September 26,2020
‘สภาอบจ.’ยกมือผ่านงบ’๖๔ ๓,๓๕๗ ล.หาย ๔๐๐ ล.
สจ.ยกมือเป็นเอกฉันท์ ผ่านร่างงบรายจ่าย ปี ๒๕๖๔ รวม ๓,๓๕๗ ล้านบาท “ระนองรักษ์” ย้ำมากที่สุดจากทุก อปท. เผยพิษโควิด-๑๙ ทำให้จัดเก็บภาษีลดลง ๓๐๐-๔๐๐ ล้านบาท ยืนยันตรวจสอบได้ ทุกบาท พร้อมตัดงบซ่อมอาคารสำนักงาน อบจ. ด้าน สจ.หนุนสร้างใหม่ให้สวยงาม
สืบเนื่องจาก การประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ ของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ มีสมาชิกสภาเข้าร่วมเพียง ๑๑ คน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ ตามมาตราที่ ๒๗ การประชุมสภา อบจ. ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ๓๒ คน (มากกว่า ๑๖ คน) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของสภา อบจ.นม. ที่ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.) ตำบลมะเริง อำเภอเมืองนครราชสีมา นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภา อบจ. เป็นประธานการประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยมีร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ. พร้อมด้วยนายวิสูตร เจริญสันธ์ และนายประดิษฐ์ กิ่งโก้ รองนายก อบจ. และ ส.อบจ. จำนวน ๓๑ คน จากทั้งหมด ๓๒ คน ซึ่งนางสาวจุฑาสันต์ ตั้งตรีวีรกุล ส.อบจ. อำเภอบัวลาย และเลขานุการสภา อบจ. ลาป่วย จึงได้มอบหมายให้นางบุญสิตา ขันธะวินะหุ ปลัด อบจ. ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสภา อบจ. แทนเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้นายวีรพงษ์ พงษ์บุญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมายระเบียบและเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประชุมด้วย
การประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ มีทั้งหมด ๙ ระเบียบวาระ โดยประเด็นสำคัญอยู่ในระเบียบวาระที่ ๕ ญัตติ เรื่องขออนุมัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ นายวิสูตร เจริญสันธ์ รองนายก อบจ.นครราชสีมา เป็นตัวแทนฝ่ายบริหารเสนอญัตติ ว่า “ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๓ จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ซึ่งแพร่ระบาดติดต่ออย่างรวดเร็ว ประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโดยตรง ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายบางส่วนประจำปี พ.ศ.๒๕๖๓ ต้องถูกระงับ อบจ.พิจารณาถึงความจำเป็นตามยุทธศาสตร์และแผนงาน และคัดเลือกโครงการตามแต่ละประเภท ดังนี้ ๑.ครุภัณฑ์สำนักงาน ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และครุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ของ อบจ.นครราชสีมา โรงเรียนในสังกัด อบจ.นครราชสีมา เนื่องจากมีบุคลากรเพิ่มขึ้น ปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มเติมจากการชำรุดเสียหายจำนวนทั้งสิ้น ๙๘ โครงการ ๒.การรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน โครงการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะ จำนวน ๑๓๓ โครงการ ๓.ปรับปรุงภูมิทัศน์ การทาสีอาคารเรือนกันผุ เพื่อความมั่นคงแข็งแรงและเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม รับรองการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภคในฤดูแล้ง จำนวน ๑๖๔ โครงการ ๔.บริการสาธารณะอื่นๆ เช่น เส้นทางเชื่อมระหว่างตำบล จำนวน ๒๑ โครงการ ๕.การปรับปรุงอาคารสถานที่ สำนักงาน อบจ.นครราชสีมา จำนวน ๑๑ โครงการ และ ๖.การจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม เช่น เครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลพร้อมอุปกรณ์ จำนวน ๑ โครงการ
งบโอนลดปี ๒๕๖๓
