการพิเศษที่รอรับงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงานผ่านไปได้ด้วยดี เหมาะสมและรองรับการเจริญเติบโตของจังหวัดนครราชสีมาให้ดีที่สุด” นายวิสูตร กล่าว

ลดการจราจรแยกหัวทะเล

นายประยุทธ ยิงหาญ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง กล่าวว่า “โครงการนี้มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่น ลดอุบัติเหตุ และปรับปรุงบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ให้สามารถรองรับการจราจรได้ทุกทิศทาง รวมถึงการบรรเทาปัญหาในปัจจุบัน เพื่อควบคุมดูแลระดับการให้บริการบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ให้ได้มาตรฐานคุณภาพการให้บริการที่ดีและเกิดประสิทธิภาพการเดินทางในอนาคต เพื่ออำนวยความปลอดภัยตามภารกิจหลักของกรมทางหลวงที่มุ่งพัฒนาระบบทางหลวงให้เกิดความเชื่อมต่อ และความคล่องตัวที่สมบูรณ์”

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า “บริเวณทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (กม.๕+๒๖๒.๐๐๐) กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (กม.๐+๐๐๐.๐๐๐) (แยกหัวทะเล) โดยสภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ชุมชนมีร้านค้าของเอกชนตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางทั้งสอง ทางแยกแห่งนี้มีลักษณะเป็นสามแยกระดับพื้นบริการการจราจรด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร มีปริมาณการจราจรที่ผ่านทางแยกแห่งนี้เกินขีดความสามารถที่ระบบควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจรจะรองรับได้ จึงมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงทางแยกแห่งนี้เพื่อให้บริการของผู้ใช้เส้นทาง เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางการขนส่งสินค้าซึ่งปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ดังนั้นกรมทางหลวงมีแผนพัฒนาทางหลวงให้เป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาของกรมทางหลวง”

“อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน คุณภาพชีวิต วิถีชีวิต หรือมีส่วนได้เสียสำคัญเกี่ยวกับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น หรือสภาพแวดล้อม กรมทางหลวงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงจำเป็นจะต้องให้องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจในโครงการได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการ ตลอดทั้งได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาสำรวจและออกแบบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการศึกษาของโครงการ การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงนับเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาของโครงการ ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่ในขั้นตอนก่อนการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในแต่ละขั้นตอนการศึกษาของโครงการ นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจ ยอมรับและสนับสนุนโครงการ อันจะมีผลต่อความสำเร็จของโครงการ โดยยึดหลักการดำเนินตามแนวทางการจัดทำรายงานการมีส่วนร่วมของประชาชนของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมทางหลวง (ปรับปรุงครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๕) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘” นายประยุทธ กล่าว

การศึกษาด้านวิศวกรรม

นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ กล่าวว่า “ปัจจุบันทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ สายนครราชสีมา-หินโคน เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อการจราจรระหว่างจังหวัดนครราชสีมา กับอำเภอที่อยู่ติดกับพรมแดนประเทศกัมพูชาของจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ และเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างเทศบาลนครนครราชสีมาไปยังประเทศกัมพูชาได้ เส้นทางเริ่มต้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีเส้นทางแยกมาจากถนนมิตรภาพบริเวณทางแยกนครราชสีมา ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา อำเภอเมืองนครราชสีมา ไปทางทิศตะวันออกจากนั้นจึงตัดกับถนนสุรนารายณ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๕) จากนั้นโค้งลงทิศใต้ไปยังอำเภอโชคชัย แล้วตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔ (ช่วงถนนเดชอุดม) เรียกถนนในช่วงนี้ว่า ถนนราชสีมา-โชคชัย และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ สายหัวทะเล-วารินชำราบ เป็นทางหลวงแผ่นดินจังหวัดในภาคอีสานตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเส้นทางขนานในด้านทิศเหนือไปกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔ รวมถึงมีเส้นทางขนานกับแนวเส้นทางของแผนพัฒนาระบบทางหลวงพิเศษระหว่างสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี หรือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖๒ และหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖”

“บริเวณทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔  (กม.๕+๒๖๒.๐๐๐) กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (กม.๐+๐๐๐.๐๐๐) (แยกหัวทะเล) โดยสภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ชุมชน มีร้านค้าของเอกชนตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางทั้งสอง ทางแยกแห่งนี้มีลักษณะเป็นสามแยกระดับพื้นบริการการจราจรด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร มีปริมาณการจราจรที่ผ่านทางแยกแห่งนี้เกินขีดความสามารถที่ระบบควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจรจะรองรับได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงทางแยกแห่งนี้ เพื่อให้การบริการของผู้ใช้เส้นทาง เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางการขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ดังนั้นกรมทางหลวงมีแผนการพัฒนาทางหลวงให้เป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาของกรมทางหลวง”

ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

นายสยุมโพธิ์  กล่าวต่ออีกว่า “อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน คุณภาพชีวิต วิถีชีวิต หรือมีส่วนได้เสียสำคัญเกี่ยวกับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น หรือสภาพแวดล้อม กรมทางหลวงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงจำเป็นจะต้องให้องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจในโครงการได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการ ตลอดจนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาสำรวจและออกแบบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการศึกษาของโครงการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) จึงนับเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาของโครงการ ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่ในขั้นตอนก่อนการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นในแต่ละขั้นตอนการศึกษาของโครงการ นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจยอมรับและสนับสนุนโครงการ อันจะมีผลต่อความสำเร็จของโครงการ โดยยึดหลักการดำเนินตามแนวทางการจัดทำรายงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมทางหลวง (ปรับปรุงครั้งที่ ๓: พ.ศ. ๒๕๕๕) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘”

“โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจราจรที่หนาแน่น ลดอุบัติเหตุ และปรับปรุงบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ให้สามารถรองรับการจราจรได้ทุกทิศทาง รวมถึงการบรรเทาปัญหาในปัจจุบัน เพื่อควบคุมดูแลระดับการให้บริการบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ให้ได้มาตราฐานคุณภาพการให้บริการที่ดีและเกิดประสิทธิภาพการเดินทางในอนาคต เพื่ออำนวยความปลอดภัยตามภารกิจหลักของกรมทางหลวงที่มุ่งพัฒนาระบบทางหลวงให้เกิดความเชื่อมต่อ การเข้าถึง และความคล่องตัวที่สมบูรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจรที่หนาแน่น ลดอุบัติเหตุ รวมถึงบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) รองรับการจราจรได้ทุกทิศทาง เพื่อยกระดับการให้บริการบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ได้มาตราฐานคุณภาพการ ให้บริการที่ดีและเกิดประสิทธิภาพการเดินทางในอนาคต และเพื่อความปลอดภัยตามภารกิจหลักของกรมทางหลวงที่มุ่งพัฒนาระบบทางหลวงให้เกิดความเชื่อมต่อ การเข้าถึง และความคล่องตัวที่สมบูรณ์”

“ลักษณะของโครงการ เป็นการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) จังหวัดนครราชสีมา โดยจะต้องออกแบบทางแยกต่างระดับให้สอดคล้องกับโครงการของกรมทางหลวงในบริเวณใกล้และโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในโครงการนี้จะทำการวิเคราะห์การจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ลดผลกระทบต่อชุมชน สภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการ วิธีการก่อสร้างและการนำเสนอรูปแบบในลักษณะ Stage Construction รวมถึงการรองรับปริมาณจราจรในอนาคต พื้นที่ดำเนินการและพื้นที่โครงการ ในรัศมีศึกษา ๕๐๐ เมตรจากที่ตั้งโครงการ โดยครอบคลุมพื้นที่เขตการปกครองในเทศบาลตำบลหัวทะเล และเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ประกอบด้วย เทศบาลตำบลหัวทะเล จำนวน ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวทะเล หมู่ที่ ๒ บ้านดอนขวาง หมู่ที่ ๔ บ้านหนองสองห้อง และหมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองสองห้องเหนือ เทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน ๒ ชุมชน ได้แก่ ชุมชนท้าวสุระ และชุมชนสุระ-เบญจรงค์” นายสยุมโพธิ์ กล่าว

