29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 12,2020

งบระดมสมอง ๔๐ ล้าน สร้าง‘เมืองใหม่โคราช’ รองรับการเติบโต ๒๐ ปี

ศึกษา “เมืองใหม่โคราช” ๔๐ ล้าน มองหาพื้นที่ทั่วจังหวัด พัฒนาเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ รองรับสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมระดมสมองภาครัฐและเอกชน สร้างภาพอนาคตการพัฒนาเมืองใหม่รองรับ ๒๐ ปีข้างหน้า คาดใช้เวลาศึกษา ๖๐๐ วัน

นายวิทยา เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมืองนครราชสีมา สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” เมื่อวันที่ ๔ กันยายนที่ผ่านมา ถึงกรณีการศึกษาโครงการเมืองใหม่โคราช ว่า “โครงการเมืองใหม่โคราชเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ เป็นประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประมาณปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ และดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ทำนายไว้ว่า กรุงเทพฯ ในอนาคตอาจจะไม่มีพื้นที่รองรับเพียงพอ ต้องหาเมืองหลวงใหม่ไว้รองรับ จากนั้นหอการค้าจังหวัดฯ ในสมัยนั้น จึงมาคุยกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา แต่การศึกษาต้องมีปัจจัยหลายเรื่อง เช่น งบประมาณ ความเห็นชอบจากส่วนกลาง และคำว่า เมืองหลวงใหม่ในสมัยนั้น ยังเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อประชาชน จึงทำให้ต้องเปลี่ยนจากคำว่า ‘เมืองหลวงใหม่’ เหลือเพียง ‘เมืองใหม่’ คือเป็นเมืองใหม่ในเรื่องของการส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรม มีการผลักดันมาเรื่อยๆ แต่ด้วยงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำอย่างจริงจัง โครงการจึงไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และ ครม.สัญจรจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อปี ๒๕๖๑ หอการค้าจังหวัดฯ และหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เสนอโครงการนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้ทำการศึกษา โดยนำงบประมาณ ๔๐ ล้านบาทว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงการ โดยในปีนี้เป็นการศึกษาหาพื้นที่ เริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ใช้งบประมาณ ๘ ล้านบาท เป็นการศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพื้นที่นั้นจะต้องมีความเสี่ยงภัยอันตรายน้อยที่สุด มีความเป็นไปได้สูงในเรื่องของการคมนาคมและแหล่งน้ำ สามารถเป็นไปได้ทั้งพื้นที่ต่อจากเมืองเดิมหรือเป็นพื้นที่เกิดขึ้นใหม่ โดยจะใช้เวลาศึกษาทั้งหมด ๖๐๐ วัน เมื่อค้นหาพื้นที่ได้แล้ว ๒-๓ จุด ก็จะศึกษาและออกแบบรายละเอียดต่อไป”

อ้างแตกต่างจากที่ผ่านมา

“โครงการนี้ จะแตกต่างกับการศึกษาของกรมโยธาฯ ที่ผ่านมา ซึ่งทำเป็นผังออกมาเพียงอย่างเดียว แต่โครงการนี้จะต้องมองหานักลงทุน เพราะเมืองใหม่แห่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเหมือนนโยบายผังเมือง EEC หรือผังเมืองการค้าชายแดน โครงการเหล่านั้นเกิดจากนโยบายของรัฐ แต่โครงการเมืองใหม่โคราช เป็นโครงการที่เกิดจากท้องถิ่น จะต้องดูลู่ทางการลงทุนของคนในพื้นที่และต่างพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นผังเมืองในเชิงปฏิบัติสูงมาก แทนที่จะเป็นนโยบายจากรัฐบาลแต่เป็นนโยบายที่ส่งไปหารัฐบาลว่า โครงการนี้ เป็นเมืองใหม่ที่น่าลงทุนและคุ้มต่อการลงทุน การออกแบบเมืองใหม่อาจจะต้องทำให้สอดคล้องกับการป้องกันโรคระบาดหรือไม่ โดยประโยชน์ที่จะได้จากโครงการนี้ คือเป็นแผนการลงทุน ซึ่งจะมองหาพื้นที่ที่มีปัญหาน้อยที่สุด เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับต่อสาธารณูปโภคต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดด้วย” นายวิทยา กล่าว

