28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

December 11,2020

ค้านโรงไฟฟ้าขยะ‘นากลาง’ หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยืนยันปชช.ต้องมีส่วนร่วม

ประชาชนนากลางคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม อ้างผู้บริหาร อบต.นากลางดำเนินโครงการไม่โปร่งใส ไม่สนใจเสียงคัดค้าน ปลัดอบต.ชี้ควรทบทวนโครงการ ต้องฟังเสียงประชาชน ด้านนายก อบต.ยันเอกชนต้องลงทุนทั้งหมด ใช้พื้นที่ห่างไกลชุมชน และขอมติประชาคม

 

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่บริเวณหน้าทางเข้าอาคารศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ประชาชน ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กว่า ๘๐ คน เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าขยะ ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง (อบต.นากลาง) ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบประชาชนซึ่งกำลังรวมตัวยืนถือป้ายเขียนข้อความพร้อมส่งเสียงว่า “ไม่ต้องการโรงงานไฟฟ้าขยะ” จากนั้นทั้งหมด เคลื่อนตัวไปยังห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น ๓ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมกับสอบถามปัญหา และความต้องการ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่หวั่นวิตกว่าจะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน ที่เกิดจากขยะมูลฝอย ทั้งกลิ่นเหม็นและสัตว์พาหะนำเชื้อโรค

ราษฎรหวั่นผลกระทบ

นางปราณี พินิจโคกกรวด ประชาชนหมู่ ๑ ต.นากลาง อ.สูงเนิน เปิดเผยว่า “มูลเหตุของปัญหาเกิดจากการดำเนินโครงการไม่โปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลบางส่วนให้ชาวบ้านทั้ง ๙ หมู่บ้าน ต.นากลาง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบด้านเดียว ทั้งผู้บริหาร อบต.ฯ เอกชนในฐานะเจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพากันงุบงิบ กระทั่งโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วจึงเร่งดำเนินโครงการให้เสร็จเร็วที่สุด โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการขยะมูลฝอยของคนนอกพื้นที่ แล้วขนมาทิ้งใน ต.นากลาง ที่ยังไม่ทราบพิกัดที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ทุกคนหวาดกลัวจึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ใช้อำนาจสั่งระงับการดำเนินโครงการโดยไม่มีเงื่อนไข”

นางสาวปัณฑารีย์ โชรัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงว่า “เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ฝ่ายปกครองอำเภอสูงเนิน ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม ๗ ครั้ง และผ่านขั้นตอนการทำประชาคมแล้ว ต่อมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑๓ แห่ง ที่เป็นคลัสเตอร์จัดการ “ขยะมูลฝอย” แจ้งยกเลิกการขนขยะมากำจัดที่โรงงานฯ ดังกล่าว ทำให้ปริมาณขยะไม่เพียงพอที่กำหนดไว้วันละ ๔๐๐-๕๐๐ ตัน ส่งผลให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต่อมาเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามการอนุญาตให้ดำเนินโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง ที่เป็นขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจรวม ทั้งต้องจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลเป็นรายบุคคลและเปิดเผยทุกด้าน”

ต้องฟังเสียงประชาชน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “รับทราบปัญหาความวิตกกังวลของประชาชน และพร้อมจะช่วยเหลือแก้ไขเยียวยาปัญหา ยืนยันโครงการนี้จะต้องทบทวนพิจารณาจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน หากท้ายที่สุดมติไม่ต้องการก็จำเป็นต้องยกเลิกโครงการ”

