19thMarch

19thMarch

19thMarch

 

September 19,2020

โคราชฝันเป็น‘มหานคร’ ผนึกกำลังเพื่อการศึกษา

ผนึกกำลังปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน วาดฝันเมืองแห่งมหานครในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ด้านอธิการบดีราชภัฏ ชี้ให้มองที่ปัจจุบัน ทำพิธีลงนามแล้วต้องนำไปใช้จริง พร้อมเสนอตั้งสมาคมปฏิรูปการศึกษา

เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายนครราชสีมาปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา กับองค์การภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ประกอบด้วย ๑.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ๒.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ๓.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ๔.มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ๕.วิทยาลัยอาชีวศึกษา นครราชสีมา ๖.สำนักงานศึกษาธิการภาคอีสาน ๗.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๑ ๘.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต ๑, ๒, ๓, ๔ ๕, ๖ และ๗ ๙.สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ๑๐.หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ๑๑.เทศบาล นครฯ ๑๒.อบจ.นครราชสีมา ๑๓.สำนักงานประกันสังคมฯ ๑๔.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ๕ นครราชสีมา และ ๑๕.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นครราชสีมา 

ร่วมมือเพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน

นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ชื่นชมความพยายามของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้ร่วมกันหาแนวทางในการกำหนดกระบวนการและวิธีการในการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัด กระทั่งได้เห็นทิศทางและเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนมาก อีกทั้งต้องชื่นชมที่ร่วมแรงร่วมใจ รวมพละกำลังที่มีอยู่มาพัฒนาการศึกษา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาอนาคตของประเทศชาติ การศึกษาในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแลงอย่างมากในทุกมิติ สืบเนื่องมาจากสภาวการณ์ต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโรคอุบัติใหม่ ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้ความรู้แบบเก่าถูกทำลายไป นครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็จะมีความยุ่งยากในการสร้างความเข้าใจ แต่การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ถือว่าเป็นการทำงานเบ็ดเสร็จ เริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจ การให้ความเห็น ตลอดทั้งการลงนามความร่วมมือ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

“ขอบคุณสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา ธิการ โดยกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นศูนย์กลางในการจัดโครงการครั้งนี้ ขอบคุณวิทยากร ที่มาให้ความรู้และเปิดประสบการณ์แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ คณะกรรมการทุกคน ที่ดูแลช่วยเหลือและให้ขวัญกำลังใจในการดำเนินงานมาโดยตลอด และขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายที่ช่วยให้การจัดงานในครั้งนี้ สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี และหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นการเริ่มต้นในครั้งนี้ จะได้ร่วมกันระดมสรรพกำลังในการพัฒนาการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดนครราชสีมา ต่อไป” นางปิยะฉัตร กล่าว

ปฏิรูปการศึกษา สู่การปฏิรูปประเทศ

นายกฤตพล ชุติกุลกีรติ ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดสรรงบประมาณ ให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา จัดทำโครงการภาคีเครือข่ายนครราชสีมา ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ตามนโยบายการปฏิรูปประเทศที่มีแนวทางการใช้การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นแกนนำในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการกำกับติดตามการดำเนินการของส่วนราชการ และหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ และความเกี่ยวพันธ์ของภารกิจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยก่อนหน้านั้น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินโครงการส่งเสริมเวทีประชาคมเพื่อจัดทำรูปแบบและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัดนครราชสีมา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพคนตลอดช่วงชีวิต (แผนแม่บทฯ ประเด็นที่ ๑๑) และการพัฒนาการเรียนรู้ (แผนแม่บทฯ ประเด็นที่ ๑๒) ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต”

“คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ได้ตระหนักถึงนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยเร่งพัฒนาการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา หาแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความมั่นคง และยั่งยืนในการทำแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทศวรรษหน้า สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา จึงเร่งดำเนินการระดมผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษามาระดมปัญญา เริ่มตั้งแต่การสร้างรูปแบบการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพให้ได้ร้อยละ ๕๐ ต่อ ๕๐ และการสร้างรูปแบบในการทำหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาแต่ละระดับการศึกษา ตลอดจนการทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาชาติ”

เยาวชนโคราชในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า

นายกฤตพล กล่าวว่า“จังหวัดนครราชสีมาได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาเพื่อเยาวชนในทศวรรษหน้า คือ การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ พัฒนาคนให้เป็นผู้ประกอบการ โดยมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สามประการ คือ มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล มีความเป็นเยาวชนสากล และมีความรักในการเป็นผู้ประกอบการ รักงานอาชีพ พึ่งพาตนเองและเป็นที่พึ่งของครอบครัว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการจัดการศึกษาในรูปแบบของจังหวัดนครราชสีมา คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคผู้จัดการศึกษา ภาคผู้ใช้งาน และภาคผู้ทดสอบและรับรองในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากภาคเอกชนในการจัดการศึกษา จึงได้จัดเวทีการสร้างความเข้าใจและร่วมกันแสดงออกถึงความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการพัฒนาการศึกษาในแนวทางการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพมุ่งสร้างผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการ เพื่อส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น และส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาต่อไปในอนาคต และเพื่อให้ผู้นำภาคีเครือข่ายพัฒนาการศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ได้มาร่วมจัดและร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัด ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการศึกษาของประเทศชาติต่อไป” 

เปิดเสวนาโต๊ะกลม

หลังจากจบพิธีการลงนามความร่วมมือฯ ได้มีกิจกรรมเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “ภาพอนาคตของจังหวัดนครราชสีมาในทศวรรษหน้า” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายกฤตพล ชุติกุลกีรติ ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ผศ.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ดร.กิตติ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายประดิษฐ์ กิ่งโก้ รองนายก อบจ. นครราชสีมา ว่าที่ ร.อ.ดร.จตุรงค์ พงษ์ศิริ อุปนายกสมาคมสถานศึกษาเอกชนจังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายบริหาร และนางจิตโสมนัส ชัยวงษ์ ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้ง ผศ.วิชยุทธ จันทะรี อาจารย์จาก มทร.อีสาน เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า “โคราชต้องเป็นสมาร์ทซิตี้ ไมซ์ซิตี้ และเมืองแห่งวัฒนธรรม ขณะนี้โคราชกำลังมีรถไฟความเร็วสูง มีมอเตอร์เวย์ ที่ใกล้เสร็จแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เห็นเป็นรูปธรรม ภายใต้การผลักดันของ ส.ส.โคราช เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับการทำงานเป็นทีม หากว่าสิ่งเหล่านี้เสร็จและประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยระบบราง โดยใช้ระบบการศึกษาเข้าไปช่วยในการเตรียมกำลังคน บอกได้เลยว่าโคราชจะกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพ พร้อมมากที่สุดในประเทศไทย ในวันนี้มีความยินดีที่จะทำการร่วมมือกับศึกษาธิการจังหวัดฯ”

ฝันที่ไกลเกินไป

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มรภ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ทางออกของจังหวัดนครราชสีมา ต้องขับเคลื่อนด้วยพวกเราทุกคน ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ถ้าให้มองในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า คงไม่แตกต่างกัน แต่จะมองในพื้นฐานของความจริงกับความฝัน ต้องการเสนอว่า เราฝันไปไกลไม่ใช่เรื่องจริง เราต้องย้อนมองดูสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย ฝันว่าต้องการเป็นไมซ์ซิตี้ โดยให้ราชภัฏนครราชสีมาขับเคลื่อน และขับเคลื่อนกระทั่งได้รับการรับรองประกาศให้เป็นไมซ์ซิตี้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังให้การขับเคลื่อนไมซ์เป็นเรื่องยาก ในเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่น ผมไม่ใช่ อบต. ไม่ใช่เทศบาล งานมหาวิทยาลัยไม่ใช่งานลงพื้นที่ ไม่ใช่งานขายของขายสินค้าโอทอป ภาพอนาคตผมคงบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่การลงนามทุกครั้ง มักทำเสร็จแล้วก็แล้วกันไป ลงนามเพื่อเอาไปวางไว้เฉยๆ ไม่นำไปต่อยอดอะไร ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาจริงๆ ผมเสนอว่า ภาคีครั้งนี้ต้องมีสมาคม มีต้นทุน มีเงินเพื่อที่จะพัฒนา ในการศึกษาอย่ามองว่า ศึกษาเพื่ออาชีพอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงคุณภาพชีวิต ให้อ่านออกเขียนได้ด้วย”