เปิดเวทีระดมสมอง

ล่าสุดวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล โคราช นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน ครั้งที่ ๑ การคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อการกวาดสัญญาณและจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยขับเคลื่อน เพื่อสร้างภาพอนาคตพัฒนาเมืองใหม่ โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา โดยมีตัวแทนภาครัฐและเอกชน อาทิ ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา นายชินาพัฒน์ พิมพ์ศรีแก้ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ บริษัท เดอะมอลล์ราชสีมา จำกัด ร่วมรับฟังบรรยายจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ (บจก.แพลนเนอร์ ๒๖) ซึ่ง ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการ และ ผศ.คมกริช ธนะแพทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

นายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา เป็นการศึกษาและวางแผนพัฒนา พื้นที่ที่มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับแผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มศักยภาพ อีกทั้งยังสามารถนำแนวทางการพัฒนาตามแผนแม่บทดังกล่าว มาปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้มีความเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น กระทั่งเสร็จกระบวนการวางและจัดทำผัง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่จังหวัดฯ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ที่ผ่านมาจัดประชุมเพื่อรับฟังนโยบายจากจังหวัด เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ เพื่อรับทราบนโยบายของจังหวัด เป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยนำประเด็นที่ได้จากการประชุมดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการศึกษา และนำมาสู่การสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจครั้งนี้ 

“สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและระดมความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อสร้างภาพอนาคตการพัฒนาเมืองใหม่ ซึ่งเชิญผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงาน ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการดังกล่าว” โยธาธิการจังหวัดฯ กล่าว

เตรียมรับเมืองเติบโต

นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล กล่าวว่า “นครราช สีมาเป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ ๑ และมีประชากรมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ มีบทบาทเป็นประตูหน้าด่านในการเดินทางสู่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ และจากนโยบายการพัฒนาทั้งในระดับภูมิภาค และแผนงานโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ ส่งผลให้จังหวัดมีศักยภาพและความพร้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้พื้นที่ในหลายบริเวณมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองและชุมชน รวมถึงมีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร แรงงาน และนักท่องเที่ยวในอนาคต จังหวัดนครราชสีมาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา ซึ่งเป็นการศึกษาและวางแผนพัฒนา พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับแผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มตามศักยภาพ”

“อีกทั้งยังสามารถนำแนวทางการพัฒนาตามแผนแม่บทดังกล่าว มาปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมือง รวมทั้งพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาให้มีความเหมาะสมต่อไป การ สัมมนาฯ ครั้งนี้ จึงเป็นกระบวนการระดมความคิดเห็นสาธารณะอันเกี่ยวข้องกับการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อการกวาดสัญญาณและจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยขับเคลื่อน เพื่อสร้างภาพอนาคตการพัฒนาเมืองใหม่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลที่ได้จากการสัมมนาฯ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำมาปรับใช้ในการศึกษาโครงการ รวมทั้งใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดฯ อย่างบูรณาการ” รองผู้ว่าฯ กล่าว

