29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 31,2020

มั่นใจไม่ท่วมเหมือนปี’๕๓ พร่องน้ำรอรับ‘โมลาเบ’

มั่นใจ พายุ ‘โมลาเบ’ ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน พร่องน้ำรอแล้ว ไม่มีน้ำเหลือในคูคลองพร้อมรับมือเต็มที่ ด้านผอ.ชลประทานฯ ย้ำ ไม่ซ้ำรอยปี’๕๓ เพราะลักษณะของน้ำมาไม่เหมือนกัน

 

เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมาส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า ๑๔ อำเภอ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว รวม ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนไทย, สีคิ้ว, ขามทะเลสอ, เสิงสาง, สูงเนิน, ด่านขุนทด และอำเภอปักธงชัย อำเภอที่ยังได้รับผลกระทบ รวม ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากช่อง, โชคชัย, โนนสูง, เมืองนครราชสีมา, พิมาย, เฉลิมพระเกียรติ และอำเภอจักราช

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งจากโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาลําตะคองว่าจะระบายน้ำลงลําน้ำธรรมชาติ (ลําตะคอง) เพื่อพร่องน้ำ รองรับสถานการณ์พายุ ‘โมลาเบ’ ประกอบกับการติดตามสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำลําพระเพลิง พบว่ามีปริมาณน้ำระดับกักเก็บ ๑๕๖.๖๓ ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ๑๐๑.๐๕% มีการระบายน้ำรวม ๐.๒๕๘ ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำที่ระบายจะไหลลงคลองธรรมชาติ และจะส่งผลให้ลําน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยมวลน้ำทั้งหมด จะไหลไปที่ลําน้ำมูล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ อําเภอสีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, เมืองนครราชสีมา, โนนไทย, โนนสูง, ปักธงชัย, โชคชัย, เฉลิมพระเกียรติ, พิมาย, ชุม,พวง ลําทะเมนชัย และอําเภอเมืองยาง 

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และน้ำไหลหลากในพื้นที่จึงให้ดําเนินการ ดังนี้ ๑. แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลําน้ำและพื้นที่ริมตลิ่ง ในเขตลุ่มน้ำลําตะคอง ลําเชียงไกร ลําบริบูรณ์ ลําพระเพลิง และลําน้ำมูล ได้แก่ อําเภอสีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, เมืองนครราชสีมา, โนนไทย, โนนสูง, ปักธงชัย, โชคชัย, เฉลิมพระเกียรติ, จักราช, พิมาย, ชุมพวง, ลําทะเมนชัย และอําเภอเมืองยางทราบ ๒. ติดตามสถานการณ์น้ำ และจัดเวรเฝ้าระวังประจําตามจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อประเมิน สถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ กรณีประเมินสถานการณ์แล้วพบว่า จะก่อให้เกิดอันตราย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ให้สั่งอพยพประชาชนไปยังจุดอพยพที่ได้จัดเตรียมไว้ ๓. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ รวมทั้งบูรณาการหน่วยงาน เครือข่าย ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกล สาธารณภัย และปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ/แผนเผชิญเหตุป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอําเภอ/องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงจัดกําลังเจ้าหน้าที่เข้าเผชิญเหตุ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ตลอด ๒๔ ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะยุติ

นายธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ขณะนี้มีการพร่องน้ำรอแล้ว กรณีที่เปิดประตูเขื่อนระบายน้ำลำตะคองและลำพระเพลิงไม่ส่งผลกระทบ เพราะเปิดออกมาในปริมาณน้อย เราพร่องน้ำรอและระบายน้ำออกจากเขตเทศบาลนครฯ เกือบหมดแล้ว ตอนนี้เป็นห่วงพายุลูกใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ถ้าเข้ามาแล้วเกิดฝนตกหนักในเขตเทศบาลฯ อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่เขื่อนที่ไม่สามารถรองรับได้ นายกเทศมนตรีได้หารือกับสำนักชลประทานตลอด ไม่เหมือนเมื่อปี ๒๕๕๓ แต่สำหรับปีนี้พร้อมรับมือ มีการระบายน้ำและพร่องน้ำตลอด เช่น เขื่อนคนชุม เขื่อนข่อยงาม จะหารือกันตลอด เพื่อเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กัน เพื่อเร่งและผลักดันน้ำให้ออกจากเขตเทศบาลโดยเร็วที่สุด จะสังเกตได้ว่าชุมชนมิตรภาพซอย ๔ มีปริมาณน้ำขังอยู่แค่ ๔-๕ วัน มีปริมาณน้ำเยอะจริง แต่ก็เร่งพร่องน้ำออกไว และตอนนี้ก็ลดลงแล้ว ในเขตเทศบาลไม่มีที่ไหนท่วม ขณะนี้น้ำลดหมดแล้ว ชลประทานระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง มาก็จริง แต่ระบายในปริมาณที่ไม่เกิดผลกระทบกับชุมชนด้านล่าง เพื่อรองรับกับพายุลูกใหม่ที่กำลังจะเข้ามา”