งานด้านสิ่งแวดล้อม

นายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการ จะนำแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการทางหลวง (Guidelines for Preparation of Environment Impact of A Road Scheme : ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๕ เดือนตุลาคม ๒๕๕๘) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมทางหลวง สำหรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการฯ จะครอบคลุมองค์ประกอบทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ๔ ประเภท ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าคุณภาพชีวิต รวมทั้งสิ้น ๓๗ ปัจจัย มีขอบเขตการศึกษาหลักดังนี้ ๑.การรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล นำข้อมูลทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องตลอดจนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาต่างๆ ในอนาคตของพื้นที่ศึกษาโครงการ จากเอกสาร รายงานการศึกษา การสำรวจภาคสนาม และข้อมูลจากกิจกรรมการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพิจารณาจากข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม ๒.การศึกษารายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย รูปแบบทางแยก รูปแบบถนนโครงการ ระบบระบายน้ำ กิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อนำมาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป ๓.การศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมครอบคลุม ๓๗ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์ประกอบสิ่งแวดล้อม ๔ ประเภท คือทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าคุณภาพชีวิต ครอบคลุมพื้นที่จากเขตทางในระยะศึกษา ๕๐๐ เมตร หรือมากกว่า เพื่อนำข้อมูลประกอบการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของรูปแบบทางเลือกของโครงการ ๔.การคัดกรองปัจจัยเพื่อคัดเลือกรูปแบบทางเลือก เพื่อคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมและเป็นแนวทางในการประเมินกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป ๕.การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของรูปแบบที่เหมาะสม และแนวถนนโครงการโดยวิธี Matrix โดยประเมินทั้งขนาด และทิศทาง โดยการบ่งชี้ทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมถึงระดับความรุนแรงของผลกระทบ ครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินโครงการในระยะต่างๆ ตั้งแต่ระยะเตรียมการก่อสร้าง (Pre-Construction Phase) ระยะก่อสร้าง (Construction Phase) ระยะดำเนินการและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Phase) ๖.การสรุปผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดยการประมวลผลจากการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อมของรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ และนำประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการมาเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการฟื้นฟูและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๗.จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการให้มีความสมบูรณ์ โดยนำผลจากการประชุมสรุปผลการศึกษามาปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมในรายงานฯ เพื่อนำเสนอต่อกรมทางหลวงพิจารณาให้ความเห็นโครงการต่อไป”

เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยนายเลิศชัย นามวิชัยศิริกุล รองนายกเทศบาลตำบลหัวทะเล กล่าวว่า “เกิดข้อสงสัยในโครงการนี้ ตามรูปแบบถนนมีจุดตัดอยู่สามจุด ดูจากรูปแบบที่ผู้จัดทำโครงการนำเสนอมา เป็นการยกระดับตลอดแนวและมีเสายกคานตลอดเส้นทางหรือไม่ ทางลงทางเชื่อมในถนนสายหลักจะมีส่วนทำให้การจราจรที่ติดขัดอยู่แล้วจะมีการปลีกตัวอย่างไร และพื้นที่ตำบลหัวทะเลเป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อฝนตกน้ำไหลอ่วมไปสะสม ขอให้ผู้จัดโครงการทำวิถีการไหลของน้ำให้ดี ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่น้อยที่สุด”

นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ ตอบว่า “ในตอนนี้เรากำลังรวบรวมข้อมูลว่า จะทำลักษณะเป็นสะพานข้ามทางแยกหรือข้ามสองแยก ในส่วนของข้อเสนอแนะ เราจะรับไว้พิจารณาในเรื่องของทางเชื่อมสะพานและตอม่อ ปัญหาระบบน้ำมองเป็นปัญหาหลักเช่นกัน วิศวกรที่ดูแลเรื่องระบบน้ำก็กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลอยู่ เมื่อเราคัดเลือกรูปแบบเสร็จทางทีมระบายน้ำก็จะเข้ามาดูแล เพื่อบรรเทาน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด”

ทำสะพานหรือทางลอด?