อนาคตเมืองโคราช

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล กล่าวว่า “การสัมมนาในวันนี้ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ค้นหาพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมในจังหวัดฯ ที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่ รวมทั้งเพื่อพิจารณาเลือกพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ เพื่อระบุพื้นที่และเสนอแนะแนวทางการจัดการผังเมืองเฉพาะ (Specific Plan) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ รวมถึงรายละเอียด แผนการลงทุน การบริหารจัดการ และความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อจัดทำผังปฏิบัติการโครงการพัฒนาเมืองใหม่เพื่อออกแบบเบื้องต้นโครงการพัฒนาที่สามารถนำไปเสนอของบประมาณค่าออกแบบก่อสร้างหรือปรับปรุงพื้นที่ในเบื้องต้น เพื่อจัดทำกรอบการพัฒนา ประกอบด้วยแผนงาน แผนงบประมาณ และแผนการบริหารจัดการในการพัฒนาเมืองใหม่”
“คิดว่าอนาคตในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า จังหวัดนครราชสีมาจะเป็นอย่างไร การมองภาพอนาคต (Foresight) คือกระบวนการคาดการณ์อนาคตอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการทำความเข้าใจทางเลือกในอนาคตที่มีผลต่อการตัดสินใจในปัจจุบัน การมองภาพอนาคตเน้นการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของ ๓ ปัจจัยที่เปรียบเสมือนกรอบเนื้อหาการเปลี่ยนแปลงในอนาคตระยะยาว ได้แก่ ๑.ปัจจัยผลักดันหรือปัจจัยขับเคลื่อน ๒.ปัจจัยหน่วง และ ๓.ความไม่แน่นอนที่ไม่สามารถควบคุมได้  แตกต่างจากการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์โดยทั่วไปที่เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยศักยภาพที่มีความแน่นอนสูงเป็นหลัก ในขณะที่การคาดการณ์และการทำนาย จะสันนิษฐานอนาคตเพียงรูปแบบและทางเลือกเดียว แต่ผลลัพธ์การมองภาพอนาคตจะครอบคลุมทางเลือกของอนาคตประเภทต่างๆ ทั้งอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้น อนาคตที่อาจเกิดขึ้น อนาคตที่น่าจะเกิดขึ้น และอนาคตที่อยากให้เกิดขึ้น

โคราชอยู่จุดไหน

นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ในการมองภาพอนาคตของโคราช เราจะต้องทราบก่อนว่าโคราชในทุกวันนี้อยู่จุดไหนบ้าง โดยเริ่มจากเป็นจังหวัดใหญ่ ประชากรเยอะ ผู้สูงวัยมีจำนวนมาก ประชากร ๒.๖ ล้านคน มากเป็นอันดับ ๒ รองจาก กทม. คิดเป็น ๔% ของประเทศ มีสัดส่วนประชากรเมือง ๒๔% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ๓๕% และก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ดัชนีสังคมสูงวัยเฉลี่ย ๑๐๕.๑๙ มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรรวมสูงเป็นอันดับ ๔ ของประเทศ มีมูลค่า GPP ๒.๙ แสนล้านบาท ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เป็นอันดับที่ ๓๔ ของประเทศ เศรษฐกิจขนาดกลางมีศักยภาพในการแข่งขันระดับประเทศ ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ๕๑% ภาคอุตสาหกรรม ๓๘% และภาคเกษตรกรรม ๑๑% พื้นที่เพื่อการเกษตร ๓.๒ ไร่/คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ ๑ ไร่/คน นักท่องเที่ยวและทัศนาจรรวม ๙.๘ ล้านคน/ปี คิดเป็นสัดส่วน ๓.๓% ของประเทศ คิดเป็นรายได้ ๒.๔ หมื่นล้านบาท ซึ่ง ๙๘% เป็นนักท่องเที่ยวไทย”

“ทั้งจังหวัดฯ ความยาวถนนรวม ๔๖,๗๒๗ กม. คิดเป็น ๒.๒๔ กม./ตร.กม. สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ ๑.๓๗ กม./ตร.กม. มีสถานีชุมทางรถไฟ ๒ แห่ง ความยาวรวม ๓๒๓.๗๗ กม. มีความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทนไฟฟ้ากว่า ๕๐% ใช้จ่ายให้กับกิจการขนาดใหญ่ และใช้สำหรับการอยู่อาศัยเพียง ๒๒% มีกำลังในการผลิตพลังงานทดแทน รวม 569.4 MW เป็นพลังงานลม ๓๙% และพลังงานชีวมวล ๓๗% ปริมาณการใช้น้ำประปาเฉลี่ยต่อครัวเรือนของนครราชสีมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โคราชเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการศึกษาและการรักษาพยาบาล มีสัดส่วนเตียงต่อประชากรอยู่ที่ ๑๙ เตียง/หมื่นประชากร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศเล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ ๒๓ เตียง/หมื่นประชากร สัดส่วนครูต่อนักเรียน ๑:๑๘ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศซึ่งอยู่ที่ ๑:๑๓ เมืองมีศักยภาพด้านอุดมศึกษา มีมหาวิทยาลัย ๔ แห่ง ผลิตบัณฑิตกว่า ๙,๐๐๐คน/ปี”