ด้าน ดร.ปรียาภัทร์ สมใจ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวชี้แจงว่า “ภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา มีขยะใหม่เกิดขึ้นวันละกว่า ๒ พันตัน แต่สามารถกำจัดถูกต้องตามหลักวิชาการประมาณ ๑ พันตัน ส่งผลให้มีปริมาณขยะกว่า ๑ พันตันตกค้าง จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะกำลังการผลิต ๙.๙ เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ ๒ พันล้านบาท ตั้งอยู่ในหมู่ ๕ ต.นากลาง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเมือง และจำนวนประชากร ซึ่งขยะขาดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง โดยจัดประชาพิจารณ์เมื่อช่วงปลายปี ๒๕๖๐ ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการที่ได้จากการแปรรูปขยะวันละ ๔๐๐-๕๐๐ ตัน มาเป็นพลังงานไฟฟ้าวันละ ๗ เมกกะวัตต์ ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำรายได้มาจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งชุมชนจะได้ ๕% ของค่ากำจัดที่คิดจาก อปท.นำขยะมาให้กำจัดในราคาตันละ ๔๐๐ บาท ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน โรงงานแห่งนี้มีระบบกำจัดที่ผ่านการเห็นชอบของกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราไม่นำขยะมาเทกองบนพื้นซึ่งจะส่งกลิ่นเหม็นและสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ แต่ขยะมูลฝอยทุกชิ้นจะถูกนำไปเก็บรักษาในสถานที่ปิด เพื่อรอการกำจัดที่ถูกต้อง หากมีขยะหลุดออกมากองบนพื้นที่ตามที่ชาวบ้านวิตกเรายินดีให้ปิดโรงงานทันที และให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้”

รอความชัดเจนทีโออาร์

จากนั้น เวลา ๑๕.๓๐ น. “โคราชคนอีสาน” ติดต่อไปยังนายถิ่น เติบสูงเนิน นายก อบต.นากลาง และนายสามิตร์ ศิริฤกษ์ ปลัด อบต.นากลาง เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของโครงการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าขยะนั้น ซึ่งเปิดเผยว่า “ในส่วนของโครงการนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ ๒,๓๐๐ ล้านบาท โดยท้องถิ่นจะหาเอกชนมาลงทุนและบริหาร ซึ่งในร่างขอบเขตงาน (Term of reference : TOR ) กำหนดชัดเจนว่า ผู้ลงทุนจะต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะก่อสร้างโรงงาน มีที่ดินของตัวเอง ต้องมีการทำประชาคมจากชุมชน และมีการศึกษาดูงานจากโรงงานที่ทำไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเอกชนรายใดจะได้โครงการไป เพราะต้องรอข้อกำหนดทีโออาร์เสร็จสมบูรณ์ ในการทำโครงการนี้ ทำให้ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงเกิดความกังวล เช่น โรงงานจะอยู่ในเขตชุมชนหรือไม่ ส่งผลกระทบด้านกลิ่นเหม็น มีน้ำเสียจากโรงงาน ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ประชาชนจะมีความกังวล แต่ขณะนี้ยังไม่มีการระบุพื้นที่ เพราะต้องเป็นพื้นที่ของเอกชนที่จะมาลงทุน สำหรับการคัดค้านโครงการที่เกิดขึ้นนั้น เบื้องต้นจะก่อสร้างในพื้นที่หมู่ที่ ๕ เขตตำบลนากลาง ซึ่งระบุไว้จากเอกสารขอความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งพื้นที่หมู่ ๕ ถือว่าเป็นจุดที่ดี แต่เนื่องจาก กฟผ.แจ้งว่า บริเวณนี้ไม่มีจุดรับส่งกระแสไฟฟ้า จึงต้องหาจุดใหม่ในการก่อสร้าง ในส่วนของปัญหาขยะในตำบลนากลาง ถือว่าวิกฤต ขณะนี้ไม่มีพื้นที่ทิ้งแล้ว เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า ทำให้ขยายพื้นที่ทิ้งไม่ได้ ผมก็ต้องการแก้ปัญหาให้จบ ซึ่งขยะในตำบลนากลางมาจาก ๙ หมู่บ้าน รวมถึงในนิคมอุสาหกรรมนวนคร”

