29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 12,2020

ศาลปกครองสั่ง‘ราชภัฏบุรีรัมย์’ จ่ายย้อนหลังพนักงาน ๑๐๓ คน

ศาลปกครองฯ ยึดมติ ครม.ปี ๒๕๔๒ สั่งราชภัฏบุรีรัมย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่พนักงาน ๑๐๓ คน รวมกว่า ๑๒ ล้านบาท อัตราเงินเดือน ๑.๕-๑.๗ เท่าของข้าราชการ เหตุสวัสดิการน้อยไม่เหมือนข้าราชการ แรงจูงใจในการทำงานแทบไม่มี

จากกรณีที่ กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในคดีการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ แยกเป็น ๑๐๓ คดีนั้น 

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ ศาลปกครองนครราชสีมาเผยแพร่คำพิพากษาว่าเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ ศาลปกครองนครราชสีมาพิพากษาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่พนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างตามที่มีสิทธิจะได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี รวม ๑๐๓ คน ฟ้องมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่ ๑ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่ ๒ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่ ๓ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีจำนวน ๑๐๓ คดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามออกระเบียบข้อบังคับและประกาศจำนวนหลายฉบับ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับค่าจ้างในอัตราที่ควรจะเป็นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ่ายค่าจ้างในส่วนที่หักไว้คืน ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ เห็นชอบแนวทางปฏิบัติให้สถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สามารถดำเนินการเช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษา ทั้ง ๒๐ แห่ง คือ การจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการทั้งสายผู้สอนและสายสนับสนุน โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างกรณีทดแทนตำแหน่งเกษียณอายุและตำแหน่งที่ว่างโดยเหตุอื่น กรณีตำแหน่งเพิ่มใหม่และตำแหน่งนักเรียนทุน ในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปในอัตราแรกบรรจุและบวกเพิ่มอีกร้อยละ ๗๐ ของอัตราแรกบรรจุสำหรับสายผู้สอน และในอัตราแรกบรรจุและบวกเพิ่มอีกร้อยละ ๕๐ ของอัตราแรกบรรจุสำหรับบุคลากรสายสนับสนุน โดยให้สถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวกำหนดจำนวนบุคคลที่จะจ้างและอัตราค่าจ้างได้ตามเหตุผลความจำเป็น ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันอุดมศึกษา และอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร กรณีนี้ จึงเห็นได้ว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการกำหนดสาระสำคัญ ให้ยึดถือเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตามในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยสาย ก หรือสายวิชาการ หรือสายผู้สอน ในอัตราแรกบรรจุและบวกเพิ่มอีกร้อยละ ๗๐ หรือคิดเป็น ๑.๗ เท่า ของอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการนั้น

ส่วนการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยสาย ข หรือสายสนับสนุน ให้จ้างในอัตราแรกบรรจุและบวกเพิ่มอีกร้อยละ ๕๐ หรือ ๑.๕ เท่า ของอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการนั้น แม้มติคณะรัฐมนตรีข้างต้นจะให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สามารถใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนบุคคลที่จะจ้างและอัตราค่าจ้างได้ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรร โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ตาม แต่คงหมายความเพียงการให้อำนาจในการกำหนดจำนวนบุคคลที่จะจ้าง และอัตราค่าจ้างตามตำแหน่งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประสงค์จะจ้าง ซึ่งอัตราค่าจ้างย่อมแตกต่างกันไปตามตำแหน่ง 

ตำแหน่งที่ประสงค์จะจ้างหาได้หมายความว่า จะกำหนดอัตราค่าจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัย สาย ก ให้ต่ำกว่า ๑.๗ เท่า หรือสาย ข ให้ต่ำกว่า ๑.๕ เท่า ได้แต่อย่างใดไม่ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เรื่อง ค่าตอบแทนพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป กำหนดอัตราค่าตอบแทนของบุคลากรประเภทสายวิชาการ ระดับวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท ในอัตรา ๑.๒ เท่า ของอัตราแรกบรรจุ และระดับปริญญาเอก ในอัตรา ๑.๓ เท่า ของอัตราแรกบรรจุ ส่วนบุคลากรประเภทสายสนับสนุน กลุ่มบริหารหรือวิชาชีพเฉพาะ ระดับวุฒิการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในอัตรา ๑.๒ เท่า ของอัตราแรกบรรจุ จึงเป็นการกำหนดอัตราค่าตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มิได้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จะต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จ่ายค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละคดี โดยอาศัยอำนาจตามประกาศดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีในแต่ละคดีได้รับค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างที่มีสิทธิจะได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีในแต่ละคดีจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ กำหนดเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีในแต่ละคดีตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เท่ากับจำนวนเงินค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีในแต่ละคดีจะต้องได้รับเพิ่มขึ้นอีกให้เท่ากับอัตรา ๑.๕ เท่า หรือ ๑.๗ เท่า ตามตำแหน่งและวุฒิการศึกษาของผู้ฟ้องดคีในแต่ละคดี พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องดคีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให่แก่ผู้ถูกฟ้องดคี ในแต่ละคดี ทั้งนี้ ให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ทั้งนี้ ตามคำพิพากษา คดีหมายเลขคำที่ ๔๙๙/๒๕๖๑ คดีหมายแดงเลขที่ ๑๗๑/๒๕๖๓ ระบุตอนหนึ่งว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตรา ๑.๗ เท่า ของอัตราเงินเดือนข้าราชการ พลเรือนแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ โดยคําฟ้องในข้อหานี้ ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหาย ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ แต่โดยที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสําหรับความเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงเพียงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาได้เกินคําขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าระหว่างวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ผู้ฟ้องคดีได้รับค่าจ้างจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในแต่ละช่วงเวลา โดยเทียบเคียงกับอัตราค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีอ้างในคําชี้แจงลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงคํานวณอัตราค่าจ้างที่ ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับตามมติ ครม. รวมค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจริงในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๑๕,๑๓๕,๘๑ บาท หรือเท่ากับอัตรา ๑.๓ เท่า ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ้างผู้ฟ้องคดีในอัตรา ๑.๓ เท่าของอัตราแรกบรรจุ

เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เท่ากับจํานวนเงินค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องได้รับเพิ่มขึ้นอีกให้เท่ากับอัตรา ๑.๗ เท่า รวมเป็นค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีควรได้รับจำนวน ๕๔๒,๘๖๙.๘๙ บาท หรือคิดเป็นเงินค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีควรได้รับเพิ่มจำนวน ๑๒๗,๗๓๔.๐๙ บาท และเงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องดคีที่ ๑ ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดี 

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดชอบใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยเมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดชอบชดใช้คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๑๓๑,๙๖๔.๑๒ บาท

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชดใช้เงิน ๑๓๑,๙๖๔.๑๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๒๗,๗๓๔.๐๘ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้  ให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียบศาลตามส่วนของการชนะดคีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


983 1602