“ตัวอย่างชุมชนมิตรภาพซอย ๔ ที่ได้รับผลกระทบ เทศบาลนครฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ แจกถุงยังชีพ อำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งกระสอบทรายกันน้ำ และล่าสุดทำการบิ๊กคลีนนิ่ง ทำความสะอาด ล้างบ้าน รวมถึงถนนที่มีน้ำขัง ทำความสะอาดช่วยพี่น้องประชาชนในเขตมิตรภาพซอย ๔ พี่น้องประชาชนคนใดต้องการกระสอบทรายสามารถไปเบิกได้ที่เทศบาลนครนครราชสีมา เป็นห่วงก็แค่พายุลูกใหม่ที่กำลังจะเข้ามา อาจจะมีผลกระทบในพื้นที่ต่ำ ซึ่งต้องเตรียมรับมือ”

นายธนาคม กล่าวอีกว่า “ในคูเมืองทั้งหมดตอนนี้ปล่อยน้ำทิ้งหมด รอฝนใหม่ที่จะมา เราสามารถผลักดันน้ำลงคูเมืองได้ทั้งหมด ฝากถึงประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งสองข้างทางลำตะคอง ขณะนี้ยังมีเวลาอีก ๒-๓ วัน ถ้าอยากได้กระสอบทรายเพื่อไว้ป้องกันน้ำเข้าบ้าน สามารถเข้าไปเบิกได้ที่กองช่างเทศบาลนครฯ สามารถแจ้งความจำนงได้ เพื่อตั้งรับกับพายุที่เข้า ทางเทศบาลรับประกันได้เรื่องการพร่องน้ำ และวางแผนป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองเรียบร้อยแน่นอน รับประกันว่าไม่มีผลกระทบหนัก” 

ด้านนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการว่า ให้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เราต้องพิจารณาปริมาณน้ำ อัตราการไหล ที่บางพื้นที่ยังมีอยู่ แต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน เช่น เขื่อนลำพระเพลิงลำน้ำส่วนใหญ่ล้นหมดแล้ว เขื่อนลำตะคองยังต้องควบคุมปริมาณ ไม่ให้น้ำเกินจากลำน้ำ และเราก็ต้องเผื่อไว้ด้วยกรณีที่จะมีฝนตกพายุเข้าในช่วงวันที่ ๒๘ ตุลาคม อาจจะมีฝนตกท้ายอ่าง เราก็ต้องนำส่วนนี้มาพิจารณาด้วย ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ หมายความว่าถ้ามีพายุเข้า กรมอุตุฯ พยากรณ์ว่าจะมีปริมาณฝนเท่าไหร่ เราก็ต้องนำตัวเลขเหล่านั้นมาคำนวนด้วย เราอาจจะต้องลดการระบายน้ำลง เราต้องชินเวลากับธรรมชาติ เราต้องการให้ผลกระทบท้ายเขื่อนไม่เกิดหรือเกิดน้อยที่สุด ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม เขื่อนลำตะคองได้เปิดประตูระบายน้ำไปและลำนำไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ปริมาณน้ำที่ ต.มะเกลือใหม่ ก็มีปริมาณน้อย แล้วจึงไหลมารวมที่หมู่บ้านละลมหม้อ เมื่อเปิดประตูระบายน้ำมา ๔ วัน กว่าจะมาถึงเขตเมือง เราก็ต้องมาดูว่า เมื่อเกิดฝนตกก็ต้องแยกเป็นกรณี วิเคราะห์ความเสี่ยงไป แล้วจึงเลือกทางที่เหมาะสมที่สุด ถ้าถามว่าแต่ละวันเปิดระบายน้ำปริมาณเท่าใด ก็ต้องบอกว่าต้องดูตามกรณีๆ ไป เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