เมื่อถามว่า “ขณะนี้มีบริษัทเอกชนเข้ามาติดต่อขอลงทุนหรือยัง” นายถิ่น เติบสูงเนิน ตอบว่า “ยังไม่ได้ให้สิทธิ์ใคร  เพราะที่ปรึกษากังวลในประเด็นที่ยังมีการคัดค้าน มีการร้องเรียนอยู่ จึงขอให้เอกชนรอ อบต.ประกาศ TOR ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งในข้อกำหนดจะระบุแน่นอนว่า ต้องมีพื้นที่ของตัวเอง ลงทุน ๑๐๐% หาพื้นที่ที่เหมาะสม ประชาชนยอมรับได้ ส่วนเรื่องการคัดค้านที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทางผู้ใหญ่ต้องการให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ตั้งตัวแทนจากกลุ่มผู้คัดค้าน มานั่งพูดคุยกัน เรื่องความชัดเจนของพื้นที่ในการก่อสร้าง การทำประชาคมจากชุมชน และทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้หมดความกังวล ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องมลพิษ ทั้งนี้ ก็ขอให้รอความชัดเจนของ TOR หากมีความชัดเจนก็จะชี้แจงเพิ่มเติมต่อไป”

ปลัดอบต.ขอฟังประชาชน

จากนั้น “โคราชคนอีสาน” สัมภาษณ์นาย สามิตร์ ศิริฤกษ์ ปลัด อบต.นากลาง เกี่ยวกับโครการนี้ โดยเปิดเผยว่า “โครงการนี้ นายก อบต.ทำเอกสารรายละเอียดต่างๆ ขึ้นเมื่อปลายปี ๒๕๖๐ ซึ่งผมไม่ทราบเรื่องและไม่ได้รับเชิญไปร่วม ทุกคนได้รับการเชิญ ยกเว้นผม ปรากฏว่า วันหนึ่งเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. นายกฯ เดินทางมาเชิญผมไปร่วมประชุม โดยอ้างว่า ประชาชนต้องการฟังความคิดเห็นของปลัด ผมจึงเดินทางไปด้วยชุดไปรเวท เมื่อไปถึงก็มีการประชุมกันที่โรงเรียนบ้านนากลาง มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก ผู้ใหญ่หลายคนแสดงทัศนคติไปแล้ว แต่ประชาชนต้องการความคิดเห็นจากปลัด ผมจึงพูดว่า ประชาชนที่เคารพ เราไม่รู้หรอกว่าโรงไฟฟ้าขยะจะเป็นอย่างไร แต่ประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด การตัดสินใจในสิ่งที่เขามาแนะนำ ต้องฟังเสียงประชาชนที่เป็นใหญ่ก่อน หากประชาชนยินดีให้ทำ ก็ต้องมาทำความเข้าใจถึงผลดี ผลเสีย มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างใกล้กับชุมชนหรือไม่ จะเกิดโรคภัยหรือไม่ ไม่ใช่มาสร้างเพียงอย่างเดียว เพราะ อบต.ไม่ได้มีหน้าที่สร้างโรงไฟฟ้า แต่ทำหน้าที่บริการชุมชนและสังคม ส่งเสริมสุขภาพ และอาชีพ เป็นหน้าที่ตามมาตรา ๖๗ ผมมั่นใจในหน้าที่ตรงนี้ แต่โรงไฟฟ้า ผมไม่ทราบว่ามาตราใดให้ทำ ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับประชาชนโดยตรง”