นายพงษ์ศักดิ์ ตันติกุล ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแยกหัวทะเล สอบถามว่า “โครงการที่จะดำเนินการนี้เป็นการบริการจราจรรูปแบบลักษณะใด สะพาน อุโมงค์ หรือทางลอด และเมื่อก่อนพื้นที่ในบริเวณนี้ ก่อนที่จะทำสะพานข้ามทางรถไฟ ธุรกิจหรือกิจการค่อนข้างหนาแน่นและคึกคัก แต่หลังจากที่มีสะพานข้ามทางรถไฟผู้ประกอบการบริเวณนั้นได้รับผลกระทบดำเนินกิจการต่อไม่ได้ การจราจรไปได้แต่ธุรกิจไปไม่ได้ อยากให้ผู้จัดทำโครงการมองเห็นผลกระทบตรงนี้ด้วย” ซึ่งนายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ ตอบในประเด็นนี้ว่า “ขณะนี้เรากำลังรวบรวมข้อมูลและศึกษาโครงการ คาดว่ารูปแบบที่จะทำคือสะพาน หรืออาจจะยกระดับบริเวณด้านข้าง ในส่วนของทางลอดก็ยังไม่ได้ทิ้งประเด็น ต้องดูอีกครั้งว่า ถ้าเป็นทางลอดจะมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในการประชุมครั้งต่อไปน่าจะได้รูปแบบที่ชัดเจนขึ้น”

ยกระดับตลอดเส้นทาง

นายเกียรติศักดิ์ อินทร์จำนงค์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบุญวัฒนา เสนอแนะว่า “ตอนแรกผมคิดว่า ผู้จัดโครงการจะเตรียมรูปแบบโครงการมานำเสนอ แต่เมื่อเข้าประชุมจึงทราบว่า เป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งผมมองว่า ถนนเส้นนี้ ตั้งแต่ต้นสะพานข้ามแยกยาวไปจนถึงแยกไฟแดง หากทุบทิ้งจะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้นทั้งสายตรงและสายแยก ถ้ามององค์ประกอบใหญ่ตั้งแต่สะพานข้ามทางรถไฟจนถึงแยกไฟแดงควรจะเป็นทางยกระดับเพื่อให้การจราจรคล่องตัว”

แนะหาเส้นทางเบี่ยง

นางสาวรัฐวรรณ ดีเจริญ ประชาชนตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า “เมื่อเดินทางเข้ามาทำงานทุกเช้ารถจะติดบริเวณแยกหัวทะเลเป็นประจำ วันไหนที่รถติดมากจะเลี่ยงไปใช้เส้นทางดอนขวางเพื่อที่จะมาออกหัวทะเล แต่สุดท้ายแล้วก็มาติดบริเวณโรงแรมปัญจดารา รถติดแบบนี้ทุกวัน และเลี่ยงไปใช้เส้นทางไหนก็ไม่ได้ ดังนั้น เห็นดีด้วยกับโครงการนี้ แต่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่ารถก็น่าจะติดเพิ่มมากขึ้น ต้องการให้ผู้จัดทำโครงการ หาเส้นทางเพื่อเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดขณะก่อสร้างด้วย”

เสนอทำเป็นทางลอด

นายมาโนช สายแก้ว ประธานชุมชนท้าวสุระเบญจรงค์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “ในเรื่องของโครงการถือเป็นเรื่องดี แต่ชุมชนได้รับผลกระทบ ถ้าเกิดฝนตกหรือมีการจราจรติดขัดบริเวณทางแยกหัวทะเล ผู้ใช้รถใช้ถนนจะเลี่ยงมาใช้เส้นทางโรงเรียนบุญวัฒนาและผ่านเข้ามาในชุมชนท้าวสุระเบญจรงค์ เมื่อฝนตกชุมชนถือเป็นทางผ่านน้ำและเกิดการท่วมขัง ต้องการสนับสนุนให้ทำอุโมงค์ลอดแทนสะพาน เพราะสะพานมีมากแล้วและยังสร้างผลกระทบด้านมลพิษ ถ้าสร้างเป็นอุโมงค์ถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของโคราช”

ทั้งนี้ โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) ยังไม่มีการตั้งงบประมาณในการก่อสร้างใดๆ เป็นเพียงการตั้งโจทย์ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมระหว่างการก่อสร้างทางลอด และการก่อสร้างสะพานข้ามแยกเท่านั้น โดยการศึกษามีระยะเวลาดำเนินงานรวม ๓๖๐ วัน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๐วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

995 1573