“สำหรับพายุโมลาเบที่คาดว่าจะเกิดนี้ จะกระทบมากหรือน้อย ต้องติดตามเป็นรายชั่วโมงจากการที่วิเคราะห์กัน เราก็ต้องนำผลต้องนั้นมาวิเคราะห์ด้วยเช่นเดียวกันกับเขื่อนลำพระเพลิง แต่เขื่อนลำพระเพลิงยังมีเซฟตี้ความปลอดภัย มีปริมาณน้ำที่ยังสามารถรับได้อยู่อีกประมาณ ๓๐ ล้าน ลบ.ม. การควบคุมคือพร่องน้ำมาในเขตที่ได้รับผลกระทบน้อย แต่เขื่อนลำพระเพลิงขณะนี้มีปริมาณน้ำ ๙๐ กว่าล้าน ลบ.ม. ลักษณะการไหลของน้ำเข้าอ่างก็แตกต่างกัน ส่วนของเขื่อนลำพระเพลิงมีปริมาณน้ำเข้าไว เพราะฉะนั้นเราต้องพร่องให้มากที่สุด เพื่อนให้ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สถานการณ์การปล่อยน้ำยังต้องติดตามเป็นรายชั่วโมงหรือสามชั่วโมง หากพายุมีการสลายตัวเราก็จำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ จะเห็นได้ว่า ต้องติดตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ให้เหมาะสม”

นายกิติกุล กล่าวต่ออีกว่า “เมื่อมีพายุเข้ามา เราต้องมีการพร่องน้ำก่อน เพื่อให้อุปกรณ์เครื่องมือสามารถทำงานได้มากที่สุด กรณีเขื่อนลำพระเพลิงถ้าปริมาณน้ำเกิน ๑๐๐% น้ำจะทะลุปากแตรจะควบคุมได้เพียงระดับหนึ่ง แต่เมื่อเลยจากปากแตรขึ้นไปก็จะเป็นฝาย ในส่วนนี้จะควบคุมยากเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามรักษาช่องว่างในอ่าง เพิ่มช่องว่างในอ่างเพื่อรองรับน้ำถ้ามีน้ำไหลเข้ามา และต้องเปิดช่องว่างให้มากที่สุด ยังมีบางตัวเลือกที่ขัดแย้งกันอยู่ เราต้องพิจารณาเพื่อเลือกทางที่เหมาะสมที่สุด มีการตั้งประเด็นว่าระดับน้ำจะถึงปี ๒๕๕๓ หรือไม่ ยืนยันว่าไม่ถึงแน่นอน เพราะลักษณะของน้ำไม่เหมือนกัน น้ำท่วมปี ๒๕๕๓ เกิดจากความกดอากาศต่ำ กำลังแรง ลักษณะของฝนตกพรำๆ ตกตลอด ตกเรื่อยๆ เป็นระยะเวลาหลายเดือน กระทั่งสะสมมวลน้ำแล้วไหลลงมาครั้งเดียว แต่ปีนี้ลักษณะเป็นพายุที่ส่งผลกระทบ โมลาเบถือว่าเป็นพายุระลอกที่ ๗ ในรอบ ๔๐ วัน แต่พายุทั้งหมดเกิดผลกระทบน้อยหรือแทบไม่ส่งผลกระทบเลย ปริมาณน้ำเขื่อนลำพระเพลิงก่อนพายุ ‘โนอึล’ จะเข้า มีปริมาณน้ำแค่ ๑๐% จากความจุ ๑๕๕% แต่ขณะนี้มีปริมาณน้ำ ๒๗๐% จะเห็นว่ามีปริมาณน้ำเข้าอ่างเกือบสองเท่า น้ำส่วนเกินต้องบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้อยที่สุด มีเพียงปี ๒๕๕๓ ที่น้ำสะสมครั้งเดียวและไม่มีทางออก ส่วนปีนี้ (๒๕๖๓)มาเป็นระลอกๆ แต่ละระลอกที่มา เราต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะแทบจะไม่มีช่องว่างให้เราบริหารจัดการน้ำเลย”

“ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายเมื่อใดยังตอบไม่ได้ เพราะขึ้นกับฝนและพายุที่กำลังจะมา กรมอุตุฯ ก็กำลังเล้งอยู่ว่า หลังจากพายุโมลาเบ อาจจะมีพายุเข้ามาอีก ๑ ลูก สถานการณ์จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพายุด้วย เราต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายกิติกุล กล่าวท้ายสุด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๑ วันพุธที่ ๒๘ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


937 1564