ต้องเห็นหัวประชาชน

นายสามิตร์ ศิริฤกษ์ ปลัด อบต.นากลาง เปิดเผยต่อไปว่า “จากวันนั้นโครงการหายไป ๓ ปี ก็กลับมาอีกครั้ง นายก อบต.บอกว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่ดี เนื่องจากเมืองแผ่ขยาย ขยะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ไม่สามารถจำกัดขยะได้ทัน ซึ่งขยะก็ล้นจริงๆ อีกทั้งชาวบ้านก็โวยวายว่าส่งกลิ่นเหม็นบ้าง หรือเกิดไฟไหม้บ้าง จึงยื่นหนังสือขออนุมัติอีกครั้ง ขณะนั้นผมเป็นผู้ตัดสินใจเลือกในแต่ละโครงการ เมื่อนำเสนอมาผมก็อนุมัติให้ จากนั้นจึงเดินทางไป ป.ป.ช.เพื่อชี้แจง แต่ทาง ป.ป.ช. บอกว่าไม่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น มีการประสานงานกับเอกชน ในตอนแรกคิดว่าจะเป็นบริษัทซิโน-ไทย แต่ซิโน-ไทยเลือกไม่ลงทุน ทำให้โครงการต้องพับเก็บไปอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ไปติดต่อประสานอย่างไรบ้าง เพราะติดต่อประสานหลายคน ซึ่งผมไม่ได้ทำเรื่องนี้โดยตรง เนื่องจากประชาชนเริ่มคัดค้านกันเป็นจำนวนมาก ผมจึงออกคำสั่งให้รองปลัดเป็นผู้ดำเนินการเรื่องโรงงานขยะไฟฟ้า แต่ในความคิดของผม เห็นควรยกเลิกโครงการและทบทวนโครงการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสียก่อน เขาให้ผมเป็นเจ้าหน้าที่ดูแล TOR แต่หากจะให้ผมทำหน้าที่ ต้องมีข้อแม้อยู่ ๒ ข้อ คือ ๑.ต้องอยู่ห่างไกลจากชุมชน และ ๒.ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ไม่เห็นหัวประชาชน จึงมีผู้ไม่พอใจ ผมจึงไปแจ้งความและส่งเรื่องกันไว้เป็นพยานไว้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพราะผมไม่เอาด้วย ผมจึงขอย้ายไปช่วยราชการที่อำเภอปากช่อง แต่เขาก็ยังดำเนินการมาเรื่อยๆ”

โครงการมีพิรุธหลายจุด

นายสามิตร์ ศิริฤกษ์ กล่าวอีกว่า “ผมกลับมาปฏิบัติงานที่ อบต.นากลาง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ และทราบว่า วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ทำ TOR เสร็จแล้ว จึงส่งเรื่องให้ทำการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งผมปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีความรู้ในงาน แต่หากจะให้ทำจริงๆ ขอให้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือสิ่งแวดล้อมที่น่าเชื่อถือ แต่จากการตรวจรายชื่อประชาชนใน TOR พบว่า กรณีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เคยมีความเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนปี ๒๕๔๘ ว่า แม้จะไม่ได้ฟังว่า ประชาชนเห็นชอบเท่าไหร่ แต่ให้นัยมาว่า จะต้องมีประชาชนเห็นชอบหรือยินดีให้ดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า ๖๐% ของตัวแทนครัวเรือน แต่ที่ระบุมาใน TOR มีเพียง ๕๐% ของผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง”

ที่ตั้งโครงการมีปัญหา         

“เนื่องจากโครงการมีข้อสงสัยหลายด้าน ผมจึงส่งหนังสือไปถึง ป.ป.ช. ระบุถึงพิรุธที่ผิดข้อกฎหมายในหลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าผมไม่ให้ความร่วมมือหรือต่อต้าน แต่ดูในรายละเอียดการจัดทำ แม้ไม่ใช่โครงการของรัฐลงทุน แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม จากกรณีดังกล่าว ประชาชนต้องคลายความกังวลใจ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีพอสมควร แม้ว่าจะไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน แต่ก็ต้องคำนึงถึงประชาชนด้วย ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน ปริมาณขยะเพียงพอหรือไม่ ข้อดีข้อเสียคืออะไร หากประชาชนยอมรับได้ ก็จะไม่มีการต่อต้านหรือคัดค้าน สำหรับผมมองว่า อาจจะทำได้แต่ต้องให้ชาวบ้านยอม หากทำไม่ได้และมีชาวบ้านคัดค้านจำนวนมาก อีกทั้งไม่มีการพิจารณาข้อดีและข้อเสียส่วนนี้ ผมก็ไม่สามารถเป็นคณะกรรมการร่วมโครงการได้ ในส่วนของสถานที่ก่อสร้างก็พบปัญหามากเช่นกัน เพราะจะย้ายไปอยู่ตำบลหนองตะไก้ จะย้ายไปอยู่บ้านบุตาต้อง ย้ายไปหมู่ ๗ ย้ายไปหมู่ ๔ กรณีดังกล่าวเขียนว่า ที่ตั้งของโครงการ ให้ดำเนินการตามการวิเคราะห์ของ บกส. หรือดำเนินการตามที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบข้อเสนอ ที่นำเสนอไปตามวาระที่ ๑ ระบุว่า สถานที่ตั้งอยู่ที่หมู่ ๕ ถนนเส้น ๒๙๐ ห่างจากถนนไป ๒๔๐ เมตร ซึ่งผมอ่านโดยละเอียดพบว่า หากต้องการเปลี่ยนสถานที่ ก็ต้องเสนอไปให้รัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงสถานที่ ไม่ใช่ไปทำตามใจที่ไหนก็ได้ ซึ่งผิดหลักการ” นายสามิตร์ ศิริฤกษ์ กล่าว