นายวิสูตร เจริญสันธ์ กล่าวอีกว่า “ดังนั้น จึงขออนุมัติเงินงบประมาณรายการโอนลดจำนวน ๑๓๐ โครงการ จำนวน ๒๑๒,๗๙๓,๐๕๐ บาท ดังนี้ ๑.สำนักการช่าง จำนวน ๕๔ โครงการ เป็นเงิน ๑๗๙,๘๖๒,๖๘๐ บาท ๒.สำนักการคลัง จำนวน ๕ โครงการ เป็นเงิน ๒๑,๗๑๕,๐๐๐ บาท ๓.สำนักการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จำนวน ๕๙ โครงการ เป็นเงิน ๙,๗๘๓,๖๐๐ บาท ๔.กองการเจ้าหน้าที่ จำนวน ๕ โครงการ เป็นเงิน ๑,๒๗๘,๖๐๐ บาท ๕.กองแผนงบประมาณ จำนวน ๑ โครงการ ๔๕,๒๕๐ บาท และ ๖.กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต จำนวน ๓ โครงการ สำหรับสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์โพธิ์กลาง เป็นเงิน ๑๐๓,๙๖๐ บาท และสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วง เป็นเงิน ๑๐๓,๙๖๐ บาท“
“รายการโอนเพิ่มตั้งรายงานใหม่จำนวน ๔๒๑ โครงการ เป็นเงิน ๒๑๒,๗๙๓,๐๕๐ บาท ๑.สำนักการช่าง จำนวน ๒๕๘ โครงการ เป็นเงิน ๑๖๙,๙๙๖,๙๓๐ บาท ๒.สำนักการคลัง ๗ โครงการ เป็นเงิน ๓๗๐,๔๐๐ บาท ๓.สำนักการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จำนวน ๑๓๔ โครงการ เป็นเงิน ๔๖,๙๔๗,๗๐๐ บาท ๔.กองการเจ้าหน้าที่ จำนวน ๕ โครงการ เป็นเงิน ๖๑,๐๐๐ บาท ๕.กองแผนงบประมาณ จำนวน ๔ โครงการ ๔๕,๒๕๐ บาท ๖.สำนักปลัด อบจ. จำนวน ๑๕ โครงการ เป็นเงิน ๒๒๖,๘๕๐ บาท ๗.กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต จำนวน ๔ โครงการ สำหรับสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์โพธิ์กลาง เป็นเงิน ๑๐๓,๙๖๐ บาท และสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วง เป็นเงิน ๑๐๓,๙๖๐ บาท” นายวิสูตร เจริญสันธ์ กล่าว
ปรับปรุงสำนักงาน อบจ.
จากนั้น นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ. อ.โนนสูง เขต ๒ ลุกขึ้นอภิปรายว่า “เงินกว่า ๒๑๒ ล้านบาท การโอนลดโอนเพิ่มงบประมาณในคราวเดียวกัน เมื่อพิจารณาถือว่าตัวเลขเท่ากัน ขอเรียนต่อสภาด้วยความเสียดายสำหรับการโอนลด เพราะว่าหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้าง อบจ. ๘ ล้านบาท ต้องการเห็นอาคารสำนักงาน อบจ. ใหม่ จากที่ได้ไปศึกษาดูงานจังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อสร้างสำนักงาน อบจ.ชลบุรี อย่างสวยงาม สำหรับในส่วนงบประมาณในการพัฒนาต่างๆ งบโรงเรียนที่ลดลงทุกโรงเรียน งบการสร้างถนนที่ลดลงเกือบครึ่ง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหาร อบจ.คงเล็งเห็นว่า สิ่งใดที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ จึงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในการดำเนินงาน ทั้งนี้ในอนาคตถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ต้องการให้จัดสรรงบประมาณสำหรับสร้างสำนักงาน อบจ.ด้วย”
นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ. อ.เมือง เขต ๔ อภิปรายสนับสนุนสำหรับการจัดตั้งงบเพื่อสร้างอาคารสำนักงาน อบจ. ใหม่ ว่า “ขอสนับสนุนการสร้างอาคารสำนักงาน อบจ. หลังใหม่ ส่วนงบพัฒนากองช่างประมาณ ๘ โครงการ เป็นเงินกว่า ๑๔ ล้านบาท ที่มีอยู่ในรายการโอนเพิ่มสามารถนำมาก่อสร้างอาคารได้ เป็นอาคาร ๔ ชั้น ที่เท่ากับอาคารหนึ่งหลังได้ ไม่เห็นด้วยกับการนำงบประมาณตรงนี้ไปต่อเติมอาคารชั่วคราว”
ด้าน ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ. ชี้แจงว่า “เห็นด้วยกับ ส.อบจ. ทั้ง ๒ ท่าน ตนอยู่ในวาระมา ๘ ปี มีความคิดในการสร้างอาคารสำนักงาน แต่ต้องผ่านระเบียบหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ย้ายสำนักงาน อบจ.ชั่วคราว ไปยังอาคารมหามกุฎราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาโคราช วัดสุทธจินดาวรวิหาร เพื่อปรับปรุงอาคารสำนักงานหลังเก่า ในโครงการปรับปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสำนักงาน อบจ.นครราชสีมา งบประมาณ ๘ ล้านบาท หลังจาก เทศบาลนครนครราชสีมา และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคาร มีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการปรับปรุงซ่อมแซมหลังการใช้งานมาเป็นระยะเวลากว่า ๔๕ ปี หวั่นชำรุดและเกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่อาคารมหามกุฎราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาโคราช วัดสุทธจินดาวรวิหาร โดยชั้น ๖ เป็นสำนักงานนายก อบจ. และสำนักการคลัง (ส่วนบริหารงานพัสดุ) ชั้น ๕ สำนักการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้น ๔ สำนักการคลัง (ส่วนบริหารงานคลัง) และชั้น ๒ สำนักปลัด อบจ.”