ดันโคราชก้าวสู่เมืองหลวง

ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. กล่าวว่า “ต้องการให้มองว่า โคราชเป็นเมืองหลวง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแย่งความเป็นเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ แต่เราได้เปรียบเรื่องโลจิสติกส์ ความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรและปศุสัตว์ที่ครบครัน สถานศึกษาก็มีครบ ประชากรค่อนข้างเยอะ ในส่วนที่หนึ่งเราต้องช่วยกันพัฒนาจังหวัดให้เป็นมหานครโคราช ประเด็นที่สอง ถ้าเราจะก้าวสู่ความเป็นมหานครต้องมีความยั่งยืนแน่นอนในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่า สถาบันการศึกษาขับเคลื่อนด้วยบุคคล เราต้องคำนึงว่า ช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ได้ให้อะไรกับเรา จะทำการเรียนการสอนแบบเดิมไม่ได้ ต้องสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไดเร็กชั่นทาง การศึกษาต้องเปลี่ยนไปแน่นอน ส่วนถัดไปคือนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีการพูดคุยและวิจัย ข้ามสายสาขา โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งเป็นตัวควบคุมความยั่งยืน วันนี้เป็นอีกวันที่มีความหลายหลายในการร่วมมือภาคีเครือข่าย เพื่อปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

สร้างการยอมรับสู่สังคม

ว่าที่ ร.อ.ดร.จตุรงค์ พงษ์ศิริ อุปนายกสมาคมสถานศึกษาเอกชนฯ กล่าวว่า “ภาพอนาคตในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า เด็กภาคเอกชนกว่า ๑๒๑ โรง ๗๐,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ ในอนาคตเราก็มองว่าทำอย่างไรเด็กของเราจะมีอาชีพในอนาคต ทำอย่างไรสังคมจะยอมรับลูกๆ ของเรา เมื่อเข้าไปสู่สถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคแรงงาน อีกสิ่งหนึ่งที่เราทิ้งไม่ได้คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำอย่างไรเมื่อเด็กจบออกมาจะมีภูมิคุ้มกัน มีความรู้และมีคุณธรรม เมื่อจบออกไปแล้วสถานประกอบการและสังคมจะยอมรับ”

นายกฤตพล ชุติกุลกีรติ ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสรุปว่า “เป็นบรรยากาศที่ดีมาก ที่ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน เพื่อมองความเป็นไปได้ของจังหวัดนครราชสีมา ที่จะเป็นจังหวัดต้นแบบในการเชื่อมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถานประกอบการ และภาคบริการสังคม วันนี้เราร่วมกันอยู่ในจุดเริ่มต้นที่จะเดินหน้าต่อไป อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร จากนี้ไปจะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอ การถ่ายภาพอนาคตของทุกท่านออกสู่ระบบ เพื่อวิเคราะห์ให้ทีมงานศึกษาธิการ จังหวัดฯ ทั้งระดับกระทรวงที่มองเห็นในการดำเนินงาน และผู้ใหญ่ที่ให้ความสำคัญ ภาพรวมการดำเนินงานใช้เวทีนี้ เพื่อที่จะพิจารณาต่อไป”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๕ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

946 1557