ให้คนมีความรู้ร่าง TOR

นายสามิตร์ ศิริฤกษ์ กล่าวท้ายสุดว่า “จากการที่ผมเรียนจบรัฐศาสตร์มา นายก อบต.ก็ขอให้ผมมาเป็นคณะกรรมการร่าง TOR ซึ่งผมก็ตอบไปว่า ผมจะดำเนินการให้ แต่โครงการนี้จะต้องอยู่ห่างไกลชุมชนไม่น้อยกว่า ๓ กิโลเมตร กรณีดังกล่าวประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า ๖๐% และคณะกรรมการทีโออาร์จะต้องเป็นบุคคลที่มีทักษะ มีความรู้ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด โยธาธิการจังหวัด เป็นต้น แต่เมื่อผมดูรายชื่อคณะกรรมการ กลับมีแต่คนเรียนจบ ป.๔ หรือ ป.๖ สำหรับผมมองว่า ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลใจ และคัดค้านอยู่ ถ้า TOR ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ดำเนินการอะไรต่อไม่ได้ เขาก็นั่งงงๆ อยู่ ผมดีใจที่ประชาชนออกมาปกป้องบ้านของเขา”

เอกชนร่วมลงทุน

เมื่อถามว่า “ขณะนี้มีเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนหรือยัง” นายสามิตร์ ศิริฤกษ์ ตอบว่า “ผมไม่ทราบว่าใครจะประมูลได้ แต่เอกชนจะลงทุน สมมุติ อบต.นากลางต้องการดำเนินการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแต่ไม่มีเงิน ก็จะเชิญชวนเอกชนรายใดรายหนึ่ง แต่ไม่มีการไปเอื้อประโยชน์ หรือไปล็อกสเปกหรือให้คนใดคนหนึ่งมาทำ ต้องประมูลเป็นงานทั่วไป ใครมีคุณสมบัติเหมาะสมก็สามารถมายื่นประมูลได้ แต่ก็มีเอกชนมาติดต่อผู้บริหารท้องถิ่นว่า ผมจะมาลงทุน คุณโอเคหรือไม่ เขาก็อาจจะเป็นประเภทไก่เห็นนมงู งูเห็นนมไก่หรือไม่ แต่ผมมองที่ประโยชน์ของประชาชน ผมจะอยู่เคียงข้างประชาชน ในการประชุมสภาทุกครั้งจะมีการรายงานการประชุมทุกครั้งว่า ปลัดเห็นว่าโครงการไม่ได้เลวร้าย เป็นโครงการที่ใช้ได้ แต่โครงการดังกล่าวต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน เขาก็ไม่พอใจ เขาก็บอกว่าปลัดคัดค้าน แต่ผมไม่ได้คัดค้าน หมายถึงต้องไปรับฟังประชาชน ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามกฎหมาย ที่ระบุไว้ว่า การดำเนินการไม่ว่าจะจัดซื้อจัดจ้างโครงการใดก็แล้วแต่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม”

ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อนายถิ่น เติบสูงเนิน นายก อบต.นากลาง อีกครั้ง เพื่อขอให้ชี้แจงถึงกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอบสั้นๆ ว่า “เดี๋ยวผมรอให้ข้อมูลชัดเจนก่อน เดี๋ยวจะให้สัมภาษณ์ภายหลัง ขณะนี้กำลังคุยงานอยู่”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๖ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

975 1675