“โคราชมีทรัพยากรมาก แต่เสี่ยงภัยธรรมชาติรอบด้าน เผาไหม้ น้ำท่วม ดินถล่ม และภัยแล้ง มีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างกว่า ๗ แสนตัน ในปี ๒๕๕๘ สูงเป็นอันดับ ๘ ของประเทศ เทียบกับจำนวนประชากร คือ คนละ ๐.๓ ตัน พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รอยต่อถัดจากเชิงเขา โดยเฉพาะเขตอุทยานฯ ตามแนวทิวเขาดงพญาเย็น และทิวเขาสันกำแพง พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมซ้ำซากส่วนใหญ่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำมูลและลำตะคอง แต่ไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยประจำ มีน้ำท่วมซ้ำซาก ๘–๑๐ ครั้ง ใน ๑๐ ปี พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรม อ.ด่านขุนทด อ.โนนสูง อ.คง อ.พิมาย และอ.ประทาย ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ผมนำเสนอไป จะทำให้เราทราบว่า โคราชมีปัจจัยอะไรบ้างในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้มองภาพอนาคตออกว่า ควรจะพัฒนาพื้นที่และเป็นไปในทิศทางใดต่อไป” ผู้จัดการโครงการ กล่าว

การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ผศ.คมกริช ธนะแพทย์ กล่าวว่า “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลต่อการพัฒนา ประกอบด้วยหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้ ๑.กระบวนการเป็นเมืองและการอพยพสู่เมือง ๒.การแข่งขันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ๓.เศรษฐกิจภูมิภาคไทย-จีน-เวียดนาม ๔.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ๕.สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ๖.ปัจเจกนิยม ๗.สังคมสูงวัย ๘.การแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ๙.เศรษฐกิจ Startup และธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ๑๐.พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทน ๑๑.การย้ายถิ่นฐานการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ ๑๒.สังคมพหุวัฒนธรรม ๑๓.เทคโนโลยี 5G ๑๔.เศรษฐกิจการท่องเที่ยวและไมซ์ (MICE) ๑๕.การหมุนเวียนและใช้ซ้ำทรัพยากร ๑๖.ประเทศตลาดเกิดใหม่ ๑๗.ความเหลื่อมล้ำและเปราะบาง ๑๘.นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ๑๙.เศรษฐกิจหมุนเวียน ๒๐.โรคระบาดอุบัติใหม่ และ ๒๑.ความขัดแย้งระหว่างประเทศและการก่อการร้าย นอกจากนี้ ในการเปลี่ยนแปลงเมืองยังมีปัจจัย ๔ ด้าน ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาและสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของเมืองนครราชสีมา ได้แก่ ด้านการพัฒนาเมือง (Urban Development) ด้านการบริโภค (Consume) ด้านการผลิต (Create) และด้านการเดินทาง (Commute)”
ราคาที่ดินสูงขึ้น

ภายหลังจบการสัมมนา ที่ประชุมได้จัดกิจกรรม Work Shop อาทิ คิดว่าอนาคตในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า จังหวัดนครราชสีมาจะเป็นอย่างไร, อะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อน จังหวัดนครราชสีมาในช่วง ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา, ปัจจัยขับเคลื่อนอะไร ที่จะยังคงขับเคลื่อนจังหวัดนครราชสีมาต่อไปในอนาคต, ตามข้อมูลการสัมมนา มองว่ามีปัจจัยหรือสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร, มองว่าปัจจัยและสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ที่ได้กล่าวมานั้นมีผลกระทบและความไม่แน่นอนสูงระดับไหนอย่างไร

โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม โดยสรุปสาระสำคัญของคำตอบได้ว่า โคราชจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคอีสาน มีการพัฒนาด้านคมนาคมที่ทันสมัย เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเกษตรระดับอาเซียน เปรียบเสมือนกับประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตโคราชมักถูกขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยนโยบายทางการเมือง ทั้งเรื่องการขับเคลื่อนด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว และโคราชมีการเจริญเติบโตแบบไม่เร่งรีบ ทำให้เมืองมีความมั่นคงสูงทางด้านการพัฒนา และมีความหนาแน่นของประชากรที่ไม่เพิ่มขึ้นมากจากอดีต ในส่วนของเรื่องการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โคราชจะเปลี่ยนแปลงด้านที่ดินสูง ทั้งการย้ายถิ่นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ดินมีราคาสูงขึ้น และโคราชจะมีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะมีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ทดแทนแรงงานมากขึ้น

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า “หลังจากจบกระบวนการในวันนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะนำข้อมูลกลับไปคัดกรองให้ตกผลึก จากนั้นจะทำภาพอนาคตเมืองใหม่โคราชขึ้นมา ๓-๔ ภาพ เพื่อนำมาให้ทุกภาคส่วนร่วมประชาพิจารณ์และร่วมค้นหาพื้นที่ที่จะพัฒนาในอนาคตให้สอดคล้องกับโครงการต่อไป โดยจะมีการจัดประชุมอีกในวันที่ ๒๓ กันยายนนี้”

เมืองใหม่เกิดขึ้นได้ทุกที่

ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดี คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน ให้สัมภาษณ์โคราชคนอีสานถึงกรณีการศึกษาเมืองใหม่ ว่า “โครงการนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการศึกษาเมืองใหม่ โดยได้รับงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง จ้างบริษัทที่ปรึกษาให้มาจัดทำกระบวนการศึกษาว่า เมืองใหม่โคราชหน้าตาจะเป็นอย่างไร ซึ่งท้ายสุดแล้วจะต้องเห็นว่าเมืองใหม่จะเป็นอย่างไร แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้อาจจะมีกระบวนการหลายขั้นตอน และด้วยคำว่า ‘เมืองใหม่โคราช’ ก็อาจจะทำให้หลายคนงงและสงสัยว่า คืออะไร แต่จริงๆ เมืองใหม่คือการพัฒนาพื้นที่เดิมในอำเภอใดอำเภอหนึ่งก็ได้ สิ่งที่คนโคราชจะได้รับคือ การพูดถึงเรื่องใหม่ๆ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นของเมือง อย่างที่กรุงเทพฯ ทำมาเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ซึ่งทีมที่ทำให้ก็เป็นทีมเดียวกันที่มาศึกษาให้โคราชครั้งนี้ แต่วันนี้สิ่งที่คนโคราชควรทำคือ ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ อย่างเพิ่งไปชี้ว่าจะต้องเป็นอย่างไร ส่วนการชี้จุดว่าจะต้องเป็นที่ไหนนั้น ขณะนี้ไม่มีใครบอกได้ เพราะเราจะต้องศึกษาก่อนว่า เมืองใหม่โคราชจะเป็นไปในทิศทางใด จะจับประเด็นอะไรมาใช้ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความเท่าเทียม และประเด็นเรื่องการขนส่ง แต่เมื่อศึกษาแล้ว เนื้อหาต่างๆ ก็จะเริ่มเข้มข้นขึ้น กระทั่งสามารถบอกได้ว่า ถ้าเราจะทำเมืองใหม่สีเขียวหรือป่าไม้ อาจจะไปพัฒนาที่อำเภอปากช่อง เมืองใหม่ด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาจจะไปทำที่อำเภอบัวใหญ่ แต่ขณะนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า เมืองใหม่โคราชจะอยู่จุดใด”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


983 1648