งบหายกว่า ๔๐๐ ล้านบาท
ระเบียบวาระที่ ๖ ญัตติเรื่องขอความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เรื่องงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ นายประดิษฐ์ กิ่งโก้ รองนายก อบจ.นครราชสีมา ตัวแทนฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอญัตติ ว่า “รวมประมาณการรายจ่ายทั้งสิ้น ๓,๓๕๗,๑๘๙,๘๐๐ บาท แยกเป็นงบกลาง ๑๔๘,๖๒๕,๖๐๘ บาท งบบุคลากร ๑,๓๕๑,๙๗๑,๔๐๐ บาท งบดำเนินงาน ๑,๓๙๐,๒๓๔,๕๙๒ บาท งบลงทุน ๔๖๓,๘๙๓,๒๐๐ บาท และงบรายจ่ายอื่นๆ ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนสถานะการคลัง มีเงินฝาก ๔,๑๙๖,๑๒๒,๓๙๓ บาท เงินสะสม ๑,๙๔๐,๙๙๐,๑๖๕ บาท ทุนสำรองเงินสะสม ๕๘๙,๖๒๗,๙๗๔ บาท” ซึ่ง ส.อบจ.ทั้ง ๓๑ คน ยกมือเห็นชอบผ่านร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว
นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ. อ.โนนสูง เขต ๒ อภิปรายว่า “เมื่อเทียบงบประมาณของปีก่อนๆ จะเห็นว่า ครั้งนี้งบประมาณลดลงไปเกือบ ๔๐๐ ล้านบาท ส่วนที่หายไปนี้ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคิดว่า จะหาส่วนไหนมาชดเชย เพื่อให้การบริหารงานของ อบจ.เป็นไปอย่างราบรื่นต่อไป”
ด้าน ร.ต.หญิงระนองรักษ์ นายก อบจ ชี้แจงว่า “งบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๔ จำนวนกว่า ๓,๓๕๗ ล้านบาท ของ อบจ.นครราชสีมา ถือเป็น อปท.ที่มีงบบริหารจัดการมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งต้องแยกเป็น ๒ ก้อน คือเงินรายได้ประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านบาท และเงินอุดหนุน ๒,๐๕๗ ล้านบาท ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ทำให้การจัดเก็บภาษีโรงแรมที่พัก ปิโตรเลียม ฯลฯ ต่ำกว่าเดิมประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ล้านบาท แต่ฝ่ายบริหารจะกระจายงบดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง ๓๒ อำเภอ และทุกบาทสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้”
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ระเบียบวาระที่ ๗ นายวิสูตร เจริญสันธิ์ รองนายก อบจ.เป็นผู้เสนอญัตติ เรื่องความเห็นชอบให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (USO Net) (บริการประเภทที่ ๒) ภายใต้โครงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่าง (Zone C) ภายในพื้นที่บริเวณโรงเรียนปราสาทวิทยาคม ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดย อบจ.ได้รับแจ้งจาก กสท มีค่าดำเนินงานทั้งหมด ๓,๓๔๕,๐๐๐ บาท และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งมอบอาคาร ให้ อบจ.นำไปขึ้นทะเบียน หลังจากนั้น ๕ ปี กสท จะต้องทำการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ โดยระเบียบวาระนี้ผ่านร่างเช่นกัน
ทั้งนี้ การประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ มีระเบียบวาระการประชุมทั้งหมด ๙ วาระ โดยระเบียบวาระที่มีการขอญัตตินั้น ส.อบจ.ยกมือเห็นชอบผ่านทุกระเบียบวาระ
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๖ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
52 1,588